วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย




กิจกรรมจิตบำบัด

เมื่อกลุ่มละครเล็กๆ กลุ่มหนึ่งต้องช่วยกันระดมความคิดว่าละครเวทีแบบไหนที่จะเหมาะกับเทศกาลละครกรุงเทพฯ  พวกเขานัดคุยกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งย่านถนนพระอาทิตย์  การประชุมนี้มีทั้งนักแสดงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มือใหม่หัดเขียนบท ฝ่ายฉากรุ่นพ่อ สิ่งที่พวกเขาถกเถียงกันก็คือละคร “ที่ดี” นั้น ต้องมีอะไรบ้าง ? หรืออะไรคือสิ่งสำคัญที่ละครควรให้ความสนใจ 

บทละครที่พวกเขาจะนำออกแสดง คือ เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ผลงานการเขียนบทของน้องใหม่แว่นตาโต “นุ่น” (ช่อลดา สุริยะโยธิน) ว่าด้วยเรื่องแม่ค้าที่ขายเฉาก๊วยอยู่หน้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้มีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง เธอจะเป็นนายตำรวจบ้าง แม้ว่าที่นั่นจะไม่ยอมรับผู้หญิงเข้าเรียน 

ในขณะที่แต่ละคนในกลุ่มละคร ต่างคนก็ย่อมจะมี “ภาพ” ในใจว่า ละครที่ “ดี” นั้นคืออะไร ต่างคนจึงพยายามให้ “มี” สิ่งนั้นอยู่ในละครเรื่องนี้ หรือตั้งคำถามกับแนวทางแบบอื่นๆ ที่ตนมิได้สมาทาน
ในไม่ช้า ผู้ชมก็จะพบว่า สิ่งต่างๆ ที่ชาวคณะละครนี้กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดนั้น ก็ล้วนแต่ถูกหยิบยกออกมาแสดงในละครซ้อนละครเรื่องนี้ เช่นเมื่อ “ป๊อด” (ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช) ย้ำว่า ละครที่ดีควรมีเพลงร้อง เหมือนเรื่อง The Sound of Music ที่เขาเพิ่งแสดงจบไป ท่ามกลางข้อแย้งของ “กุ๊ก” (ปานรัตน กริชชาญชัย) นักแสดงสาวรุ่นน้อง เพื่อนร่วมกลุ่มละคร ว่าการที่อยู่ๆ คนเราจะร้องเพลงออกมานั้น มันช่าง “ไม่เป็นธรรมชาติ” และ “ไม่มีใครที่ไหนเขาทำกัน”  แต่แล้วบทสนทนาของทั้งสองก็ค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นเพลงร้องโต้ตอบด้วยลักษณาการของมิวสิคัล ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ทั้ง “สุพล” (วิชย อาทมาท) เลขาฯ การประชุมที่ก้มหน้าก้มตาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา “เจ๊ฝอย” (ฉัตรชัย พุดซ้อน) นักแสดงสาวในร่างบุรุษ หรือ “มาโรจน์” รุ่นใหญ่ฝ่ายฉากมาดเซอร์  ต่างก็ลุกขึ้นขยับแข้งขา ยกมือยกไม้ เต้นตามไป จนเพลงจบทุกอย่างก็กลับเข้าที่เดิม เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น

สารพัดประเด็นของกฎเกณฑ์และทฤษฏีละครสมัยใหม่ถูกหยิบยกออกมาค่อนแคะ ทั้งเรื่องความสมจริง ความเงียบ ปมขัดแย้ง สัญลักษณ์ จนถึงเรื่อง “น้ำเน่า” อย่างการตามหาพ่อที่แท้จริง การหวนกลับมาพบเจออดีตรักวัยเยาว์ ฯลฯ พร้อมๆ ไปกับที่เกิดเรื่องเหล่านั้นขึ้นบนเวที ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ แบบเดียวกับที่ละครว่าไว้

และทั้งหมดก็นำมาซึ่งเสียงหัวเราะตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ชั้นบนของร้านสังคมนิยม ถนนพระอาทิตย์ 

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ถือเป็นการกำกับละครพูดครั้งแรกของศุภฤกษ์ เสถียร เขาพูดถึงละครเรื่องนี้ไว้ในสูจิบัตรว่า

