วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

The Merry Widow




แม่ม่ายหรรษา ณ ศาลายา

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา จุลอุปรากร (operetta) เรื่อง The Merry Widow ของฟรานซ์ เลฮาร์ (Franz Lehar) เคยถูกนำขึ้นเวทีในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้งหลายหน อาจเพราะด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ทั้งยังมีเพลงไพเราะที่รู้จักกันดีอีกหลายเพลง  ล่าสุด ภาควิชาขับร้องสากล (Vocal Department) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เพิ่งจัดการแสดงขึ้นอีก 4 รอบ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2553

          นับตั้งแต่ออกแสดงครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีก่อน The Merry Widow หรือชื่อดั้งเดิมในภาษาเยอรมันคือ Die lustige Witwe ก็ได้รับความสำเร็จอย่างสูง  ฉบับภาษาอังกฤษได้รับความนิยมทั่วโลก และยังคงมีการแสดงในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกาอยู่เสมอ  

ในฉบับดั้งเดิม จุลอุปรากร The Merry Widow หรือแม่ม่ายหรรษานี้ เกิดขึ้นที่กรุงปารีส ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องของนางฮันนา (Hanna Glawari) แม่ม่ายสาวสวย ผู้ซึ่งเพิ่งได้รับมรดกจากสามีมหาเศรษฐีนายธนาคารสูงวัยที่ถึงแก่กรรมหลังการแต่งงานไม่นาน  บังเอิญว่าเธอคือพลเมืองของ “ปอนเตเวโดร” ราชรัฐยุโรปตะวันออกเล็กจิ๋วที่ใกล้จะ “ถังแตก” เต็มที  เมื่อเธอเดินทางมายังกรุงปารีส  คำสั่งที่สถานทูตได้รับมาก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ให้เธอแต่งงานกับชายต่างชาติ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็คือพึงหาทาง “จับ” ให้เธอแต่งงานใหม่กับคนชาติเดียวกัน เพื่อไม่ให้เงินตรามหาศาลนั้นไหลออกนอกประเทศ 

บารอนเซต้า (Baron Mirko Zeta) เอกอัครราชทูตจึงออกคำสั่งให้เคานท์ดานิโล (Count Danilo Danilovitsch) เลขานุการเอกหนุ่มโสดเป็นผู้รับผิดชอบในการ “จับ” ฮันนา “เพื่อชาติ”  โดยหารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว ทั้งคู่เคยเป็นคนรักกันมาก่อน หากแต่ด้วยความที่ฝ่ายหญิงเกิดในครอบครัวยากจน ขณะที่ฝ่ายชายเป็นผู้ดีมีตระกูล ทั้งสองจึงถูกกีดกัน  จนถึงขั้นที่ดานิโลถูกจับส่งไปทำงานสถานทูตในปารีส แล้วเลยกลายเป็นหนุ่มเสเพลที่ไม่ทำงานทำการอะไร เอาแต่สิงสถิตอยู่กับสาวๆ ในร้านแมกซิมส์ แหล่งรวมสาวๆ เลื่องชื่อของปารีส

เมื่อพบกันอีกครั้ง ปมฝังใจเรื่องความรักและเงินตราก็ยังกีดกันให้ฮันนาและดานิโลต้องปั้นปึ่งใส่กัน ทั้งที่จริงๆ แล้วยังรักกันอยู่  ดานิโลประกาศว่าเขาไม่มีวันจะยอมเกี้ยวพาเธอเพียงเพราะเงิน ขณะที่ฮันนาก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมแต่งงานกับใครจนกว่าจะได้ยินเขามาสารภาพรักต่อเธอ  

และแน่นอน  เรื่องราวแนวพ่อแง่-แม่งอนแบบนี้จะลงเอยเช่นไร ย่อมไม่ยากเกินคาดเดา

          เมื่อ 20 กว่าปีก่อน The Merry Widow เคยขึ้นเวทีโรงละครแห่งชาติ โดยกลุ่ม Bangkok Music Society ในครั้งนั้น มีการปรับเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่องให้เป็นสถานทูตปอนเตเวโดรประจำบางกอก ในยุครัชกาลที่ 5 ทศวรรษ 1880 ทั้งยังปรับให้มีตัวละครเป็นเจ้าหน้าที่ชาวสยามประจำสถานทูตด้วย

มาในปีนี้ ละครร้องโปรดักชั่น “ศาลายา” ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่ที่น่าสนใจไปอีกแบบ ด้วยการใช้สถานที่เป็นกรุงเทพฯ เช่นกัน ทว่า ขยับช่วงเวลาใหม่เป็นยุคทศวรรษ 1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้เป็นสถานทูตของ “มอนเตเนโกร” ประจำกรุงเทพฯ  แปลงร้านแมกซิมส์ของดานิโลเป็นโรงน้ำชาเซ็งซิม  มิหนำซ้ำ ยัง “บิด” ตัวละครใหม่ เช่นเยกุส (Njegus) ซึ่งแต่เดิมเป็นเลขานุการประจำสถานทูต ในฉบับนี้กลับกลายเป็นกุมารทองที่อาศัยอยู่ในศาลพระภูมิของสถานทูตมอนเตนิโกรแทน!

