วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แม่นาค เดอะมิวสิคัล (2)

“ดรีมทีม” ของดรีมบอกซ์

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าจุดแข็งสำคัญของ แม่นาค เดอะมิวสิคัล คือตัวบท ชนิดที่เรียกได้ว่า "ดุ" และ "ลึก" งานเชิงเทคนิคต่างๆ ของโปรดักชั่นนี้ จึงมุ่งไปที่การรับใช้ตัวบทเป็นหลัก คืออาจไม่มีเทคนิคพิเศษหวือหวาอลังการอะไรนัก แต่การใช้แสง เสียง หรือฉาก ก็เป็นไปอย่างคุ้มค่า และสร้าง “มนต์ขลังแห่งละคร” ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่ลำพังตัวบทนั้นเอง ถ้าไม่มีนักแสดงก็เป็นเพียงตัวหนังสือ
ความแข็งแรงอีกด้านหนึ่งของ แม่นาค เดอะมิวสิคัล ก็คือนักแสดงที่ถือได้ว่าเป็น “ดรีมทีม”
และเนื่องจากละครเรื่องนี้เป็นละครเพลงชนิดที่ใช้เพลงดำเนินเรื่องทั้งหมด (Sung through) ที่มีเพลงถึงกว่า 50 เพลง ผู้ที่จะมารับบทต่างๆ จึงต้องมีทักษะทั้งด้านการร้องและการแสดง ซึ่งก็น่าทึ่ง ที่ทางดรีมบอกซ์สามารถรวบรวม “ตัวแม่” ด้านการร้องเพลงมาไว้ด้วยกันในละครเรื่องนี้ได้

ธีรนัยน์ ณ หนองคาย (แม่นาค) ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง (หลังจาก คู่กรรม เดอะมิวสิคัล) ถึงความสามารถในการร้องเพลงของเธอ ด้วยเสียงร้องที่หวานใส และคมชัด เพลงของเธอร้องยาก บางครั้งก็ใช้โน้ตสูงมาก แต่เธอก็ร้องได้หน้าตาเฉย ซึ่งในบางฉากสำหรับบทแม่นาค ความ “เฉย“ นี้อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ

มณีนุช เสมรสุต (แม่เหมือน แม่ของมาก) ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นละครเพลงเรื่องแรกของ “ครูอ้วน” เพราะเธอตีบทได้แตกกระจุย บทเพลงของแม่เหมือนในเรื่องนี้ คงถูกแต่งขึ้นในลักษณะผู้แต่งรู้อยู่แล้วว่าใครจะมารับบทนั้น ดังนั้น แต่ละเพลง ฟังแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า มันช่าง "มณีนู๊ช....มณีนุช" จริงๆ ในอารมณ์ประมาณ “I, I who have nothing...” ที่เคยนำพาเธอขึ้นสู่ทำเนียบนักร้องยอดเยี่ยมแห่งเอเชียเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว

นรินทร ณ บางช้าง (ป้าแก่หมอตำแย) แม้ในวันนี้ รูปร่างของเธอจะแปรผันไปตามวัย ทว่า สิ่งที่เติบโตขึ้นมาควบคู่กันก็คือความเจนเวที จากนางเอกละครเวที สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (The Man of La Mancha) เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว จนบัดนี้ เธอก็ยังเป็นนักแสดงละครเพลงรุ่นใหญ่ ที่มีทักษะทั้งด้านการแสดงและการร้องเพลงอย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่งของเมืองไทย

ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล (“ปุยฝ้าย AF4”) ในบทสายหยุด (ลูกพี่ลูกน้องของมาก) เธอเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดในละครเรื่องนี้ ทั้งด้วยหน้าตาที่สะสวย และการ “มีแวว” ด้านการแสดงเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือเธอเสียงเพราะ และมีเทคนิคพื้นฐานในการร้องเพลงที่ดี หากได้รับการฝึกฝนพัฒนาต่อไปอีก ก็เชื่อว่าจะสามารถมา “รับไม้” ต่อจากคุณธีรนัยน์ ในฐานะนางเอกละครเพลงแบบมิวสิคัลได้ไม่ยากเลย
นอกจากนี้ สำหรับบทแม่ทองคำ แม่ของนาค ซึ่งออกมาเพียงแค่ไม่กี่ฉาก ทว่า ก็เป็นฉากสำคัญทั้งนั้น ก็ยังได้ รัดเกล้า อามระดิษ มาแสดงสลับรอบกับ “ครูปุ้ม” อรวรรณ เย็นพูนสุข อดีตนักร้อง "สาว-สาว-สาว" และครูใหญ่ บ้าน AF ซึ่งไม่พึงมีข้อสงสัยใดๆ ในตัวนักร้องคุณภาพทั้งสองท่านนี้

