วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จนกว่าจะถึงวันนั้น…


หนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันมานี้นำเสนอข้อคิดเห็นจากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ ว่าจะให้ขยับนิยามของผู้สูงอายุในประเทศไทย จาก 60 ปี ออกไปเป็น 65 ปี นัยว่าเพื่อลดจำนวน “ผู้สูงอายุ” ลง เพราะ “ผู้สูงอายุ” นั้น ดูเหมือนจะเป็นภาระของสังคม พร้อมๆ กับข่าวนี้ ก็มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปี ไทยเราจะเข้าสู่สังคม “สีเทา” อันมีสมาชิกสูงวัยจำนวนนับสิบล้านคน!
กลับมามองที่ตัวเอง หรือเพื่อนฝูงรอบข้าง หากพวกเรายัง “หน้าด้าน” มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าก็ย่อมต้องเข้าสู่สภาพของคนแก่กันทั่วหน้า ไม่มีใครจะหลีกหนีไปได้
สุดทางที่บางแคร์ ผลงานการกำกับอันดับล่าสุดของปานรัตน กริชชาญชัย แห่ง New Theatre Society จึงเป็นเสมือนไทม์แมชีน ที่พาผู้ชมล่วงหน้าไปเตรียมตัวเตรียมใจรับสภาพนั้น

ณ บ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง สามหญิง สามใจ แต่วัยเดียวกัน คือ สุวรรณี (ปริยา วงษ์ระเบียบ) พวงเพ็ญ (เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์) และยาใจ (ฟาริดา จิราพันธุ์) จับพลัดจับผลูมาใช้พื้นที่ระเบียงเดียวกันเป็นที่นั่งสำหรับจ้องมองดูเวลาเคลื่อนผ่านไป

ชีวิตประจำวันในบ้านพักคนชรานั้น (แม้จะยังไม่เคยไปอยู่ แต่ใครๆ ก็ย่อมคาดเดาได้ว่า) มันช่างเชื่องช้า อับเฉา และซึมเศร้าเหลือใจ

บทสนทนาที่แสนจะวกวนเวียนของตัวละคร เต็มไปด้วยเรื่องราวของความว้าเหว่ “ครอบครัว” ที่เหลืออยู่แต่ในห้วงคำนึง ความเจ็บป่วยและเสื่อมโทรมของร่างกาย การทะเลาะเบาะแว้ง นินทาว่าร้าย และ “ข่าวลือ”
รวมทั้งงานวันเกิดกับงานศพของผองเพื่อนที่หมุนเวียนมา อย่างที่ไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะเป็นงานใดของใครก่อนกัน

ในโลกที่แทบไม่มีอะไรเหลือเป็นของตัวเองแบบนี้ แม้แต่การรักษา “พื้นที่” ระเบียงไว้เป็นของ “พวกเรา” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคดีสุดแสนไร้สาระ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตสลักสำคัญอย่างยิ่ง

ความโหยหายึดติดกับสิ่งที่เคยมีเคยเป็นเคยได้ ทำให้พวกเธอต้องหาโอกาสแสวงหาความชุ่มชื่นในหัวใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการไปแอบ “เหล่” บุคคลในเครื่องแบบ (นักเรียน) จากโรงเรียนมัธยมชายล้วนที่อยู่ติดกัน จนถึงการวาดหวังว่า จะชวนกันหนีออกจากบ้านพักคนชรา ชนิดที่จะไปให้ไกลสุดหล้าฟ้าเขียวถึงอำเภอปาย (ที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนแน่ เพราะเคยเห็นแต่ในแผนที่) ก่อนจะค่อยๆ ลดระดับเป้าหมายลงมาเหลือเพียงแค่จะให้ไปถึงทิวสนที่แลเห็นอยู่ลิบๆ อีกฝั่งของทุ่งหญ้าข้างๆ บ้านพักคนชรา

แน่นอนว่า ทั้งปาย หรือแม้แต่ทิวสน ล้วนอยู่ไกลเกินเอื้อม และไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด นั่นก็เป็นวิถีทางเดียวที่บรรดาเธอๆ จะหลีกเร้นไปจากความน่าเบื่อหน่ายในชีวิต และรักษาระยะห่างกับ “ความตาย” ได้อีกนิดหน่อย

นั่นคือในแง่เนื้อหาของละคร ส่วนในแง่การแสดง นักแสดงหญิงทั้งสามท่าน ก็ถือเป็นหัวแถวของวงการอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัยในความสามารถ แต่ละคนก็สวมบทบาทเป็นคนแก่ได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู โดยเฉพาะเยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ ซึ่งจะเดินจะเหินจะพูดจะจา ก็ “ใช่” คนแก่ไปเสียหมด เช่นเดียวกับที่เธอเคย “เป็น” เจ๊คนนั้นมาแล้ว ใน ช่อมาลีรำลึก ผลงานของผู้กำกับการแสดงคนเดียวกันนี้

อีกส่วนหนึ่งที่ถือได้ว่าโดดเด่นมากอย่างน่าชื่นชมเป็นพิเศษ ก็คือการเลือกใช้เพลงประกอบ ที่เป็นเพลงเก่าแนวสุนทราภรณ์ เช่น สนต้องลม
“ดูสนฉงนใจ เหตุไฉน ใยไม่โค่น
ต้องลม พัดโอน อ่อนโยนตามสายลม...”

ซึ่งใช้สร้างได้ทั้งบรรยากาศเศร้า เหงา โหยหาอดีต ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องกับสัญลักษณ์ “ต้นสน” ที่พูดถึงในเนื้อเรื่อง
หากแต่สิ่งที่ยังดู “ประดักประเดิด” อยู่มาก ในสายตาของผู้ชมคนนี้ ก็คือบทละคร
อย่างที่ผู้กำกับการแสดงเล่าไว้ในสูจิบัตร ว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทละคร Heroes ของ Tom Stoppard ที่ว่าด้วยเรื่องอดีตทหารรุ่นสงครามโลกสามคนในบ้านพักทหารผ่านศึก แต่มาแปลงบริบทให้เป็นไทยมากขึ้น และเปลี่ยนตัวละครจากชายแก่เป็นหญิงชรา

ในหลายๆ ที่หลายๆ แห่ง การแปรและแปลงนั้นก็ยังไม่ค่อย “เนียน” เท่าที่ควร กระสากลิ่นของ “ต้นฉบับ” ยังอวลอยู่ในโรงละครพระจันทร์เสี้ยว เช่นที่ตัวละครในเรื่องชอบพูดถึงความกล้าหาญ หรือถ้อยคำที่พรั่งพรูยามอยู่ในภวังค์ของยาใจที่ยังวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์สู้รบยามสงคราม รวมถึงเรื่องที่จะนึกให้เป็นบรรยากาศใกล้ตัวได้ลำบาก เช่นคำถามที่แต่ละนางถามกันว่า อยากให้บรรเลงเพลงอะไรในงานศพของตัวเอง เพราะก็นึกไม่ออกว่างานศพแบบไทยนั้น จะมีเพลงตอนไหนได้บ้าง ถ้าไม่ใช่จำพวกปี่พาทย์มอญอะไรทำนองนั้น

แต่โดยสรุปแล้ว สุดทางที่บางแคร์ ก็ต้องถือเป็นละครโศกนาฏกรรม ที่มาพร้อมเสียงหัวเราะของผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง โดยหลงผิดไปว่าเป็นเรื่องของตัวละครยายแก่สามคน ซึ่งเป็น “คนอื่น”

ก่อนที่จะกระตุกใจให้คิดเมื่อละครจบว่า อ้าว ! นี่มันเรื่องของ “ตัวเราเอง” นี่หน่า และนี่ละหรือ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา ไม่วันใดก็วันหนึ่ง...

