วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

แม่นาค "รัชดาฯ"

แม่นาคพระโขนง เดอะ มิวสิคัล
ภาพยนตร์ “แสดงสด” ณ รัชดาลัยเธียเตอร์

เมื่อยุติการแสดงไปในปลายเดือนกรกฎาคม แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ก็ทำสถิติเป็นอีกหนึ่งโปรดักชั่นของค่ายซีเนริโอ ที่เปิดรอบการแสดงได้ถึง 50 รอบ


ความจุของโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในศูนย์การค้าเอสพละนาด ถนนรัชดาภิเษกนั้น อยู่ที่ราว 1,200 ที่นั่ง ดังนั้น หากคิดตามจำนวนที่นั่งอย่างเดียว ก็จะมีคนที่ได้ดูละครเรื่องนี้ประมาณ 60,000 คน แต่ถ้าหากจะคิดว่า แต่ละรอบก็อาจมีที่นั่งว่างบ้าง หรือมีคนดูซ้ำๆ หลายรอบบ้าง ผมก็ยังกะประมาณว่าตัวเลขผู้ชมละครเรื่องนี้ไม่ควรต่ำกว่า 50,000 คน !

คงต้องยอมรับว่า คุณบอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ สามารถเรียกให้คนมาดูละครเวทีของเธอได้ราวกับพระสังข์ทองร่ายมหาจินดามนต์เรียกเนื้อเรียกปลาทีเดียว

เบื้องหลังความสำเร็จระดับนี้ ส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่า มาจากการโหมประโคมประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกสื่อที่มีในมือและในเครือข่ายของแกรมมี หากแต่การพูดเพียงเท่านั้น ก็ย่อมเป็นการหมิ่นแคลนน้ำใจของผู้ชมชาวไทยเกินไป ว่าเหตุไฉนจึงยอมตัวตกเป็นทาสของการโฆษณาได้ถึงเพียงนั้น

เมื่อผมมีโอกาสไปชมละครเรื่องนี้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 ผมได้ค้นพบด้วยความอัศจรรย์ใจว่าในรอบที่ไปดู ซึ่งเป็นคืนวันพฤหัสบดี คนดูเต็มโรง ชนิดที่มองไม่เห็นที่นั่งว่างเลย และที่สำคัญก็คือ ผู้ชมต่างก็ชื่นชอบละครเรื่องนี้กันมากมายจริงๆ

คนดูผู้ร่วมลมหายใจเดียวกับนักแสดง ต่างกระซิบกระซาบ กรี๊ดกร๊าด ลุ้นระทึก ปรบมือ หัวเราะโห่ฮา และน้ำตาร่วงไปพร้อมๆ กันกับตัวละครบนเวทีด้วย

ทุกอย่างดังกล่าวมานี้ ผมสังเกตได้ในระยะประชิด เพราะคุณน้าๆ ที่นั่งข้างๆ ทำทุกอย่างที่ว่ามานั้น น่าปลื้มใจแทนนักแสดงทุกคนของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ยิ่งนัก

จำได้ว่าคุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ต้องการทำให้ละครร้องเรื่องแม่นาคฉบับนี้ เป็นเหมือนภาพยนตร์ไทยยุคก่อน ที่มี “ครบรส” ซึ่งเธอก็ทำได้จริงๆ ชนิดที่ดูแล้วอดนึกถึงหนังไทย แบบเคยดูในทีวีเมื่อสมัยเด็กๆ ไม่ได้ คือมีตั้งแต่รักหวานจ๋อย ตลกโปกฮา ตัวอิจฉา เลิฟซีน วิ่งหนีผีลงตุ่ม ไปจนถึงฉากระเบิด (และพังกระท่อม!)

เพื่อไปให้ถึงจุดหมายดังว่า คุณบอยเลือกใช้วิธีการนำสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ไมว่าจะเป็นพล็อตที่รู้จักดีจนขึ้นใจ หนังไทยยุคเก่า มุกตลกคาเฟ่ เพลงป๊อบ รวมถึงนักร้องนักแสดงที่เป็นที่รู้จัก มาผสมผเสกันขึ้นเป็นละครเวที ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยดู หรือไม่คุ้นเคยกับละครเพลงแบบมิวสิคัล ก็ย่อมช่วยให้รู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และชื่นชอบได้ไม่ยาก

แม่นาคในเวอร์ชั่นนี้จึงดำเนินความไปตามท้องเรื่องที่ใครๆ ก็รู้...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่บางพระโขนง แม่นาคเป็นเมียพ่อมาก แม่นาคตั้งท้อง พ่อมากถูกเกณฑ์ทหาร แม่นาคตายทั้งกลม พ่อมากกลับมา ทีแรกไม่รู้ความจริง ต่อมา แม่นาคยื่นมือไปเก็บอะไรสักอย่างใต้ถุน ความเลยแตก ว่าแม่นาคเป็นผี พ่อมากหนีไปหาพระที่วัด แม่นาคโกรธแค้น ออกอาละวาด หักคนใครต่อใคร ฯลฯ

