วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย




กิจกรรมจิตบำบัด

เมื่อกลุ่มละครเล็กๆ กลุ่มหนึ่งต้องช่วยกันระดมความคิดว่าละครเวทีแบบไหนที่จะเหมาะกับเทศกาลละครกรุงเทพฯ  พวกเขานัดคุยกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งย่านถนนพระอาทิตย์  การประชุมนี้มีทั้งนักแสดงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มือใหม่หัดเขียนบท ฝ่ายฉากรุ่นพ่อ สิ่งที่พวกเขาถกเถียงกันก็คือละคร “ที่ดี” นั้น ต้องมีอะไรบ้าง ? หรืออะไรคือสิ่งสำคัญที่ละครควรให้ความสนใจ 

บทละครที่พวกเขาจะนำออกแสดง คือ เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ผลงานการเขียนบทของน้องใหม่แว่นตาโต “นุ่น” (ช่อลดา สุริยะโยธิน) ว่าด้วยเรื่องแม่ค้าที่ขายเฉาก๊วยอยู่หน้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้มีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง เธอจะเป็นนายตำรวจบ้าง แม้ว่าที่นั่นจะไม่ยอมรับผู้หญิงเข้าเรียน 

ในขณะที่แต่ละคนในกลุ่มละคร ต่างคนก็ย่อมจะมี “ภาพ” ในใจว่า ละครที่ “ดี” นั้นคืออะไร ต่างคนจึงพยายามให้ “มี” สิ่งนั้นอยู่ในละครเรื่องนี้ หรือตั้งคำถามกับแนวทางแบบอื่นๆ ที่ตนมิได้สมาทาน
ในไม่ช้า ผู้ชมก็จะพบว่า สิ่งต่างๆ ที่ชาวคณะละครนี้กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดนั้น ก็ล้วนแต่ถูกหยิบยกออกมาแสดงในละครซ้อนละครเรื่องนี้ เช่นเมื่อ “ป๊อด” (ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช) ย้ำว่า ละครที่ดีควรมีเพลงร้อง เหมือนเรื่อง The Sound of Music ที่เขาเพิ่งแสดงจบไป ท่ามกลางข้อแย้งของ “กุ๊ก” (ปานรัตน กริชชาญชัย) นักแสดงสาวรุ่นน้อง เพื่อนร่วมกลุ่มละคร ว่าการที่อยู่ๆ คนเราจะร้องเพลงออกมานั้น มันช่าง “ไม่เป็นธรรมชาติ” และ “ไม่มีใครที่ไหนเขาทำกัน”  แต่แล้วบทสนทนาของทั้งสองก็ค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นเพลงร้องโต้ตอบด้วยลักษณาการของมิวสิคัล ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ทั้ง “สุพล” (วิชย อาทมาท) เลขาฯ การประชุมที่ก้มหน้าก้มตาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา “เจ๊ฝอย” (ฉัตรชัย พุดซ้อน) นักแสดงสาวในร่างบุรุษ หรือ “มาโรจน์” รุ่นใหญ่ฝ่ายฉากมาดเซอร์  ต่างก็ลุกขึ้นขยับแข้งขา ยกมือยกไม้ เต้นตามไป จนเพลงจบทุกอย่างก็กลับเข้าที่เดิม เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น

สารพัดประเด็นของกฎเกณฑ์และทฤษฏีละครสมัยใหม่ถูกหยิบยกออกมาค่อนแคะ ทั้งเรื่องความสมจริง ความเงียบ ปมขัดแย้ง สัญลักษณ์ จนถึงเรื่อง “น้ำเน่า” อย่างการตามหาพ่อที่แท้จริง การหวนกลับมาพบเจออดีตรักวัยเยาว์ ฯลฯ พร้อมๆ ไปกับที่เกิดเรื่องเหล่านั้นขึ้นบนเวที ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ แบบเดียวกับที่ละครว่าไว้

และทั้งหมดก็นำมาซึ่งเสียงหัวเราะตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ชั้นบนของร้านสังคมนิยม ถนนพระอาทิตย์ 

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ถือเป็นการกำกับละครพูดครั้งแรกของศุภฤกษ์ เสถียร เขาพูดถึงละครเรื่องนี้ไว้ในสูจิบัตรว่า

