วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ละครเพลงต้านเผด็จการ !


เวิร์คพอยท์ โดยบริษัทโต๊ะกลมโทรทัศน์ ได้ฤกษ์ “เบิกโรง” โรงละครใหม่ย่านสยามสแควร์ K-Bank Siam Pic-Ganesha กับละครเพลง โหมโรง เดอะมิวสิคัล ผลงานการรีเมคภาพยนตร์ชื่อเดียวกันของอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เมื่อปี 2547 ดังนั้นจึงคงไม่ต้องกล่าวถึงเนื้อเรื่อง เพราะใครๆ ก็คงรู้ดีกันอยู่แล้วว่าเค้าโครงของเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวประวัติของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง 2424–2497) ครูใหญ่ท่านหนึ่งของวงการดนตรีไทย

            สำหรับโหมโรง ฉบับล่าสุดนี้ ถ้าจะไม่พูดถึงคู่พระ-นางของเรื่อง ก็อาจจะดูขาดอะไรไป  ทั้งสองถือได้ว่าเปิดตัวได้งดงามกับมิวสิคัลเรื่องนี้ เพราะผู้ชมย่อมต้องยอมรับในความตั้งใจและความทุ่มเทของอาร์ม – กรกันต์ สุทธิโกเศศ ผู้รับบทเป็นนายศร ซึ่งต้องฝึกฝนการตีระนาดมาอย่างหนัก  รวมทั้ง แนน – สาธิตา พรหมพิริยะ นางเอกของเรื่องที่รับบทเป็นแม่โชติ คนรักและคู่ชีวิตของพระเอก แม้เนื้อเสียงเล็กบางของเธออาจจะฟังดูแง๊วๆ ไปบ้างในบทพูด แต่น้ำเสียงเดียวกันนั้นก็เปล่งประกายเป็นหนึ่งความงดงามของละครเรื่องนี้เมื่อยามเธอเอื้อนเอ่ยขับขานบทเพลง 

            แต่ขณะเดียวกัน ด้วยวัยและประสบการณ์ ก็ต้องยอมรับว่าทักษะการแสดงละครเวทีหรือ “พลัง” ของทั้งคู่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก และเมื่อพลังของคู่พระนางไม่มีมากพอที่จะ “ยึดจับ” คนดูเอาไว้ได้อยู่ อีกทั้งบท “พระเอ๊กพระเอก” ของเรื่องนี้ดูๆ ไปแล้วก็จืดชืดชอบกล  ดาวเด่นของละคร โหมโรง เดอะมิวสิคัล จึงตกไปอยู่กับนักแสดงท่านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณสุประวัติ ปัทมสูต ที่รับบท “ท่านครู” หรือนายศรวัยสูงอายุ  เอ๋ เชิญยิ้ม ในบท “เปี๊ยก” ที่โชว์ความสามารถในการร้องและการตีระนาด อีกทั้งการแสดงบทดราม่าอันทรงพลัง รวมถึงนักร้องจากค่าย AF อย่าง “ปอ” อรรณพ ทองบริสุทธิ์ ที่รับบทเป็น “เทิด” ซึ่งก็ต้องถือว่าเปิดตัวได้สวยงามสำหรับการแสดงมิวสิคัลเรื่องแรกของเขา

            แม้ประเด็นทางอุดมการณ์ของเรื่อง หรือ “ความฟูมฟายของความเป็นไทย” จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วตั้งแต่ภาพยนตร์ออกฉายเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน  กระนั้น โหมโรง ก็ยังได้รับความสนใจ และมีการนำมารีเมคเป็นละครโทรทัศน์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กระทั่งแปรรูปมาเป็นละครเพลง ฉบับปี 2558 ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรมาก เพราะทางผู้จัดก็พยายามรักษารายละเอียดของฉาก เหตุการณ์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าหน้าผม ให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากที่สุด ทว่าการนำ โหมโรง ขึ้นเวทีละครในปีนี้ กลับสร้างความหมายใหม่ให้แก่เรื่องที่ดูเหมือนจะซ้ำซากได้อย่างน่าทึ่ง

            ในแง่หนึ่ง โหมโรง ได้รับการกล่าวขวัญถึงในเรื่องที่นำเสนอ “ความเป็นไทย” อย่างสุดใจขาดดิ้น ถึงขนาดที่ในฉบับละครเพลง เลือกใช้คำโฆษณาว่า “ไร้ราก ไร้แผ่นดิน” หากแต่ความเป็นไทยที่ปรากฏชัดเจนในเวอร์ชั่นละครนี้ก็คือ “อำนาจ”   

            อำนาจในโหมโรง เป็นสิ่งที่มีมิติทับซ้อนกันเป็นช่วงชั้น สังคมไทยใน โหมโรง ดูไปก็ไม่ผิดอะไรกับสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วย “ผู้ใหญ่” ที่มีสิทธิ์มีเสียงเหนือ “ผู้น้อย” เป็นลำดับลดหลั่นกันไป   ตั้งแต่ระดับในบ้าน ที่ศรต้องอยู่ใต้อำนาจของพ่อ ซึ่งปกครองบ้านอย่างเด็ดขาด แต่แล้วเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “ผู้ใหญ่” ระดับท้องถิ่น อย่างสมุหเทศาภิบาลมณฑล พ่อที่เคยเป็นใหญ่ในบ้านก็กลับต้องหงอไป  และผู้ชมก็อาจจะสะใจเล็กๆ ที่เทศาฯ ที่เคยกร่าง ใหญ่โตคับบ้านคับเมืองก็ต้องไปนั่งจุ้มปุ๊กก้มหน้าก้มตาอยู่แทบเท้าของ “สมเด็จฯ” ในวัง  ซึ่งสุดท้ายในฉากประชันระนาด สมเด็จฯ เจ้านายของศร ก็ยังต้องไปเจอกับสมเด็จฯ อีกองค์หนึ่ง ซึ่งดูท่าทางแล้วก็คงมีบารมีทัดเทียมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าใด หรือเผลอๆ อาจจะมีอำนาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

