วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

แม่นาค "รัชดาฯ"

แม่นาคพระโขนง เดอะ มิวสิคัล
ภาพยนตร์ “แสดงสด” ณ รัชดาลัยเธียเตอร์

เมื่อยุติการแสดงไปในปลายเดือนกรกฎาคม แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ก็ทำสถิติเป็นอีกหนึ่งโปรดักชั่นของค่ายซีเนริโอ ที่เปิดรอบการแสดงได้ถึง 50 รอบ


ความจุของโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในศูนย์การค้าเอสพละนาด ถนนรัชดาภิเษกนั้น อยู่ที่ราว 1,200 ที่นั่ง ดังนั้น หากคิดตามจำนวนที่นั่งอย่างเดียว ก็จะมีคนที่ได้ดูละครเรื่องนี้ประมาณ 60,000 คน แต่ถ้าหากจะคิดว่า แต่ละรอบก็อาจมีที่นั่งว่างบ้าง หรือมีคนดูซ้ำๆ หลายรอบบ้าง ผมก็ยังกะประมาณว่าตัวเลขผู้ชมละครเรื่องนี้ไม่ควรต่ำกว่า 50,000 คน !

คงต้องยอมรับว่า คุณบอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ สามารถเรียกให้คนมาดูละครเวทีของเธอได้ราวกับพระสังข์ทองร่ายมหาจินดามนต์เรียกเนื้อเรียกปลาทีเดียว

เบื้องหลังความสำเร็จระดับนี้ ส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่า มาจากการโหมประโคมประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกสื่อที่มีในมือและในเครือข่ายของแกรมมี หากแต่การพูดเพียงเท่านั้น ก็ย่อมเป็นการหมิ่นแคลนน้ำใจของผู้ชมชาวไทยเกินไป ว่าเหตุไฉนจึงยอมตัวตกเป็นทาสของการโฆษณาได้ถึงเพียงนั้น

เมื่อผมมีโอกาสไปชมละครเรื่องนี้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 ผมได้ค้นพบด้วยความอัศจรรย์ใจว่าในรอบที่ไปดู ซึ่งเป็นคืนวันพฤหัสบดี คนดูเต็มโรง ชนิดที่มองไม่เห็นที่นั่งว่างเลย และที่สำคัญก็คือ ผู้ชมต่างก็ชื่นชอบละครเรื่องนี้กันมากมายจริงๆ

คนดูผู้ร่วมลมหายใจเดียวกับนักแสดง ต่างกระซิบกระซาบ กรี๊ดกร๊าด ลุ้นระทึก ปรบมือ หัวเราะโห่ฮา และน้ำตาร่วงไปพร้อมๆ กันกับตัวละครบนเวทีด้วย

ทุกอย่างดังกล่าวมานี้ ผมสังเกตได้ในระยะประชิด เพราะคุณน้าๆ ที่นั่งข้างๆ ทำทุกอย่างที่ว่ามานั้น น่าปลื้มใจแทนนักแสดงทุกคนของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ยิ่งนัก

จำได้ว่าคุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ต้องการทำให้ละครร้องเรื่องแม่นาคฉบับนี้ เป็นเหมือนภาพยนตร์ไทยยุคก่อน ที่มี “ครบรส” ซึ่งเธอก็ทำได้จริงๆ ชนิดที่ดูแล้วอดนึกถึงหนังไทย แบบเคยดูในทีวีเมื่อสมัยเด็กๆ ไม่ได้ คือมีตั้งแต่รักหวานจ๋อย ตลกโปกฮา ตัวอิจฉา เลิฟซีน วิ่งหนีผีลงตุ่ม ไปจนถึงฉากระเบิด (และพังกระท่อม!)