สุดทางที่บางแคร์
New Theatre Society
บทและกำกับการแสดง: ปานรัตน กริชชาญชัย
นักแสดง: ปริยา วงษ์ระเบียบ / เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ / ฟาริดา จิราพันธุ์
โรงละครพระจันทร์เสี้ยว
16 - 27 มิถุนายน 2553
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 126 ปักษ์แรก ตุลาคม 2553

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เร่ขายฝัน เฉลียงเดอะมิวสิคัล

ละครเพลงสุดขอบฟ้า

ช่วงหนึ่งในชีวิต ผู้เขียนเคยดู “ละครถาปัด” ผลงานช่วงปิดเทอมใหญ่ของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องกันมาหลายปี ทั้งที่โรงละครแห่งชาติ (น่านเจ้า) หอศิลป์พีระศรี (ก็อดฟาเธอร์) หอประชุมเอยูเอ ราชดำริ (ลั่นทม/คลีโอพัตรา) จนถึงยุคที่กลับมาเล่นในบ้าน ณ หอประชุมจุฬาฯ (โมนาลิซา) ก่อนจะห่างหายไป และไม่เคยดูอีกเลย

จนเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสไปชม เดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะมิวสิคัล ผลงานร่วมของโต๊ะกลมโทรทัศน์ บริษัทเวิร์คพอยท์ และทรูแฟนเทเชีย เมื่อคราวที่เขาเอากลับมา “รีสเตจ” พลันรู้สึกเหมือนขึ้นไทม์แมชีน ได้ย้อนกลับสู่อดีต กลับไปดูละครถาปัดที่เคยประทับใจอีกครั้ง



โดยมิได้นัดหมาย เนื้อเรื่องของ เร่ขายฝัน ดูใกล้เคียงคล้ายคลึงกับ AVATAR (อวตาร) ภาพยนตร์เรื่องดังแห่งปี ทั้งยังทำให้ผู้เขียนหวนระลึกนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เคยดู ไม่ว่าจะเป็น Dancing with Wolves, The Mission หรือแม้แต่การ์ตูนดิสนีย์อย่าง Pochahontas

เรื่องของเรื่องคือมีเมืองสองเมืองที่อยู่ตรงข้ามกัน คือ ตรรกะนคร ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่/สังคมอุตสาหกรรม/ระบบจักรกล/เหตุผลนิยม กับ เมืองเอกเขนก ซึ่งดูเป็นชนเผ่าดั้งเดิม/ชีวิตพอเพียง/ภูมิปัญญาท้องถิ่น/เป็นมิตรกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สายลม และแสงแดด

เร่ขายฝัน เริ่มต้นด้วยการที่แต่ละเมืองไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง จนเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดับในตรรกะนคร การไต่สวนชักนำไปสู่ต้นเหตุ คือชายตาบอด (สุประวัติ ปัทมสูต) ซึ่งสอนให้เด็กล้างจานวาดภาพ จนละเลยหน้าที่ของตน นำไปสู่ความผิดพลาดของระบบทั้งหมด ปรากฏว่าชายตาบอดไม่มีตัวตนอยู่ในฐานข้อมูลของตรรกะนคร นั่นก็คือเขาเป็น “คนอื่น” ที่มาจากอีกฟากหนึ่งของโลก

พันหนึ่ง (พิษณุ นิ่มสกุล) จึงถูกส่งไปตรวจสอบ เครื่องบินของเขาประสบอุบัติเหตุตกในดินแดนเมืองเอกเขนก ภายใต้การปกครองของแม่เฒ่ายับยับ (ปวันรัตน์ นาคสุริยะ) จากความงุนงง ดูหมิ่นดูแคลน พันหนึ่งค่อยๆ เรียนรู้ความลึกซึ้งอีกด้านของการใช้ชีวิต รวมทั้งการตกหลุมรักพระจันทร์ (สาวิตรี สุทธิชานนท์) เด็กสาวลูกกำพร้าผู้มาเฝ้าคอยรอการกลับมาของพ่อที่เฉลียงหน้าบ้านทุกคืน

ความรักของเขา ดำเนินไปควบคู่กับรักสามเส้าระหว่างปุยปุย (มิณฑิตา วัฒนกุล) ลูกสาวของแม่เฒ่ายับยับ ซึ่งหลงรักกวีหนุ่มขี้โรคอย่างชนะลม (ณัฐ ศักดาทร) ขณะที่ชนะลมเฝ้าแอบรักพระจันทร์อยู่นานช้า โดยไม่เคยกล้าปริปาก

หลังจากห่างเหินไปจากละครถาปัดเกือบ 20 ปี เมื่อมาดู เร่ขายฝัน ผู้เขียนพลันรู้สึกเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันมานาน น่าทึ่งว่าเพื่อนคนนี้ แม้ไม่ได้เจอกันมาสองทศวรรษ เขากลับไม่เปลี่ยนไปเลย

บุคลิกภาพของละครถาปัดที่เคยดูมา ก็คือมุขตลกแบบเลอะเทอะเฉพาะตัว ฉากอลังการตามสไตล์นักเรียนสถาปัตย์ และเพราะเหตุผลกลใดไม่แน่ชัดนัก แทบทุกเรื่องที่เคยดูมาล้วนจบลงด้วย “โศกนาฏกรรม” คือเต็มไปด้วยความตาย การพลัดพราก และความล่มสลาย

ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น เร่ขายฝัน ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ในครึ่งหลังของเรื่อง ละครเร่งเครื่องเดินหน้าเต็มตัวไปสู่หายนะ เมื่อทางฝ่ายตรรกะนครล่วงรู้ถึงความมีอยู่ของเมืองเอกเขนก จึงเกิดหวาดระแวงว่าแม้แต่พันหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับการวางตัวให้เป็นหมายเลขหนึ่งที่จะสืบทอดอำนาจปกครองสูงสุด ยังหวั่นไหวเอนเอียงไปจากหลักการของเหตุผล แสนเก้า (วันธงชัย อินทรวัตร) ผู้อยู่ในอันดับสองรองจากพันหนึ่งมาตลอดชีวิต จึงใช้ความฉ้อฉลทุกวิถีทางก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำแทน เขาสังหารชายตาบอด และออกคำสั่งให้ทำลายล้างเมืองเอกเขนกให้ราบคาบ เพราะความมีอยู่ของเมืองเอกเขนกถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งตรรกะนคร

พันหนึ่งรีบลอบไปแจ้งข่าวร้ายให้ชาวเมืองเอกเขนกหนีเอาตัวรอด แต่ทุกคนยืนยันว่าจะไม่ไปไหน คงนั่งรอคอยวาระสุดท้ายของตน คนที่ตนรัก และเมืองเอกเขนก อย่างสงบและปิติสุข ตราบจน...