“หากละครเวทีเป็นเฉาก๊วยสักถ้วย เฉาก๊วยที่ดีและมีคุณค่ามันจะมีหน้าตาแบบไหน ต้องมี อย. หรือเปล่า หรือต้องมีตราชวนชิม  แล้วเฉาก๊วยที่คุณชอบมันต่างกันไหม บางคนชอบนิ่มๆ บางคนอาจชอบแข็งๆ บางคนชอบให้เป็นเส้นเล็กๆ บางคนชอบให้เป็นเหลี่ยม บางคนชอบกินกับน้ำเชื่อม บางคนชอบใส่น้ำแดงมากกว่า บางคนเติมข้าวโพด ลูกชิด ขนมปัง ทับทิมกรอบเข้าไปด้วยถึงจะชอบ  ต่างคนก็ต่างสไตล์ แล้วเมื่อเราต้องทำเฉาก๊วยขาย เราจะให้ความสำคัญกับอะไร ส่วนประกอบต่างๆ อาจเป็นเพียงส่วนเกินที่พยายามใส่เข้ามา เพื่อเอาใจและล่อหลอกคนกิน แต่ส่วนที่เราต้องหันมาใส่ใจกันด้วย นั่นก็คือการต้มเฉาก๊วย...”

หากเปรียบละครเรื่องนี้เป็นเฉาก๊วย ก็ต้องบอกว่าเป็นเฉาก๊วยที่ “ชื่นใจ” ได้สำหรับแทบทุกคนทีเดียว เพราะหากเป็นคนดูที่มีความสนใจหรืออยู่ในแวดวงละเม็งละคร ก็จะสามารถเข้าใจหรือ get กับประเด็นที่ถูกกล่าวถึงได้ อย่าง “แสบๆ คันๆ” แต่ถึงจะไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน ก็ยังสามารถดูเป็นละครตลกชั้นดีที่ “ฮากระจาย” ได้อยู่นั่นเอง

จากบทละคร comedy สัญชาติอังกฤษ หนนี้ ต้องถือว่าปานรัตน กริชชาญชัย ดัดแปลงมาเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่าง “แนบเนียน” มากกว่าเรื่องที่แล้ว (สุดทางที่บางแคร์) นอกจากนั้น เธอก็ยังแสดงเป็นตัวเอง ในคาแรคเตอร์ของเธออย่างที่คนดูเคยชื่นชมกันมาจากเรื่องก่อนๆ ของกลุ่มละครนี้ (เช่น นางนากเดอะมิวเซียม) ได้อย่าง “สุดๆ” กว่าใน รัก(ทะ)ลวงตา ที่เพิ่งผ่านสายตาไป ซึ่งดูเธอจะค่อนข้างเกร็งๆ และไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองนัก

อย่างไรก็ดี ในแง่ประเด็นของละครแล้ว ความเห็นของผมก็ยังเชื่อว่า “ผู้ชม” ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญของละครเวทีอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงใหญ่หรือโรงเล็ก  ในรอบที่ได้ชม เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ก็น่ายินดีกับทางผู้จัด เพราะพื้นที่เล็กๆ ของร้านสังคมนิยม ที่อาจจุคนดูได้สัก 30 คน ก็ค่อนข้างแน่นขนัด รวมทั้งยังได้ยินว่า รอบอื่นๆ ก็มีคนดูอยู่ในระดับ “น่าพอใจ”

อย่างไรก็ดี ในรอบสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสดูละครเวทีค่อนข้างถี่ (เฉลี่ยเดือนละเรื่อง) ผมพบว่าหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดเริ่มรู้สึกสนิทสนมกับผู้ชมท่านอื่นๆ เพราะต่างก็กลายเป็นคนคุ้นเคย ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี  คนทีเคยเห็นแสดงละครเรื่องนั้นของกลุ่มนี้ อีกวันก็จะหมุนเวียนไปดูละครอีกเรื่องของอีกกลุ่ม เป็นต้น
 
นั่นก็คือ แวดวง “การบริโภค” ละครเวทีของชาวกรุงเทพฯ ยังค่อนข้างจำกัดมากๆ เกือบจะเหมือนเป็นการผลัดกันเล่น ผลัดกันดู อยู่ในคนกลุ่มเดียว 

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่าละครที่ “ดี” เป็นแบบใดแล้ว ก็น่าจะต้องลองคิดว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมการดูละครเวทีมีที่ทางอยู่ในชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวกรุงบ้าง

เพราะหากปราศจากผู้ชม ละครเวทีก็จะกลายเป็นเพียงกิจกรรม “จิตบำบัด” ของนักแสดงและทีมงานเท่านั้น!

เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย
New Theatre Society
แรงบันดาลใจจากบทละคร The Last Bread Pudding ของ Nick Warburton
แปล/แปลง/เขียนบท: ปานรัตน  กริชชาญชัย
กำกับการแสดง: ศุภฤกษ์  เสถียร
ร้านสังคมนิยม ตุลาคม – พฤศจิกายน 2553 (เนื่องในเทศกาลละครกรุงเทพ 2553)
restage ที่เดโมเครซีสตูดิโอ มิถุนายน 2554 โดยเปลี่ยนนักแสดงบางส่วน

เผยแพร่ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 147 ปักษ์แรก ตุลาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น