วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา


ประวัติศาสตร์ของ “เธอ” /ประวัติศาสตร์ของ “เรา”

ตามธรรมเนียมไทย การกล่าวถึงบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่สมควรพูดถึงด้านลบ หรือแง่ที่ “ไม่งาม” คำไว้อาลัยในหนังสืองานศพจึงมักเป็นข้อเขียนที่จืดชืด ด้วยว่าผู้ตายนั้นล้วนดีงามจนแทบจะเป็นพระอรหันต์ไปเสียทั้งสิ้น


การนำเสนอชีวประวัติของบุคคลชาวไทยในภาพยนตร์หรือละครก็เป็นเช่นเดียวกันนั้น คือมักมีแนวโน้มจะเป็นการสรรเสริญเยิรยอไปเสียหมด โดยเหตุนี้ ผู้เขียนบท (และผู้กำกับการแสดง) ของละครเรื่อง แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา จึงคงพยายามระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาทำนองนั้น สำหรับละครอันเป็นชีวประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (พ.ศ. 2455 – 2550) ภริยาคู่ชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ศ. 2443 – 2526)


ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง แถลงไว้ในสูจิบัตรใบจ้อยว่า

“เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น
ผมชอบฟังคนรุ่นคุณย่าคุณยายเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกท่าน
โดยเฉพาะเรื่องของผู้คนและเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.
2475 หลายเรื่องที่ได้ฟังนั้นเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เล่า
บางเรื่องก็เป็นคำซุบซิบนินทาที่เล่าลือสืบต่อกันมาปากต่อปาก
ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของผมนั้นจึงต่างจากการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เป็นเส้นตรงอย่างในแบบเรียนที่เราเรียนกัน
แต่ประวัติศาสตร์คือประสบการณ์อันหลากหลายของผู้เห็นเหตุการณ์ที่เหลื่อมซ้อนกัน
และโยงใยอยู่กับอารมณ์และความคิดของผู้เล่า...”


ผมพบว่าการแปลความ “ประวัติศาสตร์” ในแนวทางนี้ออกมาในรูปแบบ “ละครเวที” ของ แสงศรัทธาฯ น่าสนใจยิ่ง!

แสงศรัทธาฯ เวอร์ชั่นที่นำเสนอ ณ หอประชุมของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เลือกใช้วิธีจัดพื้นที่แสดงไว้กลางโถงที่นั่งคนดู พาดยาวจากบนเวทีไปจนถึงประตูทางออก โดยนัยนี้ ที่นั่งของผู้ชมจึงถูกแบ่งเป็นสองฟาก จัดหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางโถงปูพื้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปะติดปะต่อกันจนเต็ม พร้อมตั้งโต๊ะน้ำชาขนาดใหญ่ มีเก้าอี้จัดไว้รายรอบ


เมื่อละครเริ่มต้นขึ้น นักแสดงหญิงล้วน 12 คน กำลังอยู่ในบรรยากาศของงานเลี้ยงน้ำชายามบ่าย ตัวละครที่แสดงเป็นท่านผู้หญิงพูนศุขในวัยต่างๆ กันถึงสามคน ทั้ง น.ส.พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ (ศศินันท์ พัฒนะ) นางประดิษฐมนูธรรม ภริยาของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปอรรัชม์ ยอดเณร) และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัยผู้ใหญ่ (ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร) ผลัดกันเล่าถึงประวัติชีวิตของเธอ ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของตัวละครต่างๆ ที่จับกลุ่มกันพูดคุย สร้างฉากหลังทางประวัติศาสตร์การเมืองให้แก่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข จากแง่มุมของตน


แน่นอนว่า งานเลี้ยงน้ำชาครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เป็นเพียงฉากสมมติแบบเหนือจริง เพื่อสร้างกาละและเทศะให้แก่เรื่องราวของละคร ที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระหว่างทศวรรษ 2470 – ทศวรรษ 2490


สิ่งที่ แสงศรัทธาฯ พยายามกระทำ คือการนำเสนอละครอันจะมีเนื้อหาชนิดที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า Political Correctness (ความถูกต้องทางการเมือง) ด้วยการให้พื้นที่แก่ “น้ำเสียง” หรือ “เรื่องเล่า” ที่หลากหลาย ดังนั้น นับตั้งแต่การเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์จากแง่มุมของผู้หญิง ไปจนถึงการหยิบยกทัศนะต่างมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จากผู้หญิงต่างกลุ่มต่างฐานะในสังคม

ทว่า บ่อยครั้ง ความพยายามที่น่าประทับใจนั้น อาจเป็นคนละสิ่งกับผลสำเร็จ


ผมรู้สึกว่า นอกจากผู้ที่รับบทเป็นท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว นักแสดงคนอื่นๆ ล้วนแต่เป็น “ใบหน้าไร้นาม” ในสูจิบัตรก็เรียกขานแต่เพียง “ท่านหญิง” “ท่านผู้หญิง” “หม่อม” “ชาววังหลวง” “ชาววังสวนสุนันทา” และ “ท่านผู้หญิงของท่านจอมพล”