ถ้าว่าตามอย่างที่เขา “ว่าๆ กันมา” เร่ขายฝัน จัดเป็นละครเพลงแบบ “ตู้เพลง” (Jukebox Musical) คือมีเพลง (มักเป็นเพลงฮิตยอดนิยมของศิลปินวงใดวงหนึ่ง) เป็นตัวตั้ง แล้วสร้างพล็อตขึ้นมาทีหลัง อย่างในกรณีของ Mama Mia ซึ่งก็ผ่านสายตาผู้ชมบ้านเราไปแล้ว ทั้งเวอร์ชั่นภาพยนตร์จอเงิน และฉบับละครเวที นั่นก็คือเพลงของวง ABBA ส่วนเร่ขายฝัน ก็สร้างขึ้นจากเพลงของวงดนตรี เฉลียง กลุ่มคนดนตรี “แนวใหม่” ยุคหัวต่อระหว่างทศวรรษ 2520 – 2530

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือสมาชิกระดับแกนนำของ เฉลียง ส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ (และล้วนเป็นทีมละครถาปัด – เช่นเดียวกับผู้กำกับการแสดง) นับตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง "ดี้" นิติพงษ์ ห่อนาค, "เจี๊ยบ" วัชระ ปานเอี่ยม, "จิก" ประภาส ชลศรานนท์ จนถึง เฉลียง รุ่นหลัง เช่น "เกี๊ยง" เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์

ต้องถือเป็นความโชคดีของทางทีมโต๊ะกลม ที่ตัดสินใจเลือกเพลงของเฉลียง มาเป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างสรรค์ เพราะในผลงานเพียงหกชุดนั้น มีความหลากหลายของเนื้อหา ท่วงทำนอง และอารมณ์อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบที่ดี ก็มิได้เป็นเครื่องรับประกันผลผลิตเสมอไป

ในความรู้สึกของผู้เขียน การใช้เพลงของเฉลียงใน เร่ขายฝัน นั้น ไม่คุ้มค่าเลย อยู่ในระดับที่เกือบจะเรียกได้ว่า “เสียของ” ด้วยซ้ำ เพราะเพลงเกือบทั้งหมดถูกวางตำแหน่งในละครให้เป็นเพียงการ “รีวิว” หรือ “โชว์” แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่เราท่านคาดหวังว่าเพลงใน “เดอะมิวสิคัล” จะทำ

นั่นคือการ “เล่าเรื่อง”

หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือหากตัดเพลงทั้งหมดออก ละครเรื่องนี้ก็ยังดำเนินต่อไปได้จนจบ และจะกลายเป็นละครถาปัดที่กระชับ และน่าจดจำอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งเรื่อง ผู้เขียนรู้สึกว่าฉากที่ทรงพลังในฐานะ “ละครเพลง” มากที่สุด กลับเป็นฉากเล็กๆ ที่ชนะลม (ณัฐ ศักดาทร) ร้องเพลง “ยังมี” ดูเอ็ต (duet) คู่กับปุยปุย (มิณฑิตา วัฒนกุล) เมื่อทั้งสองคนร้องเนื้อร้องเดียวกันที่ว่า “เธอเคยบอกว่าเธอไม่มีแม้ใครสักคนหนึ่ง คงลืมว่าอย่างน้อยยังมีฉันไง...” โดยต่างคนต่างมีความหมายของ “เธอ” ไปตามนัยของตัวละคร

ในทัศนะของผู้เขียน เร่ขายฝัน เป็นประจักษ์พยานอีกครั้งหนึ่ง ว่าแม้จะมีนักแสดงรุ่นใหญ่ที่เจนเวที มีนักร้องเอเอฟรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีวัตถุดิบเป็นเพลงที่น่าสนใจ มีไอเดียด้านฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจ (รวมถึงมีผู้ชมแออัดอุ่นหนาฝาคั่งทุกรอบ)

แต่สิ่งที่วงการละครเวทีไทย (ค่อนข้าง) ขาดแคลนเสมอมา ก็คือคนเขียนบทที่มีฝีมือ

และหนทางไปสู่การสร้างละครเพลงที่ดีนั้น บางทีก็อาจอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า


เร่ขายฝัน เดอะมิวสิคัล

โต๊ะกลมโทรทัศน์ และทรูแฟนเทเชีย

กำกับการแสดง: ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม

บทละคร: ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, วิรัตน์ เฮงคงดี, ณัชพล เรืองรอง, อาภาพร โสตะจินดา, พงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์

นักแสดง: สุประวัติ ปัทมสูต, ญาณี ตราโมท, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, พิษณุ นิ่มสกุล, วันธงชัย อินทรวัตร, มิณฑิตา วัฒนกุล, ภคมน บุณยะภูติ, ณัฐ ศักดาทร, สาวิตรี สุทธิชานนท์

โรงละครเอ็มเธียเตอร์

2-25 ตุลาคม 2552 และ 15-17 มกราคม 2553

พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 124 ปักษ์แรก กันยายน 2553

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล



ความงามที่ไม่ง่าย



ในช่วงปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 เกิดปรากฏการณ์ “ดวลเพลง” ระดับ “ชนช้าง” ในวงการละครเวทีไทย ระหว่างละครเพลง “เดอะมิวสิคัล” สองเรื่องจากสองค่าย


หนึ่งคือ เร่ขายฝัน หรือที่มีชื่อเต็มยาวเหยียดว่า The Legend of เร่ขายฝัน เฉลียงเดอะมิวสิคัล ผลงานร่วมสร้างของโต๊ะกลมโทรทัศน์ใต้ชายคาของเวิร์คพอยท์ กับทรูแฟนเทเชีย ต้นสังกัดของเหล่า “นักล่าฝัน” นามสกุล “เอเอฟ”


อีกฝั่งคือวิกรัชดาลัย โดยบริษัทซีเนริโอ ซึ่งส่ง ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล ลงสนามประลอง




ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ทั้ง เร่ขายฝัน และ ลมหายใจ ล้วนเป็นละครเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มิได้มีบทประพันธ์เดิม หรือมีเค้าโครงเรื่องเก่า และทั้งสองต่างเป็นละครเพลงในสายสกุลที่ฝรั่งเรียกว่า jukebox musical (ละครเพลงแบบ “ตู้เพลง”) คือเลือกใช้เพลงของศิลปินคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อร้อยเรียงเพลงต่างๆ เข้าด้วยกัน โดย เร่ขายฝัน เลือกเพลงของวงดนตรี “เฉลียง” มาใช้เป็นจุดตั้งต้น ขณะที่ ลมหายใจ นำเพลงของบอย โกสิยพงษ์ จากค่ายเบเกอรี่มิวสิค (เดิม) มาเป็นแกนของเรื่อง


ในแง่นี้ เมื่อพิจารณาจากวัตถุดิบในมือ ก็ดูเหมือนว่าโปรดักชั่น ลมหายใจ อาจเสียเปรียบอยู่บ้าง เพราะเพลงของบอย แม้จะมีคำร้องที่สวยงาม แต่โดยรวม เนื้อหามักเป็นเพลงรัก “เชิงบวก” ที่กล่าวถึงแง่งามของความรักเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะใช้เพลงสื่อสร้างความหลากหลายในเนื้อเรื่องจึงอาจยากกว่า


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้


ตัวละครเอกใน ลมหายใจ มีเพียงห้าคน คือ พัด (“มอส” ปฏิภาณ ปถวีกานต์) ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ ที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความผิดหวัง ฝน (นิโคล เทริโอ) แฟนสาวผู้อ่อนโยนของพัด ต่อ (“อ๊อฟ” ปองศักดิ์ รัตนพงษ์) หนุ่มขี้โรครุ่นน้องที่หลงรักฝน โดยรู้ว่าไม่มีหวัง เจ๊ฉัน (“ต๊งเหน่ง” รัดเกล้า อามระดิษ) เพื่อนรุ่นพี่ที่ร่วมหุ้นเปิดผับกับพัด และแอบชอบพัดมานาน พาย (“แก้ม เดอะสตาร์” วิชญาณี เปียกลิ่น) น้องสาวของพัด ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นน้องเล็กอยู่ร่ำไป


ในเรื่องนี้ พัดพลาดโอกาสที่จะบอกรักฝนไปชั่วชีวิต เมื่อเครื่องบินที่เขาโดยสารมาประสบอุบัติเหตุ ชีวิตของทุกคนที่รักเขา ทั้งฝน เจ๊ฉัน หรือพาย ต่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทุกคนก็ยังรู้สึกติดข้องอยู่กับการจากไปอย่างกะทันหันของพัด ถึงขั้นที่ฝนกับต่อ แม้อาจจะมีใจให้แก่กัน ก็ไม่อาจร่วมทางชีวิตกันได้ แต่แล้วในที่สุด ด้วยเหตุผลที่อยู่เหนือเหตุผล พัดได้รับอนุญาตให้กลับมาจากโลกของวิญญาณ เพื่อมาชำระสะสางเรื่องที่ยังค้างคาของตน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนดำเนินชีวิตต่อไปได้
เรื่องเพียงเท่านี้อาจดูเหมือน “ไม่มีอะไร” คนดูจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าละครดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉี่อย ไม่มีไคลแมกซ์ และ “ไม่สนุก”


