วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพื่อนสาวผีดิบ: แวมไพร์ “สะพานควาย”


เพื่อนสาวผีดิบ/Blood

ต้องสารภาพ (อีกแล้ว) ว่า ผมไม่เคยดูคุณกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า แสดงละครมาก่อนเลย

แม้จะได้ยินชื่อเสียงมานาน ทราบว่าสิ่งที่สร้างชื่อให้แก่เขาเป็นพิเศษ ก็คือบรรดาการแสดงเดี่ยวทั้งหลาย แต่มาหนนี้ เขาไม่ได้มาคนเดียว แต่มาเป็นคู่ โดยมีคุณจุ๋ม สุมณฑา สวนผลรัตน์ นักแสดงสาวมากประสบการณ์ ร่วมแสดงด้วย

เพื่อนสาวผีดิบ คือผลงานละครเรื่องล่าสุด ที่คุณกั๊กนำออกสู่สายตาของสาธารณชน ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในท่ามกลางกระแสละครผีแม่นาค ซึ่งมีออกมาถึงสามเวอร์ชั่น คือ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล (ซีนาริโอ) แม่นาค เดอะมิวสิคัล (ดรีมบอกซ์) และ แม่นาค เดอะมิวเซียม (New Theatre Society) ซึ่ง เพื่อนสาวผีดิบ ก็ใช้โรงละครเดียวกับ แม่นาค เรื่องท้ายสุดนี้ คือที่มะขามป้อมสตูดิโอ

มะขามป้อมสตูดิโอเป็นห้องแถวสามคูหา อยู่หัวมุมสี่แยกสะพานควาย เมื่อดัดแปลงชั้นล่างให้เป็นโรงละคร จึงมีพื้นที่เวทีเพียงราว 4x4 เมตร สองด้านเป็นผนัง อีกสองด้านเป็นแสตนด์ที่นั่งคนดู จุคนดูรอบหนึ่ง อย่างมากถึงมากที่สุด ก็คงได้สัก 40 ที่นั่ง ในรอบที่ผมดู คือคืนวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 มีคนดูอยู่ราวสิบกว่าคน โดยสองในสิบนั้น ก็คือ ครูเล็ก - ภัทราวดี มีชูธน และครูนาย - มานพ มีจำรัส

เพื่อนสาวผีดิบ เล่าถึงเรื่องราวของแพทริเซีย (“จุ๋ม” สุมณฑา สวนผลรัตน์) แวมไพร์สาวผู้ไม่รู้จักความแก่และความตาย เธอเลือกที่จะไม่กินเลือด และเลือกที่จะมีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ มีคนรักเป็นมนุษย์ และมีลูกด้วยกัน ซึ่งทุกคนที่เธอรักก็ล้วนแต่ต้องทยอยตายจากเธอไปตามอายุขัย เรื่องจึงเปิดขึ้นด้วยฉากการสนทนา ที่นำเราเข้าสู่โลกของผีดิบ ระหว่างแพทริเซีย ผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตอมตะ จนออกปากว่าเธอนึกไม่ออกว่าจะยังมีสิ่งใดอีกหนอที่ไม่เคยทำ กับลูกชายที่อยู่ในวัยชรา (“กั๊ก” วรรณศักดิ์ ศิริหล้า) เบื้องหน้าหลุมศพของสามี/พ่อ ผู้ลาโลกไปแสนนานแล้ว

แต่อย่างที่บอกมาแต่ต้น ว่าละครเรื่องนี้มีเล่นกันอยู่แค่สองคน นักแสดงแต่ละคนจึงต้องสวมหลายบทบาท (และเสื้อผ้าหลายชุด) สลับกันไป เพราะในฉากต่อมา คุณกั๊กก็ปรากฏตัวขึ้นในบทของทรานซ์ แวมไพร์อีกตนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์กับแพทริเซีย ทว่า ทรานซ์มิได้มีเจตน์จำนงใดๆ ในชีวิต มันเป็นเพียงข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของราชาแห่งผีดิบ ผู้ซึ่งมอบหมายภารกิจให้ติดตามไล่ล่าแพทริเซีย มาให้ราชาได้ดื่มกินเลือดของเธอ ด้วยความเชื่อว่า เลือดของแวมไพร์สาวผู้ผิดแปลกไปจากผีดิบทั้งมวล จะทำให้ราชาผีดิบสามารถออกมามีชีวิตในเวลากลางวันได้

ตลอดเวลาราวหนึ่งชั่วโมงของการแสดง ทั้งสองยังผลัดเปลี่ยนกันกับบทต่างๆ อีกหลายบท ทั้งเพื่อย้อนหลังให้เห็นชีวิตที่ผ่านมาของผีดิบทั้งสอง และจูงมือผู้ชมเข้าสู่โลกของผีดูดเลือด ซึ่งทั้งที่เป็นที่รังเกียจชิงชัง และเป็นที่หวาดหวั่นสำหรับมนุษย์ คุณกั๊กและคุณจุ๋ม ผลัดกันกลายเป็นหญิงชรา ชายขี้เมา ราชาผีดิบ บาทหลวงหนุ่ม และบาทหลวงเฒ่า ซึ่งฉากที่บาทหลวงรุ่นใหญ่อย่างคุณกั๊ก เทศนาในโบสถ์โปรดสัปบุรุษว่าด้วยเรื่อง “แวมไพร์ : ข้อสังเกต และวิธีการป้องกันตัว” กลายเป็นฉากเดียวในเรื่องที่เป็นละครตลก