          การเลื่อนจากปอนเตเวโดรมาเป็นมอนเตเนโกร (คุ้นๆ กับชื่อนี้บ้างไหม ? ดูเหมือนจะมี “ใครบางคน” ชอบไปอยู่แถวนั้น) รวมทั้งเปลี่ยนที่เกิดเหตุให้เป็นกรุงเทพฯ อาจขับเน้นให้ประเด็นแก่นแกนดั้งเดิมของเรื่อง คือความย้อนแย้งระหว่างเงินและความรัก คมคายและดู “ร่วมสมัย” ขึ้นอีก

          และเนื่องจากเวทีของหอแสดงดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (MACM - Music Auditorium, College of Music, Mahidol University) ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการแสดงละคร (เช่นเวทีหน้ากว้างแต่ตื้น ไม่มีหลืบเวทีสองข้าง ฯลฯ)  การออกแบบฉากอย่างเฉลียวฉลาดภายใต้ข้อจำกัดนี้ยังกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ได้ผลน่าสนใจ  นอกจากพื้นเวทีที่ทำให้ดูเหมือนปูหินอ่อนลายตารางหมากรุกแล้ว อุปกรณ์ประกอบฉากในเรื่องนี้มีเพียงฉากบานพับแบบพับสองหรือสามทบหลายสิบแผง กับเก้าอี้อีกจำนวนมาก ซึ่งใช้นักแสดงเป็นคนหยิบออกมาจัดวาง แต่ก็ได้ผลคุ้มค่าในการสร้างพี้นที่ (space) สารพัดรูปแบบตามที่ละครต้องการ


          นอกจากนั้น อาจเพื่อให้เรื่องดูง่ายขึ้น กระชับ และใช้เวลาแสดงไม่นานนัก (ราว 1.40 ชั่วโมง) บทละครสำหรับฉบับศาลายานี้จึงถูกลดทอนเหตุการณ์และตัวละครลง แต่ก็ยังคงอรรถรสและบทเพลงที่คุ้นหูไว้ได้ทั้งหมด

          ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มิได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เป็นผลมาจากการทำงานของทีมนานาชาติแห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ทั้งในฝ่ายคณาจารย์ที่ดูแลเรื่องเพลงการ กับงานด้านบทและโปรดักชั่นที่ใช้ “มืออาชีพ” ล้วนๆ เช่น โยอาคิม รัธเก้ (Joachim Rathke) ผู้กำกับการแสดงผู้เจนเวทีโอเปร่า ก็บินตรงจากเยอรมนีเพื่องานนี้ หรือการออกแบบลีลาโดยฝีมือระดับ ดร.นราพงศ์  จรัสศรี เป็นต้น

          ส่วนในแง่ผู้แสดงที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปริญญาตรี จนถึงนักศึกษาระดับปริญญาโทของภาควิชาขับร้องสากล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์บ้าง  นักแสดงนำส่วนใหญ่ย่อมร้องเพลงได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว เพราะก็ล้วนเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง จึงรับประกันความไพเราะได้  แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ในแง่การแสดง นักศึกษาหลายคนทำได้ดีทีเดียว ก็เรียกได้ว่า “มีแวว” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า ทั้งหมดนี้เป็นการเล่นและร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ทั้งนี้ อาจเพราะน้องๆ เหล่านี้ผ่านงานโปรดักชั่นโอเปร่ามากันคนละหลายเรื่องแล้วก็ได้ - ตามที่แต่ละท่านระบุโพรไฟล์ประสบการณ์ยาวเหยียดไว้ในสูจิบัตร

หากแต่จะระบุชื่อ หรือวิจารณ์ไปรายตัวในที่นี้ก็ยังติดขัด ด้วยว่าไม่สามารถอ่านชื่อของเขาและเธอออกเลย เพราะในสูจิบัตรมีแต่ภาษาอังกฤษ กับการถอดถ่ายชื่อไทยออกเป็นอักษรโรมัน ซึ่งคาดเดาได้ยาก ว่าจริงๆ แล้วจะเขียนในภาษาไทยว่าอย่างไร

          เอาเป็นว่า ในฐานะละครร้องของนักศึกษา ผู้ชมคนนี้ขอให้เกรด B+ ครับ


The Merry Widow

ประพันธ์เพลง: Franz Lehar

กำกับการแสดง: Joachim Rathke

อำนวยเพลง: Ernest Jennings

นักแสดง: วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

MACM มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

11-13 พฤศจิกายน 2553
เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ สองปีให้หลังจากชม ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น