            การนำเอาภาพยนตร์ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ค่อนข้าง “น่าเบื่อ” กลับมาขึ้นเวทีใน พ.ศ. นี้ ยังสร้างความหมายใหม่ให้แก่เรื่องราวที่น่าเบื่อนั้น จนทำให้ต้องชมด้วยความรู้สึกตื่นเต้นระทึกใจทีเดียว  ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ การ “แฟลชแบ็ก” จากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่ง อาจทำได้ไม่ยากนัก ด้วยเทคนิคของภาพยนตร์  หากแต่ในละครเพลง การ “แฟลชแบ็ก” จากยุครัชกาลที่ 5 ของนายศรวัยหนุ่ม มาสู่ยุคของ “ท่านผู้นำ” ที่นายศรอยู่ในวัยชรา เลือกใช้วิธีการให้เด็กๆ ตั้งแถวร้องเพลงปลุกใจสรรเสริญนโยบายของ “ท่านผู้นำ” ในลักษณะไร้อารมณ์ ทับกับเสียงเพลงที่แหบพร่าเหมือนเพลงโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งกระจายเสียงผ่านลำโพงรุ่นเก่า 

            แต่แล้วเมื่อเสียงเพลงดังขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้งเข้าจนเริ่มจำได้ คนดูจึงเริ่มรู้สึกรำคาญ แล้วจึงเริ่มตะหงิดๆ ว่า หรือจะมีความเชื่อมโยงกันบางอย่าง ระหว่างเพลงปลุกใจของ โหมโรง (ซึ่งแต่งขึ้นใหม่) ที่ว่า
            “เมื่อชาติมีภัย เราจะต้องรวมใจกัน ต้องเชื่อท่านผู้นำ...”
            
             กับอีกเพลงหนึ่งที่ถูกเปิดซ้ำๆ ย้ำๆ ทั้งวันทั้งคืนมาตั้งแต่กลางปี 2557
            “วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา 
             ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป...”
            
            ยังไม่ต้องนับว่า ประเด็นที่เคยดูธรรมดาๆ เช่นรัฐบาลทหารคุกคามชีวิตประจำวันของพลเมือง เช่นการเล่นดนตรี อย่างที่ปรากฏมาตั้งแต่ฉบับภาพยนตร์  เมื่อนำมาร้องมาเล่นใน พ.ศ. นี้ กลับได้ความหมายใหม่ที่น่าทึ่ง

            หรือจะว่าคิดไปเองก็ย่อมไม่ใช่แน่ๆ เพราะก็ยังมีฉากที่ “ทีมตลก” ซึ่งนำโดย เอ๋ เชิญยิ้ม เล่นมุกกับเปียโนตัวใหม่ หลังจากนึกตู่เอาว่าเปียโนเป็นตู้กับข้าวแล้ว ทีมนี้ก็ช่วยกันกดเปียโนเป็นท่อนเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...” ซึ่งถูกนำเสนอในฐานะเรื่องตลก ไร้สาระ เสียอีก
            
ในสายตาของผู้ชมจำนวนไม่น้อย โหมโรง เดอะมิวสิคัล  จึงกลายเป็นละครการเมือง ต่อต้าน เสียดสี อำนาจของทหาร ที่เที่ยวกดขี่บีฑาพลเรือนอย่างไม่เป็นธรรมไม่ว่าทางทีมงานหรือผู้กำกับฯ จะออกตัวชี้แจงว่าอย่างไรก็ตามที

โหมโรง เดอะมิวสิคัล
โรงละคร K-Bank Siam Pic-Ganesha
กำกับการแสดง : ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม และ รสสุคนธ์ กองเกตุ
นักแสดง : สุประวัติ ปัทมสูต / กรกันต์ สุทธิโกเศศ / โย่ง อาร์มแชร์ / สาธิดา พรหมพิริยะ / ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ / ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ / เอ๋ เชิญยิ้ม / ปอ af7 / นาย the comedian / ดวงใจ หทัยกาญจน์
จัดแสดงในเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2558

เผยแพร่ครั้งแรก – ที่นี่

ฟังฉันบ้าง


รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก 


หนึ่งในผลงานนิสิตที่ลือลั่นที่สุดใน “ก่อนจบ สองห้า53” เทศกาลละครวิทยานิพนธ์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา หวนคืนสู่เวทีอีกครั้งอย่าง “มืออาชีพ” กับนักแสดงคนเดิม – พัชรกมล จันทร์ตรี

รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก แปลและแปลงบทมาจาก Details Cannot Body Wants ผลงานของกวี/นักแสดง/นักการละครสตรี เชื้อสายจีน “ชิน วูน ปิง” (Chin Woon Ping) ละครเรื่องนี้เป็นการแสดงเดี่ยวสี่เรื่องติดต่อกันตามชื่อคือ รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก โดยมีบทพูด (monologue) ความยาวรวมกันเกือบหนึ่งชั่วโมง

เว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (http://infopedia.nl.sg) ให้ข้อมูลว่า การแสดงเดี่ยวเรื่องนี้ถูกหน่วยงานเซ็นเซอร์ของทางการจับติดเรท R ชนิด ฉ18+ เป็นเรื่องแรกของประเทศ ตั้งแต่ผู้เขียนนำออกแสดงครั้งแรกในสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2535/ค.ศ. 1992 ด้วยเหตุว่ามีถ้อยคำและอากัปกิริยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งมากเกินไป

เมื่อการแสดงเริ่มต้น ไฟที่สว่างขึ้นสาดให้เราเห็นพื้นเวทีที่ปูผืนผ้ายับย่นฉีกขาดเต็มไปด้วยรอยคราบเปื้อนเปรอะสีแดงคล้ำทั่วทั้งผืน เสียงของยามเช้าแว่วมาให้ได้ยิน ก่อนจะดังขึ้นเรื่อยๆ ร่างที่นอนขดอยู่บิดตัวอย่างทรมาน ก่อนจะรวบรวมกำลังลุกขึ้น แล้วค่อยๆ เข้าไปลากข้าวของต่างๆ ออกมากอง ทั้งหม้อไหกระทะที่ผูกร้อยกันไว้ กล่องรองเท้านับสิบใบ หนังสือเล่มหนาหนักหนึ่งหอบใหญ่ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา และอีกสารพัดอย่าง

พัชรกมลเริ่มต้น “เล่าเรื่อง” ของเธอให้เราฟังในชุดรัดรูปสีเนื้อทั้งตัว บ่งบอกว่าเป็นร่างเปล่าเปลือย 
“เรื่องเล่า” ของเธอคือเรื่องว่าด้วย “ความเป็นหญิง” ในแง่มุมแบบ “เฟมินิสต์” ที่ว่าในสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น ความเป็นหญิงไม่ใช่สิ่งที่มีมาตามธรรมชาติ  มนุษย์ไม่ได้เกิดมา “เป็น” หญิง หากแต่ถูก “ประกอบสร้าง” ให้เป็นหญิงต่างหาก

มีค่านิยม ทัศนคติ มายาคติมากมายเพียงใดที่ถูกบีบอัดเข้าไปในความเป็นหญิง !