และเมื่อ แม่นาค เดอะมิวสิคัล เขียนบทโดยผู้หญิง (ดารกา วงศ์ศิริ) กำกับโดยผู้หญิง (สุวรรณดี จักราวรวุธ) และมีนักร้อง/นักแสดงหญิงแถวหน้าของเมืองไทยมารวมตัวกันมากมายขนาดนี้ ก็เลยพลอยทำให้ตัวละครและนักแสดงฝ่ายชาย กลายเป็นผู้แสดงสมทบไป ไม่ว่าจะเป็น ญาณี ตราโมท (ขุนประจัน พ่อของนาค) เด๋อ ดอกสะเดา (ตาฉ่ำ สัปเหร่อ) หรือแม้แต่ วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ (พ่อมาก) ซึ่งความสามารถในด้านการแสดง ไม่มีข้อกังขาแต่ประการใด ทว่าสำหรับการร้องเพลงแล้ว แม้เนื้อเสียงของคุณวรฤทธิ์จะมีคุณภาพดี แต่เสียงที่ออกมานั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร คงต้องหาทางฝึกฝนเชิงเทคนิคต่อไป โดยเฉพาะในฉากที่ต้องประกบกับ “ตัวแม่” ทั้งหลายแล้ว ก็ยิ่งดูด้อยลงไปจนน่าใจหาย

อีกข้อหนึ่งที่น่าทึ่งสำหรับละครเรื่องนี้ก็คือ บรรดา “หมู่มวล” (Ensemble) ที่ล้วนมีจุดเด่นด้านการร้องเพลง และร้องดีกันทุกคน กระทั่งตัวละครที่มีบทร้องเพียงไม่กี่ประโยค เช่น “มูลนาย” (ศิริชัย เจริญกิจธนกุล) ที่ถือหมายมาเรียกเกณฑ์ไพร่ไปรบพม่าเมืองเชียงตุง ก็เป็นนักร้องเสียงเทเนอร์ (Tenor เสียงสูงของนักร้องชาย) ที่มีน้ำเสียงไพเราะมาก

ในบทละครของคุณดารกา มีการเกลี่ยน้ำหนักของเรื่องให้กระจายไปยังตัวละครแต่ละตัว และให้เวลา (เพลง) สำหรับการปูพื้นของแต่ละตัวอีกไม่น้อย ในทางหนึ่ง ก็ย่อมช่วยให้ผู้ชมเข้าใจที่มาที่ไป หรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของตัวละครได้

แต่ในอีกทางหนึ่ง ตามความรู้สึกของผม แต่ละองก์อาจยาวไปนิด ถ้าตัดแต่งให้เรื่องแต่ละครึ่ง สั้นลงสัก 10 นาที ก็น่าจะกระชับขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ตัว “แม่นาค” ในเวอร์ชั่นนี้ เลยกลายเป็นเหมือนผู้แสดงสมทบในละครที่ตั้งชื่อตามชื่อตัวเอง เพราะเธอก็ได้รับแจกบทบาทในน้ำหนักและปริมาณใกล้เคียงกันกับแม่เหมือน และสายหยุด ซึ่งถ้าจะว่าในทางสีสันแล้ว บทแม่เหมือนก็ดูจัดจ้านเปล่งประกายโดดเด่นมาก หรือถ้าจะว่าในทางพัฒนาการของตัวละคร แม่สายหยุดก็มี “ความกลม” ของบุคลิกอย่างน่าสนใจตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้มีคนดูบางคน “เหน็บ” ว่า ละครร้องเรื่องนี้ สามารถเปลี่ยนชื่อเป็น “แม่เหมือน เดอะมิวสิคัล” หรือ “สายหยุด เดอะมิวสิคัล” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ในเรื่องเลยก็ยังไหว

อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว ก็ต้องถือว่า แม่นาค เดอะมิวสิคัล ถือเป็นละครเพลงโปรดักชั่นไทย ที่น่าประทับใจในความเป็นต้นฉบับ (originality) ทั้งบท คำร้อง และดนตรี ซึ่งบางเพลง (เช่น เรือแห่งมรณา/ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย) นั้น แทบจะกลายเป็นมหาอุปรากร (Opera) อยู่แล้ว
ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับอนาคตของวงการละครเพลงในเมืองไทย

แม่นาค เดอะมิวสิคัล
สร้างสรรค์การแสดง/บทละคร
ดารกา วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง สุวรรณดี จักราวรวุธ
กำกับดนตรี ไกวัลย์ กุลวัฒโนทัย
นักแสดงนำ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย / มณีนุช เสมรสุต/ นรินทร ณ บางช้าง/ ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล / รัดเกล้า อามระดิษ / อรวรรณ เย็นพูนสุข

โรงละครเอ็มเธียเตอร์ M Theater
กรกฎาคม และธันวาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 107 ปักษ์แรก ธันวาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น