เพื่อไปให้ถึงจุดหมายดังว่า คุณบอยเลือกใช้วิธีการนำสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ไมว่าจะเป็นพล็อตที่รู้จักดีจนขึ้นใจ หนังไทยยุคเก่า มุกตลกคาเฟ่ เพลงป๊อบ รวมถึงนักร้องนักแสดงที่เป็นที่รู้จัก มาผสมผเสกันขึ้นเป็นละครเวที ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยดู หรือไม่คุ้นเคยกับละครเพลงแบบมิวสิคัล ก็ย่อมช่วยให้รู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และชื่นชอบได้ไม่ยาก

แม่นาคในเวอร์ชั่นนี้จึงดำเนินความไปตามท้องเรื่องที่ใครๆ ก็รู้...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่บางพระโขนง แม่นาคเป็นเมียพ่อมาก แม่นาคตั้งท้อง พ่อมากถูกเกณฑ์ทหาร แม่นาคตายทั้งกลม พ่อมากกลับมา ทีแรกไม่รู้ความจริง ต่อมา แม่นาคยื่นมือไปเก็บอะไรสักอย่างใต้ถุน ความเลยแตก ว่าแม่นาคเป็นผี พ่อมากหนีไปหาพระที่วัด แม่นาคโกรธแค้น ออกอาละวาด หักคนใครต่อใคร ฯลฯ

ความรู้สึกเบื้องต้นของผมในฐานะผู้ชม ก็คือละครเรื่องนี้ถูกเร่งจังหวะ (pacing) ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในครึ่งแรก ชนิดที่ผมรู้สึกเหมือนกำลังเล่นวิ่งเปี้ยวอย่างกระหืดกระหอบอยู่กับแม่นาค ผู้ซึ่งด่วนถึงแก่กรรมไปพร้อมลูกน้อยในครรภ์ ตั้งแต่นาทีที่ 15 ของเรื่อง และใช้เวลาที่เหลืออีกสองชั่วโมงในการดำเนินพฤติกรรมที่เราทุกคนคุ้นเคยดังว่า

เมื่อกำหนดโทนเรื่องเป็นอย่างนี้ บทหนักจึงมาตกอยู่แก่แม่นาค (นัท มีเรีย เบนเนเดดตี้) เรียกได้ว่าแม่นาคเวอร์ชั่นนี้มีบทต้องออกเกือบทุกฉาก มิหนำซ้ำ คุณบอยก็ใช้เธอ "เกินคุ้ม" จริงๆ ทั้งร้องเพลง ทั้งแสดง ทั้งเหาะเหินเดินอากาศด้วยลวดสลิง ทว่า พลังของคุณนัทถือได้ว่า “เอาอยู่” ยิ่งกว่านั้น เธอยังเป็นคนเดียวที่ “หิ้ว” ละครเรื่องนี้ทั้งเรื่องเอาไว้ให้ไม่หลุดจากกันเป็นเสี่ยงๆ สมควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง

ส่วนพ่อมาก (อาร์ เดอะสตาร์ - อาณัตพล ศิริชุมแสง) กลับกลายเป็นแค่ “ตัวประกอบ” ซึ่งก็อาจจะดีสำหรับเขา เพราะดูเหมือนว่า เรายังต้องให้เวลากับการพัฒนาการแสดงของอาณัตพลอีกพักใหญ่ แม้แต่การร้องเพลง ซึ่งถึงเขาจะเสียงดีจริง แต่ในเพลงท้ายๆ แรงก็เริ่มตกจนควบคุมเสียงร้องไม่ได้

มุกตลกตีหัว มุกล้อเลียนกะเทยและความพิกลพิการ ชนิดที่พบเห็นได้ทุกวันในละครทีวีภายใต้การอำนวยการของคุณบอย ถูกนำขึ้นมาแสดงสดเรียกเสียงฮาบนเวที โดย “ตัวจริงเสียงจริง” ของค่าย ทั้ง ธงธง มกจ๊ก ซึ่งรับบทเป็น “โอ่ง” บรรพชนกะเทยไทย และ อู๊ด เป็นต่อ ในบทของเตี้ย

บทบาทของสองท่านนี้ โดดเด่นเสียจนทำให้หลายคนรู้สึกว่าเพลง “วิธีหนีผี” (ก่อนฉากหนีผีลงตุ่ม) นั้น เป็นส่วนที่สนุกที่สุดของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล เลยทีเดียว