สิ่งที่บทละครเรื่องนี้สื่อสารกับคนดูก็คือการ “รื้อ” ความเป็นหญิงที่แปลกแยกนั้นออกมา แล้วนำเสนอเป็นภาพปะติดปะต่อ ที่บ่อยครั้งก็จะเท้าความกลับไปสู่การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวแต่เยาว์วัย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าการเป็นหญิงนั้น มี “รายละเอียด” มากมายเพียงไรที่สังคมเรียกร้องต้องการให้เธอต้องทำ  มีคำสั่งห้าม “ไม่ได้”ๆๆๆๆๆ กี่ร้อยกี่พันอย่าง ที่กำหนดกฎเกณฑ์และชะตาชีวิตของลูกผู้หญิง  แม้แต่ “ร่างกาย” ของเธอก็กลายเป็นพื้นที่ (หรือ “วัตถุ”) ทางสังคมที่ถูกใช้งานสารพัด นับแต่การรองรับอารมณ์ใคร่ ความรุนแรง และการทารุณกรรมนานัปการ ไปจนถึงการตอบสนองความคาดหวังของสังคม ว่าผู้หญิงควรมีหน้าอก เอว หรือริมฝีปากแบบไหนขนาดเท่าไร  กระทั่งความ “อยาก” ของผู้หญิง ทั้งในแง่จิตใจ (เช่นความต้องการเป็นที่รัก) และความต้องการครอบครองวัตถุก็ยากที่จะบอกว่าเป็นความต้องการของเธอจริงๆ หรือไม่ และเมื่อใดมันจะจบสิ้นหรือเพียงพอ

พัชรกมลนำเสนอการแสดงชุดนี้ด้วยการแสดงเดี่ยวที่มีพลัง (แน่นอนว่าย่อมต้องใช้ “พลัง” กับ “สมาธิ” อย่างยิ่งยวด) ซึ่งเรื่องนี้ผู้ชมย่อมไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ และทำให้เราท่านต้องตั้งตาคอยผลงานอันดับต่อๆ ไปของเธอให้ดี

หากแต่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าจะมีคำถามหรือข้อสงสัยก็คือ การรักษาไว้ซึ่งตัวบทดั้งเดิมเกือบทั้งหมด (มีโปรเจ็คเตอร์ฉายบทภาษาอังกฤษที่ด้านบนฝาหลังโรงละครกำกับตลอดการแสดง) มีทั้งบทเพลงร้องหลากสไตล์ ตั้งแต่ I Get a Kick Out of You เพลงแสตนดาร์ดอเมริกันของโคล พอร์เตอร์ (Cole Porter)  เพลง Non, Je Ne Regrette Rien  ของเอดิธ เพียฟ (Edith Piaf)  เพลง ด่วนพิศวาส (“เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย...”) จากคุณป้าผ่องศรี วรนุช (ที่ถูกเสริมเข้าไปแทนที่เพลงของนักร้องหญิงจีนรุ่นเก๋าตามบทละครดั้งเดิม) ไปจนถึงเพลงแร็พ บทกวีอินโดนีเซียน รวมทั้งประโยคภาษาจีนกลางสลับไปมา  หลายประเด็นหลายถ้อยคำฟังแปลกแปร่งและไม่อาจสื่อสารกับผู้ชมชาวไทยได้ เพราะผู้เขียนบทดั้งเดิมเขียนด้วยภูมิหลังแบบสตรีเชื้อสายจีนในมลายู (อย่างที่เรียกกันว่า Peranakan) หลังยุคอาณานิคม ซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่คนในวัฒนธรรมแบบนั้นย่อมเข้าใจกันเองได้ซึมซาบ   ผู้ชมชาวไทยบางคนอาจถึงกับตั้งแง่ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว สู้แปลงให้ รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก กลายเป็น “ไทย” หรือเปลี่ยนเป็นบริบทแบบ “จีนสยาม” พูดแต้จิ๋วเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ เพราะอาจจะสื่อสารกับคนดูได้ง่ายกว่า ตรงตัวกว่า  แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ที่จริงแล้ว การแปลและนำเสนอในรูปแบบดั้งเดิมเช่นนี้ก็ยังมีข้อดีในตัวของมันเอง เพราะทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้เรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม  ได้สัมผัสกับแง่มุมทางสังคมต่างๆ ซึ่งในหลายกรณี ความเป็นหญิงในสังคมจีน-มลายู กับความเป็นหญิงจีน-สยาม หรือความเป็นผู้หญิง “ตะวันออก” ก็ย่อมมีความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย หรืออาจเรียกได้ว่า ใน “ความต่าง” ของสตรีอุษาคเนย์ ก็ยังมี “ความเหมือน” ที่บางทีใกล้เคียงกันจนน่าขนลุ

 

เพียงเมื่อไม่กี่วันก่อน เพิ่งมีหนุ่มรุ่นน้องเชื้อสายจีนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนที่แม่ตั้งท้องเขาอยู่นั้น พ่อถึงกับประกาศไว้เลย ว่าถ้าออกมาเป็นลูกสาว พ่อก็จะไม่เลี้ยงทั้งแม่ทั้งลูก ช่วงตั้งแต่ที่แม่รู้ว่าตั้งท้องจนถึงก่อนคลอดจึงเป็นเวลาแห่งความกระวนกระวายใจ ความกลัดกลุ้ม ความน้อยเนื้อต่ำใจ  แม่เล่าให้เขาฟังว่าระหว่างนั้นต้องตระเวนไปไหว้พระไหว้เจ้า บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกหนทุกแห่ง เพื่ออธิษฐานให้ได้ลูกชาย  แน่นอนว่า คุณแม่ (และคุณพ่อ) ของเขาสมปรารถนา
หากแต่เชื่อได้ว่านี่ย่อมไม่ใช่กรณีพิเศษ และย่อมต้องมีผู้ที่ไม่สมปรารถนาอีกมากกว่ามาก

บางเรื่องนั้น หากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวก็ย่อมเป็นอยู่เช่นนั้น จนกว่าเราจะลองคิดอีกที...





รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก
กลุ่มละคร 4 DARUMA
บทดั้งเดิม Details Cannot Body Wants ของ Chin Woon Ping
นักแสดง พัชรกมล จันทร์ตรี
บลูบอกซ์สตูดิโอ (ชั้น 2 M Theatre)

ตุลาคม 2553

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่

ทึกทึก 3 One Night in ToKyo!

ทึกทึก 3 One Night in ToKyo!

มีนาคม 2554ผู้เขียนเดินออกมาจากโรงละครเอ็มเธียเตอร์ด้วยความรู้สึกแปลกๆถามว่า ทึกทึก 3 ตลกไหม ?ก็คงต้องยอมรับว่าขำๆ ดี
ถ้าถามอีกว่า นักแสดงเป็นอย่างไรบ้างก็คงต้องย้อนว่า ระดับนี้แล้วยังจะสงสัยอีกหรือ
ชื่ออย่าง อัจฉราพรรณ  ไพบูลย์สุวรรณ, ธิติมา  สังขพิทักษ์, ผอูน  จันทรศิริ, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, ศิรินุช เพ็ชรอุไร, กนกวรรณ บุรานนท์, พล ตัณฑเสถียร, เมทนี บุรณศิริ, วสันต์ อุตตมะโยธิน ก็พอเป็นเครื่องรับประกันได้ แต่ถ้าถามว่าสรุปแล้ว ชอบไหม ?อืม...อันนี้ สงสัยจะต้องบอกว่าไม่ค่อยชอบแฮะ!


ดรีมบอกซ์โฆษณาว่า “ทึนทึกเป็นละครตลกที่สะท้อนชีวิตวิถีคนเมืองผ่านกลุ่มตัวละครผู้หญิงเก่ง ที่เป็นเสมือนตัวแทนคนชั้นกลางปัจจุบัน  เรื่องราวชวนขันของกลุ่มเพื่อนที่อุปนิสัยหลากหลาย แต่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันทั้งฐานะ การศึกษา ชาติตระกูล รสนิยม ด้วยสถานการณ์วุ่นวายสารพัดเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละตอน ทำให้ละครเรื่องนี้ทั้งตลกขบขัน สะท้อนทัศนคติร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคมเมืองชนิดโดนใจ  เสียดสีเหน็บแนมจนผู้ชมต้องหัวเราะไปกับข้อผิดพลาดไร้สาระของตัวละครที่เป็นภาพสะท้อนของตัวเอง” 

ในภาคนี้ เนื้อเรื่องว่าด้วยนาย “โคอิเขะ” (โชโกะ ทานิกาวะ) เด็กหนุ่มญี่ปุ่น เดินทางเข้ามาเมืองไทยเพื่อสืบหาพ่อที่แท้จริงของเขา ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มของเหล่า “ทึนทึก”  เรื่องนี้เองผู้เขียนบทคงได้ไอเดียมาจากข่าว ด.ช. เคอิโงะ เด็กไทยที่พยายามตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นของเขาเมื่อสองปีก่อน  มุกตลกของ ทึกทึก 3 ไม่น้อยก็ใช้วิธีอ้างอิงกับสถานการณ์ร่วมสมัย ทั้งการเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมเช่นนี้ 

บางมุก เช่นการล้อเลียน วนิดา ละครโทรทัศน์หลังข่าวสุด “ฮิต” แห่งปี 2553 ไม่น่าเชื่อว่าล่วงเลยมาไม่กี่เดือน เมื่อ ทึกทึก 3 ลงโรงช่วงมีนาคม 2554 มุกเรื่องนี้ก็ “เอาต์” หรือกลายเป็น “มุกแป้ก” ไปเสียแล้ว  ขณะที่อีกหลายมุก ก็ยัง “ทำงาน” ได้ดี ณ ขณะเวลานี้ เช่นการเหน็บแนมสาวกที่เสพติดเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถึงขนาดนั่งอยู่ข้างๆ กัน แต่กลับต้องนั่งแชตกันผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแต่ละคนที่คอยจ้องแต่จะแย่งกันใช้ “มือถือ” ถ่ายภาพไป “โหลด” ขึ้น facebook

แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าอีกสักปีสองปี ถ้าเอาบทละครมาอ่านอีกครั้งจะยังมีใครเข้าใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม “ความตลก” อีกส่วนหนึ่งของ ทึนทึก 3 กลับดู “หลงยุค” เกินกว่าที่จะเข้าใจได้ในโลกปัจจุบันแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือใน ทึนทึก ภาค 1 และ 2 กลุ่มเพื่อน “สาวแก่” พยายามกีดกัน “ปานดวงใจ” เพื่อนนักเขียนสาวแสนดีไม่ให้คบหากับ “หมง” หนุ่มใหญ่ เถ้าแก่รับเหมาเชื้อสายจีน เพราะเห็นว่า “ไม่เหมาะสมคู่ควร” แต่ในที่สุดก็ล้มเหลว ทั้งสองได้แต่งงานกันในภาค 2 จนได้  “หมง” ซึ่งในรอบนี้ รับบทโดยคุณพล  ตัณฑเสถียร ดูเป็นตัวละครที่ถูกตีความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง  

การพูดไม่ชัดด้วยสำเนียงจีนที่คุณพลใช้ดูประดักประเดิด ยิ่งกว่านั้น หากเป็นเมื่อ 20-30 ปีก่อน คนจีนที่พูดไม่ชัดสามารถพบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา และเป็น “มุกตลก” ยอดนิยมของวงการหนังละครไทยมาเนิ่นนาน  คนในรุ่นผู้เขียนอาจยังจำคุณบู๊ วิบูลย์นันท์ ได้ ว่าเกือบตลอดชีวิตการแสดง เขาต้องรับบท “อาเสี่ย” ที่พูดไทยไม่ชัดอยู่เป็นประจำ จนเราไม่สามารถนึกภาพเขาพูดภาษาไทย “มาตรฐาน” ได้เลย ทั้งที่ในชีวิตประจำวันปกติ คุณบู๊ก็คงพูดภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ นั่นเอง

