วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

รักสยามสถานี

รักสยามสถานี

ความว่างเปล่าของ “รัก” ยุคไฮเทค




หวาน (วสุธิดา ปุณวัฒนา) นักศึกษาสาว รับจ๊อบตรวจปรูฟหนังสือ เธออาจมองหาที่ผิดเป็นนิสัย แต่ขณะเดียวกัน ในชีวิตจริง เธอมองไม่เห็นใคร ยายที่รักเธออยู่ไกลถึงบนสวรรค์ ส่วนพ่อแม่ก็กระจัดพลัดพรายไปคนละทิศละทาง ผู้ชายในชีวิตเธอแต่ละคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ส่วน ทุย (รณชาติ บุตรแสนคม) นั้น เราไม่รู้ประวัติชีวิตของเขามากนัก นอกจากว่าเขาทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา เป็นนักพยากรณ์อากาศ เขาเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้วัดได้ ตรวจสอบได้ เหมือนที่เขามั่นใจว่า “รักแท้มีอยู่จริง” ! เมื่อละครเริ่มขึ้น เขาเพิ่งอกหักหนล่าสุดมา

ทั้งสองพบกันโดยบังเอิญ ที่สถานีรถไฟฟ้าสยามในวันฝนตกหนัก ทุยสนใจหวานตั้งแต่แรกเห็น เพราะเธอฟังเพลงลูกทุ่งเพลงโปรดของเขา แต่ทุยไม่กล้าพอที่จะเข้าไปทำความรู้จัก นำไปสู่การก่อรูปขึ้นของ “อะไรบางอย่าง” ที่ใช้ชื่อว่า “กูรู” (กนต์ธร เตโชฬาร) เป็นเหมือนจิตใต้สำนึก หรือ “สันดานดิบ” ของทุย ผลักดันให้เขามุ่งหน้าไปหาสิ่งที่ต้องการ จนในที่สุด หวานและทุยก็เข้าสู่สถานะ “คนรัก” เพียงเพื่อจะพบกับความกลวงโบ๋ของสิ่งที่เรียกว่า “รัก” ในสังคมร่วมสมัย

อย่างที่คำโปรยบนปกหน้าสูจิบัตรแผ่นบางๆ บอกเราไว้ “ถ้าเราตัดฉากสุดแสนอลังการที่เปลี่ยนได้แทบจะทุกวินาที ตัดเสื้อผ้าเครื่องประดับและความฟุ้งเฟ้อออกไปจากละคร Musical แล้วละคร Musical จะเหลืออะไร...”

คำตอบที่กลุ่มละครเสาสูงต้องการคือ ถ้าตัดทุกอย่างที่ว่านั้นออกไป ก็เหลือ รักสยามสถานี ไง!

“มิวสิคัล” แบบ “พอเพียง” เรื่องนี้ ทั้งเรื่องมีฉากเดียวคือห้องเล็กๆ ของบลูบ็อกซ์สตูดิโอ ตัวละครก็มีเพียงสามเท่าที่ออกนามไปแล้วนั้น มีเพลงให้ร้องกันอีกจำนวนหนึ่ง กับมีวงดนตรีเล็กๆ ที่มีสมาชิกเป็นสามสาวซุกอยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง

รักสยามสถานี เป็นละครเพลงที่ว่าด้วยความว่างเปล่า เปลี่ยวเหงา และ แปลกแยกของชีวิตมนุษย์แบบปัจเจกในสังคมเมือง ความรู้สึกขาดหายทำให้แต่ละคนต้องการไขว่คว้าอะไรสักอย่าง หรือใครสักคน ที่เป็น “ของเรา” แต่แล้ว เมื่อได้มาจริง ก็กลับสงสัยว่าเราต้องการอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า

ว่าถึงนักแสดงบ้าง ปีที่แล้ว วสุธิดา ปุณวัฒนาคือหนึ่งใน “หมู่มวล” (ensemble) ของ แม่นาค เดอะมิวสิคัล จากค่ายดรีมบอกซ์ ในเรื่องนั้น เธอมีบทร้องเดี่ยวสั้นๆ เพียงประโยคเดียว แต่ใครที่ได้ดู ย่อมต้องสะกิดใจในเสียงใสไพเราะของเธอจากแค่ไม่กี่คำนั้นเอง มาหนนี้ เธอขึ้นชั้นเป็นนางเอกเต็มตัวแล้ว

ด้านรณชาติ บุตรแสนคม นั้น สาวก ASTV และแฟนประจำของช่อง 11 คงคุ้นเคยกันดีกับหนุ่มหน้าใสคนนี้ในบทบาทพิธีกรและผู้ประกาศข่าว หากแต่รณชาติยังเป็น “ศิษย์เก่า” จากละครเวทีของดรีมบอกซ์ด้วยเช่นกัน ผ่านละครมิวสิคัลมาแล้วทั้ง คู่กรรม และ แม่นาค รวมทั้งยังเป็นอดีตนักร้อง CU Band ด้วย