ที่น่าเสียดาย (และทำให้รู้สึกว่า “เสียของ”) ก็คือการสร้างตัวละครอย่างแม่ปริก หมอตำแย (สุดา ชื่นบาน) สร้อย ผู้แอบรักพี่มาก (ปนัดดา เรืองวุฒิ) และอาจารย์คงหมอผีชุดดำ (“ติ๊ก ชิโร่”) ขึ้นมา เพียงเพื่อให้ถูกฆ่าตายจบชีวิตไปบนเวที โดยที่แทบไม่ได้มีบทบาทหรือเพลงขับร้องที่สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของเขาและเธอเลย

ในระนาบของความรู้สึกส่วนตัว ถ้าถามว่า แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล สนุกไหม ? ผมย่อมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “สนุก!” เพราะละครเรื่องนี้ถือเป็นโชว์ชั้นเยี่ยม แสงสีอลังการน่าตื่นตาตื่นใจ การเปลี่ยนฉาก คิวต่างๆ เทคนิคพิเศษสารพัด ล้วนแล้วแต่ทำได้ “เนียน” และ “เนี้ยบ” ทุกรอยต่อ นักแสดงมีความสามารถ เหล่าอ็องซอมฯ หรือ “หมู่มวล” ก็เต้นกันได้เป๊ะๆๆ และสุดเหวี่ยงชนิดถวายหัวทุกคน

ทว่า ทันทีที่ลุกขึ้นเดินออกจากโรงละคร ผมก็เริ่มนึกว่า “จะไปไหนกันต่อดีล่ะ ?” “ออกไปตอนนี้ รถจะไปติดอยู่ในที่จอดรถอีกนานไหมเนี่ย ?” “อ้าว! แล้วบัตรจอดรถอยู่กับใครฟะ ?” ฯลฯ

ไม่มีอะไรติดค้างในใจกับ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล อีกต่อไป
เหมือนเมื่อเราดู บ้านผีปอบ จบ

คุณบอยทำสำเร็จจริงๆ !


แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล
โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์
อำนวยการสร้าง/กำกับการแสดง ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ประพันธ์ดนตรี สราวุธ เลิศปัญญานุช
ประพันธ์คำร้อง วิเชียร ตันติพิมลพันธ์
กำกับลีลา สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
แสดงนำโดย มีเรีย เบนเนเดดตี้ และอาณัตพล ศิริชุมแสง
20 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม 2552


เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสาร Vote รายปักษ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 102 ปักษ์หลัง กันยายน 2552

แม่นาค "รัชดาฯ"

แม่นาคพระโขนง เดอะ มิวสิคัล
ภาพยนตร์ “แสดงสด” ณ รัชดาลัยเธียเตอร์

เมื่อยุติการแสดงไปในปลายเดือนกรกฎาคม แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ก็ทำสถิติเป็นอีกหนึ่งโปรดักชั่นของค่ายซีเนริโอ ที่เปิดรอบการแสดงได้ถึง 50 รอบ

ความจุของโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในศูนย์การค้าเอสพละนาด ถนนรัชดาภิเษกนั้น อยู่ที่ราว 1,200 ที่นั่ง ดังนั้น หากคิดตามจำนวนที่นั่งอย่างเดียว ก็จะมีคนที่ได้ดูละครเรื่องนี้ประมาณ 60,000 คน แต่ถ้าหากจะคิดว่า แต่ละรอบก็อาจมีที่นั่งว่างบ้าง หรือมีคนดูซ้ำๆ หลายรอบบ้าง ผมก็ยังกะประมาณว่าตัวเลขผู้ชมละครเรื่องนี้ไม่ควรต่ำกว่า 50,000 คน !