สิ่งนี้ อาจเป็นผลมาจากธรรมเนียมไทยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่จะออกพระนามเจ้านาย หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจเพื่อ Play Safe ป้องกันตัวจากข้อครหาใดๆ อันพึงมีได้ง่ายดายในสังคมไทยปัจจุบัน


ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หากเป็นผู้ชมที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีความสนใจในเอกสารประวัติศาสตร์จำพวกบันทึกความทรงจำอยู่บ้าง ก็อาจพอนึกออก หรือ “เดาๆ” ได้ว่า นักแสดงท่านนั้น กำลังรับบทเป็นใคร หรือเป็น “พระองค์” ใด ยิ่งถ้าเป็นผู้ชมประเภท “หนอนหนังสือ” ก็แทบจะระบุได้ด้วยซ้ำ ว่าบทพูดนั้นยกมาจากหนังสือเล่มไหน

แต่สำหรับผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ชมรุ่นเยาว์ ที่ไม่มีข้อมูลภูมิหลังมาก่อน ก็น่าหนักใจแทนไม่น้อย


ซ้ำร้าย เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ “ปากคำ” ของท่านผู้หญิง ล้วนมาจากฝั่งของ “ฝ่ายเจ้า” ที่บทละครจับขั้วให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ “คณะราษฎร” / นายปรีดี พนมยงค์ / ท่านผู้หญิงพูนศุข เหมือนกับจะประกาศว่า นี่แหละ! คือ “ความถูกต้องทางการเมือง” เพราะได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่าย “พูด” แล้ว ขณะที่ผมเอง กลับรู้สึกว่า เมื่อผู้ชมไม่รู้ว่าเป็นเสียงของ “ใคร” สิ่งที่ได้ยินก็ย่อมไม่ใช่ “น้ำเสียง” (voice) แต่กลับเป็นเพียง “เสียงหึ่งๆ” (noise) มิหนำซ้ำ เรื่องเล่าเหล่านั้น ก็มามีบทบาทเพียงช่วยชูเชิดฉายโชนตัวละครเอกฝ่ายหญิง “ของเรา” ให้เฉียบแหลมสูงเด่นขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น อะไรสักอย่างที่ดูคล้ายจะเป็น Political Correctness จึงไปไม่ถึงไหน...


ท่านผู้หญิงพูนศุขในละครเรื่องนี้ จึงยังคงเป็น “นางเอ๊กนางเอก” ผู้ยึดมั่นในธรรม สูงส่ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว และกลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่ “แบน” อย่างยิ่ง ไม่ผิดอะไรกับคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพ ทั้งที่บางที ในละคร ผู้ชมอาจอยากเห็นด้านที่เป็นมนุษย์ แง่มุมที่อ่อนไหว และแม้แต่อ่อนแอ ของตัวละครซึ่งเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานบ้าง




จากที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มีช่วงขณะเช่นนั้นอยู่ ดังที่บุตรีของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่เราจะเห็นท่านผู้หญิงเดินอย่างองอาจผ่าเผยในวันที่ถูกจับ โดยมีตำรวจล้อมรอบนั้น ในมือซ้ายของท่านถือ “อะไรบางอย่าง” แนบตัวอยู่ บางคนอาจนึกว่าเป็นหนังสือ แต่ท่านผู้หญิงเล่าให้ลูกฟังในภายหลังว่า นั่นคือกล่องกระดาษทิชชู เอาไว้คอยซับน้ำตา ไม่ให้ใครเห็น...


แต่แล้ว สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ ผมพบว่าการนำเสนอที่ “คมคาย” อย่างยิ่งยวดใน แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา กลับเป็นหญิงชาวบ้านพื้นๆ สองคน คนหนึ่งเป็นสตรีมุสลิมสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) อีกคนก็ดูเหมือนชาวบ้านหรือแม่ค้าไทยธรรมดาๆ พวกเธอปรากฏตัวอยู่ในงานเลี้ยงน้ำชาบ่ายวันนั้นด้วย แต่แทบไม่มีบทบาทใดๆ (นอกจากในฉากยุค “มาลานำไทย” เมื่อทุกคนพากันสวมหมวก และยกมือขวาขึ้นแสดงความเคารพแบบนาซีกัน ทว่าหญิงมุสลิมในฮิญาบนั้นเป็นคนเดียวที่ไม่สวมหมวก ทุกสายตาจึงพากันจ้องมองเธออย่างแปลกแยก)

ดูเหมือนว่าเธอทั้งสองไม่มีแม้แต่บทพูด


ทว่า ความเงียบนั้นเอง กลับส่ง “สาร” และเป็น “เสียง” ที่ดังที่สุดของละครเรื่องนี้ ว่าทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร จะประกาศตั้งแต่มาตราแรกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่ในความเป็นจริง ประเทศนี้ไม่เคยเป็นของสามัญชน พวกเธอ/เขาจึงไม่เคยมีที่ทางหรือมี “เสียง” ของตัวเองเลย


ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ฉบับใด!





แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา
ชีวิตและความทรงจำบนสายธารประชาธิปไตยไทย ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

จัดโดยสาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบัน ปรีดีพนมยงค์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร
เขียนบทและกำกับการแสดง จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์


18-20 ธันวาคม 2552 ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
22-24 มกราคม 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นางฟ้านิรนาม


นิทานของ “นางฟ้า”


นางฟ้านิรนาม สร้างบทละครขึ้นจากอัตชีวประวัติของ “เภสัชกรยิปซี” ภญ.ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซปีล่าสุด เธอผู้นี้คือเภสัชกรไทยผู้คิดค้นยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่เป็นต้นเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ “เอดส์” ในแบบ “ค็อกเทล” คือรวมยาหลายขนานเข้าในเม็ดเดียวกัน และผลิตออกจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น

ตัวบทดั้งเดิม เป็นละครภาษาอังกฤษ ชื่อ Cocktail (ค็อกเทล) โดย วินซ์ ลิคาต้า และ ปิง ชอง แต่แปลและปรับเป็นพากย์ไทยเพื่อการแสดงของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้โดยเฉพาะ

และในเมื่อละครเรื่องนี้เป็นละครประจำปีของภาควิชาศิลปการละคร นักแสดงจึงขนกันมาอย่างคับคั่งเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่คุณครูรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ลงไปจนถึงคุณลูกศิษย์ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งต่างก็แสดงกันได้เต็มที่สมกับเป็น “ละครอักษรฯ” จริงๆ

เนื้อเรื่องของ นางฟ้านิรนาม เล่าย้อนไปในชีวิตของ ดร.กฤษณา ตั้งแต่วัยเยาว์บนเกาะสมุย ที่เธอได้รับการอบรมมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ให้เห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยากเสมอ จากนั้น เรื่องก็ตัดมาที่การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย ที่เริ่มอย่างเงียบๆ แต่แล้วกลับลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยแทบไม่ได้รับความสนใจใดๆ จากรัฐบาล ดร.กฤษณา ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม จึงหันเหความสนใจมาสู่การผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีขึ้นเองภายในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพายาราคาแพงจากต่างประเทศ

ในการนี้ เธอต้องต่อสู้ ฟาดฟัน ทั้งกับผู้บริหารขององค์กร นักการเมืองระดับชาติ และบริษัทยาข้ามชาติ จนในที่สุด ดร.กฤษณาก็สามารถผลิตยาแบบ “ค็อกเทล” ที่รวมตัวยาต้านไวรัสเอดส์หลายชนิดไว้ในเม็ดเดียวกันได้เป็นผลสำเร็จ และองค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม จนช่วยยกระดับผู้ติดเชื้อหลายแสนคนในประเทศให้มีชีวิตที่ปกติสุขขึ้นได้

แต่งานของเธอยังไม่จบแค่นั้น หลังจากที่ ดร.กฤษณา พบว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขของไทยไม่ยอมรักษาสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาคมนานาชาติ ในอันที่จะเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ราคาถูกให้แก่แอฟริกา เธอจึงลาออกจากองค์การเภสัชกรรม เดินทางไปแอฟริกา ท่ามกลางยุคเข็ญของสงครามกลางเมือง โรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยาก เพื่อทำหน้าที่ของเธอต่อไป...

สิ่งที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับละครเรื่องนี้ ก็คือการใช้พื้นที่อันจำกัดของสตูดิโอ 4 ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ย่านสี่แยกปทุมวัน ได้อย่างเฉลียวฉลาด

เทคนิคการใช้ฉากแบบประตูบานเลื่อนของญี่ปุ่น ตั้งขนานกันสามแนว เลื่อนเข้าเลื่อนออก ในลักษณะหลากหลาย ทั้งเปิดเผย ปิดบัง และโปร่งแสง สร้างมิติให้กับเวทีได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการฉายวิดีโอจากโพรเจ็คเตอร์ทาบทับไปบนฉาก

ผมพบว่าเวทีลักษณะนี้เอื้อต่อการเล่าเรื่องหลายๆ เรื่องให้ดำเนินไปพร้อมๆ กันได้อย่างวิเศษยิ่ง !

