วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Chicago the musical ณ ทุ่งรังสิต

Chicago The Musical
งานเกรด A ของนักศึกษา

ท่ามกลางกระแสละครเพลงมิวสิคัลผีตายทั้งกลม ทั้งจากค่ายรัชดาลัย และค่ายดรีมบอกซ์ ที่ผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายผลัดกันเข้ามาถล่ม “อีกฟาก” ไม่แพ้กระแสเหลือง-แดง ผมพบกระทู้เชิญชวนชมละครเพลงชิคาโก (Chicago the Musical) ฉบับภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในเว็บไซท์พันทิป

ด้วยคำโปรยว่า ในบรรดาคณะละครทั่วโลก ที่ติดต่อขอลิขสิทธิ์จัดแสดงละครเพลงเรื่องนี้จากบริษัทต้นสังกัดของฝรั่ง มีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่ได้รับอนุญาต โดยโปรดักชั่น “สมัครเล่น” ของนักศึกษา ม.กรุงเทพ เรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในสิบเปอร์เซ็นต์ดังกล่าว

ในกระทู้นั้น ยังโฆษณาด้วยว่ามีนักแสดงหญิงมีชื่อเสียงหลายคน แต่ผมก็รู้จักแค่คนเดียว คือ “ลูกหว้า ดูบาดู” ซึ่งเคยมีอัลบั้มเพลงของตัวเองออกมาเมื่อสามสี่ปีมาแล้ว

เขาบอกด้วยว่า มีวงแจ้สเล่นสดทุกรอบ

กระทู้จากพันทิปดอทคอมดังว่า จึงชักพาผมไปสู่โรงละครกล่องดำ (Blackbox Theatre) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต

ว่าตามจริง ทั้งๆ ที่ Chicago เป็นละครเพลงมีชื่อเสียงระดับโลก (เคยมีโปรดักชั่นฝรั่งเข้ามาแสดงที่โรงละครรัชดาลัยครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี ๒๕๕๒ ด้วย) แถมยังกลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ผมกลับไม่เคยดูเลย ไม่ว่าจะในเวอร์ชั่นไหนๆ ทั้งสิ้น จึงต้องถือว่าสำหรับผมแล้ว นี่คือ “ครั้งแรก” กับ ชิคาโก

ดังนั้น เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ “ใหม่สด” จริงๆ ผมเลยเลือกดูเสียตั้งแต่รอบแรก ในเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เคยได้ยินคนในวงการละครออกปากว่า ละครรอบแรกนั้นถือเป็นการซ้อมใหญ่ครั้งสุดท้าย แบบที่มีผู้ชมนั่งในโรงด้วย มิหน้ำซ้ำ จากสูจิบัตร ผมจึงเพิ่งรู้ว่า นี่คือสารนิพนธ์ของนักศึกษา ผมจึงไม่คาดหวังอะไรกับโปรดักชั่นนี้เลย

ที่ไหนได้ !

ดูแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นละคร "สมัครเล่น" ที่มีฝีมือยิ่ง
หรืออาจถือได้ว่า เป็นโปรดักชั่นเล็กๆ ที่อยู่ในระดับมืออาชีพเลยทีเดียว

อย่างที่บอก ผมไม่เคยรู้เรื่อง ชิคาโก มาก่อน แต่ในคืนนั้น ผมได้รู้จักกับรอกซี่ ฮาร์ท (ชลเลขา ละงู จาก บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล) สาวสวยผู้จบชีวิตชายชู้หลังจากเขาทำท่าจะตีจาก ระหว่างที่เข้าไปอยู่รอพิจารณาคดีในเรือนจำหญิง เธอได้พบกับเวลม่า เคลลี่ (ขวัญธิดา คงนิสัย จาก ละครเพลงคาบาเรต์) ฆาตกรหญิงอีกนางหนึ่ง ผู้เข้าคุกมาในคดีฆ่าสามีและน้องสาวที่ลักลอบเป็นชู้กัน และด้วยการจัดแจงของทนายจอมกะล่อนค่าตัวสูง ผู้รู้สันดานสื่ออย่างบิลลี่ ฟลินน์ (นรเสฏฐ์ ธนอมรเศรษฐ์) และ “ความเมตตา” ของแมรี่ ซันไชน์ (พิจิกา จิตตะปุตตะ “ลูกหว้า ดูบาดู”) นักข่าวสาวใหญ่ผู้นำเสนอตัวในฐานะ "แม่พระ" ของผู้ทุกข์ยาก คดีของสองสาวจึงกลายเป็นข่าวดังของนครชิคาโก ทว่าเบื้องหลังคือทั้งสองต่างตอแหล เชือดเฉือน ฟาดฟันกันทุกวิถีทาง ทั้งเพื่อเอาชีวิตรอดจากโทษประหาร และแย่งชิงกันเป็นดาราหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์

งานนี้เรียกได้ว่าทุกคนร้องเล่นเต้นกันสุดฤทธิ์สุดเดช

ขวัญธิดาในบทของเวลม่า เสียงคม และมีเทคนิคการร้องเพลงที่ดีและน่าสนใจ ที่สำคัญคือเธอร้องภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ ฟังออกเป็นส่วนมาก หรือจะเต้นด้วยร้องด้วยก็ยังทำได้ดีโดยเสียงไม่แกว่ง แม้การแสดงอาจดูแข็งๆ หน่อย แต่ก็อาจเหมาะกับคาแรคเตอร์กร้าวหยาบที่เธอได้รับ อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวยังแอบคิดว่า คุณขวัญธิดาน่าจะ “ไปต่อ” ได้อีก หรือน่าจะ "ร้ายลึก" ในบทนี้ได้มากกว่านั้นสักหน่อย