คงต้องยอมรับว่า คุณบอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ สามารถเรียกให้คนมาดูละครเวทีของเธอได้ราวกับพระสังข์ทองร่ายมหาจินดามนต์เรียกเนื้อเรียกปลาทีเดียว


เบื้องหลังความสำเร็จระดับนี้ ส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่า มาจากการโหมประโคมประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกสื่อที่มีในมือและในเครือข่ายของแกรมมี หากแต่การพูดเพียงเท่านั้น ก็ย่อมเป็นการหมิ่นแคลนน้ำใจของผู้ชมชาวไทยเกินไป ว่าเหตุไฉนจึงยอมตัวตกเป็นทาสของการโฆษณาได้ถึงเพียงนั้น

เมื่อผมมีโอกาสไปชมละครเรื่องนี้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 ผมได้ค้นพบด้วยความอัศจรรย์ใจว่าในรอบที่ไปดู ซึ่งเป็นคืนวันพฤหัสบดี คนดูเต็มโรง ชนิดที่มองไม่เห็นที่นั่งว่างเลย และที่สำคัญก็คือ ผู้ชมต่างก็ชื่นชอบละครเรื่องนี้กันมากมายจริงๆ


คนดูผู้ร่วมลมหายใจเดียวกับนักแสดง ต่างกระซิบกระซาบ กรี๊ดกร๊าด ลุ้นระทึก ปรบมือ หัวเราะโห่ฮา และน้ำตาร่วงไปพร้อมๆ กันกับตัวละครบนเวทีด้วย


ทุกอย่างดังกล่าวมานี้ ผมสังเกตได้ในระยะประชิด เพราะคุณน้าๆ ที่นั่งข้างๆ ทำทุกอย่างที่ว่ามานั้น น่าปลื้มใจแทนนักแสดงทุกคนของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ยิ่งนัก

จำได้ว่าคุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ต้องการทำให้ละครร้องเรื่องแม่นาคฉบับนี้ เป็นเหมือนภาพยนตร์ไทยยุคก่อน ที่มี “ครบรส” ซึ่งเธอก็ทำได้จริงๆ ชนิดที่ดูแล้วอดนึกถึงหนังไทย แบบเคยดูในทีวีเมื่อสมัยเด็กๆ ไม่ได้ คือมีตั้งแต่รักหวานจ๋อย ตลกโปกฮา ตัวอิจฉา เลิฟซีน วิ่งหนีผีลงตุ่ม ไปจนถึงฉากระเบิด (และพังกระท่อม!)


เพื่อไปให้ถึงจุดหมายดังว่า คุณบอยเลือกใช้วิธีการนำสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ไมว่าจะเป็นพล็อตที่รู้จักดีจนขึ้นใจ หนังไทยยุคเก่า มุกตลกคาเฟ่ เพลงป็อบ รวมถึงนักร้องนักแสดงที่เป็นที่รู้จัก มาผสมผเสกันขึ้นเป็นละครเวที ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยดู หรือไม่คุ้นเคยกับละครเพลงแบบมิวสิคัล ก็ย่อมช่วยให้รู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และชื่นชอบได้ไม่ยาก


แม่นาคในเวอร์ชั่นนี้จึงดำเนินความไปตามท้องเรื่องที่ใครๆ ก็รู้...


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่บางพระโขนง แม่นาคเป็นเมียพ่อมาก แม่นาคตั้งท้อง พ่อมากถูกเกณฑ์ทหาร แม่นาคตายทั้งกลม พ่อมากกลับมา ทีแรกไม่รู้ความจริง ต่อมา แม่นาคยื่นมือไปเก็บอะไรสักอย่างใต้ถุน ความเลยแตก ว่าแม่นาคเป็นผี พ่อมากหนีไปหาพระที่วัด แม่นาคโกรธแค้น ออกอาละวาด หักคนใครต่อใคร ฯลฯ


ความรู้สึกเบื้องต้นของผมในฐานะผู้ชม ก็คือละครเรื่องนี้ถูกเร่งจังหวะ (pacing) ของละครให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในครึ่งแรก ชนิดที่ผมรู้สึกเหมือนกำลังเล่นวิ่งเปี้ยวอย่างกระหืดกระหอบอยู่กับแม่นาค ผู้ซึ่งด่วนถึงแก่กรรมไปพร้อมลูกน้อยในครรภ์ ตั้งแต่ราวนาทีที่ 15 ของเรื่อง และใช้เวลาที่เหลืออีกสองชั่วโมงในการดำเนินพฤติกรรมที่เราทุกคนคุ้นเคยดังว่า