แต่หากจะมีสิ่งที่ทำให้อึดอัดขัดใจอยู่บ้าง ก็คือบทละครเรื่องนี้

ในวงการละครไทย หากไม่นับบรรดาละครเฉลิมพระเกียรติหรือการแสดงแสงสีเสียงตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว การแสดงละครเวทีที่เป็นชีวประวัติของบุคคลค่อนข้างจะหาได้ยาก เท่าที่นึกออกในขณะนี้ ก็มีเพียง คือผู้อภิวัฒน์ ที่เป็นชีวประวัติของท่านปรีดี พนมยงค์ โดยครูคำรณ คุณะดิลก แห่งพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งก็คงแสดงกันหนสุดท้ายไปตั้งแต่เมื่อสักสองทศวรรษก่อน

จนมาถึงละครเรื่องนี้

คงไม่ต้องตั้งแง่ว่านี่คือบทละครจากชีวประวัติของคนไทย ที่มีฝรั่งเป็นคนเขียน แล้วคนไทยต้องไปขอลิขสิทธิ์แปลกลับมาแสดงกันอีกต่อหนึ่ง ผมรู้สึกว่า การเลือก นางฟ้านิรนาม มาแสดงในฐานะละครประจำปีของภาควิชาศิลปการละคร ก็สะท้อนคาแร็กเตอร์ของภาควิชาอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะดูเหมือนว่า ละครของสำนักนี้ค่อนข้างชื่นชอบกับการนำเสนอเรื่องของ “ผู้หญิง” ผู้ขมขื่น ผู้ถูกกระทำ หรือออกแนวแบบ “เฟมินิสม์” หน่อยๆ อยู่เสมอ

โดยส่วนตัว ผมเชื่อมั่นว่า สิ่งต่างๆ ที่ ดร.กฤษณา (ตัวเป็นๆ) ทำนั้น เธอกระทำไปด้วยความปรารถนาดี ด้วยความมุ่งมั่นสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่มีใครมีข้อกังขา

อย่างไรก็ดี เมื่อนำเสนอในฐานะบทละคร นางฟ้านิรนาม เล่าผ่านมุมมองของ ดร.กฤษณา (ในละคร รับบทโดย อ. พันพัสสา ธูปเทียน ) ดังนั้น ทำไปทำมา เธอจึงดูเหมือนจะเป็น “นางฟ้า” จริงๆ

สารที่นำเสนอในละครเรื่องนี้ ชี้ให้ผู้ชมเห็นว่ามีเพียงคนที่เห็นด้วยกับเธอ เช่นคุณอัจฉรา เลขาฯ สาว (นริศรา ศรีสันต์) หรือ ดร. ทิโด้ แพทย์ไร้พรมแดนชาวเยอรมัน (คานธี อนันตกาญจน์) เท่านั้นที่เป็น “พวกเรา” และเป็น “มนุษย์”

ในขณะที่ตัวละครซึ่งถูก “อุปโลกน์” ให้เป็น “คนอื่น” ในละครเรื่องนี้ ถ้าไม่ถูกทำให้กลายเป็น “อมนุษย์” ไปเสีย เช่น หมีแพนด้า (บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตสารเคมีและผงชูรส) หรือฝูงหุ่นยนต์ครึ่งสุนัขในชุดดำ (บริษัทยาข้ามชาติ) ก็ดูเป็น "มนุษย์ประหลาดชาติไทย" ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารเลือดเย็น (ผอ. องค์การเภสัช ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเธอ) หรือคุณหญิงไฮโซจอมเพ้อเจ้อ (รัฐมนตรีสาธารณสุขที่ไม่ทำตามสัญญากับเธอ) ฯลฯ

แม้ในละครปกติทั่วไป ที่เป็น “เรื่องสมมติ” (fictional) การสร้างตัวละครแบบนี้ คือมีฝ่ายหนึ่งที่เป็น “นางเอ๊กนางเอก” อยู่ตรงข้ามกับ “เหล่าร้าย” ที่ช่างชั่วร้ายเหลือทน ก็มักจะถูกประณามว่าเป็นคาแร็กเตอร์ตัวละครที่ “แบน” สนิท แต่นี่ เมื่อ นางฟ้านิรนาม เป็นละครที่สร้างอิงกับชีวประวัติของบุคคลจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ (การสร้าง “ความจริง” นี้มากเสียจนทำให้ช่วงแรกของละครกลายเป็นละคร “สารคดี” เสียด้วยซ้ำ) ก็น่าคิดว่า เป็นความยุติธรรมสำหรับคนอื่นๆ ซึ่งมีตัวตนจริง ร่วมลมหายใจเดียวกันในสังคม ที่จะมาปรากฏตัวในนิทานของ “นางเอกนางฟ้า” แบบนี้ หรือไม่?

การ “ตีตรา” สร้าง “ความเป็นอื่น” ยัดเยียดให้ “ฝ่ายตรงข้าม” เป็นยักษ์เป็นมาร ยังมีไม่พออีกหรือในสังคมไทยปัจจุบัน ?



