วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จนกว่าจะถึงวันนั้น…


หนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันมานี้นำเสนอข้อคิดเห็นจากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ ว่าจะให้ขยับนิยามของผู้สูงอายุในประเทศไทย จาก 60 ปี ออกไปเป็น 65 ปี นัยว่าเพื่อลดจำนวน “ผู้สูงอายุ” ลง เพราะ “ผู้สูงอายุ” นั้น ดูเหมือนจะเป็นภาระของสังคม พร้อมๆ กับข่าวนี้ ก็มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปี ไทยเราจะเข้าสู่สังคม “สีเทา” อันมีสมาชิกสูงวัยจำนวนนับสิบล้านคน!
กลับมามองที่ตัวเอง หรือเพื่อนฝูงรอบข้าง หากพวกเรายัง “หน้าด้าน” มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าก็ย่อมต้องเข้าสู่สภาพของคนแก่กันทั่วหน้า ไม่มีใครจะหลีกหนีไปได้
สุดทางที่บางแคร์ ผลงานการกำกับอันดับล่าสุดของปานรัตน กริชชาญชัย แห่ง New Theatre Society จึงเป็นเสมือนไทม์แมชีน ที่พาผู้ชมล่วงหน้าไปเตรียมตัวเตรียมใจรับสภาพนั้น

ณ บ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง สามหญิง สามใจ แต่วัยเดียวกัน คือ สุวรรณี (ปริยา วงษ์ระเบียบ) พวงเพ็ญ (เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์) และยาใจ (ฟาริดา จิราพันธุ์) จับพลัดจับผลูมาใช้พื้นที่ระเบียงเดียวกันเป็นที่นั่งสำหรับจ้องมองดูเวลาเคลื่อนผ่านไป

ชีวิตประจำวันในบ้านพักคนชรานั้น (แม้จะยังไม่เคยไปอยู่ แต่ใครๆ ก็ย่อมคาดเดาได้ว่า) มันช่างเชื่องช้า อับเฉา และซึมเศร้าเหลือใจ

บทสนทนาที่แสนจะวกวนเวียนของตัวละคร เต็มไปด้วยเรื่องราวของความว้าเหว่ “ครอบครัว” ที่เหลืออยู่แต่ในห้วงคำนึง ความเจ็บป่วยและเสื่อมโทรมของร่างกาย การทะเลาะเบาะแว้ง นินทาว่าร้าย และ “ข่าวลือ”
รวมทั้งงานวันเกิดกับงานศพของผองเพื่อนที่หมุนเวียนมา อย่างที่ไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะเป็นงานใดของใครก่อนกัน

ในโลกที่แทบไม่มีอะไรเหลือเป็นของตัวเองแบบนี้ แม้แต่การรักษา “พื้นที่” ระเบียงไว้เป็นของ “พวกเรา” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคดีสุดแสนไร้สาระ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตสลักสำคัญอย่างยิ่ง

ความโหยหายึดติดกับสิ่งที่เคยมีเคยเป็นเคยได้ ทำให้พวกเธอต้องหาโอกาสแสวงหาความชุ่มชื่นในหัวใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการไปแอบ “เหล่” บุคคลในเครื่องแบบ (นักเรียน) จากโรงเรียนมัธยมชายล้วนที่อยู่ติดกัน จนถึงการวาดหวังว่า จะชวนกันหนีออกจากบ้านพักคนชรา ชนิดที่จะไปให้ไกลสุดหล้าฟ้าเขียวถึงอำเภอปาย (ที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนแน่ เพราะเคยเห็นแต่ในแผนที่) ก่อนจะค่อยๆ ลดระดับเป้าหมายลงมาเหลือเพียงแค่จะให้ไปถึงทิวสนที่แลเห็นอยู่ลิบๆ อีกฝั่งของทุ่งหญ้าข้างๆ บ้านพักคนชรา

แน่นอนว่า ทั้งปาย หรือแม้แต่ทิวสน ล้วนอยู่ไกลเกินเอื้อม และไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด นั่นก็เป็นวิถีทางเดียวที่บรรดาเธอๆ จะหลีกเร้นไปจากความน่าเบื่อหน่ายในชีวิต และรักษาระยะห่างกับ “ความตาย” ได้อีกนิดหน่อย