ความรู้สึกเบื้องต้นของผมในฐานะผู้ชม ก็คือละครเรื่องนี้ถูกเร่งจังหวะ (pacing) ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในครึ่งแรก ชนิดที่ผมรู้สึกเหมือนกำลังเล่นวิ่งเปี้ยวอย่างกระหืดกระหอบอยู่กับแม่นาค ผู้ซึ่งด่วนถึงแก่กรรมไปพร้อมลูกน้อยในครรภ์ ตั้งแต่นาทีที่ 15 ของเรื่อง และใช้เวลาที่เหลืออีกสองชั่วโมงในการดำเนินพฤติกรรมที่เราทุกคนคุ้นเคยดังว่า

เมื่อกำหนดโทนเรื่องเป็นอย่างนี้ บทหนักจึงมาตกอยู่แก่แม่นาค (นัท มีเรีย เบนเนเดดตี้) เรียกได้ว่าแม่นาคเวอร์ชั่นนี้มีบทต้องออกเกือบทุกฉาก มิหนำซ้ำ คุณบอยก็ใช้เธอ "เกินคุ้ม" จริงๆ ทั้งร้องเพลง ทั้งแสดง ทั้งเหาะเหินเดินอากาศด้วยลวดสลิง ทว่า พลังของคุณนัทถือได้ว่า “เอาอยู่” ยิ่งกว่านั้น เธอยังเป็นคนเดียวที่ “หิ้ว” ละครเรื่องนี้ทั้งเรื่องเอาไว้ให้ไม่หลุดจากกันเป็นเสี่ยงๆ สมควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง

ส่วนพ่อมาก (อาร์ เดอะสตาร์ - อาณัตพล ศิริชุมแสง) กลับกลายเป็นแค่ “ตัวประกอบ” ซึ่งก็อาจจะดีสำหรับเขา เพราะดูเหมือนว่า เรายังต้องให้เวลากับการพัฒนาการแสดงของอาณัตพลอีกพักใหญ่ แม้แต่การร้องเพลง ซึ่งถึงเขาจะเสียงดีจริง แต่ในเพลงท้ายๆ แรงก็เริ่มตกจนควบคุมเสียงร้องไม่ได้

มุกตลกตีหัว มุกล้อเลียนกะเทยและความพิกลพิการ ชนิดที่พบเห็นได้ทุกวันในละครทีวีภายใต้การอำนวยการของคุณบอย ถูกนำขึ้นมาแสดงสดเรียกเสียงฮาบนเวที โดย “ตัวจริงเสียงจริง” ของค่าย ทั้ง ธงธง มกจ๊ก ซึ่งรับบทเป็น “โอ่ง” บรรพชนกะเทยไทย และ อู๊ด เป็นต่อ ในบทของเตี้ย

บทบาทของสองท่านนี้ โดดเด่นเสียจนทำให้หลายคนรู้สึกว่าเพลง “วิธีหนีผี” (ก่อนฉากหนีผีลงตุ่ม) นั้น เป็นส่วนที่สนุกที่สุดของ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล เลยทีเดียว

ที่น่าเสียดาย (และทำให้รู้สึกว่า “เสียของ”) ก็คือการสร้างตัวละครอย่างแม่ปริก หมอตำแย (สุดา ชื่นบาน) สร้อย ผู้แอบรักพี่มาก (ปนัดดา เรืองวุฒิ) และอาจารย์คงหมอผีชุดดำ (“ติ๊ก ชิโร่”) ขึ้นมา เพียงเพื่อให้ถูกฆ่าตายจบชีวิตไปบนเวที โดยที่แทบไม่ได้มีบทบาทหรือเพลงขับร้องที่สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของเขาและเธอเลย

ในระนาบของความรู้สึกส่วนตัว ถ้าถามว่า แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล สนุกไหม ? ผมย่อมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “สนุก!” เพราะละครเรื่องนี้ถือเป็นโชว์ชั้นเยี่ยม แสงสีอลังการน่าตื่นตาตื่นใจ การเปลี่ยนฉาก คิวต่างๆ เทคนิคพิเศษสารพัด ล้วนแล้วแต่ทำได้ “เนียน” และ “เนี้ยบ” ทุกรอยต่อ นักแสดงมีความสามารถ เหล่าอ็องซอมฯ หรือ “หมู่มวล” ก็เต้นกันได้เป๊ะๆๆ และสุดเหวี่ยงชนิดถวายหัวทุกคน

ทว่า ทันทีที่ลุกขึ้นเดินออกจากโรงละคร ผมก็เริ่มนึกว่า “จะไปไหนกันต่อดีล่ะ ?” “ออกไปตอนนี้ รถจะไปติดอยู่ในที่จอดรถอีกนานไหมเนี่ย ?” “อ้าว! แล้วบัตรจอดรถอยู่กับใครฟะ ?” ฯลฯ

ไม่มีอะไรติดค้างในใจกับ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล อีกต่อไป
เหมือนเมื่อเราดู บ้านผีปอบ จบ

คุณบอยทำสำเร็จจริงๆ !


แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล
โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์
อำนวยการสร้าง/กำกับการแสดง ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ประพันธ์ดนตรี สราวุธ เลิศปัญญานุช
ประพันธ์คำร้อง วิเชียร ตันติพิมลพันธ์
กำกับลีลา สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
แสดงนำโดย มีเรีย เบนเนเดดตี้ และอาณัตพล ศิริชุมแสง
20 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม 2552


เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสาร Vote รายปักษ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 102 ปักษ์หลัง กันยายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น