นางฟ้านิรนาม
จาก Cocktail ของ วินซ์ ลิคาต้า Vince LiCata และปิง ชอง Ping Chong
แปลบทเป็นภาษาไทยโดย เพ็ญณี อรรถจินดา
ปรับบทและกำกับการแสดงโดย
ดังกมล ณ ป้อมเพชร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
20 – 23, 25 – 30 สิงหาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 108 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552

แม่นาค เดอะมิวสิคัล (2)

“ดรีมทีม” ของดรีมบอกซ์

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าจุดแข็งสำคัญของ แม่นาค เดอะมิวสิคัล คือตัวบท ชนิดที่เรียกได้ว่า "ดุ" และ "ลึก" งานเชิงเทคนิคต่างๆ ของโปรดักชั่นนี้ จึงมุ่งไปที่การรับใช้ตัวบทเป็นหลัก คืออาจไม่มีเทคนิคพิเศษหวือหวาอลังการอะไรนัก แต่การใช้แสง เสียง หรือฉาก ก็เป็นไปอย่างคุ้มค่า และสร้าง “มนต์ขลังแห่งละคร” ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่ลำพังตัวบทนั้นเอง ถ้าไม่มีนักแสดงก็เป็นเพียงตัวหนังสือ
ความแข็งแรงอีกด้านหนึ่งของ แม่นาค เดอะมิวสิคัล ก็คือนักแสดงที่ถือได้ว่าเป็น “ดรีมทีม”
และเนื่องจากละครเรื่องนี้เป็นละครเพลงชนิดที่ใช้เพลงดำเนินเรื่องทั้งหมด (Sung through) ที่มีเพลงถึงกว่า 50 เพลง ผู้ที่จะมารับบทต่างๆ จึงต้องมีทักษะทั้งด้านการร้องและการแสดง ซึ่งก็น่าทึ่ง ที่ทางดรีมบอกซ์สามารถรวบรวม “ตัวแม่” ด้านการร้องเพลงมาไว้ด้วยกันในละครเรื่องนี้ได้

ธีรนัยน์ ณ หนองคาย (แม่นาค) ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง (หลังจาก คู่กรรม เดอะมิวสิคัล) ถึงความสามารถในการร้องเพลงของเธอ ด้วยเสียงร้องที่หวานใส และคมชัด เพลงของเธอร้องยาก บางครั้งก็ใช้โน้ตสูงมาก แต่เธอก็ร้องได้หน้าตาเฉย ซึ่งในบางฉากสำหรับบทแม่นาค ความ “เฉย“ นี้อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ

มณีนุช เสมรสุต (แม่เหมือน แม่ของมาก) ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นละครเพลงเรื่องแรกของ “ครูอ้วน” เพราะเธอตีบทได้แตกกระจุย บทเพลงของแม่เหมือนในเรื่องนี้ คงถูกแต่งขึ้นในลักษณะผู้แต่งรู้อยู่แล้วว่าใครจะมารับบทนั้น ดังนั้น แต่ละเพลง ฟังแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า มันช่าง "มณีนู๊ช....มณีนุช" จริงๆ ในอารมณ์ประมาณ “I, I who have nothing...” ที่เคยนำพาเธอขึ้นสู่ทำเนียบนักร้องยอดเยี่ยมแห่งเอเชียเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว

นรินทร ณ บางช้าง (ป้าแก่หมอตำแย) แม้ในวันนี้ รูปร่างของเธอจะแปรผันไปตามวัย ทว่า สิ่งที่เติบโตขึ้นมาควบคู่กันก็คือความเจนเวที จากนางเอกละครเวที สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (The Man of La Mancha) เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว จนบัดนี้ เธอก็ยังเป็นนักแสดงละครเพลงรุ่นใหญ่ ที่มีทักษะทั้งด้านการแสดงและการร้องเพลงอย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่งของเมืองไทย

ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล (“ปุยฝ้าย AF4”) ในบทสายหยุด (ลูกพี่ลูกน้องของมาก) เธอเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดในละครเรื่องนี้ ทั้งด้วยหน้าตาที่สะสวย และการ “มีแวว” ด้านการแสดงเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือเธอเสียงเพราะ และมีเทคนิคพื้นฐานในการร้องเพลงที่ดี หากได้รับการฝึกฝนพัฒนาต่อไปอีก ก็เชื่อว่าจะสามารถมา “รับไม้” ต่อจากคุณธีรนัยน์ ในฐานะนางเอกละครเพลงแบบมิวสิคัลได้ไม่ยากเลย
นอกจากนี้ สำหรับบทแม่ทองคำ แม่ของนาค ซึ่งออกมาเพียงแค่ไม่กี่ฉาก ทว่า ก็เป็นฉากสำคัญทั้งนั้น ก็ยังได้ รัดเกล้า อามระดิษ มาแสดงสลับรอบกับ “ครูปุ้ม” อรวรรณ เย็นพูนสุข อดีตนักร้อง "สาว-สาว-สาว" และครูใหญ่ บ้าน AF ซึ่งไม่พึงมีข้อสงสัยใดๆ ในตัวนักร้องคุณภาพทั้งสองท่านนี้

