วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไฟล้างบาป

ไฟล้างบาป
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ?

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มิตรรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยเปรยขึ้นในวงสนทนาว่า “นรก” ในจินตภาพของคนไทยนั้น ดูๆ ไปก็ไม่ผิดกับครัว คือมีทั้งไฟ กระทะ และของมีคมนานาชนิด บรรดาสัตว์นรกทั้งหลายก็จะต้องมาชำระล้างบาปของตน ด้วยกรรมวิธีเฉกเช่นเดียวกับที่ “ของสด” ถูกหั่น สับ ปิ้ง ย่าง ต้ม แกง จนกลายเป็น “กับข้าว” ที่เป็น “ของสุก”

ไฟล้างบาป ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่เพิ่งกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง ก็ชวนให้ผมนึกถึงถ้อยคำของอาวุโสท่านนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะบางทีบางที่ “นรก” ก็อาจอยู่ถัดจากครัวไปอีกหน่อยหนึ่ง...

แน่นอนว่า สำหรับละครเรื่องนี้ (หรือเรื่องไหนๆ ก็เถอะ!) นักแสดงย่อมเป็นส่วนสำคัญ แต่ละคนของไฟล้างบาป ล้วนจัดอยู่ในระดับ “ยอดฝีมือ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยของเมืองไทย เช่น สินีนาฏ เกษประไพ เจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2551 ในฐานะศิลปินร่วมสมัยด้านการละคร หรือ ฟารีดา จิราพันธุ์ ซึ่งถ้าให้เดา ก็มีท่าทีว่าคงจะได้รับเกียรติยศอย่างเดียวกันกับสินีนาฏในอีกไม่นานเกินรอ

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ก็คือบทละคร ซึ่งริเริ่มโดยนักแสดงทั้งสี่ของเรื่องนี้เอง ในการจัดเวิร์คช็อปของเพต้า (PETA - Philippines Educational Theatre Association) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2549 และพัฒนาต่อมา จนได้ออกตระเวนทัวร์แสดงตามสถาบันการศึกษาต่างๆ นับสิบแห่งในประเทศ และล่าสุด ก่อนหน้าการแสดงครั้งล่าสุดนี้ พวกเธอๆ ก็เพิ่งกลับมาจากการนำละครไปแสดงในเทศกาล Mekong Arts and Media Festival 2009 ที่โรงละครจตุมุข กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมานี่เอง

ไฟล้างบาป เริ่มต้นขึ้น ณ สถานที่แปลกประหลาดแห่งหนึ่ง จะด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด ผู้หญิงแปลกหน้าสามคนมาพบกัน มีทั้ง “ป้าทอม” หนุ่มใหญ่ในร่างหญิง (สินีนาฏ เกษประไพ) ลูกจ้างทำงานบ้าน (ศรวณี ยอดนุ่น) และดาราสาวคนดัง (ฟารีดา จิราพันธุ์) ในไม่ช้า พวกเธอก็ตระหนักว่า ตัวเองตายไปแล้ว และสรุปกันว่า สถานที่แห่งนั้นคงต้องเป็น “นรก”

แต่นรกขุมนั้น ไม่มีเปลวไฟ และไม่มียมบาลใส่หมวกเขาควาย ทว่า จู่ๆ ก็มีกองเสื้อผ้าสกปรก กะละมัง 3 ใบ และผงซักฟอกกล่องใหญ่ขนาดเท่ากระเป๋าเดินทาง หล่นลงมา พวกเธอทั้งสามก็สำเหนียกว่า ในเมื่อที่นั่นเป็นนรก พวกเธอก็ย่อมมีหน้าที่ต้องชดใช้ความผิดบาปที่เคยกระทำมาเมื่อครั้งยังมีชีวิต จึงก้มหน้าก้มตาซักผ้า ชำระล้างบาปไป