แต่มาเดี๋ยวนี้ ความเป็น “จีน” ในหมู่ลูกจีนเมืองไทยนั้น กลับเป็นเรื่องที่อยู่ลึกลงไปข้างใต้ ไม่ใช่แค่การ “พูกพาสาไทม่ายซัก” อีกต่อไป เช่นเท่าที่ผู้เขียนเคยรู้จัก เพื่อนๆ ลูกจีนอายุรุ่นราวเดียวกัน (ซึ่งก็น่าจะรุ่นใกล้เคียงกับ “อาหมง”) ล้วนเติบโตมาในโลกที่สื่อมวลชนและสถาบันการศึกษา “จัดการ” เสียจนสำเนียงจีนแบบคุณบู๊เลือนรางไปหมดแล้ว  เขายังอาจฟังญาติผู้ใหญ่พูดจีนพอเข้าใจ ยังภาคภูมิกับความเป็นจีน แต่ที่แน่ๆ คือเขาไม่พูดภาษาไทยแบบคุณบู๊แล้ว

ผู้เขียนเชื่อด้วยซ้ำว่าผู้ชมรุ่นเยาว์ในเอ็มเธียเตอร์อาจฟัง “พาสาไท” ของอาหมงแทบไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ยังไม่นับกิริยาอาการประหลาดๆ ของเขา เช่นการเดินกางแขนออกข้างๆ ตัวตลอดเวลา ที่ดู “ตั้งใจ” ให้ไม่ปกติ และสร้างความรู้สึก “ไม่เชื่อ! ไม่จริง!” ทุกครั้งที่เห็น

แต่พร้อมกันนั้น ในบางแง่มุมก็ต้องถือว่าบทละครของ ทึนทึก 3 เสียดเย้ยชนชั้นกลางไทยได้เจ็บแสบอย่างยิ่ง  

บรรดา “ผู้หญิงเก่ง” ในเรื่องนี้ มองโลกผ่านสายตาของ “ชนชั้นกลางชาวกรุง” ที่ชอบดูถูกเหยียดหยามคนอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมต่างหรือ “ต้อยต่ำ” กว่าของตัว ไม่ว่าเป็นลูกจีนหรือเด็กรับใช้ในบ้าน  น่าสนใจว่ามุมมองนี้เกิดขึ้นพร้อมกับความงุนงงหงุดหงิดกับโลกรอบตัวที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  โดยเฉพาะเมื่อฐานะทางเศรษฐกิจไม่ได้เคียงคู่ไปด้วยกันกับสถานะทางสังคมอย่างที่คุณเธอเคยยึดมั่นถือมั่นกันมา

เช่น กระแต (กนกวรรณ บุรานนท์) อดีตเด็กรับใช้ในบ้านของปานดวงใจ (ธิติมา) เธอจับพลัดจับผลูคว้าสามีฝรั่งแก่มหาเศรษฐีผู้ดีมีตระกูลได้ แถมดันตายไปหลังจากแต่งงานไม่นาน ทิ้งมรดกก้อนใหญ่ไว้ให้เธอ แต่ด้วยความคุ้นเคย กระแตจึงมาปลูกบ้านตึกหลังใหญ่ข้างบ้านปานดวงใจ เพื่อจะได้มารับใช้ใกล้ชิดนายเก่าต่อไปอย่างที่เคยทำมาค่อนชีวิต  ขณะที่ตัวละครสาวเก่งทั้งหลายในเรื่องใช้ “มือถือ” หรือ facebook เพียงเพื่อตอบสนองความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว แต่กระแตกลับใช้ iPad เช็คราคาทองคำในตลาดโลก แล้วโทรศัพท์สั่งซื้อสั่งขายกับดีลเลอร์เพื่อลงทุนทำกำไรระยะสั้นทุกวัน

เอาเป็นว่า โดยสรุป ทึนทึก 3 ไม่ค่อย “ถูกจริต” ของผู้เขียนเท่าใด แม้จะเป็นละครที่ “ตลกดี” แต่กลับไม่ทิ้งความประทับใจอะไรให้ระลึกถึงมากนัก




ทึนทึก 3 : One Night in ToKyo!  
ดรีมบอกซ์
บทละคร: ดารกา  วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง: สุวรรณดี  จักราวรวุธ
นักแสดง: อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ, ธิติมา สังขพิทักษ์, วสันต์ อุตตมะโยธิน, ผอูน จันทรศิริ, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, ศิรินุช เพ็ชรอุไร, กนกวรรณ บุรานนท์, พล ตัณฑเสถียร, เมทนี บุรณศิริ และโชโกะ ทานิกาวา
โรงละครเอ็มเธียเตอร์
มีนาคม 2554


เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ 

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย




กิจกรรมจิตบำบัด

เมื่อกลุ่มละครเล็กๆ กลุ่มหนึ่งต้องช่วยกันระดมความคิดว่าละครเวทีแบบไหนที่จะเหมาะกับเทศกาลละครกรุงเทพฯ  พวกเขานัดคุยกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งย่านถนนพระอาทิตย์  การประชุมนี้มีทั้งนักแสดงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มือใหม่หัดเขียนบท ฝ่ายฉากรุ่นพ่อ สิ่งที่พวกเขาถกเถียงกันก็คือละคร “ที่ดี” นั้น ต้องมีอะไรบ้าง ? หรืออะไรคือสิ่งสำคัญที่ละครควรให้ความสนใจ 

บทละครที่พวกเขาจะนำออกแสดง คือ เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ผลงานการเขียนบทของน้องใหม่แว่นตาโต “นุ่น” (ช่อลดา สุริยะโยธิน) ว่าด้วยเรื่องแม่ค้าที่ขายเฉาก๊วยอยู่หน้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้มีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง เธอจะเป็นนายตำรวจบ้าง แม้ว่าที่นั่นจะไม่ยอมรับผู้หญิงเข้าเรียน 

