วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เร่ขายฝัน เฉลียงเดอะมิวสิคัล

ละครเพลงสุดขอบฟ้า

ช่วงหนึ่งในชีวิต ผู้เขียนเคยดู “ละครถาปัด” ผลงานช่วงปิดเทอมใหญ่ของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องกันมาหลายปี ทั้งที่โรงละครแห่งชาติ (น่านเจ้า) หอศิลป์พีระศรี (ก็อดฟาเธอร์) หอประชุมเอยูเอ ราชดำริ (ลั่นทม/คลีโอพัตรา) จนถึงยุคที่กลับมาเล่นในบ้าน ณ หอประชุมจุฬาฯ (โมนาลิซา) ก่อนจะห่างหายไป และไม่เคยดูอีกเลย

จนเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสไปชม เดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะมิวสิคัล ผลงานร่วมของโต๊ะกลมโทรทัศน์ บริษัทเวิร์คพอยท์ และทรูแฟนเทเชีย เมื่อคราวที่เขาเอากลับมา “รีสเตจ” พลันรู้สึกเหมือนขึ้นไทม์แมชีน ได้ย้อนกลับสู่อดีต กลับไปดูละครถาปัดที่เคยประทับใจอีกครั้ง



โดยมิได้นัดหมาย เนื้อเรื่องของ เร่ขายฝัน ดูใกล้เคียงคล้ายคลึงกับ AVATAR (อวตาร) ภาพยนตร์เรื่องดังแห่งปี ทั้งยังทำให้ผู้เขียนหวนระลึกนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เคยดู ไม่ว่าจะเป็น Dancing with Wolves, The Mission หรือแม้แต่การ์ตูนดิสนีย์อย่าง Pochahontas

เรื่องของเรื่องคือมีเมืองสองเมืองที่อยู่ตรงข้ามกัน คือ ตรรกะนคร ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่/สังคมอุตสาหกรรม/ระบบจักรกล/เหตุผลนิยม กับ เมืองเอกเขนก ซึ่งดูเป็นชนเผ่าดั้งเดิม/ชีวิตพอเพียง/ภูมิปัญญาท้องถิ่น/เป็นมิตรกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สายลม และแสงแดด

เร่ขายฝัน เริ่มต้นด้วยการที่แต่ละเมืองไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง จนเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดับในตรรกะนคร การไต่สวนชักนำไปสู่ต้นเหตุ คือชายตาบอด (สุประวัติ ปัทมสูต) ซึ่งสอนให้เด็กล้างจานวาดภาพ จนละเลยหน้าที่ของตน นำไปสู่ความผิดพลาดของระบบทั้งหมด ปรากฏว่าชายตาบอดไม่มีตัวตนอยู่ในฐานข้อมูลของตรรกะนคร นั่นก็คือเขาเป็น “คนอื่น” ที่มาจากอีกฟากหนึ่งของโลก

พันหนึ่ง (พิษณุ นิ่มสกุล) จึงถูกส่งไปตรวจสอบ เครื่องบินของเขาประสบอุบัติเหตุตกในดินแดนเมืองเอกเขนก ภายใต้การปกครองของแม่เฒ่ายับยับ (ปวันรัตน์ นาคสุริยะ) จากความงุนงง ดูหมิ่นดูแคลน พันหนึ่งค่อยๆ เรียนรู้ความลึกซึ้งอีกด้านของการใช้ชีวิต รวมทั้งการตกหลุมรักพระจันทร์ (สาวิตรี สุทธิชานนท์) เด็กสาวลูกกำพร้าผู้มาเฝ้าคอยรอการกลับมาของพ่อที่เฉลียงหน้าบ้านทุกคืน

ความรักของเขา ดำเนินไปควบคู่กับรักสามเส้าระหว่างปุยปุย (มิณฑิตา วัฒนกุล) ลูกสาวของแม่เฒ่ายับยับ ซึ่งหลงรักกวีหนุ่มขี้โรคอย่างชนะลม (ณัฐ ศักดาทร) ขณะที่ชนะลมเฝ้าแอบรักพระจันทร์อยู่นานช้า โดยไม่เคยกล้าปริปาก

หลังจากห่างเหินไปจากละครถาปัดเกือบ 20 ปี เมื่อมาดู เร่ขายฝัน ผู้เขียนพลันรู้สึกเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันมานาน น่าทึ่งว่าเพื่อนคนนี้ แม้ไม่ได้เจอกันมาสองทศวรรษ เขากลับไม่เปลี่ยนไปเลย

บุคลิกภาพของละครถาปัดที่เคยดูมา ก็คือมุขตลกแบบเลอะเทอะเฉพาะตัว ฉากอลังการตามสไตล์นักเรียนสถาปัตย์ และเพราะเหตุผลกลใดไม่แน่ชัดนัก แทบทุกเรื่องที่เคยดูมาล้วนจบลงด้วย “โศกนาฏกรรม” คือเต็มไปด้วยความตาย การพลัดพราก และความล่มสลาย

ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น เร่ขายฝัน ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ในครึ่งหลังของเรื่อง ละครเร่งเครื่องเดินหน้าเต็มตัวไปสู่หายนะ เมื่อทางฝ่ายตรรกะนครล่วงรู้ถึงความมีอยู่ของเมืองเอกเขนก จึงเกิดหวาดระแวงว่าแม้แต่พันหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับการวางตัวให้เป็นหมายเลขหนึ่งที่จะสืบทอดอำนาจปกครองสูงสุด ยังหวั่นไหวเอนเอียงไปจากหลักการของเหตุผล แสนเก้า (วันธงชัย อินทรวัตร) ผู้อยู่ในอันดับสองรองจากพันหนึ่งมาตลอดชีวิต จึงใช้ความฉ้อฉลทุกวิถีทางก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำแทน เขาสังหารชายตาบอด และออกคำสั่งให้ทำลายล้างเมืองเอกเขนกให้ราบคาบ เพราะความมีอยู่ของเมืองเอกเขนกถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งตรรกะนคร

พันหนึ่งรีบลอบไปแจ้งข่าวร้ายให้ชาวเมืองเอกเขนกหนีเอาตัวรอด แต่ทุกคนยืนยันว่าจะไม่ไปไหน คงนั่งรอคอยวาระสุดท้ายของตน คนที่ตนรัก และเมืองเอกเขนก อย่างสงบและปิติสุข ตราบจน...

