วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย

คำสารภาพของนักถ้ำมอง

ชายชาวญี่ปุ่นแปลกหน้าสองคน พบกันในสวนสาธารณะชานเมืองแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ พวกเขาจ้องมองควันไฟที่พวยพุ่งขึ้นจากปล่องเมรุของวัดใกล้ๆ บทสนทนาของคนพลัดถิ่นสองคน เริ่มต้นจากการบ่นเรื่อยเปื่อย ความหอมหวานของชีวิตวัยเยาว์ เมืองไทยแบบ “ที่เคยเป็น” เมื่อก่อน เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เบียดเบียนความเป็นมนุษย์ ก่อนจะเรื่องราวจะค่อยๆ ร่วงหล่นลงไปสู่ด้านที่หม่นมัว

ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย เป็นละครเล็กๆ ที่มีเพียงชายญี่ปุ่นสามคน แสดงเป็นภาษาญี่ปุ่น (คั่นด้วยภาษาไทยนิดๆ หน่อยๆ) พร้อมกับมีตัวอักษรบรรยายภาษาไทยและอังกฤษประกอบ นักแสดงประกอบด้วยยาโน คาซูกิ นักแสดงอาวุโสชาวญี่ปุ่นที่คนไทยคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดี จากภาพยนตร์อย่าง Seasons change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกคนคือฟูโตชิ ฮาชิโมโตะ และสุดท้ายคือตัวของโชโกะ ทานิกาวา ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงเอง

โชโกะ ทานิกาวา หนุ่มนักการละครชาวญี่ปุ่น กลับมาอีกครั้งกับปมปัญหาเดิมที่เขาพัฒนาขึ้นอีกจนเริ่มเห็นได้ชัดเจน และกลายเป็นเหมือน “ลายเซ็น” ของเขาไปแล้ว นั่นก็คือบทละครที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความแปลกแยก” กับเรื่อง “ภาษา”

แม้ว่าประเด็นเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่เอี่ยม หากแต่จุดที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับคนอื่นๆ ที่ชอบพูดถึงหรือนำเสนอ “ความแปลกแยก” ก็คือ นี่ไม่ใช่การพูดถึงคำนี้เพียงเพราะเป็นเรื่องเก๋ๆ หากแต่นี่ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เขียนบทเคยประสบพบมาด้วยตนเอง และ “รู้จัก” อย่างสนิทสนม

จาก Water/Time ที่เป็นเรื่องสาวไทยกับหนุ่มญี่ปุ่น และอีกด้านหนึ่งของชีวิตคู่ในนิวยอร์ค ละครใช้คำโปรยว่า “เวลาทะเลาะกับแฟน เราพูดภาษาอะไรกัน” โชโกะเล่นกับประเด็นการสื่อสารข้ามภาษาอยู่ไม่น้อย พอๆ กับที่เขาพูดถึงความแปลกแยกของชีวิตในเมืองใหญ่ เมื่อมาถึง The 4 Sisters ตัวละครทุกตัวล้วนอยู่ในภาวะแปลกแยก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนางโชว์กระเทย ที่เป็น “คนนอก” ของสังคมกระแสหลัก หญิงสาวผู้รับมรดกบาร์กระเทยจากพ่อโดยภาวะจำยอม ด้วยความรู้สึกว่าตนเองคือ “คนนอก” ของร้าน ขณะที่โชโกะเอง รับบทเด็กลูกจ้างกะเหรี่ยงผู้อยู่นอกขอบเขตของความเป็น “ไทย”

มาถึง ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย โชโกะก็ยังคงพูดถึงประเด็นทำนองนั้นอยู่ ชายญี่ปุ่นผู้สูงวัยกว่า (ยาโน คาซูกิ) เขาอยู่เมืองไทยมา 30 ปี โดยไม่คิดจะกลับญี่ปุ่นแล้ว เพราะที่นั่นไม่ใช่สถานที่ที่เขารู้จักอีกต่อไป บังเอิญไปพบกับหนุ่มญี่ปุ่นอีกคน (ฟูโตชิ ฮาชิโมโตะ) ที่กำลังเหม่อมองควันไฟจากปล่องเมรุ บทสนทนาของคนแปลกหน้าทั้งสองค่อยๆ เผยให้เรารู้ว่า ชายสูงอายุมีงานอดิเรกคือการ “ถ้ำมอง” ห้องพักของหญิงสาวที่อยู่ติดกัน ส่วนชายหนุ่มนั้นมาเฝ้าดูควันจากการเผาศพ “คนรัก” ของเขาที่เสียชีวิตในระหว่างเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ก่อนจะถูกขัดจังหวะโดยคนขายไอศกรีม (โชโกะ ทานิกาวา) ที่คงไม่ใช่คนไทย หากแต่เป็นแรงงานข้ามชาติจากอีกฝั่งหนึ่งของพรมแดน