“หากละครเวทีเป็นเฉาก๊วยสักถ้วย เฉาก๊วยที่ดีและมีคุณค่ามันจะมีหน้าตาแบบไหน ต้องมี อย. หรือเปล่า หรือต้องมีตราชวนชิม  แล้วเฉาก๊วยที่คุณชอบมันต่างกันไหม บางคนชอบนิ่มๆ บางคนอาจชอบแข็งๆ บางคนชอบให้เป็นเส้นเล็กๆ บางคนชอบให้เป็นเหลี่ยม บางคนชอบกินกับน้ำเชื่อม บางคนชอบใส่น้ำแดงมากกว่า บางคนเติมข้าวโพด ลูกชิด ขนมปัง ทับทิมกรอบเข้าไปด้วยถึงจะชอบ  ต่างคนก็ต่างสไตล์ แล้วเมื่อเราต้องทำเฉาก๊วยขาย เราจะให้ความสำคัญกับอะไร ส่วนประกอบต่างๆ อาจเป็นเพียงส่วนเกินที่พยายามใส่เข้ามา เพื่อเอาใจและล่อหลอกคนกิน แต่ส่วนที่เราต้องหันมาใส่ใจกันด้วย นั่นก็คือการต้มเฉาก๊วย...”

หากเปรียบละครเรื่องนี้เป็นเฉาก๊วย ก็ต้องบอกว่าเป็นเฉาก๊วยที่ “ชื่นใจ” ได้สำหรับแทบทุกคนทีเดียว เพราะหากเป็นคนดูที่มีความสนใจหรืออยู่ในแวดวงละเม็งละคร ก็จะสามารถเข้าใจหรือ get กับประเด็นที่ถูกกล่าวถึงได้ อย่าง “แสบๆ คันๆ” แต่ถึงจะไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน ก็ยังสามารถดูเป็นละครตลกชั้นดีที่ “ฮากระจาย” ได้อยู่นั่นเอง

จากบทละคร comedy สัญชาติอังกฤษ หนนี้ ต้องถือว่าปานรัตน กริชชาญชัย ดัดแปลงมาเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่าง “แนบเนียน” มากกว่าเรื่องที่แล้ว (สุดทางที่บางแคร์) นอกจากนั้น เธอก็ยังแสดงเป็นตัวเอง ในคาแรคเตอร์ของเธออย่างที่คนดูเคยชื่นชมกันมาจากเรื่องก่อนๆ ของกลุ่มละครนี้ (เช่น นางนากเดอะมิวเซียม) ได้อย่าง “สุดๆ” กว่าใน รัก(ทะ)ลวงตา ที่เพิ่งผ่านสายตาไป ซึ่งดูเธอจะค่อนข้างเกร็งๆ และไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองนัก

อย่างไรก็ดี ในแง่ประเด็นของละครแล้ว ความเห็นของผมก็ยังเชื่อว่า “ผู้ชม” ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญของละครเวทีอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงใหญ่หรือโรงเล็ก  ในรอบที่ได้ชม เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ก็น่ายินดีกับทางผู้จัด เพราะพื้นที่เล็กๆ ของร้านสังคมนิยม ที่อาจจุคนดูได้สัก 30 คน ก็ค่อนข้างแน่นขนัด รวมทั้งยังได้ยินว่า รอบอื่นๆ ก็มีคนดูอยู่ในระดับ “น่าพอใจ”

อย่างไรก็ดี ในรอบสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสดูละครเวทีค่อนข้างถี่ (เฉลี่ยเดือนละเรื่อง) ผมพบว่าหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดเริ่มรู้สึกสนิทสนมกับผู้ชมท่านอื่นๆ เพราะต่างก็กลายเป็นคนคุ้นเคย ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี  คนทีเคยเห็นแสดงละครเรื่องนั้นของกลุ่มนี้ อีกวันก็จะหมุนเวียนไปดูละครอีกเรื่องของอีกกลุ่ม เป็นต้น
 
นั่นก็คือ แวดวง “การบริโภค” ละครเวทีของชาวกรุงเทพฯ ยังค่อนข้างจำกัดมากๆ เกือบจะเหมือนเป็นการผลัดกันเล่น ผลัดกันดู อยู่ในคนกลุ่มเดียว 

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่าละครที่ “ดี” เป็นแบบใดแล้ว ก็น่าจะต้องลองคิดว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมการดูละครเวทีมีที่ทางอยู่ในชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวกรุงบ้าง

เพราะหากปราศจากผู้ชม ละครเวทีก็จะกลายเป็นเพียงกิจกรรม “จิตบำบัด” ของนักแสดงและทีมงานเท่านั้น!