หากแต่ผู้เขียนรู้สึกว่า ในสิ่งที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” นั้น “มีอะไร” อยู่แน่ๆ


ผู้กำกับการแสดง คือเอกชัย เอื้อครองธรรม และทีมเขียนบท ค่อยๆ ลวงล่อผู้ชมไปด้วยมุกตลกที่ตั้งใจใส่เข้ามาเป็นระยะ แม้ว่าอาจดูคล้ายมุกตลกแบบที่เคยดูกันจนชินในละครซิทคอมของค่ายเอ็กแซ็คท์ หากแต่ในกรณีนี้ พวกมันถูกใช้อย่างมีจุดประสงค์อย่างน้อยที่สุดสองประการ


ประการแรก มุกตลกไม่น้อยถูกตั้งใจใส่เข้ามาในละคร เพื่อกระชากอารมณ์คนดู ในระดับที่เรียกได้ว่า “กระตุกขา” ไม่ยอมให้คล้อยตามจนจมดิ่งลงไปจน “อิน” ไม่ว่าจะเป็นความสุข เศร้า เหงา หรือรัก อันจะทำให้ละครแปรสภาพเป็นละครเร้าอารมณ์แบบ “เมโลดรามา”


ผู้กำกับฯ ใช้กลวิธีแบบนี้อย่างไม่ยั้งมือ และใช้กลับไปกลับมาหลายครั้ง


เช่นเมื่อวันที่ฝนได้รับโปสการ์ดจากทิเบตของพัด ก็มีเสียงเขาแว่วมาพร้อมฉากคอมพิวเตอร์กราฟฟิก พรรณนาถึงทุ่งดอกไม้แสนงามที่ได้พบ โดยไม่ลืมหยอดท้ายแสนหวานว่า แต่เขาไม่เห็นว่ามีดอกไหนจะงามกว่าเธอ ฉับพลันนั้นเอง บรรยากาศกลับกลายเป็นฉากแฟนตาซีเหนือจริงแบบชวนหัวราวกับหนังแขก เมื่อมีนักเต้นดาหน้ากันออกมานับสิบ ในชุดดอกไม้ประหลาดล้ำ จับกลุ่มเต้นระบำไปรอบๆ ก่อนที่ฝนจะโดดเข้าไปร่วมวงด้วย และจบลงด้วยการที่เหลือเธอเต้นรำอยู่กับม็อบถูพื้นเพียงลำพัง


ก่อนที่ในอีกอึดใจเดียว ฝนจะได้รับโทรศัพท์จากพัด
เขาโทรมาหาเธอจากบนเครื่องบิน ขณะที่แน่ใจแล้วว่าคงไม่มีโอกาสรอดชีวิต...


ในชั้นที่ลึกลงไปกว่านั้น มุกตลกของละครเรื่องนี้จึงเป็นน้ำตาลไอซิ่งที่โรยประดับผิวหน้า เพื่อเคลือบฉาบแก่นสารของละคร อันว่าด้วยความขื่นขมของชีวิต ที่มีความจริงอยู่กับความผิดหวัง พลัดพราก และการหาหนทางประคับประคองตัวตนท่ามกลางโลกอันผันแปร


ลมหายใจ จึงว่าด้วยประเด็นธรรมดาๆ ที่เราๆ ท่านๆ ย่อมพบพานในชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง นี่คือประเด็นใหญ่ที่เป็นเหมือน “หลุมดำ” ทางความรู้สึก ที่ทุกคนย่อมต้องเคยพบ หรือไม่ก็ต้องพบเข้าสักวันไม่ช้าก็เร็ว เมื่อใครสักคนที่เป็นศูนย์รวมดวงใจ ไม่อยู่กับเราแล้ว และเมื่อทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป



อย่างไรก็ดี โดยบุคลิกของเพลง เพลงของบอย โกสิยพงษ์ ต้องถือว่าเป็นเพลงของ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่เพลง “วัยรุ่น” เนื้อหาและสไตล์น่าจะถูกใจคนวัยทำงาน หรืออายุ 25 ปีขึ้นไป เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบของละครเพลง จึงอาจทำให้ ลมหายใจ ไม่ใช่ละครเพลงสำหรับ “ทุกคน”


ยิ่งเมื่อเทียบกับ “เดอะมิวสิคัล” เรื่องก่อนๆ ของฝั่งซีนาริโอ ลมหายใจ ไม่ได้มีโปรดักชันอลังการ ฉากยิ่งใหญ่ หรือมีเทคนิคเหาะเหินเดินอากาศ น้ำป่าไหลทะลักกลางเวที แต่กลับเป็นละครเพลงที่ตั้งใจสมาทานตนในแนวทาง “มินิมัลลิสต์” (Minimalist) คือ “ทำน้อย ได้มาก” อย่างแท้จริง


ทว่า แนวทางนี้ก็อาจไม่ถูกจริตกับผู้ชมที่เป็นแฟนประจำของวิกรัชดาลัย ลมหายใจ จึงไม่มีโอกาสเพิ่มรอบมากมาย แม้เมื่อกลับคืนเวที “รีสเตจ” ช่วงกลางเดือนมกราคม 2553 ก็มีรอบการแสดงอีกเพียงหกรอบ ก่อนจะอำลาโรงไป


ท้ายที่สุดนี้ อยากขอแสดงความชื่นชมเป็นพิเศษกับเหล่านักแสดงนำฝ่ายหญิงของ ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล ไม่ว่าจะเป็น รัดเกล้า อามระดิษ ในบท “เจ๊ฉัน” ที่แสดงฝีมือด้านการร้องและการแสดงอย่างโดดเด่น สมกับที่ผู้กำกับฯ จะชื่นชมไว้ในสูจิบัตร ว่าเธอคือ “เมอริล สตรีพ เมืองไทย” นิโคล เทริโอล ซึ่งมากับน้ำเสียง “ใสกิ๊ง” และการแสดงที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้ง “แก้ม เดอะสตาร์” น้องใหม่บนเวที ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการ “แจ้งเกิด” ได้อย่างสวยงาม



ฉากที่ทั้งสามคนร้องด้วยกัน (trio) นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดสุดยอดของละครเรื่องนี้ทีเดียว






ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล
ซีเนริโอ
กำกับการแสดง: เอกชัย เอื้อครองธรรม
บทละคร: เอกชัย เอื้อครองธรรม,
เพลง: บอย โกสิยพงษ์
นักแสดง: รัดเกล้า อามระดิษ, นิโคล เทริโอ, ปฏิภาณ ปถวีกานต์, ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, วิชญาณี เปียกลิ่น
โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย

28 ตุลาคม - 22 พฤศจิกายน 2552 และ 14 - 17 มกราคม 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 122 ปักษ์แรก สิงหาคม 2553



นางนาก เดอะมิวเซียม


“ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา ก็เหมือนของเก่าในพิพิธภัณฑ์...”



ในปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา การ “ปลุกผี” แม่นาค/นางนาก ขึ้นมาในโลกปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ภายในเวลาปีเดียว มีถึงสามวิกที่ผลิตละครว่าด้วยปีศาจแห่งทุ่งพระโขนงออกมาในสามเวอร์ชั่น คือ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ของคุณหนูบอยแห่งซีนาริโอ แม่นาค เดอะมิวสิคัล จากฝั่งดรีมบอกซ์ และ นางนาก เดอะมิวเซียม โดย New Theatre Society
งานนี้คงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน "แม่นาควิทยา" อย่างคุณเอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าเรื่องเก่าคนสำคัญของเมืองไทยต้องรีบเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมกันชนิดมือเป็นระวิงทีเดียว



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณเอนกค้นคว้ารวบรวมเรื่องเล่าและเรื่องราวของแม่นาคพระโขนงไว้ในงานชิ้นสำคัญของเขา คือ“เปิดตำนานแม่นาคพระโขนง” ซึ่งได้กลายมาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญของโปรดักชั่นทั้งสามนั้นด้วย

แต่โปรดักชั่นที่ได้ใช้ประโยชน์จากงานคุณเอนกอย่างจริงจัง เห็นจะไม่มีใครเกินหน้า นางนาก เดอะมิวเซียม
ละครเรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อนายมานพ หรือมาร์ค (เกรียงไกร ฟูเกษม) วางแผนจะจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องผีขึ้นในพิพิธภัณฑ์ที่เขาเป็น ผอ. อยู่ จึงว่าจ้างป้ายิ่งลักษณ์ (สวนีย์ อุทุมมา) คนทรงสาวใหญ่ ผู้กำลังต่อ ป.โท ที่อักษรฯ จุฬา ด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ Trance Drama in Southeast Asia ให้มาประทับทรงนางนากพระโขนง โดยที่เธอไม่รู้ตัวว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มาร์คต้องการ คือแอบถ่ายคลิปวิดีโอนำไปใช้ประกอบนิทรรศการ

แม้ว่าทักษะในฐานะคนทรงของคุณป้าอาจน่าสงสัย แต่แล้ว ด้วยเหตุผลลึกลับบางอย่าง การเข้าทรงครั้งนั้น บังเอิญเชิญวิญญาณของนางนาก (อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์) ให้เดินทางข้ามกาลเวลามาสู่โลกยุคปัจจุบันได้จริงๆ

แต่แล้วนากกลับต้องเผชิญหน้าความจริงที่ว่า พี่มากสุดที่รักของเธอ กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นนายมาร์ค ผู้ซึ่งไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวกับอดีตรักนั้นอีกต่อไป ซ้ำร้าย ในชาตินี้ เขายังมีภรรยาอยู่แล้ว คือจีน่า (ปานรัตน กริชชาญชัย) ออร์กาไนเซอร์สาวใหญ่ร้ายลึก

ปฏิบัติการช่วงชิงหนึ่งชายระหว่างสองหญิงสองยุคจึงเริ่มต้นขึ้น และทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้...

ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าของ นางนาก เดอะมิวเซียม มะขามป้อมสตูดิโอที่สี่แยกสะพานควายแทบแตกด้วยเสียงหัวเราะของผู้ชมทุกๆ 3 นาที ชนิดที่อาจติดป้ายได้ว่า นี่คือสุดยอดละครตลกแห่งปี 2552 หากแต่ “ความตลก” ที่ ผู้กำกับการแสดง - ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ เลือกหยิบมาใช้ในระดับของตลกท่าทาง ตลกคำพูด หรือตลกหน้าตานั้น แท้จริงแล้ว คือความฉลาดในการอำพรางความรุนแรงของเนื้อหาไว้ข้างใต้ เพราะหากไม่แสดงให้เป็นละครตลก ด้วยพล็อตเดิมนี้ ก็ย่อมกลายรูปเป็นละครแนวสยองขวัญ หรือละครดราม่าหนักหน่วงได้ไม่ยาก

เมื่อเรื่องดำเนินต่อไป นางนากถึงกับวางแผนฆ่าพี่มาร์คหรือพี่มาก ตั้งแต่แกล้งเลื่อยขาบันไดที่เขาปีนเก็บผลไม้ แกล้งผลักให้เขาพลัดตกบันไดในพิพิธภัณฑ์ จนถึงแอบตัดสายเบรครถยนต์ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังครอบครองเขาแต่เพียงผู้เดียวไปชั่วนิรันดร์ แต่แล้ว เรื่องกลับตาลปัตร เมื่อคนที่ขับรถออกไปจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกลับกลายเป็นจีน่า

มิหนำซ้ำ เมื่อป้ายิ่งลักษณ์ถูกเรียกมาทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหวังจะขับไล่นางนากไปกลับไปยังภพภูมิของเธอ นั่นกลายเป็นการไปเรียกวิญญาณจีน่ากลับมาจากปรโลกอีกคน

ศึกครั้งนี้จึงยิ่งหาข้อยุติได้ยากขึ้นไปอีก...

พล็อตที่เล่าย่อๆ ให้ฟังข้างต้นนี้ ถูกเล่าสลับกลับไปกลับมากับการเล่า “ตำนาน” ของแม่นากพระโขนงอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้เล่าเรื่อง (ศรายุทธ เพชรสัมฤทธิ์/วรรณศักดิ์ ศิริหล้า และนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ) ซึ่งก็คงย่อความมาจากงานชิ้นประวัติศาสตร์ของคุณเอนก นาวิกมูล ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ในเมื่อเป็น นางนาก เดอะมิวเซียม เรื่องราวของเธอจึงไปไกลกว่านั้นอีก ด้วยการที่ละครกลับค่อยๆ เผยเบื้องลึก ไปจนถึงเรื่องที่ไม่เคยมีบันทึกในตำนานฉบับใด เช่นความเลวร้ายทารุณของพี่มากในอดีตชาติ การทอดทิ้งนางนากให้อยู่ตามยถากรรม จนต้องกลายเป็นผีตายทั้งกลม ไปจนถึงเกร็ดการประดิษฐ์อุปกรณ์สอยผลไม้ของเธอ ที่ทำให้เรื่อง “ผีมือยาว” กลายเป็นที่โจษจันกันไปทั้งบาง

ละครเรื่องนี้จึงเปิดโปงให้เราเห็นทั้งด้านมืดของอดีต เมื่อตำนานที่เล่าๆ กันมานั้น ถูกตัดตอนมาเล่าอย่างบิดเบือนและไม่ครบถ้วน รวมทั้งยังเผยให้เห็นด้านมืดของปัจจุบัน เมื่อพี่มาร์ค/พี่มาก ที่ใครๆ ก็รุมรักนั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียงผู้ชายธรรมดาๆ (หรือเรียกได้ว่า “ผู้ชายเลวๆ”) ที่เห็นแก่ตัว และไม่เคยจริงจังกับใครมาตลอดทุกภพทุกชาติ

คำถามซ้ำๆ ซากๆ ที่ผู้หญิงอยากรู้และคาดคั้นจากผู้ชาย ก็คือคำถามประเภท “เธอยังรักเขาอยู่หรือเปล่า ?” “เขาสวยกว่าฉันใช่ไหม ?” “ถ้าฉันตาย อีกนานไหมกว่าเธอจะมีคนใหม่ ?”

ตรงกันข้าม คำถามเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ในหัวของผู้ชาย

ซ้ำร้าย เขาไม่แม้แต่จะมีคำตอบสำหรับคำถามพรรค์นั้น

พี่มาร์คจึงบอกเราก่อนที่เขาจะหนีจากพิพิธภัณฑ์และปีศาจทั้งสองนางไปในตอนจบ ว่า
“ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา ก็เหมือนของเก่าในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของหรอก (โว้ย!)”


นางนาก เดอะมิวเซียม
New Theatre Society
บทละคร นราพร สังข์ชัย และพลฤทธิ์ สมุทรกลิน
ดัดแปลงจาก พิษสวาทปีศาจเมียหลวง ของดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ด้วยแรงบันดาลใจจาก Blithe Spirit ของ Noel Coward
กำกับการแสดง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
มะขามป้อมสตูดิโอ
19-30 มิถุนายน และ 4-20 ธันวาคม 2552








ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 120 ปักษ์แรก กรกฎาคม 2553

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไฟล้างบาป

ไฟล้างบาป
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ?