เมื่อกำหนดโทนเรื่องเป็นอย่างนี้ บทหนักจึงมาตกอยู่แก่แม่นาค (นัท มีเรีย เบนเนเดดตี้) เรียกได้ว่า แม่นาคเวอร์ชั่นนี้ เธอมีบทต้องออกเกือบทุกฉาก มิหนำซ้ำ คุณบอยก็ใช้เธอ "เกินคุ้ม" จริงๆ ทั้งร้องเพลง ทั้งแสดง ทั้งเหาะเหินเดินอากาศด้วยลวดสลิง ทว่า พลังของคุณนัทถือได้ว่า “เอาอยู่” ยิ่งกว่านั้น เธอยังเป็นคนเดียวที่ “หิ้ว” ละครเรื่องนี้ทั้งเรื่องเอาไว้ให้ไม่หลุดจากกันเป็นเสี่ยงๆ สมควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง


ส่วนพ่อมาก (อาร์ เดอะสตาร์ - อาณัตพล ศิริชุมแสง) กลับกลายเป็นแค่ “ตัวประกอบ” ซึ่งก็อาจจะดีสำหรับเขา เพราะดูเหมือนว่า เรายังต้องให้เวลากับการพัฒนาการแสดงของอาณัตพลอีกพักใหญ่ แม้แต่การร้องเพลง ซึ่งถึงเขาจะเสียงดีจริง แต่ในเพลงท้ายๆ แรงก็เริ่มตกจนควบคุมเสียงร้องไม่ได้


มุกตลกตีหัว มุกล้อเลียนกะเทยและความพิกลพิการ ชนิดที่พบเห็นได้ทุกวันในละครทีวีภายใต้การอำนวยการของคุณบอย ถูกนำขึ้นมาแสดงสดเรียกเสียงฮาบนเวที โดย “ตัวจริงเสียงจริง” ของค่าย ทั้ง ธงธง มกจ๊ก ซึ่งรับบทเป็น “โอ่ง” บรรพชนกะเทยไทย และ อู๊ด เป็นต่อ ในบทของเตี้ย


บทบาทของสองท่านนี้ โดดเด่นเสียจนทำให้หลายคนรู้สึกว่าเพลง “วิธีหนีผี” (ก่อนฉากหนีผีลงตุ่ม) นั้น เป็นส่วนที่สนุกที่สุดของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล เลยทีเดียว


ที่น่าเสียดาย (และทำให้รู้สึกว่า “เสียของ”) ก็คือการสร้างตัวละครอย่างแม่ปริก หมอตำแย (สุดา ชื่นบาน) สร้อย ผู้แอบรักพี่มาก (ปนัดดา เรืองวุฒิ) และอาจารย์คงหมอผีชุดดำ (“ติ๊ก ชิโร่”) ขึ้นมา เพียงเพื่อให้ถูกฆ่าตายจบชีวิตไปบนเวที โดยที่แทบไม่ได้มีบทบาทหรือเพลงขับร้องที่สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของเขาและเธอเลย


ในระนาบของความรู้สึกส่วนตัว ถ้าถามว่า แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล สนุกไหม ? ผมย่อมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “สนุก!” เพราะต้องถือว่าละครเรื่องนี้เป็นโชว์ชั้นเยี่ยม แสงสีอลังการน่าตื่นตาตื่นใจ การเปลี่ยนฉาก คิวต่างๆ เทคนิคพิเศษสารพัด ล้วนแล้วแต่ทำได้ “เนียน” และ “เนี้ยบ” ทุกรอยต่อ นักแสดงมีความสามารถ เหล่าอ็องซอมฯ หรือ “หมู่มวล” ก็เต้นกันได้เป๊ะๆๆ และสุดเหวี่ยงชนิดถวายหัวทุกคน

ทว่า ทันทีที่ลุกขึ้นเดินออกจากโรงละคร ผมก็เริ่มนึกว่า “จะไปไหนกันต่อดีล่ะ ?” “ออกไปตอนนี้ รถจะไปติดอยู่ในที่จอดรถอีกนานไหมเนี่ย ?” “อ้าว! แล้วบัตรจอดรถอยู่กับใครฟะ ?” ฯลฯ

ไม่มีอะไรติดค้างในใจกับ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล อีกต่อไป



เหมือนเมื่อเราดู บ้านผีปอบ จบ

คุณบอยทำสำเร็จจริงๆ !


แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล
โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์
อำนวยการสร้าง/กำกับการแสดง ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ประพันธ์ดนตรี สราวุธ เลิศปัญญานุช
ประพันธ์คำร้อง วิเชียร ตันติพิมลพันธ์
กำกับลีลา สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
แสดงนำโดย มีเรีย เบนเนเดดตี้ และอาณัตพล ศิริชุมแสง
20 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม 2552


เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ปักษ์หลัง กันยายน 2552






วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

Harmony of Life


ค่ำคืนหนึ่งกับสวนพลูคอรัส
หากไม่นับการขับร้องประสานเสียงในศาสนกิจของคริสตชน และวงขับร้องประสานเสียงในสถาบันการศึกษา เช่นในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ในเมืองไทยก็ดูเหมือนจะมีวงขับร้องประสานเสียง อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ควัยเออร์ (Choir) หรือ คอรัส (Chorus) อยู่น้อยเต็มที

หนึ่งในนั้นก็คือ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู (Suanplu Chorus) ภายใต้การอำนวยการของ “ครูดุษ” อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ และการอำนวยเพลงของอาจารย์ไกวัล กุลวัฒโนทัย ซึ่งบัดนี้ก็อยู่ยั้งยืนยงมาจนเข้าสู่ปีที่ 9 และกวาดรางวัลจากการประกวดวงขับร้องประสานเสียงมาแล้ว ทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐออสเตรีย แต่ในเมืองไทยเอง นักร้องคณะนี้ก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสขึ้นเวทีแสดงบ่อยนัก ดังนั้น คอนเสิร์ตประจำปี 2552 ที่ใช้ชื่อว่า Harmony of Life ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จึงยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของมหาชน กระทั่งต้องนำกลับคืนขึ้นสู่เวทีตามเสียงเรียกร้องอีกครั้ง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 ซึ่งก็ยังคงเรียกผู้ชมได้เต็มแน่นหอประชุมสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) เช่นเดียวกัน

การแสดงเริ่มด้วยธรรมเนียมการไหว้ครู ทั้งฝั่งไทยและฝ่ายตะวันตก ด้วยเพลงคุรุนมัสการ (บทประพันธ์โดยผู้อำนวนเพลง ขับร้องเป็นภาษาบาลี) และเพลงครู อย่าง Laudate Dominum ของโมสาร์ท (W. A. Mozart) ก่อนที่ฉวัดเฉวียนข้ามทั้งกาละและเทศะ ไปสู่เพลงสารพัด เช่น Hallelujah ของแฮนเดล (G. F. Handel) ที่นำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ให้เป็นแนวเพลงขับร้องแบบ Gospel เพลง Rosas Pandan เพลงพื้นเมืองเซบูจากฟิลิปปินส์ หรือเพลง Ipaphonia เพลงแนว Contemporary ที่ Branko Stark
นักแต่งเพลงชาวโครเอเชียแต่งขึ้นสำหรับที่ประชุมนักภาษาศาสตร์ ด้วยการเล่นกับเสียงพยัญชนะต่างๆ ในภาษาตระกูลยุโรป

เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง การแสดงก็เปลี่ยนเป็นเพลงไทย (เช่นเดียวกับที่นักร้องและผู้อำนวยเพลง เปลี่ยนชุดให้ออกแนวไทย/ตะวันออก) เพลงส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงที่ผู้ชมผู้ฟังคุ้นเคยกันดี เช่น เขมรไทรโยค เส่เลเมา ยอยศพระลอ ส้มตำ และ รำวงเมดเลย์ ที่พิเศษ ก็คือเพลง คนทำทาง บทเพลงจากวงต้นกล้า วงดนตรีไทยแนว “เพื่อชีวิต” ในยุคหลัง 14 ตุลาคม ซึ่งใช้เนื้อร้องจากบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีการอ่านบทกวีประกอบ โดยvอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ซึ่งครูใช้เสียงและจังหวะได้อย่างทรงพลัง