ในขณะที่แต่ละคนในกลุ่มละคร ต่างคนก็ย่อมจะมี “ภาพ” ในใจว่า ละครที่ “ดี” นั้นคืออะไร ต่างคนจึงพยายามให้ “มี” สิ่งนั้นอยู่ในละครเรื่องนี้ หรือตั้งคำถามกับแนวทางแบบอื่นๆ ที่ตนมิได้สมาทาน
ในไม่ช้า ผู้ชมก็จะพบว่า สิ่งต่างๆ ที่ชาวคณะละครนี้กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดนั้น ก็ล้วนแต่ถูกหยิบยกออกมาแสดงในละครซ้อนละครเรื่องนี้ เช่นเมื่อ “ป๊อด” (ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช) ย้ำว่า ละครที่ดีควรมีเพลงร้อง เหมือนเรื่อง The Sound of Music ที่เขาเพิ่งแสดงจบไป ท่ามกลางข้อแย้งของ “กุ๊ก” (ปานรัตน กริชชาญชัย) นักแสดงสาวรุ่นน้อง เพื่อนร่วมกลุ่มละคร ว่าการที่อยู่ๆ คนเราจะร้องเพลงออกมานั้น มันช่าง “ไม่เป็นธรรมชาติ” และ “ไม่มีใครที่ไหนเขาทำกัน”  แต่แล้วบทสนทนาของทั้งสองก็ค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นเพลงร้องโต้ตอบด้วยลักษณาการของมิวสิคัล ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ทั้ง “สุพล” (วิชย อาทมาท) เลขาฯ การประชุมที่ก้มหน้าก้มตาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา “เจ๊ฝอย” (ฉัตรชัย พุดซ้อน) นักแสดงสาวในร่างบุรุษ หรือ “มาโรจน์” รุ่นใหญ่ฝ่ายฉากมาดเซอร์  ต่างก็ลุกขึ้นขยับแข้งขา ยกมือยกไม้ เต้นตามไป จนเพลงจบทุกอย่างก็กลับเข้าที่เดิม เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น

สารพัดประเด็นของกฎเกณฑ์และทฤษฏีละครสมัยใหม่ถูกหยิบยกออกมาค่อนแคะ ทั้งเรื่องความสมจริง ความเงียบ ปมขัดแย้ง สัญลักษณ์ จนถึงเรื่อง “น้ำเน่า” อย่างการตามหาพ่อที่แท้จริง การหวนกลับมาพบเจออดีตรักวัยเยาว์ ฯลฯ พร้อมๆ ไปกับที่เกิดเรื่องเหล่านั้นขึ้นบนเวที ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ แบบเดียวกับที่ละครว่าไว้

และทั้งหมดก็นำมาซึ่งเสียงหัวเราะตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ชั้นบนของร้านสังคมนิยม ถนนพระอาทิตย์ 

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ถือเป็นการกำกับละครพูดครั้งแรกของศุภฤกษ์ เสถียร เขาพูดถึงละครเรื่องนี้ไว้ในสูจิบัตรว่า

“หากละครเวทีเป็นเฉาก๊วยสักถ้วย เฉาก๊วยที่ดีและมีคุณค่ามันจะมีหน้าตาแบบไหน ต้องมี อย. หรือเปล่า หรือต้องมีตราชวนชิม  แล้วเฉาก๊วยที่คุณชอบมันต่างกันไหม บางคนชอบนิ่มๆ บางคนอาจชอบแข็งๆ บางคนชอบให้เป็นเส้นเล็กๆ บางคนชอบให้เป็นเหลี่ยม บางคนชอบกินกับน้ำเชื่อม บางคนชอบใส่น้ำแดงมากกว่า บางคนเติมข้าวโพด ลูกชิด ขนมปัง ทับทิมกรอบเข้าไปด้วยถึงจะชอบ  ต่างคนก็ต่างสไตล์ แล้วเมื่อเราต้องทำเฉาก๊วยขาย เราจะให้ความสำคัญกับอะไร ส่วนประกอบต่างๆ อาจเป็นเพียงส่วนเกินที่พยายามใส่เข้ามา เพื่อเอาใจและล่อหลอกคนกิน แต่ส่วนที่เราต้องหันมาใส่ใจกันด้วย นั่นก็คือการต้มเฉาก๊วย...”

หากเปรียบละครเรื่องนี้เป็นเฉาก๊วย ก็ต้องบอกว่าเป็นเฉาก๊วยที่ “ชื่นใจ” ได้สำหรับแทบทุกคนทีเดียว เพราะหากเป็นคนดูที่มีความสนใจหรืออยู่ในแวดวงละเม็งละคร ก็จะสามารถเข้าใจหรือ get กับประเด็นที่ถูกกล่าวถึงได้ อย่าง “แสบๆ คันๆ” แต่ถึงจะไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน ก็ยังสามารถดูเป็นละครตลกชั้นดีที่ “ฮากระจาย” ได้อยู่นั่นเอง

จากบทละคร comedy สัญชาติอังกฤษ หนนี้ ต้องถือว่าปานรัตน กริชชาญชัย ดัดแปลงมาเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่าง “แนบเนียน” มากกว่าเรื่องที่แล้ว (สุดทางที่บางแคร์) นอกจากนั้น เธอก็ยังแสดงเป็นตัวเอง ในคาแรคเตอร์ของเธออย่างที่คนดูเคยชื่นชมกันมาจากเรื่องก่อนๆ ของกลุ่มละครนี้ (เช่น นางนากเดอะมิวเซียม) ได้อย่าง “สุดๆ” กว่าใน รัก(ทะ)ลวงตา ที่เพิ่งผ่านสายตาไป ซึ่งดูเธอจะค่อนข้างเกร็งๆ และไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองนัก

อย่างไรก็ดี ในแง่ประเด็นของละครแล้ว ความเห็นของผมก็ยังเชื่อว่า “ผู้ชม” ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญของละครเวทีอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงใหญ่หรือโรงเล็ก  ในรอบที่ได้ชม เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ก็น่ายินดีกับทางผู้จัด เพราะพื้นที่เล็กๆ ของร้านสังคมนิยม ที่อาจจุคนดูได้สัก 30 คน ก็ค่อนข้างแน่นขนัด รวมทั้งยังได้ยินว่า รอบอื่นๆ ก็มีคนดูอยู่ในระดับ “น่าพอใจ”

