วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทึกทึก 3 One Night in ToKyo!

ทึกทึก 3 One Night in ToKyo!

มีนาคม 2554ผู้เขียนเดินออกมาจากโรงละครเอ็มเธียเตอร์ด้วยความรู้สึกแปลกๆถามว่า ทึกทึก 3 ตลกไหม ?ก็คงต้องยอมรับว่าขำๆ ดี
ถ้าถามอีกว่า นักแสดงเป็นอย่างไรบ้างก็คงต้องย้อนว่า ระดับนี้แล้วยังจะสงสัยอีกหรือ
ชื่ออย่าง อัจฉราพรรณ  ไพบูลย์สุวรรณ, ธิติมา  สังขพิทักษ์, ผอูน  จันทรศิริ, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, ศิรินุช เพ็ชรอุไร, กนกวรรณ บุรานนท์, พล ตัณฑเสถียร, เมทนี บุรณศิริ, วสันต์ อุตตมะโยธิน ก็พอเป็นเครื่องรับประกันได้ แต่ถ้าถามว่าสรุปแล้ว ชอบไหม ?อืม...อันนี้ สงสัยจะต้องบอกว่าไม่ค่อยชอบแฮะ!


ดรีมบอกซ์โฆษณาว่า “ทึนทึกเป็นละครตลกที่สะท้อนชีวิตวิถีคนเมืองผ่านกลุ่มตัวละครผู้หญิงเก่ง ที่เป็นเสมือนตัวแทนคนชั้นกลางปัจจุบัน  เรื่องราวชวนขันของกลุ่มเพื่อนที่อุปนิสัยหลากหลาย แต่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันทั้งฐานะ การศึกษา ชาติตระกูล รสนิยม ด้วยสถานการณ์วุ่นวายสารพัดเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละตอน ทำให้ละครเรื่องนี้ทั้งตลกขบขัน สะท้อนทัศนคติร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคมเมืองชนิดโดนใจ  เสียดสีเหน็บแนมจนผู้ชมต้องหัวเราะไปกับข้อผิดพลาดไร้สาระของตัวละครที่เป็นภาพสะท้อนของตัวเอง” 

ในภาคนี้ เนื้อเรื่องว่าด้วยนาย “โคอิเขะ” (โชโกะ ทานิกาวะ) เด็กหนุ่มญี่ปุ่น เดินทางเข้ามาเมืองไทยเพื่อสืบหาพ่อที่แท้จริงของเขา ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มของเหล่า “ทึนทึก”  เรื่องนี้เองผู้เขียนบทคงได้ไอเดียมาจากข่าว ด.ช. เคอิโงะ เด็กไทยที่พยายามตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นของเขาเมื่อสองปีก่อน  มุกตลกของ ทึกทึก 3 ไม่น้อยก็ใช้วิธีอ้างอิงกับสถานการณ์ร่วมสมัย ทั้งการเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมเช่นนี้ 

บางมุก เช่นการล้อเลียน วนิดา ละครโทรทัศน์หลังข่าวสุด “ฮิต” แห่งปี 2553 ไม่น่าเชื่อว่าล่วงเลยมาไม่กี่เดือน เมื่อ ทึกทึก 3 ลงโรงช่วงมีนาคม 2554 มุกเรื่องนี้ก็ “เอาต์” หรือกลายเป็น “มุกแป้ก” ไปเสียแล้ว  ขณะที่อีกหลายมุก ก็ยัง “ทำงาน” ได้ดี ณ ขณะเวลานี้ เช่นการเหน็บแนมสาวกที่เสพติดเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถึงขนาดนั่งอยู่ข้างๆ กัน แต่กลับต้องนั่งแชตกันผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแต่ละคนที่คอยจ้องแต่จะแย่งกันใช้ “มือถือ” ถ่ายภาพไป “โหลด” ขึ้น facebook

แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าอีกสักปีสองปี ถ้าเอาบทละครมาอ่านอีกครั้งจะยังมีใครเข้าใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม “ความตลก” อีกส่วนหนึ่งของ ทึนทึก 3 กลับดู “หลงยุค” เกินกว่าที่จะเข้าใจได้ในโลกปัจจุบันแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือใน ทึนทึก ภาค 1 และ 2 กลุ่มเพื่อน “สาวแก่” พยายามกีดกัน “ปานดวงใจ” เพื่อนนักเขียนสาวแสนดีไม่ให้คบหากับ “หมง” หนุ่มใหญ่ เถ้าแก่รับเหมาเชื้อสายจีน เพราะเห็นว่า “ไม่เหมาะสมคู่ควร” แต่ในที่สุดก็ล้มเหลว ทั้งสองได้แต่งงานกันในภาค 2 จนได้  “หมง” ซึ่งในรอบนี้ รับบทโดยคุณพล  ตัณฑเสถียร ดูเป็นตัวละครที่ถูกตีความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง  