ข้อเปรียบเทียบอย่างหนึ่งที่รู้สึกได้ คือเพลงในครึ่งหลังที่เป็นเพลงไทยนี้ ทางวงตั้งอกตั้งใจให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างยิ่ง หลายเพลงถึงกับมีวงดนตรีไทยฝีมือเยี่ยมมาร่วมแจม ทว่า เนื่องจากเพลงทั้งหมดมาจากผู้เรียบเรียงเสียงประสานคนเดียวกัน ซ้ำยังชื่อ-นามสกุลเดียวกันกับผู้อำนวยเพลง ดังนั้น สีสันของแต่ละเพลงจึงฟังดูคล้ายๆ กันไปหมด
อย่างไรก็ตาม การใช้ท่าทาง การร่ายรำ (รำวงเมดเลย์, ยอยศพระลอ) รวมถึงอุปกรณ์ประกอบ (เช่น ครก ในเพลงส้มตำ) ตลอดจนการที่ให้คนดูได้ร่วมร้องเพลงภายใต้การอำนวยเพลงของผู้อำนวยเพลงคนเดียวกัน ในเพลง เส่เลเมา ก็ถือเป็นสีสัน ที่สร้างจุดเด่น ความสนุกสนาน และความประทับใจให้แก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

สิ่งหนึ่งที่คนดูทุกคนรับรู้ได้ชัดเจน ก็คือความสนุกและความสุขของนักร้อง ที่ฉายชัดผ่านออกมาทางสีหน้า แววตา และรอยยิ้มของทุกคน ลำพังเพียงเท่านั้น การร้องเพลงก็บรรลุวัตถุประสงค์ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะความสอดคล้องประสานกันของชีวิต อย่างที่ใช้ชื่อคอนเสิร์ตว่า Harmony of Life นั้น ก็สื่อแสดงมาด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างนักร้องชายหญิง ทั้งโซปราโน อัลโต เทเนอร์ และเบส ร่วมกับผู้อำนวยเพลง และนักดนตรี ได้อย่างงดงามกลมกลืน

ผู้ชมรายหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆ ถึงแก่บ่นว่า กำลังสนุกก็จบเสียแล้ว!

ถ้าจะมีข้อวิจารณ์บ้าง ในสายตา (และหู) ของผู้ชมคนนี้ ยังคิดว่า คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู อาจต้องหาทางเพิ่มปริมาณนักร้องชายให้ได้มากกว่านี้ เท่าที่เห็นบนเวที ดูเหมือนจะมีนักร้องหญิงอยู่ราว 20 กว่าคน ขณะที่นักร้องชายมีจำนวนเพียงครึ่งเดียวของนักร้องหญิง ความไม่สมดุลแบบนี้ แม้จะเข้าใจได้ว่าเกิดจากปัญหาการหานักร้องชายได้ลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของคณะนักร้องประสานเสียง (ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย ได้ยินว่าที่อื่นๆ ก็เป็น) แต่ก็สร้างความไม่สมดุลของเสียงขึ้นบนเวทีด้วย เพราะเสียงเบสและเทเนอร์ของผู้ชาย ที่จะสร้างคอร์ด “อุ้ม” ทำนองหลักเอาไว้ ก็จะไม่มีพลังมากพอ โดยเฉพาะในเพลงแนวคลาสสิค เช่น Laudate Dominum ซึ่งรู้สึกได้ชัดเจนว่าเสียงผู้ชายมีน้อยเกินไป

อย่างไรก็ดี ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับสวนพลูคอรัส และก็อยากจะรอดูคอนเสิร์ตในปีที่ 10, 11, 12... ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเติมลมหายใจให้แก่วงการขับร้องประสานเสียงในเมืองไทย ที่ดูคล้ายๆ จะเคลื่อนตัวสลับหยุดนิ่งอยู่เสมอมา...

Harmony of Life
คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
สถาบันปรีดี พนมยงค์
5 กันยายน 2552
http://www.suanpluchorus.com
เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่