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มิตรรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยเปรยขึ้นในวงสนทนาว่า “นรก” ในจินตภาพของคนไทยนั้น ดูๆ ไปก็ไม่ผิดกับครัว คือมีทั้งไฟ กระทะ และของมีคมนานาชนิด บรรดาสัตว์นรกทั้งหลายก็จะต้องมาชำระล้างบาปของตน ด้วยกรรมวิธีเฉกเช่นเดียวกับที่ “ของสด” ถูกหั่น สับ ปิ้ง ย่าง ต้ม แกง จนกลายเป็น “กับข้าว” ที่เป็น “ของสุก”

ไฟล้างบาป ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่เพิ่งกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง ก็ชวนให้ผมนึกถึงถ้อยคำของอาวุโสท่านนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะบางทีบางที่ “นรก” ก็อาจอยู่ถัดจากครัวไปอีกหน่อยหนึ่ง...

แน่นอนว่า สำหรับละครเรื่องนี้ (หรือเรื่องไหนๆ ก็เถอะ!) นักแสดงย่อมเป็นส่วนสำคัญ แต่ละคนของไฟล้างบาป ล้วนจัดอยู่ในระดับ “ยอดฝีมือ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยของเมืองไทย เช่น สินีนาฏ เกษประไพ เจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2551 ในฐานะศิลปินร่วมสมัยด้านการละคร หรือ ฟารีดา จิราพันธุ์ ซึ่งถ้าให้เดา ก็มีท่าทีว่าคงจะได้รับเกียรติยศอย่างเดียวกันกับสินีนาฏในอีกไม่นานเกินรอ

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ก็คือบทละคร ซึ่งริเริ่มโดยนักแสดงทั้งสี่ของเรื่องนี้เอง ในการจัดเวิร์คช็อปของเพต้า (PETA - Philippines Educational Theatre Association) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2549 และพัฒนาต่อมา จนได้ออกตระเวนทัวร์แสดงตามสถาบันการศึกษาต่างๆ นับสิบแห่งในประเทศ และล่าสุด ก่อนหน้าการแสดงครั้งล่าสุดนี้ พวกเธอๆ ก็เพิ่งกลับมาจากการนำละครไปแสดงในเทศกาล Mekong Arts and Media Festival 2009 ที่โรงละครจตุมุข กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมานี่เอง

ไฟล้างบาป เริ่มต้นขึ้น ณ สถานที่แปลกประหลาดแห่งหนึ่ง จะด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด ผู้หญิงแปลกหน้าสามคนมาพบกัน มีทั้ง “ป้าทอม” หนุ่มใหญ่ในร่างหญิง (สินีนาฏ เกษประไพ) ลูกจ้างทำงานบ้าน (ศรวณี ยอดนุ่น) และดาราสาวคนดัง (ฟารีดา จิราพันธุ์) ในไม่ช้า พวกเธอก็ตระหนักว่า ตัวเองตายไปแล้ว และสรุปกันว่า สถานที่แห่งนั้นคงต้องเป็น “นรก”

แต่นรกขุมนั้น ไม่มีเปลวไฟ และไม่มียมบาลใส่หมวกเขาควาย ทว่า จู่ๆ ก็มีกองเสื้อผ้าสกปรก กะละมัง 3 ใบ และผงซักฟอกกล่องใหญ่ขนาดเท่ากระเป๋าเดินทาง หล่นลงมา พวกเธอทั้งสามก็สำเหนียกว่า ในเมื่อที่นั่นเป็นนรก พวกเธอก็ย่อมมีหน้าที่ต้องชดใช้ความผิดบาปที่เคยกระทำมาเมื่อครั้งยังมีชีวิต จึงก้มหน้าก้มตาซักผ้า ชำระล้างบาปไป

ชีวิตซ้ำซากเวียนวนในนรกขุมซักผ้านี้ ดำเนินไปควบคู่กับการที่ผู้หญิงแต่ละคน เริ่มผลัดกันเล่าเท้าความถึงชีวิตเมื่อยังอยู่บนโลกมนุษย์ของตน ไม่ว่าจะเป็น “ป้าทอม” กับความรักแบบ “หญิงรักหญิง” ที่ถูกสังคมประณามว่าผิดเพศ ดาราสาวกับพฤติกรรม “ฉาวโฉ่” ในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งเด็กสาวบ้านนอก ผู้ถูกกลุ่มชายโฉดรุมข่มเหง สร้างตราบาปให้แก่ชีวิตเธอ

แต่ครั้นแล้ว ทุกคนก็เริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่เธอ “เป็น” นั้น มันเป็นความผิดบาปอย่างมหันต์ถึงขนาดที่ต้องตกนรกหมกกะละมังอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์เช่นนั้นเชียวหรือ พวกเธอจึงกู่ก้องตะโกนเรียกหา “ท่าน” เพื่อทวงถาม
ในที่สุด “ท่าน” (สุมณฑา สวนผลรัตน์) ก็ปรากฏตัวออกมา เป็นสาวใหญ่ในชุดขาว ด้วยมาดสตรีหมายเลขหนึ่ง ท่ามกลางความงุนงงของทุกคนว่า เหตุใด “ท่าน” (พระเจ้า? ยมบาล? ใคร?) จึงเป็นผู้หญิง ต่างกับภาพที่มักนึกกันโดยทั่วไปว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาลจะต้องเป็นเพศชาย

ยิ่งไปกว่านั้น “ท่าน” ซึ่งสั่งให้ทุกคนเรียกเธอว่า “โกลดี้” ก็ย้อนถามทั้งสามสาวว่า มีใครบอกให้เธอไปซักผ้าหรือไม่ ? หรือพวกเธอทำไปเองเพียงเพราะความเคยชิน ? ทั้งยังสำทับด้วยว่า กะละมังนั้น ถ้าไม่หงายใส่น้ำซักผ้า ก็สามารถคว่ำลงใช้วางเท้าได้!

เช่นเดียวกับ “โทษบาป” ที่ทั้งสามคนแบกรับไว้นั้น ล้วนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องชดใช้ด้วยการลงโทษทัณฑ์ ว่าแล้ว โกลดี้ก็ลุกขึ้นเต้น จับมือกับสามสาว พากันเต้นออกไปจาก “นรกแม่บ้าน” นั้น...

ไฟล้างบาป ใช้เวลาแสดงเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่ก็นำเสนอ “สาร” ได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น

ประเด็นที่ว่าด้วย “คำพิพากษา” ที่สังคมมีแก่ผู้หญิง ว่า ผู้หญิง “ที่ดี” หรือ “ปกติ” นั้น ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ควรต้องทำอะไร มีเพศสัมพันธ์แบบไหน กับใครได้บ้าง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างภาวะจำยอม และเป็นภาระที่ต้องแบกติดตัวไปตลอดชีวิต (หรือเลยไปกว่านั้นด้วย...)