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย
New Theatre Society
แรงบันดาลใจจากบทละคร The Last Bread Pudding ของ Nick Warburton
แปล/แปลง/เขียนบท: ปานรัตน  กริชชาญชัย
กำกับการแสดง: ศุภฤกษ์  เสถียร
ร้านสังคมนิยม ตุลาคม – พฤศจิกายน 2553 (เนื่องในเทศกาลละครกรุงเทพ 2553)
restage ที่เดโมเครซีสตูดิโอ มิถุนายน 2554 โดยเปลี่ยนนักแสดงบางส่วน

เผยแพร่ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 147 ปักษ์แรก ตุลาคม 2554

สามสาวทรามทราม





ปากคำของ “หญิงกาก”


กลุ่มละครน้องใหม่ “ลายจุด” Polkadot Production ลูกไม้ใต้ต้นของค่ายดรีมบอกซ์ ประเดิมผลงานแรกด้วย สามสาวทรามทราม ละครเวทีเลื่องชื่อที่ทั้งสนุกและตลก  ทางดรีมบอกซ์เคยนำละครเรื่องนี้ขึ้นเวทีใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ทั้งในปี พ.ศ. 2539 ที่แสดงนำโดย รุ้งทอง ร่วมทอง, วราพรรณ หงุ่ยตระกูล, รัชนก พูนผลิน และในปี 2545 ซึ่งมีนักแสดงกิติมศักดิ์ระดับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงร่วมแสดงกับ “จอย” รินลณี ศรีเพ็ญ และ “เต๋า” สโรชา วาทิตตพันธ์
          สามสาวทรามทราม เริ่มต้นขึ้นด้วย “จังหวะ” แบบเดียวกันละครเวทีอีกหลายเรื่องที่ได้รีวิวไปในปีที่ผ่านมา นั่นคือสามสาวที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มีอันถึงแก่ความตายลงไปพร้อมๆ กัน วิญญาณของพวกเธอจึงต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าบรรดา ส.ส. – สมาชิกสภาสัมภเวสี – ผู้ทรงเกียรติ (ก็คือท่านผู้ชม) ซึ่งมีหน้าที่ตัดสินว่าจะส่งผู้ล่วงลับรายใดไปสวรรค์หรือนรก  ต่างคนจึงต้องมาเล่าเรื่องของตนให้ ส.ส. ฟัง
          เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า พวกเธอกระทำการต่างๆ ไปด้วย “ความเชื่อ” เช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทั้งสามพยายามทำในละครเรื่องนี้ก็คือการ “เล่าเรื่อง” ชีวประวัติของตัวให้ดูดีที่สุด เพื่อโน้มน้าวจิตใจของเหล่า ส.ส. ให้พิพากษาไปในทางที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่เธอๆ  ทุกคนจึงผลัดเปลี่ยนกันมาเล่าถึงสิ่งที่เคยทำมาในชีวิต ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนเติบโตมา “เป็น” ตัวตน  ก่อนที่จะต้องสิ้นชีพ
 “เปิ้ล” สาวนักต้มตุ๋นตาใส (วสุธิดา ปุณวัฒนา) ผู้เชื่อมั่นในหลักการ win-win ตามสมัยนิยม เริ่มจากประสบการณ์เซ็งลี้ของแบรนด์เนมในวัยเด็ก สู่หนึ่งในสมาชิก “แก๊งตกทอง” ตามป้ายรถเมล์ช่วงวัยเรียน จนเติบกล้ามาอุปโลกน์ตัวเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ “เก๊ๆ” เพื่อตอบสนองความต้องการของพวก “คลั่งเจ้า” ที่มีอยู่ดาษดื่นในสังคม
“นวล” สาวบ้านนอกผู้หลงรักตัวเลข (สายฝน ไฝเส้ง) – เช่นเดียวกับคนไทยอีกนับไม่ถ้วน ในหัวของเธอมีแต่ตัวเลข และการพนัน - ซึ่งนวลก็ไม่ลืมที่จะ “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ไว้เสมอ ตามคำสั่งสอนของย่า ด้วยการเฉลี่ยทุนทรัพย์ไปกับทุกช่องทาง ตั้งแต่หวยเถื่อน ลอตเตอรี่ ไพ่ ไฮโล ม้า แม้กระทั่งการพนันในวงญาติ ว่าเมื่อย่าทะเลาะกับพ่อของเธอ ย่าจะเอาตะบันหมากขว้างหัวพ่อหรือจะใช้เครื่องมือชนิดอื่น
“แอน” สาวสวยไร้สมอง (มุรธา ปริญญาจารย์) ผู้ไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ ในชีวิต นอกจากการแย่งสามีของพี่สาว โดยมีคำสัญญาของ “เขา” ว่าอีกไม่นาน เธอจะได้เป็น “หมายเลขหนึ่ง” แทนที่  แอนทึกทักเอาว่าเธอคือ “นางเอกตัวจริง” พร้อมปลอบประโลมใจให้ผ่านชีวิตแต่ละวันด้วยละครโทรทัศน์ นับตั้งแต่เรื่องย่อละครในหนังสือพิมพ์รายวัน ละครรีรันช่วงบ่าย ไปจนถึงละครสุดฮิตช่วงค่ำ 
