วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แม่นาค เดอะมิวสิคัล (1)


“คนร้ายกว่าผี”

ท่ามกลางความงุนงงของผู้ชมส่วนใหญ่ ไล่เลี่ยกับที่ทางซีเนริโอประกาศเปิดตัวละคร แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ทางฝั่งดรีมบอกซ์ ก็เปิดตัว แม่นาค เดอะมิวสิคัล บ้าง ยิ่งเวลาผ่านไป “ผู้สนับสนุน” ทั้งสองฝ่าย ต่างก็หันมาใช้เวทีไซเบอร์สเปซถล่มกันในเว็บบอร์ด เว็บบล็อก อย่างดุเดือด นับแต่ประเด็นว่า ใครทำก่อน ใครทำตาม ผู้แสดงฝั่งไหนคือ “ตัวจริง” กว่ากัน ใครโหนกระแสใคร ฯลฯ
แต่มาถึงวันนี้ ประเด็นว่าใครทำก่อน ใครทำตาม ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสลักสำคัญอะไรอีกต่อไป

เพราะหากใครได้ชมทั้งสองเวอร์ชั่นแล้ว ก็ย่อมรู้ดีแก่ใจว่า แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ของฝั่งรัชดาลัย กับ แม่นาค เดอะมิวสิคัล หากไม่นับชื่อแล้ว ที่เหลือก็เป็น “คนละเรื่อง” กันโดยสิ้นเชิง
ชีวิตของนาคและมากในฉบับของดรีมบอกซ์ มิได้เป็นเพียงเรื่องของผัวหนุ่มเมียสาว อยู่ (และตาย!) กันไปสองคน หากแต่ผูกพันยึดโยงกับสังคมหรือคนอื่นๆ มากมาย ตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ขึ้นไปจนถึงรัฐศักดินาโบราณ

ละครเรื่องนี้ใช้เวลาแสดงถึงสามชั่วโมง โดยมีพักครึ่ง

ครึ่งแรก (องก์ 1-2) เป็นการปูพื้น นำเราเข้าสู่โลกของแม่นาค และบุคคลร่วมยุคของเธอ ได้เห็นโลกที่แวดล้อม แนะนำตัวละคร ว่าแต่ละคนเป็นใคร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และความสัมพันธ์นั้นคลี่คลายไปในทิศทางไหน
ในเรื่องนี้ แม่นาค (ธีรนัยน์ ณ หนองคาย) เป็นลูกสาวขุนนางกรุงเก่า หนีตามพ่อมาก (วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์) หนุ่มพระโขนงมา เพียงเพื่อจะพบโลกที่แตกต่างกับโลกของเธออย่างสิ้นเชิง ความรู้สำคัญที่เธอมี คือการอ่านออกเขียนได้ ไม่มีคุณค่าหรือความหมายใดๆ ในโลกที่ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นแรงงานหนักรับใช้ลูก ผัว (และแม่ผัว) มิหนำซ้ำ การมาถึงของเธอ ยังทำให้โลกของแม่ผัว คือแม่เหมือน (มณีนุช เสมรสุต) และสายหยุด (ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล “ปุยฝ้าย AF4”) ลูกพี่ลูกน้องที่วาดหวังจะเป็นเมียพี่มากมาแต่เล็ก ต้องพังทลายลง ทั้งบางพระโขนง นอกจากพี่มากแล้ว จึงมีเพียงป้าแก่ หมอตำแย (นรินทร ณ บางช้าง) เมียตาฉ่ำ สัปเหร่อ (เด๋อ ดอกสะเดา) ที่รักใคร่เห็นใจเธอ

ขณะเมื่อนาคท้องแก่ใกล้คลอด ประจวบกับที่รัฐสยามเห็นว่าพม่ากำลังเพลี่ยงพล้ำให้แก่อังกฤษ จึงเตรียมการขยายอำนาจเข้าสู่เชียงตุงที่พม่าเคยปกครอง มากและชายฉกรรจ์ทั้งหมดในบางพระโขนงถูกเรียกเกณฑ์ไปรบในสมรภูมิที่ไม่มีใครเคยรู้ว่าอยู่ที่ไหนแน่
ในโลกที่มีเหลือแต่ผู้หญิงนี้เอง ที่ผู้หญิงด้วยกันนี่แหละ จะมาทำร้าย ทำลายกันอย่างเลือดเย็น และนำไปสู่การตายทั้งกลมของแม่นาค ในตอนท้ายของครึ่งแรก

ความตายอันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องเลวร้ายอื่นๆ ที่จะติดตามมา

สมกับประเด็นที่คุณโจ้ - ดารกา วงศ์ศิริ ผู้เขียนบท ตั้งธงไว้ว่า “คนร้ายกว่าผี”

และเมื่อตั้งธงไว้อย่างนั้นแล้ว ในครึ่งหลัง (องก์ 3-4) แม่นาค เดอะมิวสิคัล ยิ่งนำเสนอด้านมืดของความเป็น “คน” อย่างไม่ลังเล ด้วยปฏิบัติการที่เกิดขึ้นภายหลังความตายของแม่นาค เมื่อตัวละครแต่ละตัวดำเนินชีวิตไปตามอารมณ์ ความรู้สึก พยายามแก้ปัญหาที่ตนก่อขึ้น แต่ยิ่งพยายามเท่าใด กลับยิ่งพันพัว และจมดิ่งไปสู่หายนะ...