แม้ประเด็นเหล่านี้ อาจดูเหมือน “เกือบ” จะเชย เพราะก็มีการหยิบยกมานำเสนอบนเวทีละครของกลุ่มละครเล็กๆ ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่ที่มันยังไม่เชย ก็เพราะนอกโรงละคร พ้นไปจากเวทีเล็กๆ นั้น ในโลกจริงข้างนอก การฉกฉวยโอกาสจากร่างกาย และ “ความเป็นหญิง” ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เหมือนที่เคยเป็นมา ซ้ำร้าย ยิ่งทวีความรุนแรงและความแยบยลขึ้นเป็นลำดับ

และผมก็เชื่อ – ด้วยความเศร้าใจยิ่ง – ว่า ไฟล้างบาป จะยังสามารถนำกลับมาขึ้นเวที (Restage) ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้นานปี โดยยังไม่ล้าสมัยง่ายๆ




ไฟล้างบาป (Restage)
พระจันทร์เสี้ยวการละคร
นักแสดง สินีนาฏ เกษประไพ, ศรวณี ยอดนุ่น, ฟารีดา จิราพันธุ์, สุมณฑา สวนผลรัตน์
Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
3-7 ธันวาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 117 ปักษ์หลัง พฤษภาคม 2553

สาวชาวนา

สาวชาวนา
เมื่อเอ็นจีโอปะทะนักวิชาการกลางเทศกาลละคร

ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2552 จากการแสดงนับร้อยรอบของกลุ่มละครต่างๆ เรื่องเดียวที่ผมมีเวลาและมีโอกาสได้ดู คือ สาวชาวนา

แต่การเลือกดูของผม ก็มีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะละครเรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสำคัญสำหรับงานเทศกาล ถึงขนาดที่คุณ “ตั้ว” ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ ระบุไว้ในสูจิบัตรของเทศกาลทีเดียว ว่าเป็นละครหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับการ “สั่งซื้อ” จากศูนย์ศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo Metropolitan Art Space) เพื่อไปร่วมแสดงในเทศกาลแม่โขงที่ญี่ปุ่น (ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้ปี 2552/2009 เป็นปีของภูมิภาคแม่น้ำโขง)

ยิ่งไปกว่านั้น งานนี้ เรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมนักแสดงระดับ “แถวหน้า” ของกลุ่มละครเมืองไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีในวงการ ไม่ว่าจะเป็นสามสาวแห่งบีฟลอร์ (B-Floor) : อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์, จารุนันท์ พันธชาติ และดุจดาว วัฒนปกรณ์ / คานธี อนันตกาญจน์ จาก Democrazy Studio / ณัฐ นวลแพง แห่งกลุ่มละครเสาสูง / ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และปานรัตน กริชชาญชัย จาก New Theatre Society รวมทั้งณัฐพล คุ้มเมธา จากเบบี้ไมม์ (Babymime)

ท่านเหล่านี้ล้วนเป็น “หัวกะทิ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยไทยปัจจุบัน
แล้วจะมีเหตุผลใดที่จะไม่ดู สาวชาวนา เล่า ?

ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครญี่ปุ่นของฮิเดกิ โนดะ (Hideki Noda) นักการละครระดับแถวหน้าของวงการละครร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ของศูนย์ศิลปะโตเกียว
แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อแปลและแปลงแล้ว เนื้อหาหลายอย่างกลับสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนยิ่ง

สาวชาวนา เล่าเรื่องของ “มะลิ” (อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์) เด็กสาวอายุ 15 จากครอบครัวชาวนาอำเภอตระการพืชผล ผู้ไม่อยากทำนา และหลงใหลในกรุงเทพฯ จนดั้นด้นเข้ามา เธอได้รับการอุปการะแบบ “เลี้ยงต้อย” จากอาจารย์ประวิทย์ (คานธี อนันตกาญจน์) นักพฤกษศาสตร์ผู้ศึกษาต้นไม้มีพิษ แต่ไม่เคยใยดีเธอจริงๆ มะลิจึงหันไปสนใจงานจิตอาสา กลายเป็นอาสาสมัครในทีมของนายสืบศักดิ์ (ณัฐ นวลแพง) เอ็นจีโอที่ผันตัวเองมาจากผู้กำกับหนังโป๊

มะลิทำงานอย่างจริงจังด้วยความรักที่ทุ่มเทให้แก่สืบศักดิ์ จนมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการปลูกข้าวปลอดสารพิษ เพียงเพื่อจะพบว่าสืบศักดิ์ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่งานอาสาสมัคร รวมทั้งไม่ได้สนใจเรื่องการเกษตรอะไรจริงจัง หากแต่เขาใช้มัน (และเธอ) เป็นทางผ่าน เข้าสู่ความสนใจของสาธารณชน เพื่อปูทางไปยังการก่อตั้งพรรคการเมือง

สุดท้าย มะลิจึงกลับบ้าน ตั้งหน้าตั้งตาปลูกข้าว มุ่งมั่นกระทำสิ่งที่เธอปฏิเสธมาแต่เยาว์วัย พร้อมกันนั้น เธอก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆ อีกต่อไป...

ท่วงทีของละครเรื่องนี้ เป็นละครร่วมสมัย ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยการตัดสลับฉากในแนวทางของภาพยนตร์ ด้วยบรรยากาศแบบ “เหนือจริง” อันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เช่นที่ตัวละครสำคัญมักจะมี “เงา” หรือ “เสียงของจิตใต้สำนึก” ซึ่งแสดงโดยนักแสดงอีกคน คอยพันแข้งพันขาพูดจาสอดแทรกส่อเสียดอยู่ตลอดเวลา

หรือฉากรถไฟดำมะเมื่อมที่แล่นอย่างช้าๆ เหมือนลอยเลื่อนเข้าสู่สถานีรถไฟชนบทรกร้างนั้น ก็ดูจะมีนัยทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง!

และในเมื่อเป็นสัญลักษณ์ ก็เหมือนกับสัญลักษณ์อื่นๆ ในโลก คือย่อมเอื้อต่อการตีความได้ต่างๆ นานาสารพัด

ในเวอร์ชั่นตามความเข้าใจของผม (ซึ่งแน่นอนว่าอาจต่างหรือเหมือน กับผู้ชมคนอื่นๆ รวมทั้งผู้กำกับ และนักแสดง) มะลิ ตัวแทนของชุมชนเกษตรไทย ในอุปมาของสตรี ถูกยื้อยุดแย่งชิงระหว่างนักวิชาการ (อย่างอาจารย์ประวิทย์ ผู้สนใจศึกษาแต่เรื่องไร้ประโยชน์ เช่นต้นไม้มีพิษ) และเอ็นจีโอ (เช่นนายสืบศักดิ์ ผู้มีอดีตคลุมเครือ และมี “วาระซ่อนเร้น”)

ทั้งสอง ในอุปมาของบุรุษ มุ่งมาดปรารถนาที่จะครอบครองมะลิ (ผ่านเซ็กส์)

ทั้งคู่ล้วนอยากให้มะลิเป็น “อะไรบางอย่าง” ตามที่ใจตนเองต้องการ

ต่างแย่งชิงกันเป็น “ปากเสียง” ของเธอ

โดยไม่มีผู้ใดสนใจจะ “ฟัง” ว่าจริงๆ แล้วเธอต้องการอะไร หรือเธออยากพูดอะไร

เรื่องจึงลงเอยด้วยการที่มะลิไม่ได้ยินเสียงของใครอีกต่อไป
หูของเธอดับสนิท
ในเมื่อไม่มีใคร “ฟัง” เธอ เธอจึงไม่ต้องการ “ฟัง” ใครเช่นเดียวกัน

แต่พร้อมกันนั้น หากจะเลือกมองโลกในแง่ร้ายดูบ้าง สาวชาวนา ก็อาจเสียดเย้ยตัวเองไปด้วยในที เพราะว่าให้ถึงที่สุด ละครเรื่องนี้ทั้งหมดก็เป็นได้เพียงการ “พยายาม” “ทำเหมือน” “เข้าใจ” “สาวชาวนา” จากมุมมองแบบชนชั้นกลางในเมือง อย่างที่นักการละครส่วนใหญ่สังกัดอยู่

ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความปรารถนาดี บวกกับฝีไม้ลายมือระดับชั้นครู ด้วยความตั้งใจอย่างแข็งขัน ทว่าก็ล้วนเป็นการ “คิดแทน” ในแบบ “พูดเองเออเอง”

เรียกอีกอย่างก็คือ ผู้ชมอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ความเข้าใจเรื่องชาวนาของ สาวชาวนา ก็อาจผิดเพี้ยน ไม่ต่างจากภาษาอีสานสำเนียงประหลาดๆ และแปลกแปร่ง อย่างที่ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องพูดจากัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมใด ระดับไหน เรียกแบบภาษาวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่า “สาร” ของละครเรื่องนี้ “แวรงงงงงงงงง” จริงๆ จ้ะ!