แต่แล้ววันหนึ่ง วิมานของแอนก็ต้องพังทลายลง เมื่อความจริงเปิดเผยว่า ทั้งเธอและพี่สาวล้วนแต่ตกเป็น “เมียน้อย” ของผู้ชายคนเดียวกัน มิหนำซ้ำ เมียหลวงของเขายังตามราวี  จนเธอวางแผนล้างแค้นด้วยการวางระเบิดร้านทำผมที่เมียหลวงชอบมาใช้บริการ  แม้ว่าท้ายที่สุด เธอดูเหมือนจะเปลี่ยนความคิด ทว่าความพยายามกู้ระเบิดตามวิธีที่เคยเห็นในละครแอ็กชั่นกลับล้มเหลว ชีวิตของแอนปลิดปลิวไปพร้อมกับชีวิตของเปิ้ลที่มาทำผมทรงอองซาน ซูจี ประดับช่อกล้วยไม้ เตรียมออกงานใหญ่ในฐานะ “เจ้านางน้อย” แถมพกด้วยนวลที่แค่บังเอิญหลงทางมา แล้วกำลังพยายามวิ่งหาที่ฟังวิทยุวันหวยออกพอดี
          ด้วยตัวบทที่ “ส่ง” อย่างยิ่ง ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักแสดงหญิงรุ่นใหม่ทั้งสามคน  ซึ่งเรียกได้ว่า ล้วน “น่าจับตา” เป็นพิเศษ  ไม่ว่าจะเป็นมุรธา ปริญญาจารย์ ( “อ้อมพร” แห่ง น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ของดรีมบอกซ์) หรือวสุธิดา ปุณวัฒนา (“หวาน” จาก รักสยามสถานี ของกลุ่มละครเสาสูง)
โดยเฉพาะ สายฝน ไฝเส้ง ซึ่งอาจยังถือได้ว่า “หน้าใหม่” สำหรับผู้ชมละครเวทีชาวกรุง  แต่ทั้งโดยรูปร่างหน้าตาที่ดูเป็นธรรมชาติ บวกกับการใช้ภาษาใต้ (อันเป็น “ภาษาแม่” ของเธอ) ในเรื่องเล่า  สายฝนก็ทำให้บทของ “นวล” มีชีวิตชีวาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือกระบวนการของสามสาวทรามทราม ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ละครเวทีอินเตอร์แอคทีฟ” นั่นคือ ผู้ชมในฐานะสมาชิกสภาสัมภเวสี เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของทั้งสามสาว ว่าใครจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือใครจะต้องตกนรกหมกไหม้ ด้วยการโหวตลงคะแนน
          กระบวนการเช่นนี้ทำได้ดียิ่งในละครโรงเล็ก เช่นในบลูบอกซ์สตูดิโอ ซึ่งจุผู้ชมได้เพียงราว 40 คน (และนั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทาง Polkadot Production เลือกนำเสนอสามสาวทรามทราม เวอร์ชั่น 2553 ที่นี่) มิหนำซ้ำ “ประธานสภา” (นิธิวดี ตันงามตรง เล่นสลับกับณัฐฏกร ถาวรชาติ) ยังสามารถซักไซ้ไล่เลียงต่อไปได้เล็กๆ น้อยๆ ด้วย ว่ามีใครที่ “โหวต” ให้สาวนางไหนแบบใดบ้าง และด้วยเหตุผลกลใด
           เช่นเดียวกับการโหวตในรายการเรียลลิตี้โชว์ยอดนิยมแห่งยุค บรรดาผู้ชมก็จะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความ “วายป่วง” ของบุคคลที่ตนเองไม่ชอบขี้หน้า หรือไม่ได้รับคะแนนเสียงโหวตอย่างพอเพียง เมื่อสาวที่ถูกตัดสินว่า “ชั่ว” ว่า “ทราม” ต้องร่วงหล่นลงไปสู่อบายภูมิ “ต่อหน้าต่อตา” ขณะเดียวกัน ก็จะได้ตระหนักในพลานุภาพแห่ง “ประชามติ” ของตน เมื่อสาวที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นสวรรค์ก็จะได้ครองมงกุฎเทพธิดา เถลิงถวัลย์ขึ้นสู่วิมานชั้นฟ้า ท่ามกลางเสียงมโหรีบรรเลง ดอกไม้ทิพย์โปรยปราย ในบัดดล
          แต่แล้ว - ก็อย่างที่สาวคนหนึ่งหันมาตั้งคำถามตรงๆ เอากับคนดูก่อนจะต้องตกนรกหมกไหม้ว่า “พวกคุณดีนักหรือไง ถึงได้มาเที่ยวตัดสินคนอื่น ? พวกคุณไม่เคยทำผิดกันเลยหรือ...”
          แน่นอนว่า เราไม่เคยรู้จักเธอทั้งสามคนมาก่อน ทุกคนเพิ่งรู้จักก็เมื่อสองชั่วโมงก่อนหน้านี้ และเรารู้เฉพาะสิ่งที่เธอเล่าให้ฟัง  แม้กระทั่งว่า เมื่อละครจบลงแล้ว สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เธอเป็น คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ เราเองก็ไม่อาจแน่ใจได้
          นั่นสินะ เราเป็นใครกัน ถึงจะได้เที่ยวไปตัดสินคนอื่น !



