วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ละครเพลงต้านเผด็จการ !


เวิร์คพอยท์ โดยบริษัทโต๊ะกลมโทรทัศน์ ได้ฤกษ์ “เบิกโรง” โรงละครใหม่ย่านสยามสแควร์ K-Bank Siam Pic-Ganesha กับละครเพลง โหมโรง เดอะมิวสิคัล ผลงานการรีเมคภาพยนตร์ชื่อเดียวกันของอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เมื่อปี 2547 ดังนั้นจึงคงไม่ต้องกล่าวถึงเนื้อเรื่อง เพราะใครๆ ก็คงรู้ดีกันอยู่แล้วว่าเค้าโครงของเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวประวัติของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง 2424–2497) ครูใหญ่ท่านหนึ่งของวงการดนตรีไทย

            สำหรับโหมโรง ฉบับล่าสุดนี้ ถ้าจะไม่พูดถึงคู่พระ-นางของเรื่อง ก็อาจจะดูขาดอะไรไป  ทั้งสองถือได้ว่าเปิดตัวได้งดงามกับมิวสิคัลเรื่องนี้ เพราะผู้ชมย่อมต้องยอมรับในความตั้งใจและความทุ่มเทของอาร์ม – กรกันต์ สุทธิโกเศศ ผู้รับบทเป็นนายศร ซึ่งต้องฝึกฝนการตีระนาดมาอย่างหนัก  รวมทั้ง แนน – สาธิตา พรหมพิริยะ นางเอกของเรื่องที่รับบทเป็นแม่โชติ คนรักและคู่ชีวิตของพระเอก แม้เนื้อเสียงเล็กบางของเธออาจจะฟังดูแง๊วๆ ไปบ้างในบทพูด แต่น้ำเสียงเดียวกันนั้นก็เปล่งประกายเป็นหนึ่งความงดงามของละครเรื่องนี้เมื่อยามเธอเอื้อนเอ่ยขับขานบทเพลง 

            แต่ขณะเดียวกัน ด้วยวัยและประสบการณ์ ก็ต้องยอมรับว่าทักษะการแสดงละครเวทีหรือ “พลัง” ของทั้งคู่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก และเมื่อพลังของคู่พระนางไม่มีมากพอที่จะ “ยึดจับ” คนดูเอาไว้ได้อยู่ อีกทั้งบท “พระเอ๊กพระเอก” ของเรื่องนี้ดูๆ ไปแล้วก็จืดชืดชอบกล  ดาวเด่นของละคร โหมโรง เดอะมิวสิคัล จึงตกไปอยู่กับนักแสดงท่านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณสุประวัติ ปัทมสูต ที่รับบท “ท่านครู” หรือนายศรวัยสูงอายุ  เอ๋ เชิญยิ้ม ในบท “เปี๊ยก” ที่โชว์ความสามารถในการร้องและการตีระนาด อีกทั้งการแสดงบทดราม่าอันทรงพลัง รวมถึงนักร้องจากค่าย AF อย่าง “ปอ” อรรณพ ทองบริสุทธิ์ ที่รับบทเป็น “เทิด” ซึ่งก็ต้องถือว่าเปิดตัวได้สวยงามสำหรับการแสดงมิวสิคัลเรื่องแรกของเขา

            แม้ประเด็นทางอุดมการณ์ของเรื่อง หรือ “ความฟูมฟายของความเป็นไทย” จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วตั้งแต่ภาพยนตร์ออกฉายเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน  กระนั้น โหมโรง ก็ยังได้รับความสนใจ และมีการนำมารีเมคเป็นละครโทรทัศน์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กระทั่งแปรรูปมาเป็นละครเพลง ฉบับปี 2558 ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรมาก เพราะทางผู้จัดก็พยายามรักษารายละเอียดของฉาก เหตุการณ์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าหน้าผม ให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากที่สุด ทว่าการนำ โหมโรง ขึ้นเวทีละครในปีนี้ กลับสร้างความหมายใหม่ให้แก่เรื่องที่ดูเหมือนจะซ้ำซากได้อย่างน่าทึ่ง

            ในแง่หนึ่ง โหมโรง ได้รับการกล่าวขวัญถึงในเรื่องที่นำเสนอ “ความเป็นไทย” อย่างสุดใจขาดดิ้น ถึงขนาดที่ในฉบับละครเพลง เลือกใช้คำโฆษณาว่า “ไร้ราก ไร้แผ่นดิน” หากแต่ความเป็นไทยที่ปรากฏชัดเจนในเวอร์ชั่นละครนี้ก็คือ “อำนาจ”   