และเมื่อ แม่นาค เดอะมิวสิคัล เขียนบทโดยผู้หญิง (ดารกา วงศ์ศิริ) กำกับโดยผู้หญิง (สุวรรณดี จักราวรวุธ) และมีนักร้อง/นักแสดงหญิงแถวหน้าของเมืองไทยมารวมตัวกันมากมายขนาดนี้ ก็เลยพลอยทำให้ตัวละครและนักแสดงฝ่ายชาย กลายเป็นผู้แสดงสมทบไป ไม่ว่าจะเป็น ญาณี ตราโมท (ขุนประจัน พ่อของนาค) เด๋อ ดอกสะเดา (ตาฉ่ำ สัปเหร่อ) หรือแม้แต่ วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ (พ่อมาก) ซึ่งความสามารถในด้านการแสดง ไม่มีข้อกังขาแต่ประการใด ทว่าสำหรับการร้องเพลงแล้ว แม้เนื้อเสียงของคุณวรฤทธิ์จะมีคุณภาพดี แต่เสียงที่ออกมานั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร คงต้องหาทางฝึกฝนเชิงเทคนิคต่อไป โดยเฉพาะในฉากที่ต้องประกบกับ “ตัวแม่” ทั้งหลายแล้ว ก็ยิ่งดูด้อยลงไปจนน่าใจหาย

อีกข้อหนึ่งที่น่าทึ่งสำหรับละครเรื่องนี้ก็คือ บรรดา “หมู่มวล” (Ensemble) ที่ล้วนมีจุดเด่นด้านการร้องเพลง และร้องดีกันทุกคน กระทั่งตัวละครที่มีบทร้องเพียงไม่กี่ประโยค เช่น “มูลนาย” (ศิริชัย เจริญกิจธนกุล) ที่ถือหมายมาเรียกเกณฑ์ไพร่ไปรบพม่าเมืองเชียงตุง ก็เป็นนักร้องเสียงเทเนอร์ (Tenor เสียงสูงของนักร้องชาย) ที่มีน้ำเสียงไพเราะมาก

ในบทละครของคุณดารกา มีการเกลี่ยน้ำหนักของเรื่องให้กระจายไปยังตัวละครแต่ละตัว และให้เวลา (เพลง) สำหรับการปูพื้นของแต่ละตัวอีกไม่น้อย ในทางหนึ่ง ก็ย่อมช่วยให้ผู้ชมเข้าใจที่มาที่ไป หรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของตัวละครได้

แต่ในอีกทางหนึ่ง ตามความรู้สึกของผม แต่ละองก์อาจยาวไปนิด ถ้าตัดแต่งให้เรื่องแต่ละครึ่ง สั้นลงสัก 10 นาที ก็น่าจะกระชับขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ตัว “แม่นาค” ในเวอร์ชั่นนี้ เลยกลายเป็นเหมือนผู้แสดงสมทบในละครที่ตั้งชื่อตามชื่อตัวเอง เพราะเธอก็ได้รับแจกบทบาทในน้ำหนักและปริมาณใกล้เคียงกันกับแม่เหมือน และสายหยุด ซึ่งถ้าจะว่าในทางสีสันแล้ว บทแม่เหมือนก็ดูจัดจ้านเปล่งประกายโดดเด่นมาก หรือถ้าจะว่าในทางพัฒนาการของตัวละคร แม่สายหยุดก็มี “ความกลม” ของบุคลิกอย่างน่าสนใจตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้มีคนดูบางคน “เหน็บ” ว่า ละครร้องเรื่องนี้ สามารถเปลี่ยนชื่อเป็น “แม่เหมือน เดอะมิวสิคัล” หรือ “สายหยุด เดอะมิวสิคัล” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ในเรื่องเลยก็ยังไหว

อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว ก็ต้องถือว่า แม่นาค เดอะมิวสิคัล ถือเป็นละครเพลงโปรดักชั่นไทย ที่น่าประทับใจในความเป็นต้นฉบับ (originality) ทั้งบท คำร้อง และดนตรี ซึ่งบางเพลง (เช่น เรือแห่งมรณา/ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย) นั้น แทบจะกลายเป็นมหาอุปรากร (Opera) อยู่แล้ว
ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับอนาคตของวงการละครเพลงในเมืองไทย

แม่นาค เดอะมิวสิคัล
สร้างสรรค์การแสดง/บทละคร
ดารกา วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง สุวรรณดี จักราวรวุธ
กำกับดนตรี ไกวัลย์ กุลวัฒโนทัย
นักแสดงนำ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย / มณีนุช เสมรสุต/ นรินทร ณ บางช้าง/ ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล / รัดเกล้า อามระดิษ / อรวรรณ เย็นพูนสุข

โรงละครเอ็มเธียเตอร์ M Theater
กรกฎาคม และธันวาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 107 ปักษ์แรก ธันวาคม 2552

แม่นาค เดอะมิวสิคัล (1)


“คนร้ายกว่าผี”