นั่นคือในแง่เนื้อหาของละคร ส่วนในแง่การแสดง นักแสดงหญิงทั้งสามท่าน ก็ถือเป็นหัวแถวของวงการอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัยในความสามารถ แต่ละคนก็สวมบทบาทเป็นคนแก่ได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู โดยเฉพาะเยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ ซึ่งจะเดินจะเหินจะพูดจะจา ก็ “ใช่” คนแก่ไปเสียหมด เช่นเดียวกับที่เธอเคย “เป็น” เจ๊คนนั้นมาแล้ว ใน ช่อมาลีรำลึก ผลงานของผู้กำกับการแสดงคนเดียวกันนี้

อีกส่วนหนึ่งที่ถือได้ว่าโดดเด่นมากอย่างน่าชื่นชมเป็นพิเศษ ก็คือการเลือกใช้เพลงประกอบ ที่เป็นเพลงเก่าแนวสุนทราภรณ์ เช่น สนต้องลม
“ดูสนฉงนใจ เหตุไฉน ใยไม่โค่น
ต้องลม พัดโอน อ่อนโยนตามสายลม...”

ซึ่งใช้สร้างได้ทั้งบรรยากาศเศร้า เหงา โหยหาอดีต ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องกับสัญลักษณ์ “ต้นสน” ที่พูดถึงในเนื้อเรื่อง
หากแต่สิ่งที่ยังดู “ประดักประเดิด” อยู่มาก ในสายตาของผู้ชมคนนี้ ก็คือบทละคร
อย่างที่ผู้กำกับการแสดงเล่าไว้ในสูจิบัตร ว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทละคร Heroes ของ Tom Stoppard ที่ว่าด้วยเรื่องอดีตทหารรุ่นสงครามโลกสามคนในบ้านพักทหารผ่านศึก แต่มาแปลงบริบทให้เป็นไทยมากขึ้น และเปลี่ยนตัวละครจากชายแก่เป็นหญิงชรา

ในหลายๆ ที่หลายๆ แห่ง การแปรและแปลงนั้นก็ยังไม่ค่อย “เนียน” เท่าที่ควร กระสากลิ่นของ “ต้นฉบับ” ยังอวลอยู่ในโรงละครพระจันทร์เสี้ยว เช่นที่ตัวละครในเรื่องชอบพูดถึงความกล้าหาญ หรือถ้อยคำที่พรั่งพรูยามอยู่ในภวังค์ของยาใจที่ยังวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์สู้รบยามสงคราม รวมถึงเรื่องที่จะนึกให้เป็นบรรยากาศใกล้ตัวได้ลำบาก เช่นคำถามที่แต่ละนางถามกันว่า อยากให้บรรเลงเพลงอะไรในงานศพของตัวเอง เพราะก็นึกไม่ออกว่างานศพแบบไทยนั้น จะมีเพลงตอนไหนได้บ้าง ถ้าไม่ใช่จำพวกปี่พาทย์มอญอะไรทำนองนั้น

แต่โดยสรุปแล้ว สุดทางที่บางแคร์ ก็ต้องถือเป็นละครโศกนาฏกรรม ที่มาพร้อมเสียงหัวเราะของผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง โดยหลงผิดไปว่าเป็นเรื่องของตัวละครยายแก่สามคน ซึ่งเป็น “คนอื่น”

ก่อนที่จะกระตุกใจให้คิดเมื่อละครจบว่า อ้าว ! นี่มันเรื่องของ “ตัวเราเอง” นี่หน่า และนี่ละหรือ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา ไม่วันใดก็วันหนึ่ง...

สุดทางที่บางแคร์
New Theatre Society
บทและกำกับการแสดง: ปานรัตน กริชชาญชัย
นักแสดง: ปริยา วงษ์ระเบียบ / เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ / ฟาริดา จิราพันธุ์
โรงละครพระจันทร์เสี้ยว
16 - 27 มิถุนายน 2553
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 126 ปักษ์แรก ตุลาคม 2553