เช่นเดียวกับชลเลขาผู้แสดงเป็นรอกซี่ ซึ่งตามจินตนาการที่ได้จากการติดตามชม ณ เวทีนี้ บทของเธอน่าจะเริ่มต้นจากความงี่เง่ากึ่งไร้เดียงสา ก่อนจะค่อยๆ พลิกผันกลายเป็นอีตัวแสบแบบที่ตัวเองก็ไม่เคยนึกว่าจะเป็นไปได้...ซึ่งผมดูแล้วก็ยังไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น แต่ก็ต้องชมเชยว่าเธอเต้นเก่ง บล็อคกิ้งแม่น แอ็คติ้งตามคิวได้เป๊ะๆๆ หมด อย่างในเพลง “เอื้อมมือหยิบปืนพร้อมกัน” ที่เธอทำท่าเป็นหุ่นกระบอก ให้ทนายฟลินน์ชักเชิดต่อหน้าฝูงนักข่าว ก็สามารถถือเป็นไฮไลต์ฉากเด็ดสุดยอดของเธอเลยก็ว่าได้ แต่ปัญหาใหญ่ของคุณชลเลขาคือการร้องเพลง เพราะแม้จะเนื้อเสียงจะพอใช้ได้ แต่กลับฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี “พลัง” ในการร้องและการเต้นของ “นังตัวร้าย” (จะว่าเป็น “นางเอก” ก็คงเรียกได้ไม่เต็มปาก) ทั้งสอง ก็มากมายพอที่จะทำให้ผมมองข้ามประเด็นที่กล่าวถึงมาแล้วเหล่านั้นไปได้ไม่ยากนัก

ส่วนคุณพิจิกานั้น ในฐานะนักแสดง บทแมรี่ ซันไชน์ นักข่าวสาวใหญ่อาจมีไม่มาก ไม่เด่น แต่เป็นบทที่ได้โชว์เสียงร้องอันน่าทึ่งของเธอได้เต็มที่ ผมเองไม่เคยดูเธอร้องเพลงมาก่อน เคยฟังแต่ในซีดี เมื่อได้ฟังเสียงเธอสดๆ ก็ต้องยอมรับกับเนื้อเสียงหวาน ที่บางเบา และขึ้นสูงได้ใสยิ่ง

อีกคนหนึ่งซึ่งไม่อาจไม่กล่าวถึงได้ คือ คุณณัฐฏ์กร ถาวรชาติ ซึ่งมารับบทมาม่า มอร์ตั้น พัสดีหญิงของเรือนจำ เขา (หรือ “เธอ”) สามารถรับบทหญิงร่างใหญ่ ร้องเพลงด้วยเสียงอัลโต้ (เสียงต่ำของนักร้องหญิง)ได้อย่างน่าทึ่ง และคงไม่อาจหานักร้องหญิงจริงๆ มาแสดงได้ง่ายนัก

ส่วนประกอบอื่นๆ ของ ชิคาโก ภาคภาษาไทยฉบับนี้ ล้วนน่าชื่นชม

ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีฝีมือเยี่ยม พร้อมนักร้องคอรัส ที่คอยแบ็คอัพให้อยู่ตลอดรายการ
ฉาก ที่ใช้พื้นที่เล็กๆ ของโรงละครได้อย่างคุ้มค่า ทั้งซ้ายขวา หน้าหลัง บนล่าง
แสง ที่งดงามและคิวแทบไม่พลาดเลย
ท่าเต้นและเสื้อผ้า ที่ได้บรรยากาศยุคทศวรรษ ๑๙๒๐ สมเนื้อเรื่อง

แม้แต่อ็องซอมฯ หรือ “หมู่มวล” โดยเฉพาะนักเต้นฝ่ายหญิง ถึงคิวจะยังไม่ค่อยแม่น (น่าเห็นใจว่าคุณเธอต้องเต้นด้วยรองเท้าส้นสูง ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ง่ายเลย) แต่ก็ต้องขอเชียร์น้องๆ นักศึกษาที่นี่ว่า เธอ "ช่างกล้า" จริงๆ !

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับโปรดักชั่นไทยของชิคาโกเวอร์ชั่นนี้ ก็คือการแปลบทเดิม ทั้งบทพูดและคำร้องของเพลงจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่ง คุณรัตนชัย เหลืองวงศ์งาม ทำได้อย่างวิเศษ เขามีคลังคำอันอุดม ขณะเดียวกัน เนื้อเพลงในเรื่องก็ยังรักษาเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยไว้ได้เป็นส่วนมาก ทั้งยังมีสัมผัสครบถ้วนเฉกเช่นที่เพลงไทยควรมี

ในฐานะโปรดักชั่นนักศึกษา (ยกเว้นคุณขวัญธิดา กับคุณพิจิกา ที่ผมเข้าใจว่า คงมาในฐานะนักแสดงรับเชิญ) ก็ต้องถือว่า งานนี้ให้เกรด A ได้ไม่อายใครทีเดียว


CHICAGO THE MUSICAL ฉบับภาษาไทย
Black Box Theatre มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต
กำกับการแสดงโดยนนทกฤช ภพชนกนันท์
ออกแบบและกำกับนาฏลีลา โดยปริญญา ต้องโพนทอง
นำแสดงโดยชลเลขา ละงู / ขวัญธิดา คงนิสัย / พิจิกา จิตตะปุตตะ “ลูกหว้า ดูบาดู”
๑๓-๑๘ กรกฏาคม ๒๕๕๒
ปรับแก้จากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Vote รายปักษ์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๐๐ ปักษ์หลัง สิงหาคม ๒๕๕๒