รักสยามสถานี ตั้งโจทย์ด้วยการจับคู่ระหว่างสิ่งตรงข้าม (binary opposition) ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย-ผู้หญิง (รวมทั้งชื่อ “ทุย” และ “หวาน” ของตัวละครหลัก ก็น่าจะสร้างขึ้นจากแนวคิดนี้) สมอง-หัวใจ เซ็กส์-รัก สิ่งที่ตรวจสอบได้-สิ่งที่วัดไม่ได้ ความเป็นของแท้-ของเทียม การกลายเป็นสินค้า-สิ่งที่ไม่อาจซื้อหาได้ด้วยเงิน ฯลฯ

หลังจากการแบ่งขั้วตรงข้ามกันในทำนองหยิน-หยางที่ว่ามาแล้วนั้น แล้วจึงปรากฏมีตัวละครอีกหนึ่ง คือ “กูรู” ซึ่งอยู่ระหว่างสองสิ่งนั้น เป็น “เงาสีเทาๆ” ที่อยู่ตรงกลาง กูรูทำทุกอย่างไปตามที่ใจต้องการ แทรกแซงในทุกๆ เรื่อง ดูเหมือนเขาจะเป็นตัวแทนของแรงขับตันทางเพศ เป็นสัญชาตญาณดิบที่คอยบงการชีวิตมนุษย์ แต่พร้อมกันนั้น ในบางขณะ ตัวละครนี้ก็ตั้งคำถามกับเราว่า ที่เห็นกันว่าเป็นสองสิ่งตรงข้ามนั้น มันเป็นเช่นนั้นอยู่เอง หรือแท้ที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงคนละด้านของสิ่งเดียวกัน

ส่วนในฐานะนักแสดง อาจเพราะคุณกนต์ธร เตโชฬาร (อดีตนิสิตและนักแสดงละครถาปัด และละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มากมายหลายเรื่อง) เล่นใหญ่มาก (และตัวโตกว่าอีกสองท่านมาก!) มีบทพูดยาวๆ ให้ยิงรัวเป็นชุด รวมทั้งมีเพลงจังหวะโดดเด่น เสื้อผ้าสะดุดตา ทุกครั้งที่เป็นคิวของเขาจึงดูเหมือนจะเป็นการแสดงเดี่ยว จนทำให้คุณวสุธิดาและคุณรณชาติซึ่งมักอยู่ในชุดขาวๆ ดำๆ กลายเป็นตัวประกอบไปทุกที

หรือนั่นเป็นเจตนาของละคร ?

อย่างไรก็ดี รักสยามสถานี จบลงด้วยการให้ความหวังเล็กๆ กับผู้ชม หลังจากความล่มสลายของ “ความรัก” ระหว่างหวานกับทุย ดูคล้ายกับว่าทุยจะประกาศอิสรภาพจากกูรู และมุ่งหน้าแสวงหารักแท้ตามความเชื่อของเขาต่อไป แต่นั่นก็เป็นเพียงการให้เงื่อนไขที่ “อาจ” เป็นไปได้สำหรับผู้ชมเท่านั้น

สำหรับผู้ชมคนนี้ แนวคิดของ รักสยามสถานี น่าสนใจ วิธีการนำเสนอในรูปแบบมิวสิคัล “พอเพียง” ก็พอเข้าใจได้ หากแต่สิ่งที่ขัดใจอยู่หน่อย ก็คือในฐานะละครเพลง ผมก็ยังคาดหวังแบบคนไทยยุคเก่า ว่าในเมื่อเป็นเพลงแล้ว ก็น่าจะฟัง “เป็นเพลง” บ้าง แต่เพลงในเรื่องนี้กลับแปลกประหลาดอย่างยิ่ง จะว่าเพราะก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เพราะก็ไม่เชิง เนื้อร้องก็กระท่อนกระแท่นพิกล ยังดีที่นักแสดงแต่ละท่าน ทั้งคุณวสุธิดา คุณรณชาติ รวมถึงคุณกนต์ธร เป็นคนร้องเพลงได้อยู่แล้วทุกคน ก็เลยยังช่วยให้เหลือความรู้สึกที่ว่าละครเรื่องนี้เป็น “มิวสิคัล” อยู่บ้าง

หรือบางที การสร้างความกระอักกระอ่วนใจนี่ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ รักสยามสถานี ?

รักสยามสถานี

เขียนบทและกำกับการแสดง กิตติ มีชัยเขตต์

กำกับดนตรี คานธี อนันตกาญจน์

นักแสดง รณชาติ บุตรแสนคม / กนต์ธร เตโชฬาร / วสุธิดา ปุณวัฒนา

9 - 12, 16 - 19 กรกฎาคม 2553
บลูบ็อกซ์ สตูดิโอ (M Theatre)

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 137 ปักษ์แรก เมษายน 2554