ในละครเรื่องนี้ แม่นาคถูกตัดขาดจากครอบครัว พลัดถิ่นมาอยู่พระโขนง ที่ซึ่งทุกคนรุมเกลียดชังเธอ ดังนั้น ความสุขอย่างเดียวที่เหลือก็คือความรักที่เธอกับสามีมีให้แก่กัน และมีแก่ลูกน้อยในท้อง นาคจึงเลือกที่จะปฏิเสธความตาย ตัดขาดจากความโหดร้ายของเหล่ามนุษย์ เพื่อยื้อยุดเอาความสุขเล็กๆ ของเธอไว้ให้ได้ นาคถึงกับจินตนาการโลกใหม่ของเธอขึ้นมาเอง ที่ซึ่ง “ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเป็นทุกข์ มีแต่พ่อแม่กับลูกน้อยกลอยใจ”

คุณดารกาทำให้ผมรู้สึกว่า แม่นาคเวอร์ชั่นนี้ค่อนข้าง “สบายใจเฉิบ” อยู่ในโลกที่เธอประจงสร้างขึ้น ขณะที่โลกภายนอก เหล่ามนุษย์ล้วนแต่ “โหดร้ายหนักหนา ทารุณเกินกว่าจะเข้าใจ”

คนหนึ่งที่โหดร้ายกว่าใคร ก็คือคุณดารกานั่นเอง เพราะบทของเธอเรื่องนี้ กระหน่ำโบยตีผู้ชมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกดโทนของเรื่องให้หดหู่ หม่นหมอง ลงไปเรื่อยๆ จนผมนึกสร้างคำขึ้น (เอง) ว่าอย่าง แม่นาค เดอะมิวสิคัล นี้ ต้องเรียกว่าเป็น "โศกนาฏกรรมหลอน"

ในความรู้สึกของผม แม่นาคฉบับดรีมบอกซ์ มีประเด็นทาง “สตรีนิยม” (Feminism) อยู่มากๆ นับตั้งแต่ในระดับตัวบท เช่น เพลง ลูกสะใภ้ทำอะไรไม่เป็น ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวแม่เหมือน แม่ของพ่อมาก พร้อมกับพรรณนาชะตากรรมของหญิงไทย อย่างที่เป็นมาตลอดสมัยประวัติศาสตร์

(หมู่ - หญิง)
“เช้าตื่นนอนก่อนไก่ จุดไฟติดเตาเร็วรี่
จัดแจงหุงหา ข้าวปลาทันที
อย่างนี้สิผู้หญิงไทย
เช้ายันค่ำไม่มีบ่น
เกิดเป็นหญิงต้องอดทน ต้องคอยเตือน
ทำแต่งานทุกที ไม่ว่ากี่ปีหรือกี่เดือน
ผู้หญิงไทยกับควายไม่ต่างกัน”
(แม่เหมือน)
“เป็นผู้หญิงมีค่าน้อยกว่าควาย
เคยได้ยินบ้างไหมหล่อนจ๋า
เพราะควายมันยังขายได้ราคา
แต่ผู้หญิงไม่มีค่าสักสตางค์”

ในระดับเหนือขึ้นไปกว่านั้น แม่นาคของดรีมบอกซ์ เป็นเสมือน “คำให้การ” ของแม่นาค ผู้ถูกกล่าวหาจากสังคม ว่าเป็น “อีผีบ้า อีผีร้าย อีผีตายทั้งกลม” มาเกือบสองศตวรรษ

อาจถือได้ว่า ร่วมกระแสกันกับละครเวทีจากสำนักเทวาลัย อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่น สีดา : ศรีราม? ที่เคยออกแสดงเมื่อสี่ปีที่แล้ว อันว่าด้วยเรื่องชะตากรรมของผู้หญิง เช่นนางสีดาในมหากาพย์ รามายณะ เทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ผู้หญิงและเด็กในสังคมไทยร่วมสมัย

รวมทั้งอาจเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนเสียงเล่าเรื่องแม่นาค จากฐานะ “ผู้กระทำ” ชนิดที่เป็นผีเที่ยวไล่หลอกหลอน หักคอใครต่อใคร ให้เธอมาเล่าเรื่องของตัวเอง ในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” บ้าง
อย่างที่คุณดารกา สรุปไว้ในสูจิบัตรละครว่า ความรู้สึกเมื่อเขียนบทละครเรื่องนี้จบลง คือเธอ “ได้ให้ความเป็นธรรมกับดวงวิญญาณของแม่นาคแล้ว”


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 105 ปักษ์แรก พฤศจิกายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น