ท่ามกลางความงุนงงของผู้ชมส่วนใหญ่ ไล่เลี่ยกับที่ทางซีเนริโอประกาศเปิดตัวละคร แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ทางฝั่งดรีมบอกซ์ ก็เปิดตัว แม่นาค เดอะมิวสิคัล บ้าง ยิ่งเวลาผ่านไป “ผู้สนับสนุน” ทั้งสองฝ่าย ต่างก็หันมาใช้เวทีไซเบอร์สเปซถล่มกันในเว็บบอร์ด เว็บบล็อก อย่างดุเดือด นับแต่ประเด็นว่า ใครทำก่อน ใครทำตาม ผู้แสดงฝั่งไหนคือ “ตัวจริง” กว่ากัน ใครโหนกระแสใคร ฯลฯ
แต่มาถึงวันนี้ ประเด็นว่าใครทำก่อน ใครทำตาม ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสลักสำคัญอะไรอีกต่อไป

เพราะหากใครได้ชมทั้งสองเวอร์ชั่นแล้ว ก็ย่อมรู้ดีแก่ใจว่า แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ของฝั่งรัชดาลัย กับ แม่นาค เดอะมิวสิคัล หากไม่นับชื่อแล้ว ที่เหลือก็เป็น “คนละเรื่อง” กันโดยสิ้นเชิง
ชีวิตของนาคและมากในฉบับของดรีมบอกซ์ มิได้เป็นเพียงเรื่องของผัวหนุ่มเมียสาว อยู่ (และตาย!) กันไปสองคน หากแต่ผูกพันยึดโยงกับสังคมหรือคนอื่นๆ มากมาย ตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ขึ้นไปจนถึงรัฐศักดินาโบราณ

ละครเรื่องนี้ใช้เวลาแสดงถึงสามชั่วโมง โดยมีพักครึ่ง

ครึ่งแรก (องก์ 1-2) เป็นการปูพื้น นำเราเข้าสู่โลกของแม่นาค และบุคคลร่วมยุคของเธอ ได้เห็นโลกที่แวดล้อม แนะนำตัวละคร ว่าแต่ละคนเป็นใคร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และความสัมพันธ์นั้นคลี่คลายไปในทิศทางไหน
ในเรื่องนี้ แม่นาค (ธีรนัยน์ ณ หนองคาย) เป็นลูกสาวขุนนางกรุงเก่า หนีตามพ่อมาก (วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์) หนุ่มพระโขนงมา เพียงเพื่อจะพบโลกที่แตกต่างกับโลกของเธออย่างสิ้นเชิง ความรู้สำคัญที่เธอมี คือการอ่านออกเขียนได้ ไม่มีคุณค่าหรือความหมายใดๆ ในโลกที่ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นแรงงานหนักรับใช้ลูก ผัว (และแม่ผัว) มิหนำซ้ำ การมาถึงของเธอ ยังทำให้โลกของแม่ผัว คือแม่เหมือน (มณีนุช เสมรสุต) และสายหยุด (ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล “ปุยฝ้าย AF4”) ลูกพี่ลูกน้องที่วาดหวังจะเป็นเมียพี่มากมาแต่เล็ก ต้องพังทลายลง ทั้งบางพระโขนง นอกจากพี่มากแล้ว จึงมีเพียงป้าแก่ หมอตำแย (นรินทร ณ บางช้าง) เมียตาฉ่ำ สัปเหร่อ (เด๋อ ดอกสะเดา) ที่รักใคร่เห็นใจเธอ

ขณะเมื่อนาคท้องแก่ใกล้คลอด ประจวบกับที่รัฐสยามเห็นว่าพม่ากำลังเพลี่ยงพล้ำให้แก่อังกฤษ จึงเตรียมการขยายอำนาจเข้าสู่เชียงตุงที่พม่าเคยปกครอง มากและชายฉกรรจ์ทั้งหมดในบางพระโขนงถูกเรียกเกณฑ์ไปรบในสมรภูมิที่ไม่มีใครเคยรู้ว่าอยู่ที่ไหนแน่
ในโลกที่มีเหลือแต่ผู้หญิงนี้เอง ที่ผู้หญิงด้วยกันนี่แหละ จะมาทำร้าย ทำลายกันอย่างเลือดเย็น และนำไปสู่การตายทั้งกลมของแม่นาค ในตอนท้ายของครึ่งแรก

ความตายอันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องเลวร้ายอื่นๆ ที่จะติดตามมา

สมกับประเด็นที่คุณโจ้ - ดารกา วงศ์ศิริ ผู้เขียนบท ตั้งธงไว้ว่า “คนร้ายกว่าผี”

และเมื่อตั้งธงไว้อย่างนั้นแล้ว ในครึ่งหลัง (องก์ 3-4) แม่นาค เดอะมิวสิคัล ยิ่งนำเสนอด้านมืดของความเป็น “คน” อย่างไม่ลังเล ด้วยปฏิบัติการที่เกิดขึ้นภายหลังความตายของแม่นาค เมื่อตัวละครแต่ละตัวดำเนินชีวิตไปตามอารมณ์ ความรู้สึก พยายามแก้ปัญหาที่ตนก่อขึ้น แต่ยิ่งพยายามเท่าใด กลับยิ่งพันพัว และจมดิ่งไปสู่หายนะ...