อย่างไรก็ดี ในรอบสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสดูละครเวทีค่อนข้างถี่ (เฉลี่ยเดือนละเรื่อง) ผมพบว่าหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดเริ่มรู้สึกสนิทสนมกับผู้ชมท่านอื่นๆ เพราะต่างก็กลายเป็นคนคุ้นเคย ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี  คนทีเคยเห็นแสดงละครเรื่องนั้นของกลุ่มนี้ อีกวันก็จะหมุนเวียนไปดูละครอีกเรื่องของอีกกลุ่ม เป็นต้น
 
นั่นก็คือ แวดวง “การบริโภค” ละครเวทีของชาวกรุงเทพฯ ยังค่อนข้างจำกัดมากๆ เกือบจะเหมือนเป็นการผลัดกันเล่น ผลัดกันดู อยู่ในคนกลุ่มเดียว 

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่าละครที่ “ดี” เป็นแบบใดแล้ว ก็น่าจะต้องลองคิดว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมการดูละครเวทีมีที่ทางอยู่ในชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวกรุงบ้าง

เพราะหากปราศจากผู้ชม ละครเวทีก็จะกลายเป็นเพียงกิจกรรม “จิตบำบัด” ของนักแสดงและทีมงานเท่านั้น!

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย
New Theatre Society
แรงบันดาลใจจากบทละคร The Last Bread Pudding ของ Nick Warburton
แปล/แปลง/เขียนบท: ปานรัตน  กริชชาญชัย
กำกับการแสดง: ศุภฤกษ์  เสถียร
ร้านสังคมนิยม ตุลาคม – พฤศจิกายน 2553 (เนื่องในเทศกาลละครกรุงเทพ 2553)
restage ที่เดโมเครซีสตูดิโอ มิถุนายน 2554 โดยเปลี่ยนนักแสดงบางส่วน

เผยแพร่ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 147 ปักษ์แรก ตุลาคม 2554

สามสาวทรามทราม





ปากคำของ “หญิงกาก”