ชีวิตซ้ำซากเวียนวนในนรกขุมซักผ้านี้ ดำเนินไปควบคู่กับการที่ผู้หญิงแต่ละคน เริ่มผลัดกันเล่าเท้าความถึงชีวิตเมื่อยังอยู่บนโลกมนุษย์ของตน ไม่ว่าจะเป็น “ป้าทอม” กับความรักแบบ “หญิงรักหญิง” ที่ถูกสังคมประณามว่าผิดเพศ ดาราสาวกับพฤติกรรม “ฉาวโฉ่” ในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งเด็กสาวบ้านนอก ผู้ถูกกลุ่มชายโฉดรุมข่มเหง สร้างตราบาปให้แก่ชีวิตเธอ

แต่ครั้นแล้ว ทุกคนก็เริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่เธอ “เป็น” นั้น มันเป็นความผิดบาปอย่างมหันต์ถึงขนาดที่ต้องตกนรกหมกกะละมังอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์เช่นนั้นเชียวหรือ พวกเธอจึงกู่ก้องตะโกนเรียกหา “ท่าน” เพื่อทวงถาม
ในที่สุด “ท่าน” (สุมณฑา สวนผลรัตน์) ก็ปรากฏตัวออกมา เป็นสาวใหญ่ในชุดขาว ด้วยมาดสตรีหมายเลขหนึ่ง ท่ามกลางความงุนงงของทุกคนว่า เหตุใด “ท่าน” (พระเจ้า? ยมบาล? ใคร?) จึงเป็นผู้หญิง ต่างกับภาพที่มักนึกกันโดยทั่วไปว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาลจะต้องเป็นเพศชาย

ยิ่งไปกว่านั้น “ท่าน” ซึ่งสั่งให้ทุกคนเรียกเธอว่า “โกลดี้” ก็ย้อนถามทั้งสามสาวว่า มีใครบอกให้เธอไปซักผ้าหรือไม่ ? หรือพวกเธอทำไปเองเพียงเพราะความเคยชิน ? ทั้งยังสำทับด้วยว่า กะละมังนั้น ถ้าไม่หงายใส่น้ำซักผ้า ก็สามารถคว่ำลงใช้วางเท้าได้!

เช่นเดียวกับ “โทษบาป” ที่ทั้งสามคนแบกรับไว้นั้น ล้วนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องชดใช้ด้วยการลงโทษทัณฑ์ ว่าแล้ว โกลดี้ก็ลุกขึ้นเต้น จับมือกับสามสาว พากันเต้นออกไปจาก “นรกแม่บ้าน” นั้น...

ไฟล้างบาป ใช้เวลาแสดงเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่ก็นำเสนอ “สาร” ได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น

ประเด็นที่ว่าด้วย “คำพิพากษา” ที่สังคมมีแก่ผู้หญิง ว่า ผู้หญิง “ที่ดี” หรือ “ปกติ” นั้น ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ควรต้องทำอะไร มีเพศสัมพันธ์แบบไหน กับใครได้บ้าง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างภาวะจำยอม และเป็นภาระที่ต้องแบกติดตัวไปตลอดชีวิต (หรือเลยไปกว่านั้นด้วย...)

แม้ประเด็นเหล่านี้ อาจดูเหมือน “เกือบ” จะเชย เพราะก็มีการหยิบยกมานำเสนอบนเวทีละครของกลุ่มละครเล็กๆ ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่ที่มันยังไม่เชย ก็เพราะนอกโรงละคร พ้นไปจากเวทีเล็กๆ นั้น ในโลกจริงข้างนอก การฉกฉวยโอกาสจากร่างกาย และ “ความเป็นหญิง” ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เหมือนที่เคยเป็นมา ซ้ำร้าย ยิ่งทวีความรุนแรงและความแยบยลขึ้นเป็นลำดับ

และผมก็เชื่อ – ด้วยความเศร้าใจยิ่ง – ว่า ไฟล้างบาป จะยังสามารถนำกลับมาขึ้นเวที (Restage) ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้นานปี โดยยังไม่ล้าสมัยง่ายๆ




ไฟล้างบาป (Restage)
พระจันทร์เสี้ยวการละคร
นักแสดง สินีนาฏ เกษประไพ, ศรวณี ยอดนุ่น, ฟารีดา จิราพันธุ์, สุมณฑา สวนผลรัตน์
Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
3-7 ธันวาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 117 ปักษ์หลัง พฤษภาคม 2553