ในละครเรื่องนี้ แม่นาคถูกตัดขาดจากครอบครัว พลัดถิ่นมาอยู่พระโขนง ที่ซึ่งทุกคนรุมเกลียดชังเธอ ดังนั้น ความสุขอย่างเดียวที่เหลือก็คือความรักที่เธอกับสามีมีให้แก่กัน และมีแก่ลูกน้อยในท้อง นาคจึงเลือกที่จะปฏิเสธความตาย ตัดขาดจากความโหดร้ายของเหล่ามนุษย์ เพื่อยื้อยุดเอาความสุขเล็กๆ ของเธอไว้ให้ได้ นาคถึงกับจินตนาการโลกใหม่ของเธอขึ้นมาเอง ที่ซึ่ง “ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเป็นทุกข์ มีแต่พ่อแม่กับลูกน้อยกลอยใจ”

คุณดารกาทำให้ผมรู้สึกว่า แม่นาคเวอร์ชั่นนี้ค่อนข้าง “สบายใจเฉิบ” อยู่ในโลกที่เธอประจงสร้างขึ้น ขณะที่โลกภายนอก เหล่ามนุษย์ล้วนแต่ “โหดร้ายหนักหนา ทารุณเกินกว่าจะเข้าใจ”

คนหนึ่งที่โหดร้ายกว่าใคร ก็คือคุณดารกานั่นเอง เพราะบทของเธอเรื่องนี้ กระหน่ำโบยตีผู้ชมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกดโทนของเรื่องให้หดหู่ หม่นหมอง ลงไปเรื่อยๆ จนผมนึกสร้างคำขึ้น (เอง) ว่าอย่าง แม่นาค เดอะมิวสิคัล นี้ ต้องเรียกว่าเป็น "โศกนาฏกรรมหลอน"

ในความรู้สึกของผม แม่นาคฉบับดรีมบอกซ์ มีประเด็นทาง “สตรีนิยม” (Feminism) อยู่มากๆ นับตั้งแต่ในระดับตัวบท เช่น เพลง ลูกสะใภ้ทำอะไรไม่เป็น ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวแม่เหมือน แม่ของพ่อมาก พร้อมกับพรรณนาชะตากรรมของหญิงไทย อย่างที่เป็นมาตลอดสมัยประวัติศาสตร์

(หมู่ - หญิง)
“เช้าตื่นนอนก่อนไก่ จุดไฟติดเตาเร็วรี่
จัดแจงหุงหา ข้าวปลาทันที
อย่างนี้สิผู้หญิงไทย
เช้ายันค่ำไม่มีบ่น
เกิดเป็นหญิงต้องอดทน ต้องคอยเตือน
ทำแต่งานทุกที ไม่ว่ากี่ปีหรือกี่เดือน
ผู้หญิงไทยกับควายไม่ต่างกัน”
(แม่เหมือน)
“เป็นผู้หญิงมีค่าน้อยกว่าควาย
เคยได้ยินบ้างไหมหล่อนจ๋า
เพราะควายมันยังขายได้ราคา
แต่ผู้หญิงไม่มีค่าสักสตางค์”

ในระดับเหนือขึ้นไปกว่านั้น แม่นาคของดรีมบอกซ์ เป็นเสมือน “คำให้การ” ของแม่นาค ผู้ถูกกล่าวหาจากสังคม ว่าเป็น “อีผีบ้า อีผีร้าย อีผีตายทั้งกลม” มาเกือบสองศตวรรษ

อาจถือได้ว่า ร่วมกระแสกันกับละครเวทีจากสำนักเทวาลัย อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่น สีดา : ศรีราม? ที่เคยออกแสดงเมื่อสี่ปีที่แล้ว อันว่าด้วยเรื่องชะตากรรมของผู้หญิง เช่นนางสีดาในมหากาพย์ รามายณะ เทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ผู้หญิงและเด็กในสังคมไทยร่วมสมัย

รวมทั้งอาจเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนเสียงเล่าเรื่องแม่นาค จากฐานะ “ผู้กระทำ” ชนิดที่เป็นผีเที่ยวไล่หลอกหลอน หักคอใครต่อใคร ให้เธอมาเล่าเรื่องของตัวเอง ในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” บ้าง
อย่างที่คุณดารกา สรุปไว้ในสูจิบัตรละครว่า ความรู้สึกเมื่อเขียนบทละครเรื่องนี้จบลง คือเธอ “ได้ให้ความเป็นธรรมกับดวงวิญญาณของแม่นาคแล้ว”


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 105 ปักษ์แรก พฤศจิกายน 2552