เทคนิคการโปรยเมล็ดถั่วเสกไว้ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผีดิบ ให้หันไปนับเมล็ดถั่ว ทีละเมล็ดๆ แทนที่จะเข้าจู่โจมมนุษย์ เรียกเสียงฮาได้มาก ขณะที่ฉากอื่นๆ ทั้งเรื่องกลับมีลักษณะสมจริงแบบดราม่าอย่างยิ่ง

ความตายของลูกชายทำให้แพทริเซียผู้หมดความปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ในแบบของแวมไพร์ เสนอให้ทรานซ์ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนเพื่อนมาตลอดการไล่ล่าอันแสนยาวนาน ดื่มกินเลือดของเธอ เพื่อที่เขาจะได้รับพลังอำนาจที่ราชาผีดิบปรารถนามาโดยตลอด แม้การกระทำเช่นนั้นจะทำให้เธอต้องจบชีวิตลง

ละครเรื่องนี้จบลงด้วยการจากลาของแพทริเซีย และการ “ส่งไม้” ต่อให้แก่ทรานซ์ ผู้ซึ่งปลดปล่อยตัวเองได้สำเร็จ

ว่าโดยพล็อต ละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อน แนวทางของเรื่องก็ไม่ได้หวือหวาเกินคาดอะไร ทว่า สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับ เพื่อนสาวผีดิบ ก็คือพลัง !

ด้วยเวทีขนาดเล็กเพียงเท่านั้น กับนักแสดงชั้นดีสองคน ละครเรื่องนี้ดูดิบ และดูจริง ได้อย่างเหลือเชื่อ ละครชั่วโมงเดียวที่เล่นกันสองคน และเปลี่ยนชุด “ออกทุกฉาก” คงเรียกร้องพลังอย่างมหาศาล ในช่วงท้ายๆ จึงเห็นทั้งคุณกั๊กและคุณจุ๋มเหงื่อหยดติ๋งๆๆ ตลอดเวลา

หากจะมีเรื่องเล็กๆ บางอย่างที่ยังรู้สึกขัดอกขัดใจนิดหน่อย ก็คือการออกเสียงภาษาไทยของคุณกั๊ก โดยเฉพาะ ตัว ส เสือ ที่ออกเสียงเหมือน “เด็กสมัยนี้” หลายคน คือเอาปลายลิ้นไปแตะเพดานด้วย ซึ่งเสียงนี้ไม่มีในภาษาไทยมาตรฐาน (ที่จริงยังมีเสียงพยัญชนะตัวอื่นๆ อีก แต่ ส เสือ นี้ได้ยินชัดเจนทุกครั้ง) อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเมื่อพิจารณาจากพลังด้านอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว ก็จะยินยอมมองข้ามไปเสีย

อุปกรณ์ประกอบฉากก็มีเพียงม้ายาวเตี้ยๆ ตัวเดียว ใช้งานได้สารพัด วางเป็นเก้าอี้นั่ง/เตียงนอน พลิกตั้งขึ้นมาเป็นตู้สารภาพบาปในโบสถ์ แล้วจับตีลังกาหงายท้อง ให้กลายเป็นโลง

อีกสองสิ่งที่ใช้ได้อย่างมีพลังมากๆ คือการออกแบบแสงที่ดีเยี่ยม และควบคุมได้ "อยู่" หมด ทั้งที่จริงๆ แล้วใช้ไฟน้อยดวงเต็มที อีกอย่างหนึ่งคือเพลงประกอบ ที่เลือกเพลงมาใช้ได้บรรยากาศผีมากๆ ยกเว้นเพลง Smile ของชาร์ลี แชปลิน (เข้าใจว่าเป็นเวอร์ชั่นของไมเคิล แจ็คสัน ?) ตอนท้ายเรื่อง ซึ่งแม้ว่าเนื้อร้องอาจเข้ากับเรื่องช่วงนั้น แต่ฟังแล้วค่อนข้าง "โดด" จากโทนของเรื่อง


เพื่อนสาวผีดิบจึงแสดงให้เราเห็น (อีกครั้งหนึ่ง) ว่า สำหรับการละครแล้ว การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่านั้น เป็นเช่นไร

และแม้จะปราศจากสลิง ไม่ต้องร้องเพลง นักแสดงที่ดี กับบทที่ดี ก็ยังสร้างละครที่ดี ที่น่าประทับใจแก่ผู้ชมได้เสมอ


เพื่อนสาวผีดิบ / Blood

มะขามป้อมสตูดิโอ สี่แยกสะพานควาย
กำกับการแสดง “กั๊ก” วรรณศักดิ์ สิริหล้า
นักแสดง วรรณศักดิ์ สิริหล้า และ สุมณฑา สวนผลรัตน์
วันที่ 14-17/22-24 กรกฎาคม 2552

ปรับแก้จากที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 104 ปักษ์หลัง ตุลาคม 2552