สาวชาวนา

สาวชาวนา
เมื่อเอ็นจีโอปะทะนักวิชาการกลางเทศกาลละคร

ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2552 จากการแสดงนับร้อยรอบของกลุ่มละครต่างๆ เรื่องเดียวที่ผมมีเวลาและมีโอกาสได้ดู คือ สาวชาวนา

แต่การเลือกดูของผม ก็มีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะละครเรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสำคัญสำหรับงานเทศกาล ถึงขนาดที่คุณ “ตั้ว” ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ ระบุไว้ในสูจิบัตรของเทศกาลทีเดียว ว่าเป็นละครหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับการ “สั่งซื้อ” จากศูนย์ศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo Metropolitan Art Space) เพื่อไปร่วมแสดงในเทศกาลแม่โขงที่ญี่ปุ่น (ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้ปี 2552/2009 เป็นปีของภูมิภาคแม่น้ำโขง)

ยิ่งไปกว่านั้น งานนี้ เรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมนักแสดงระดับ “แถวหน้า” ของกลุ่มละครเมืองไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีในวงการ ไม่ว่าจะเป็นสามสาวแห่งบีฟลอร์ (B-Floor) : อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์, จารุนันท์ พันธชาติ และดุจดาว วัฒนปกรณ์ / คานธี อนันตกาญจน์ จาก Democrazy Studio / ณัฐ นวลแพง แห่งกลุ่มละครเสาสูง / ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และปานรัตน กริชชาญชัย จาก New Theatre Society รวมทั้งณัฐพล คุ้มเมธา จากเบบี้ไมม์ (Babymime)

ท่านเหล่านี้ล้วนเป็น “หัวกะทิ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยไทยปัจจุบัน
แล้วจะมีเหตุผลใดที่จะไม่ดู สาวชาวนา เล่า ?

ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครญี่ปุ่นของฮิเดกิ โนดะ (Hideki Noda) นักการละครระดับแถวหน้าของวงการละครร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ของศูนย์ศิลปะโตเกียว
แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อแปลและแปลงแล้ว เนื้อหาหลายอย่างกลับสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนยิ่ง

สาวชาวนา เล่าเรื่องของ “มะลิ” (อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์) เด็กสาวอายุ 15 จากครอบครัวชาวนาอำเภอตระการพืชผล ผู้ไม่อยากทำนา และหลงใหลในกรุงเทพฯ จนดั้นด้นเข้ามา เธอได้รับการอุปการะแบบ “เลี้ยงต้อย” จากอาจารย์ประวิทย์ (คานธี อนันตกาญจน์) นักพฤกษศาสตร์ผู้ศึกษาต้นไม้มีพิษ แต่ไม่เคยใยดีเธอจริงๆ มะลิจึงหันไปสนใจงานจิตอาสา กลายเป็นอาสาสมัครในทีมของนายสืบศักดิ์ (ณัฐ นวลแพง) เอ็นจีโอที่ผันตัวเองมาจากผู้กำกับหนังโป๊

มะลิทำงานอย่างจริงจังด้วยความรักที่ทุ่มเทให้แก่สืบศักดิ์ จนมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการปลูกข้าวปลอดสารพิษ เพียงเพื่อจะพบว่าสืบศักดิ์ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่งานอาสาสมัคร รวมทั้งไม่ได้สนใจเรื่องการเกษตรอะไรจริงจัง หากแต่เขาใช้มัน (และเธอ) เป็นทางผ่าน เข้าสู่ความสนใจของสาธารณชน เพื่อปูทางไปยังการก่อตั้งพรรคการเมือง

สุดท้าย มะลิจึงกลับบ้าน ตั้งหน้าตั้งตาปลูกข้าว มุ่งมั่นกระทำสิ่งที่เธอปฏิเสธมาแต่เยาว์วัย พร้อมกันนั้น เธอก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆ อีกต่อไป...