สามสาวทรามทราม
กลุ่มละคร Polkadot Production
บทละคร ดารกา  วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง ลลดา  กุศลศักดิ์
นักแสดง มุรธา  ปริญญาจารย์, วสุธิดา ปุณวัฒนา, สายฝน ไฝเส้ง
บลูบอกซ์สตูดิโอ (ชั้น 2 M Theatre)
พฤศจิกายน 2553
 เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ ธันวาคม 2555

ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต





โลกใบเล็กของนายดอน ผู้ปิดทองหลังพระ



ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต เป็นละครหุ่นสายที่เขียนบท กำกับและควบคุมการแสดง โดยชายคนเดียวกัน คือนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร พ.ศ. 2550 ละครหุ่นเรื่องนี้จัดแสดงในโรงละครเล็กๆ ที่อบอุ่น ในสถานที่เดียวกับบ้านของผู้กำกับ

ก่อนหน้านี้ ละครหุ่นคณะสายเสมาของเขา เคยนำเรื่องที่ดัดแปลงจากสังข์ทอง ไปคว้ารางวัลจากการประกวดละครหุ่นระดับโลกที่สาธารณรัฐเชคมาแล้ว

มาคราวนี้ ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต ก็ดำเนินความตามท้องเรื่องของละครเพลง Man of La Mancha อย่างใกล้ชิดยิ่ง  “แมนออฟลามานช่า” นั้น เมื่อครั้งจัดแสดงที่โรงละครรัชดาลัยในปี พ.ศ. 2551 ใช้ชื่อว่า “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” กำกับการแสดงโดยยุทธนา มุกดาสนิท

จากต้นแบบที่ลามานช่าทางตอนกลางของประเทศสเปน หากแต่เมื่อผู้กำกับการแสดงได้ปรับแปลงเรื่องให้กลายเป็นไทย จากทุ่งกว้างร้อนแล้งของสเปน จึงกลายเป็นทุ่งนาเขียวๆ  

จากดอนกิโฮเต้ (Don Quixote) ชายชราผู้หลงเพ้อว่าตนคืออัศวินผู้ผดุงคุณธรรม มาเป็น ดอน ชาวนาไทยหลงยุค ผู้ออกผจญภัยบนหลังควายตัวอ้วนล่ำ คือเจ้ามะขวิด ซึ่งไม่มีโอกาสทำนาอีกต่อไป (เพราะใครๆ เขาก็หันไปใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกันหมดแล้ว)