ยิ่งเมื่อชายญี่ปุ่นสองคนนั้น “สนทนา” กันไป ทั้งในระดับถ้อยคำและจิตใต้สำนึก เรื่องก็ย้อนกลับไปสู่ช่วงเมื่อกรุงเทพฯ ตกอยู่ในภาวะจลาจล น้ำไฟถูกตัด ในอากาศมีแต่ควันไฟ เสียงปืน และลำโพงที่ผะแผดเสียงจากการชุมนุม ทั้งตึกร้างผู้คน เหลือเพียงห้องของนักถ้ำมองสูงอายุ กับห้องข้างๆ ที่เขาคอยแอบมอง สิ่งที่เขาเห็นในระหว่างนั้นคือชายหนุ่มญี่ปุ่นคนที่เขาสนทนาด้วยในปัจจุบัน ผู้ดูคล้ายมีอาการทางจิต กักขัง ข่มขืน และสุดท้ายก็ลงมือสังหารหญิงสาวคนนั้น คนที่ตนแอบหลงรัก โดยที่เขาเองไม่ได้ทำอะไร นอกจากเป็นผู้เฝ้ามองเช่นที่เคยทำมา

ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เสียมาก ดังนั้น จึงอาจมีประเด็นยิบย่อยต่างๆ ให้ขบคิด ละเลียดตีความได้เต็มไปหมด หากแต่ถ้าพูดโดยสรุป ก็ต้องถือได้ว่าในละครเรื่องนี้ โชโกะเล่นกับประเด็นเดิมๆ ที่เขาสนใจมาอย่าง “หนักมือ” ขึ้นอีก ด้วยการนำเสนอเรื่องในมุมมองของเขาเอง ในฐานะ “คนญี่ปุ่น” ซึ่งเป็น “คนนอก” ของสังคมไทย โชโกะตั้งคำถามว่า เมืองไทยและคนไทยแบบที่เขา (หรือคนญี่ปุ่นในเมืองไทย) เคยรู้จัก หายไปไหนกันหมดแล้ว เขาถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เกิดอะไรขึ้นที่นี่

ถ้าเล่าแบบนี้ อาจดูเผินๆ เหมือนการวิจารณ์การเมืองไทย หากแต่โชโกะไม่ได้ใช้วิธีตื้นๆ แบบนั้น เพราะเขาระบายความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่มีต่อการเมืองไทยออกมาในรูปของการ “วิจารณ์ตัวเอง” ด้วยอุปมาว่าเขา (หรืออาจหมายรวมถึงประชาคมญี่ปุ่นในเมืองไทย ?) ก็ไม่ต่างอะไรกับตาแก่โรคจิตคนนั้น ผู้เคยเฝ้ามองหญิงสาวห้องข้างๆ ด้วยความสุขเพลิดเพลิน แต่แล้วเมื่อเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นกับเธอ เขาก็ยังเป็นได้แค่เป็นผู้เฝ้ามองดูจากห้องข้างๆ โดยไม่อาจจะช่วยเหลือใคร หรือลงมือทำอะไรได้จริงๆ จังๆ นอกจากสุดท้าย ก็ไปเฝ้ามองควันไฟจากปล่องเมรุในที่ไกลๆ แทน

อาจถือเป็น “คำสารภาพ” ของ “นักถ้ำมอง” หรือเป็น “การไถ่บาปทางความรู้สึก” ก็ว่าได้ !

หากคิดต่อไปอีก ขณะที่ศิลปินไทยกระแสหลักยังคงอ้ำอึ้ง ไม่แสดงทัศนะใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ นี้ นอกจากประสานเสียงพร่ำเพ้อถึง “ความปรองดอง” กันอย่างลมๆ แล้งๆ หรืออีกไม่น้อยเลือกหนทางหลีกหนีความจริงด้วยการนำเสนอเรื่องพาฝันแนวละครย้อนยุคหลังข่าว การณ์กลายกลับเป็นว่าผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นแค่คนนอก เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เช่นโชโกะ ทานิกาวะ และ ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย ของเขานี่แหละ กลับเป็นศิลปินที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแบบหนึ่ง (ในอีกหลากหลายที่ย่อมมีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา) ได้อย่างคมคายยิ่ง

และยิ่งกว่านั้น เขาก็ยังมีความวีระอาจหาญเพียงพอที่จะออกมา “สารภาพบาป” ท่ามกลางความเงียบเฉยของศิลปินส่วนใหญ่ในประเทศนี้ !


ฝันในความฝัน...วันที่รักสูญหาย

กลุ่มละคร Kabuki-La

เขียนบทและกำกับการแสดง โชโกะ ทานิกาวา

นักแสดง ยาโน คาซูกิ, ฟูโตชิ ฮาชิโมโตะ, โชโกะ ทานิกาวา

บลูบอกซ์สตูดิโอ (ชั้น 2 M Theatre)

สิงหาคม และกันยายน 2553

พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 146 ปักษ์หลัง กันยายน 2554