ท่วงทีของละครเรื่องนี้ เป็นละครร่วมสมัย ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยการตัดสลับฉากในแนวทางของภาพยนตร์ ด้วยบรรยากาศแบบ “เหนือจริง” อันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เช่นที่ตัวละครสำคัญมักจะมี “เงา” หรือ “เสียงของจิตใต้สำนึก” ซึ่งแสดงโดยนักแสดงอีกคน คอยพันแข้งพันขาพูดจาสอดแทรกส่อเสียดอยู่ตลอดเวลา

หรือฉากรถไฟดำมะเมื่อมที่แล่นอย่างช้าๆ เหมือนลอยเลื่อนเข้าสู่สถานีรถไฟชนบทรกร้างนั้น ก็ดูจะมีนัยทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง!

และในเมื่อเป็นสัญลักษณ์ ก็เหมือนกับสัญลักษณ์อื่นๆ ในโลก คือย่อมเอื้อต่อการตีความได้ต่างๆ นานาสารพัด

ในเวอร์ชั่นตามความเข้าใจของผม (ซึ่งแน่นอนว่าอาจต่างหรือเหมือน กับผู้ชมคนอื่นๆ รวมทั้งผู้กำกับ และนักแสดง) มะลิ ตัวแทนของชุมชนเกษตรไทย ในอุปมาของสตรี ถูกยื้อยุดแย่งชิงระหว่างนักวิชาการ (อย่างอาจารย์ประวิทย์ ผู้สนใจศึกษาแต่เรื่องไร้ประโยชน์ เช่นต้นไม้มีพิษ) และเอ็นจีโอ (เช่นนายสืบศักดิ์ ผู้มีอดีตคลุมเครือ และมี “วาระซ่อนเร้น”)

ทั้งสอง ในอุปมาของบุรุษ มุ่งมาดปรารถนาที่จะครอบครองมะลิ (ผ่านเซ็กส์)

ทั้งคู่ล้วนอยากให้มะลิเป็น “อะไรบางอย่าง” ตามที่ใจตนเองต้องการ

ต่างแย่งชิงกันเป็น “ปากเสียง” ของเธอ

โดยไม่มีผู้ใดสนใจจะ “ฟัง” ว่าจริงๆ แล้วเธอต้องการอะไร หรือเธออยากพูดอะไร

เรื่องจึงลงเอยด้วยการที่มะลิไม่ได้ยินเสียงของใครอีกต่อไป
หูของเธอดับสนิท
ในเมื่อไม่มีใคร “ฟัง” เธอ เธอจึงไม่ต้องการ “ฟัง” ใครเช่นเดียวกัน

แต่พร้อมกันนั้น หากจะเลือกมองโลกในแง่ร้ายดูบ้าง สาวชาวนา ก็อาจเสียดเย้ยตัวเองไปด้วยในที เพราะว่าให้ถึงที่สุด ละครเรื่องนี้ทั้งหมดก็เป็นได้เพียงการ “พยายาม” “ทำเหมือน” “เข้าใจ” “สาวชาวนา” จากมุมมองแบบชนชั้นกลางในเมือง อย่างที่นักการละครส่วนใหญ่สังกัดอยู่

ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความปรารถนาดี บวกกับฝีไม้ลายมือระดับชั้นครู ด้วยความตั้งใจอย่างแข็งขัน ทว่าก็ล้วนเป็นการ “คิดแทน” ในแบบ “พูดเองเออเอง”

เรียกอีกอย่างก็คือ ผู้ชมอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ความเข้าใจเรื่องชาวนาของ สาวชาวนา ก็อาจผิดเพี้ยน ไม่ต่างจากภาษาอีสานสำเนียงประหลาดๆ และแปลกแปร่ง อย่างที่ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องพูดจากัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมใด ระดับไหน เรียกแบบภาษาวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่า “สาร” ของละครเรื่องนี้ “แวรงงงงงงงงง” จริงๆ จ้ะ!



สาวชาวนา
บทละคร ฮิเดกิ โนดะ
แปลบท ผุสดี นาวาวิจิตร
ดัดแปลงบท ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, นิกร แซ่ตั้ง, สินีนาฏ เกษประไพ, ณัฐ นวลแพง, จารุนันท์ พันธชาติ
กำกับการแสดง นิกร แซ่ตั้ง
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอประชุมเล็ก)
3-4 พฤศจิกายน 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 116 ปักษ์แรก พฤษภาคม 2553