ติดตามมาด้วย โก๊ะ เด็กเลี้ยงควายผู้มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นชาวนา จนถูกคุณครูและเพื่อนๆ รุมประณามในห้องเรียนว่า “ใฝ่ต่ำ” ทว่า แต่ในสายตาของดอน เขาคือหุ่นไล่กาบริวารชื่อ “ซังโง่” ล้อกับซานโช่ (Sancho) ชาวนาผู้ปวารณาตนเป็นผู้ติดตามของดอนกิโฮเต้

ส่วนตัวเอกฝ่ายหญิง จากที่ในมิวสิคัลต้นฉบับมีอัลดอนซา (Aldonza) โสเภณีประจำโรงเตี๊ยม ผู้ซึ่งดอนกิโฮเต้เทิดไว้เป็นนางฟ้าประจำใจในชื่อ “ดัลซิเนีย” ถูกจับแปลงโฉมเป็น อีซ่า สาวเสิร์ฟประจำเพิงขายกาแฟของอาโก เธอผู้นี้ก็คือแม่หญิง “เดือนแสงนวล” ของดอนฉบับละครหุ่น

การอ้างอิงกับต้นฉบับฝรั่งนี้ มิได้มีเฉพาะแต่เพียงชื่อของตัวละคร หากแต่ข้ามไปจนถึงระดับฉากต่อฉาก ชนิดที่เรียกได้ว่านี่คือการ “บูชาครู” (tribute) แก่ Man of La Mancha / สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ อย่างเต็มตัวเต็มฝีมือ

ใน Man of La Mancha ฉบับละครเพลงนั้น อุดมคติของดอนกิโฮเต้ชัดเจนยิ่ง เขาเล็งเห็นแล้วว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความชั่วร้ายเลวทราม ขณะที่ตนเองคืออัศวินผู้พิทักษ์คุณธรรม  กิโฮเต้จึงออกไปผจญภัยก็เพื่อหาโอกาสประกอบวีรกรรมทำดี ต่อสู้กับอสูรร้ายหรือแม่มดหมอผี ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยมีหญิงสูงศักดิ์เป็นขวัญและกำลังใจ เพียงเพื่อเผื่อว่าบางที โลกเราอาจจะดีขึ้นได้กว่านี้อีกสักหน่อยหนึ่ง หากมีใครสักคนที่ยอมตนจมดิ่งในทนทุกขเวทนาเช่นเขา

ทว่าในฉบับละครหุ่น กลับดูเหมือนจะไม่ชัดเจนนักว่าดอนชาวนาของเราออกจากบ้านไปขึ่ควายเพื่ออะไรกันแน่  “ภารกิจ” ของเขาคืออะไร หรือเขาจะกอบกู้โลกด้วยวิธีไหน หากแต่ด้วยความที่ “สาร” ดั้งเดิมของต้นฉบับนั้นทรงพลังอย่างยิ่ง แม้มีบางอย่างขาดหายไปบ้าง ทว่า “พลัง” จากเนื้อหาดั้งเดิมก็ยังแทรกซึมทะลุทลวงมาถึงผู้ชมได้

ทั้งดอน มะขวิด และโก๊ะ คือคนหลงยุค ผิดที่ผิดทาง ทุกคน (อาจรวมทั้งคุณนิมิตรด้วยก็ได้) ต่างเห็นความโรแมนติกของ “การทำนา” จนดูๆ ไปก็เกือบจะออกอาการ “ฟูมฟาย” คล้ายกับรายการทีวีสารคดีกึ่งเรียลลิตี้ ฉันจะเป็นชาวนา ของดาราสาวท่านหนึ่ง