ถ้าว่าตามอย่างที่เขา “ว่าๆ กันมา” เร่ขายฝัน จัดเป็นละครเพลงแบบ “ตู้เพลง” (Jukebox Musical) คือมีเพลง (มักเป็นเพลงฮิตยอดนิยมของศิลปินวงใดวงหนึ่ง) เป็นตัวตั้ง แล้วสร้างพล็อตขึ้นมาทีหลัง อย่างในกรณีของ Mama Mia ซึ่งก็ผ่านสายตาผู้ชมบ้านเราไปแล้ว ทั้งเวอร์ชั่นภาพยนตร์จอเงิน และฉบับละครเวที นั่นก็คือเพลงของวง ABBA ส่วนเร่ขายฝัน ก็สร้างขึ้นจากเพลงของวงดนตรี เฉลียง กลุ่มคนดนตรี “แนวใหม่” ยุคหัวต่อระหว่างทศวรรษ 2520 – 2530

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือสมาชิกระดับแกนนำของ เฉลียง ส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ (และล้วนเป็นทีมละครถาปัด – เช่นเดียวกับผู้กำกับการแสดง) นับตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง "ดี้" นิติพงษ์ ห่อนาค, "เจี๊ยบ" วัชระ ปานเอี่ยม, "จิก" ประภาส ชลศรานนท์ จนถึง เฉลียง รุ่นหลัง เช่น "เกี๊ยง" เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์

ต้องถือเป็นความโชคดีของทางทีมโต๊ะกลม ที่ตัดสินใจเลือกเพลงของเฉลียง มาเป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างสรรค์ เพราะในผลงานเพียงหกชุดนั้น มีความหลากหลายของเนื้อหา ท่วงทำนอง และอารมณ์อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบที่ดี ก็มิได้เป็นเครื่องรับประกันผลผลิตเสมอไป

ในความรู้สึกของผู้เขียน การใช้เพลงของเฉลียงใน เร่ขายฝัน นั้น ไม่คุ้มค่าเลย อยู่ในระดับที่เกือบจะเรียกได้ว่า “เสียของ” ด้วยซ้ำ เพราะเพลงเกือบทั้งหมดถูกวางตำแหน่งในละครให้เป็นเพียงการ “รีวิว” หรือ “โชว์” แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่เราท่านคาดหวังว่าเพลงใน “เดอะมิวสิคัล” จะทำ

นั่นคือการ “เล่าเรื่อง”

หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือหากตัดเพลงทั้งหมดออก ละครเรื่องนี้ก็ยังดำเนินต่อไปได้จนจบ และจะกลายเป็นละครถาปัดที่กระชับ และน่าจดจำอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งเรื่อง ผู้เขียนรู้สึกว่าฉากที่ทรงพลังในฐานะ “ละครเพลง” มากที่สุด กลับเป็นฉากเล็กๆ ที่ชนะลม (ณัฐ ศักดาทร) ร้องเพลง “ยังมี” ดูเอ็ต (duet) คู่กับปุยปุย (มิณฑิตา วัฒนกุล) เมื่อทั้งสองคนร้องเนื้อร้องเดียวกันที่ว่า “เธอเคยบอกว่าเธอไม่มีแม้ใครสักคนหนึ่ง คงลืมว่าอย่างน้อยยังมีฉันไง...” โดยต่างคนต่างมีความหมายของ “เธอ” ไปตามนัยของตัวละคร

ในทัศนะของผู้เขียน เร่ขายฝัน เป็นประจักษ์พยานอีกครั้งหนึ่ง ว่าแม้จะมีนักแสดงรุ่นใหญ่ที่เจนเวที มีนักร้องเอเอฟรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีวัตถุดิบเป็นเพลงที่น่าสนใจ มีไอเดียด้านฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจ (รวมถึงมีผู้ชมแออัดอุ่นหนาฝาคั่งทุกรอบ)

แต่สิ่งที่วงการละครเวทีไทย (ค่อนข้าง) ขาดแคลนเสมอมา ก็คือคนเขียนบทที่มีฝีมือ

และหนทางไปสู่การสร้างละครเพลงที่ดีนั้น บางทีก็อาจอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า


เร่ขายฝัน เดอะมิวสิคัล

โต๊ะกลมโทรทัศน์ และทรูแฟนเทเชีย

กำกับการแสดง: ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม

บทละคร: ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, วิรัตน์ เฮงคงดี, ณัชพล เรืองรอง, อาภาพร โสตะจินดา, พงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์

นักแสดง: สุประวัติ ปัทมสูต, ญาณี ตราโมท, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, พิษณุ นิ่มสกุล, วันธงชัย อินทรวัตร, มิณฑิตา วัฒนกุล, ภคมน บุณยะภูติ, ณัฐ ศักดาทร, สาวิตรี สุทธิชานนท์

โรงละครเอ็มเธียเตอร์

2-25 ตุลาคม 2552 และ 15-17 มกราคม 2553

พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 124 ปักษ์แรก กันยายน 2553