กลุ่มละครน้องใหม่ “ลายจุด” Polkadot Production ลูกไม้ใต้ต้นของค่ายดรีมบอกซ์ ประเดิมผลงานแรกด้วย สามสาวทรามทราม ละครเวทีเลื่องชื่อที่ทั้งสนุกและตลก  ทางดรีมบอกซ์เคยนำละครเรื่องนี้ขึ้นเวทีใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ทั้งในปี พ.ศ. 2539 ที่แสดงนำโดย รุ้งทอง ร่วมทอง, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, รัชนก พูนผลิน และในปี 2545 ซึ่งมีนักแสดงกิติมศักดิ์ระดับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงร่วมแสดงกับ “จอย” รินลณี ศรีเพ็ญ และ “เต๋า” สโรชา วาทิตตพันธ์
          สามสาวทรามทราม เริ่มต้นขึ้นด้วย “จังหวะ” แบบเดียวกันละครเวทีอีกหลายเรื่องที่ได้รีวิวไปในปีที่ผ่านมา นั่นคือสามสาวที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มีอันถึงแก่ความตายลงไปพร้อมๆ กัน วิญญาณของพวกเธอจึงต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าบรรดา ส.ส. – สมาชิกสภาสัมภเวสี – ผู้ทรงเกียรติ (ก็คือท่านผู้ชม) ซึ่งมีหน้าที่ตัดสินว่าจะส่งผู้ล่วงลับรายใดไปสวรรค์หรือนรก  ต่างคนจึงต้องมาเล่าเรื่องของตนให้ ส.ส. ฟัง
          เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า พวกเธอกระทำการต่างๆ ไปด้วย “ความเชื่อ” เช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทั้งสามพยายามทำในละครเรื่องนี้ก็คือการ “เล่าเรื่อง” ชีวประวัติของตัวให้ดูดีที่สุด เพื่อโน้มน้าวจิตใจของเหล่า ส.ส. ให้พิพากษาไปในทางที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่เธอๆ  ทุกคนจึงผลัดเปลี่ยนกันมาเล่าถึงสิ่งที่เคยทำมาในชีวิต ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนเติบโตมา “เป็น” ตัวตน  ก่อนที่จะต้องสิ้นชีพ
 “เปิ้ล” สาวนักต้มตุ๋นตาใส (วสุธิดา ปุณวัฒนา) ผู้เชื่อมั่นในหลักการ win-win ตามสมัยนิยม เริ่มจากประสบการณ์เซ็งลี้ของแบรนด์เนมในวัยเด็ก สู่หนึ่งในสมาชิก “แก๊งตกทอง” ตามป้ายรถเมล์ช่วงวัยเรียน จนเติบกล้ามาอุปโลกน์ตัวเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ “เก๊ๆ” เพื่อตอบสนองความต้องการของพวก “คลั่งเจ้า” ที่มีอยู่ดาษดื่นในสังคม
“นวล” สาวบ้านนอกผู้หลงรักตัวเลข (สายฝน ไฝเส้ง) – เช่นเดียวกับคนไทยอีกนับไม่ถ้วน ในหัวของเธอมีแต่ตัวเลข และการพนัน - ซึ่งนวลก็ไม่ลืมที่จะ “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ไว้เสมอ ตามคำสั่งสอนของย่า ด้วยการเฉลี่ยทุนทรัพย์ไปกับทุกช่องทาง ตั้งแต่หวยเถื่อน ลอตเตอรี่ ไพ่ ไฮโล ม้า แม้กระทั่งการพนันในวงญาติ ว่าเมื่อย่าทะเลาะกับพ่อของเธอ ย่าจะเอาตะบันหมากขว้างหัวพ่อหรือจะใช้เครื่องมือชนิดอื่น
“แอน” สาวสวยไร้สมอง (มุรธา ปริญญาจารย์) ผู้ไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ ในชีวิต นอกจากการแย่งสามีของพี่สาว โดยมีคำสัญญาของ “เขา” ว่าอีกไม่นาน เธอจะได้เป็น “หมายเลขหนึ่ง” แทนที่  แอนทึกทักเอาว่าเธอคือ “นางเอกตัวจริง” พร้อมปลอบประโลมใจให้ผ่านชีวิตแต่ละวันด้วยละครโทรทัศน์ นับตั้งแต่เรื่องย่อละครในหนังสือพิมพ์รายวัน ละครรีรันช่วงบ่าย ไปจนถึงละครสุดฮิตช่วงค่ำ 
แต่แล้ววันหนึ่ง วิมานของแอนก็ต้องพังทลายลง เมื่อความจริงเปิดเผยว่า ทั้งเธอและพี่สาวล้วนแต่ตกเป็น “เมียน้อย” ของผู้ชายคนเดียวกัน มิหนำซ้ำ เมียหลวงของเขายังตามราวี  จนเธอวางแผนล้างแค้นด้วยการวางระเบิดร้านทำผมที่เมียหลวงชอบมาใช้บริการ  แม้ว่าท้ายที่สุด เธอดูเหมือนจะเปลี่ยนความคิด ทว่าความพยายามกู้ระเบิดตามวิธีที่เคยเห็นในละครแอ็กชั่นกลับล้มเหลว ชีวิตของแอนปลิดปลิวไปพร้อมกับชีวิตของเปิ้ลที่มาทำผมทรงอองซาน ซูจี ประดับช่อกล้วยไม้ เตรียมออกงานใหญ่ในฐานะ “เจ้านางน้อย” แถมพกด้วยนวลที่แค่บังเอิญหลงทางมา แล้วกำลังพยายามวิ่งหาที่ฟังวิทยุวันหวยออกพอดี
          ด้วยตัวบทที่ “ส่ง” อย่างยิ่ง ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักแสดงหญิงรุ่นใหม่ทั้งสามคน  ซึ่งเรียกได้ว่า ล้วน “น่าจับตา” เป็นพิเศษ  ไม่ว่าจะเป็นมุรธา ปริญญาจารย์ ( “อ้อมพร” แห่ง น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ของดรีมบอกซ์) หรือวสุธิดา ปุณวัฒนา (“หวาน” จาก รักสยามสถานี ของกลุ่มละครเสาสูง)
โดยเฉพาะ สายฝน ไฝเส้ง ซึ่งอาจยังถือได้ว่า “หน้าใหม่” สำหรับผู้ชมละครเวทีชาวกรุง  แต่ทั้งโดยรูปร่างหน้าตาที่ดูเป็นธรรมชาติ บวกกับการใช้ภาษาใต้ (อันเป็น “ภาษาแม่” ของเธอ) ในเรื่องเล่า  สายฝนก็ทำให้บทของ “นวล” มีชีวิตชีวาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือกระบวนการของสามสาวทรามทราม ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ละครเวทีอินเตอร์แอคทีฟ” นั่นคือ ผู้ชมในฐานะสมาชิกสภาสัมภเวสี เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของทั้งสามสาว ว่าใครจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือใครจะต้องตกนรกหมกไหม้ ด้วยการโหวตลงคะแนน
          กระบวนการเช่นนี้ทำได้ดียิ่งในละครโรงเล็ก เช่นในบลูบอกซ์สตูดิโอ ซึ่งจุผู้ชมได้เพียงราว 40 คน (และนั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทาง Polkadot Production เลือกนำเสนอสามสาวทรามทราม เวอร์ชั่น 2553 ที่นี่) มิหนำซ้ำ “ประธานสภา” (นิธิวดี ตันงามตรง เล่นสลับกับณัฐฏกร ถาวรชาติ) ยังสามารถซักไซ้ไล่เลียงต่อไปได้เล็กๆ น้อยๆ ด้วย ว่ามีใครที่ “โหวต” ให้สาวนางไหนแบบใดบ้าง และด้วยเหตุผลกลใด
           เช่นเดียวกับการโหวตในรายการเรียลลิตี้โชว์ยอดนิยมแห่งยุค บรรดาผู้ชมก็จะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความ “วายป่วง” ของบุคคลที่ตนเองไม่ชอบขี้หน้า หรือไม่ได้รับคะแนนเสียงโหวตอย่างพอเพียง เมื่อสาวที่ถูกตัดสินว่า “ชั่ว” ว่า “ทราม” ต้องร่วงหล่นลงไปสู่อบายภูมิ “ต่อหน้าต่อตา” ขณะเดียวกัน ก็จะได้ตระหนักในพลานุภาพแห่ง “ประชามติ” ของตน เมื่อสาวที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นสวรรค์ก็จะได้ครองมงกุฎเทพธิดา เถลิงถวัลย์ขึ้นสู่วิมานชั้นฟ้า ท่ามกลางเสียงมโหรีบรรเลง ดอกไม้ทิพย์โปรยปราย ในบัดดล
          แต่แล้ว - ก็อย่างที่สาวคนหนึ่งหันมาตั้งคำถามตรงๆ เอากับคนดูก่อนจะต้องตกนรกหมกไหม้ว่า “พวกคุณดีนักหรือไง ถึงได้มาเที่ยวตัดสินคนอื่น ? พวกคุณไม่เคยทำผิดกันเลยหรือ...”
          แน่นอนว่า เราไม่เคยรู้จักเธอทั้งสามคนมาก่อน ทุกคนเพิ่งรู้จักก็เมื่อสองชั่วโมงก่อนหน้านี้ และเรารู้เฉพาะสิ่งที่เธอเล่าให้ฟัง  แม้กระทั่งว่า เมื่อละครจบลงแล้ว สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เธอเป็น คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ เราเองก็ไม่อาจแน่ใจได้
          นั่นสินะ เราเป็นใครกัน ถึงจะได้เที่ยวไปตัดสินคนอื่น !



สามสาวทรามทราม
กลุ่มละคร Polkadot Production
บทละคร ดารกา  วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง ลลดา  กุศลศักดิ์
นักแสดง มุรธา  ปริญญาจารย์, วสุธิดา ปุณวัฒนา, สายฝน ไฝเส้ง
บลูบอกซ์สตูดิโอ (ชั้น 2 M Theatre)
พฤศจิกายน 2553
 เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ ธันวาคม 2555