            อำนาจในโหมโรง เป็นสิ่งที่มีมิติทับซ้อนกันเป็นช่วงชั้น สังคมไทยใน โหมโรง ดูไปก็ไม่ผิดอะไรกับสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วย “ผู้ใหญ่” ที่มีสิทธิ์มีเสียงเหนือ “ผู้น้อย” เป็นลำดับลดหลั่นกันไป   ตั้งแต่ระดับในบ้าน ที่ศรต้องอยู่ใต้อำนาจของพ่อ ซึ่งปกครองบ้านอย่างเด็ดขาด แต่แล้วเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “ผู้ใหญ่” ระดับท้องถิ่น อย่างสมุหเทศาภิบาลมณฑล พ่อที่เคยเป็นใหญ่ในบ้านก็กลับต้องหงอไป  และผู้ชมก็อาจจะสะใจเล็กๆ ที่เทศาฯ ที่เคยกร่าง ใหญ่โตคับบ้านคับเมืองก็ต้องไปนั่งจุ้มปุ๊กก้มหน้าก้มตาอยู่แทบเท้าของ “สมเด็จฯ” ในวัง  ซึ่งสุดท้ายในฉากประชันระนาด สมเด็จฯ เจ้านายของศร ก็ยังต้องไปเจอกับสมเด็จฯ อีกองค์หนึ่ง ซึ่งดูท่าทางแล้วก็คงมีบารมีทัดเทียมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าใด หรือเผลอๆ อาจจะมีอำนาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

            การนำเอาภาพยนตร์ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ค่อนข้าง “น่าเบื่อ” กลับมาขึ้นเวทีใน พ.ศ. นี้ ยังสร้างความหมายใหม่ให้แก่เรื่องราวที่น่าเบื่อนั้น จนทำให้ต้องชมด้วยความรู้สึกตื่นเต้นระทึกใจทีเดียว  ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ การ “แฟลชแบ็ก” จากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่ง อาจทำได้ไม่ยากนัก ด้วยเทคนิคของภาพยนตร์  หากแต่ในละครเพลง การ “แฟลชแบ็ก” จากยุครัชกาลที่ 5 ของนายศรวัยหนุ่ม มาสู่ยุคของ “ท่านผู้นำ” ที่นายศรอยู่ในวัยชรา เลือกใช้วิธีการให้เด็กๆ ตั้งแถวร้องเพลงปลุกใจสรรเสริญนโยบายของ “ท่านผู้นำ” ในลักษณะไร้อารมณ์ ทับกับเสียงเพลงที่แหบพร่าเหมือนเพลงโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งกระจายเสียงผ่านลำโพงรุ่นเก่า 

            แต่แล้วเมื่อเสียงเพลงดังขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้งเข้าจนเริ่มจำได้ คนดูจึงเริ่มรู้สึกรำคาญ แล้วจึงเริ่มตะหงิดๆ ว่า หรือจะมีความเชื่อมโยงกันบางอย่าง ระหว่างเพลงปลุกใจของ โหมโรง (ซึ่งแต่งขึ้นใหม่) ที่ว่า
            “เมื่อชาติมีภัย เราจะต้องรวมใจกัน ต้องเชื่อท่านผู้นำ...”
            
             กับอีกเพลงหนึ่งที่ถูกเปิดซ้ำๆ ย้ำๆ ทั้งวันทั้งคืนมาตั้งแต่กลางปี 2557
            “วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา 
             ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป...”
            
            ยังไม่ต้องนับว่า ประเด็นที่เคยดูธรรมดาๆ เช่นรัฐบาลทหารคุกคามชีวิตประจำวันของพลเมือง เช่นการเล่นดนตรี อย่างที่ปรากฏมาตั้งแต่ฉบับภาพยนตร์  เมื่อนำมาร้องมาเล่นใน พ.ศ. นี้ กลับได้ความหมายใหม่ที่น่าทึ่ง

            หรือจะว่าคิดไปเองก็ย่อมไม่ใช่แน่ๆ เพราะก็ยังมีฉากที่ “ทีมตลก” ซึ่งนำโดย เอ๋ เชิญยิ้ม เล่นมุกกับเปียโนตัวใหม่ หลังจากนึกตู่เอาว่าเปียโนเป็นตู้กับข้าวแล้ว ทีมนี้ก็ช่วยกันกดเปียโนเป็นท่อนเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...” ซึ่งถูกนำเสนอในฐานะเรื่องตลก ไร้สาระ เสียอีก
            
ในสายตาของผู้ชมจำนวนไม่น้อย โหมโรง เดอะมิวสิคัล  จึงกลายเป็นละครการเมือง ต่อต้าน เสียดสี อำนาจของทหาร ที่เที่ยวกดขี่บีฑาพลเรือนอย่างไม่เป็นธรรมไม่ว่าทางทีมงานหรือผู้กำกับฯ จะออกตัวชี้แจงว่าอย่างไรก็ตามที

โหมโรง เดอะมิวสิคัล
โรงละคร K-Bank Siam Pic-Ganesha
กำกับการแสดง : ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม และ รสสุคนธ์ กองเกตุ
นักแสดง : สุประวัติ ปัทมสูต / กรกันต์ สุทธิโกเศศ / โย่ง อาร์มแชร์ / สาธิดา พรหมพิริยะ / ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ / ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ / เอ๋ เชิญยิ้ม / ปอ af7 / นาย the comedian / ดวงใจ หทัยกาญจน์
จัดแสดงในเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2558

เผยแพร่ครั้งแรก – ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น