การพูดไม่ชัดด้วยสำเนียงจีนที่คุณพลใช้ดูประดักประเดิด ยิ่งกว่านั้น หากเป็นเมื่อ 20-30 ปีก่อน คนจีนที่พูดไม่ชัดสามารถพบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา และเป็น “มุกตลก” ยอดนิยมของวงการหนังละครไทยมาเนิ่นนาน  คนในรุ่นผู้เขียนอาจยังจำคุณบู๊ วิบูลย์นันท์ ได้ ว่าเกือบตลอดชีวิตการแสดง เขาต้องรับบท “อาเสี่ย” ที่พูดไทยไม่ชัดอยู่เป็นประจำ จนเราไม่สามารถนึกภาพเขาพูดภาษาไทย “มาตรฐาน” ได้เลย ทั้งที่ในชีวิตประจำวันปกติ คุณบู๊ก็คงพูดภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ นั่นเอง

แต่มาเดี๋ยวนี้ ความเป็น “จีน” ในหมู่ลูกจีนเมืองไทยนั้น กลับเป็นเรื่องที่อยู่ลึกลงไปข้างใต้ ไม่ใช่แค่การ “พูกพาสาไทม่ายซัก” อีกต่อไป เช่นเท่าที่ผู้เขียนเคยรู้จัก เพื่อนๆ ลูกจีนอายุรุ่นราวเดียวกัน (ซึ่งก็น่าจะรุ่นใกล้เคียงกับ “อาหมง”) ล้วนเติบโตมาในโลกที่สื่อมวลชนและสถาบันการศึกษา “จัดการ” เสียจนสำเนียงจีนแบบคุณบู๊เลือนรางไปหมดแล้ว  เขายังอาจฟังญาติผู้ใหญ่พูดจีนพอเข้าใจ ยังภาคภูมิกับความเป็นจีน แต่ที่แน่ๆ คือเขาไม่พูดภาษาไทยแบบคุณบู๊แล้ว

ผู้เขียนเชื่อด้วยซ้ำว่าผู้ชมรุ่นเยาว์ในเอ็มเธียเตอร์อาจฟัง “พาสาไท” ของอาหมงแทบไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ยังไม่นับกิริยาอาการประหลาดๆ ของเขา เช่นการเดินกางแขนออกข้างๆ ตัวตลอดเวลา ที่ดู “ตั้งใจ” ให้ไม่ปกติ และสร้างความรู้สึก “ไม่เชื่อ! ไม่จริง!” ทุกครั้งที่เห็น

แต่พร้อมกันนั้น ในบางแง่มุมก็ต้องถือว่าบทละครของ ทึนทึก 3 เสียดเย้ยชนชั้นกลางไทยได้เจ็บแสบอย่างยิ่ง  

บรรดา “ผู้หญิงเก่ง” ในเรื่องนี้ มองโลกผ่านสายตาของ “ชนชั้นกลางชาวกรุง” ที่ชอบดูถูกเหยียดหยามคนอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมต่างหรือ “ต้อยต่ำ” กว่าของตัว ไม่ว่าเป็นลูกจีนหรือเด็กรับใช้ในบ้าน  น่าสนใจว่ามุมมองนี้เกิดขึ้นพร้อมกับความงุนงงหงุดหงิดกับโลกรอบตัวที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  โดยเฉพาะเมื่อฐานะทางเศรษฐกิจไม่ได้เคียงคู่ไปด้วยกันกับสถานะทางสังคมอย่างที่คุณเธอเคยยึดมั่นถือมั่นกันมา

เช่น กระแต (กนกวรรณ บุรานนท์) อดีตเด็กรับใช้ในบ้านของปานดวงใจ (ธิติมา) เธอจับพลัดจับผลูคว้าสามีฝรั่งแก่มหาเศรษฐีผู้ดีมีตระกูลได้ แถมดันตายไปหลังจากแต่งงานไม่นาน ทิ้งมรดกก้อนใหญ่ไว้ให้เธอ แต่ด้วยความคุ้นเคย กระแตจึงมาปลูกบ้านตึกหลังใหญ่ข้างบ้านปานดวงใจ เพื่อจะได้มารับใช้ใกล้ชิดนายเก่าต่อไปอย่างที่เคยทำมาค่อนชีวิต  ขณะที่ตัวละครสาวเก่งทั้งหลายในเรื่องใช้ “มือถือ” หรือ facebook เพียงเพื่อตอบสนองความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว แต่กระแตกลับใช้ iPad เช็คราคาทองคำในตลาดโลก แล้วโทรศัพท์สั่งซื้อสั่งขายกับดีลเลอร์เพื่อลงทุนทำกำไรระยะสั้นทุกวัน

เอาเป็นว่า โดยสรุป ทึนทึก 3 ไม่ค่อย “ถูกจริต” ของผู้เขียนเท่าใด แม้จะเป็นละครที่ “ตลกดี” แต่กลับไม่ทิ้งความประทับใจอะไรให้ระลึกถึงมากนัก




ทึนทึก 3 : One Night in ToKyo!  
ดรีมบอกซ์
บทละคร: ดารกา  วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง: สุวรรณดี  จักราวรวุธ
นักแสดง: อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ, ธิติมา สังขพิทักษ์, วสันต์ อุตตมะโยธิน, ผอูน จันทรศิริ, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, ศิรินุช เพ็ชรอุไร, กนกวรรณ บุรานนท์, พล ตัณฑเสถียร, เมทนี บุรณศิริ และโชโกะ ทานิกาวา
โรงละครเอ็มเธียเตอร์
มีนาคม 2554


เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น