โชคดีที่ความน่ารักน่าเอ็นดูของหุ่นสาย (ละครหุ่นคณะนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ่นสาย คือชักเชิดด้วยสายโยงใยด้านบน) ก็ชักพาอารมณ์ของผู้ชมให้เคลิ้มไปได้ จนยอมมองข้ามความขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ดังว่า  ยิ่งกว่านั้น ทีเด็ดของละครหุ่นเรื่องนี้ คือการยังคงความเป็น “มิวสิคัล” หรือละครเพลงเอาไว้ได้อย่างบริบูรณ์  ด้วยฝีมือของคานธี อนันตกาญจน์ นักดนตรีและนักแสดงละครเวทีผู้มีความสามารถ เพลงไทยทั้งลูกกรุงสุนทราภรณ์ ลูกทุ่ง และโฟล์คซองคำเมืองถูกคัดสรรมาร้อยเรียงดนตรีใหม่อย่างน่าฟัง และช่างเข้ากันกับเนื้อเรื่องอย่างแนบเนียน ด้วยเพลงที่ “โดน” และช่วงเวลาที่ “ใช่”

เพลงของมิวสิคัลละครหุ่นเรื่องนี้ก็ได้แก่ ข้างขึ้นเดือนหงาย (แก้ว อัจฉริยกุล/เอื้อ สุนทรสนาน) กลิ่นโคลนสาบควาย (ไพบูลย์ บุตรขัน) เขมรไล่ควาย / ควายหาย (สุรพล สมบัติเจริญ) และ เดือนดวงเดียว (จรัล มโนเพ็ชร) ทั้งหมดนี้ ขับร้องอย่างงดงามโดย คุณรพีพร ประทุมอานนท์ (หนึ่งในนักแสดงของ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับรัชดาลัย) และคุณศุษณะ ทัศน์นิยม (แชมป์จากเวที KPN 2009) ซึ่งต่างก็สร้างสรรค์สไตล์เพลงขึ้นมาได้ใหม่อย่างน่าสนใจ โดยไม่ต้องยึดติดเป็น “เงาเสียง” แอบอิงกับการตีความของต้นฉบับเดิม

ความดีเด่นของเพลงและเสียงร้องนี้ โดดเด่นจนในบางฉากแทบจะ “ขโมยซีน” ไปจากบรรดาหุ่นสายตัวจ้อยๆ เสียด้วยซ้ำ

ทั้งหมดทั้งมวล ฉากที่น่าทึ่งที่สุดของละครหุ่นเรื่องนี้ ก็คือฉากที่เรียกกันในฉบับมิวสิคัลโรงใหญ่ว่าฉากการยืนยาม เมื่อดอนกิโฮเต้ตัดสินใจยืนยามข้ามคืนในลานปราสาท (โรงเตี๊ยม) ท่ามกลางฟ้าพร่างดาว เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าเข้มแข็งคู่ควรกับที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน ก่อนที่อัลดอนซ่าจะเดินผ่านมา แล้วออกปากถามว่า ทั้งที่ทุกคนหัวเราะเยาะ ทั้งที่สังขารแก่ชราขนาดนั้น  เขาทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไรกัน กิโฮเต้จึงพรรณนาให้ฟังเธอถึง “อุดมคติ” ของเขา ด้วยเพลงที่โด่งดังที่สุดในละครเพลงเรื่องนั้น คือ The Impossible Dream (To dream the impossible dream, to fight the unbeatable foes…)

ในฉบับละครหุ่นสายเสมา ฉากนี้ก็ยังอยู่ โดยมีดาวเต็มฟ้าเหมือนเดิม และมีดอนกับอีซ่าเช่นกัน หากแต่ในกระบวนการทำให้ “เป็นไทย” เมื่ออีซ่าถามด้วยคำถามเดียวกันนั้น ดอนชาวนาของเราจึงร้องตอบเป็นเพลง

แต่ถึงตรงนี้ นิมิตรเลือกใช้เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด (“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว...”) อันมีเนื้อเพลงที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ถอดความจากบทเพลง The Impossible Dream ออกมาเป็นกลอนแปด แล้วต่อมาภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทำนอง

ผู้กำกับการแสดงเลือกให้ดอนร้องเพลงนี้จบลงที่ท่อน “จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา...” เพื่อให้อีซ่าถามขัดจังหวะขึ้นมาว่า แล้วจะทำไปทำไม ปิดทองหลังพระแล้วใครเขาจะเห็น อันนับเป็นการ “ชงลูก” ให้ดอน “ตบ” ตอบว่า ไม่เป็นไรดอก

ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง...



ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต

คณะหุ่นสายเสมา

บทและกำกับการแสดง: นิมิตร  พิพิธกุล

กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2554

โรงละครชุมชนมันตา Art Space (ซอยวิภาวดี 58)

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ ธันวาคม 2555