สาวชาวนา
บทละคร ฮิเดกิ โนดะ
แปลบท ผุสดี นาวาวิจิตร
ดัดแปลงบท ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, นิกร แซ่ตั้ง, สินีนาฏ เกษประไพ, ณัฐ นวลแพง, จารุนันท์ พันธชาติ
กำกับการแสดง นิกร แซ่ตั้ง
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอประชุมเล็ก)
3-4 พฤศจิกายน 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 116 ปักษ์แรก พฤษภาคม 2553

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Water / Time เวลาของน้ำ เวลาของเรา


ถ้าถามผมว่าเสน่ห์ของละคร Water / Time อยู่ที่ไหน ?

นักแสดง ? แน่นอน มือระดับคุณฮีน ศศิธร พานิชนก ที่ทั้งเรียนมาด้านนี้ ทั้งผ่านงานภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีมามากมาย คงไม่ต้องสงสัยในฝีไม้ลายมือของเธอ

ผู้กำกับ ? ก็อีกนั่นแหละ ระดับ “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน ก็รับประกันได้อยู่แล้ว ว่าในฐานะ “ผู้ชมคนแรก” เธอย่อมต้องกลั่นกรอง เลือกสรร (หรือเค้นหา) สิ่งที่ “ใช่” ที่สุดในสายตามาเสนอแก่ผู้ชม

บทละคร ? ได้อ่านจากใบปลิวสูจิบัตร ว่าบทละครเรื่องนี้ โชโกะ ทานิกาวา (ซึ่งร่วมแสดงเอง) เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นก่อน แล้วจึงมาแปลกลับเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษทีหลัง แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความกระชับ ตรงไปตรงมา แต่ก็แยบคายอย่างมีชั้นเชิงของตัวบท

ฉาก ? ก็เก๋และแปลกๆ ดี ที่กลับเอาประตูทางเข้าโรงมาให้ทั้งคนดูและนักแสดงใช้ด้วยกัน คือคนดูก็ใช้ผ่านเข้ามานั่งที่ ส่วนนักแสดงก็ใช้เดินเข้าฉาก เข้ามาในห้องพักอพาร์ตเมนต์ที่ “รก” อย่างได้ใจ และสมจริง
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมคิดว่า เสน่ห์เฉพาะตัวของ Water / Time ไม่ได้ตกไปอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่งที่พรรณนามาแล้วข้างต้น หากแต่อยู่ที่ “ส่วนรวม” หรือ “ผลลัพธ์” ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อหวนระลึกขึ้นมา กลับเด่นชัดในใจเสียยิ่งกว่าส่วนประกอบต่างๆ นั้นเสียอีก
เสน่ห์นั้นก็คือความงามอย่างเรียบง่าย จริงใจ ชนิดที่ถ้าให้นึกเองก็อาจมีอคติคิดไปว่า เป็นสไตล์ “ญี่ปู๊น ญี่ปุ่น” คือคิดมามาก แต่ใช้สอยเพียงอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก”

ความงามในความง่ายนั้นก็คือละครที่พูดถึงเรื่องราวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะพบเจอได้ในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทิ้งประเด็นใหญ่หลวงน่าขบคิดใคร่ครวญไว้ให้ติดหัวคนดูกลับไปบ้านด้วย

ถ้าเล่าอย่างย่อๆ เรื่องของ Water / Time ว่าด้วย คู่ผัวตัวเมียหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวไทย เคนจิ (โชโกะ ทานิกาวา) สามีหัวดื้อ มุ่งมั่นจะเป็นคนเขียนบท ส่วน น้ำ (ศศิธร พานิชนก) ภรรยาคนไทย ก็มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละคร แต่หนทางไปสู่สิ่งที่พวกเขาวาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในนิวยอร์ก มหานครที่เปรียบประดุจศูนย์กลางจักรวาลของแวดวงละคร น้ำต้องไปทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ หารายได้มาหล่อเลี้ยงความฝันของทั้งเขาและเธอ ในสภาพกดดัน แปลกแยกเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ต้องสื่อสารข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรม (ไทย/อเมริกัน/ญี่ปุ่น) อาจดูเป็นเรื่องน่าขันสำหรับผู้ชม แต่สำหรับทั้งสองคน การที่ “คนรัก” พร้อมจะกลับกลายเป็น “คนเคยรัก” นั้น ย่อมไม่ตลกเลย

ในพล็อตเรื่องที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” เช่นนี้เอง ที่องค์ประกอบทุกภาคส่วน ทั้งนักแสดง บท ผู้กำกับ ฉาก (ตลอดจนส่วนงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนาม) กลับร่วมกันสร้างให้มี “อะไร” ขึ้นมา ตัวละครที่อยู่ต่อหน้าดูเป็น “คน” ที่มีชีวิต “จริง” จนเราสัมผัสได้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงง่ายๆ นั้นเอง ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างจังๆ ดังเช่นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โฆษณาตั้งแต่เมื่อละครออกแสดงใหม่ๆ ก็คือ “เวลาทะเลาะกับแฟน เราพูดภาษาอะไรกัน” ประโยคง่ายๆ แค่นี้ก็อาจชักนำให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อีกคนหนึ่งกำลังพูดภาษาอะไรอยู่ (ฟะ!) ทำไม่ไม่เข้าใจเหรอ ? ทำไมไม่พูดภาษาเดียวกัน (กับกรู) ล่ะ ? เหมือนกันกับที่น้ำและเคนจิ ต่างเหน็บแนม ประชดประชัน และ “ทำร้าย” กันและกันด้วยภาษาที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีวันเข้าใจ

ด้วยความที่บทละครเรื่องนี้ใช้ทั้งสามภาษา คือไทย/อังกฤษ/ญี่ปุ่น ไปพร้อมๆ กัน จึงต้องฉายคำบรรยาย (subtitles) อีกสองภาษาไว้ที่ตอนบนของผนังตลอดเวลา แรกๆ ผมก็พยายามอ่านตาม แต่แล้วกลับพบว่า ทำให้เสียสมาธิกับละครไปมาก ก็เลยตัดสินใจเลิกอ่าน ในกรณีของผม - ผู้ชมชาวไทย ซึ่งพอรู้ภาษาฝรั่งนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น – นั่นก็คือการกระโดดลงไปอยู่ในละคร ก้าวเข้าไปสู่ประสบการณ์เดียวกันกับสาวน้ำแบบตรงๆ และปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลน่าสนใจดีทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเลิกอ่านคำบรรยายยังทำให้เรารับรู้พลังหรือ “สาร” ที่นักแสดงส่งออกมา ซึ่งอยู่พ้นไปจากอำนาจของถ้อยคำเสียด้วยซ้ำ

ชื่อเรื่อง Water / Time นั้น ในทางหนึ่ง ก็อาจจะหมายถึงบทละครที่เคนจิเขียน และน้ำเข้าใจว่าคงหมายถึง “เวลา(ของ)น้ำ” แต่พร้อมกันนั้น ละครก็ตั้งใจชักพาผู้ชมให้คิดไปถึงสำนวนที่มีทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ว่าเวลาและวารีย่อมไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยรั้งรอใคร สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ (เพราะชีวิตไม่มีปุ่ม undo เหมือนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ดังนั้น (ถ้าจะให้ฟังดูเป็นทางพระๆ หน่อย ก็คงต้องบอกว่า) จึงพึงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ใช้วันเวลา ณ ขณะนี้ให้เต็มเปี่ยม ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ถ้าเพียงแต่เรารู้เท่าทันว่า เวลากำลังใกล้จะหมดลงแล้ว...

ดูเหมือนว่า Water / Time จะบอกผมอย่างนั้น


Water / Time
Cresent Moon Space (สถาบันปรีดี พนมยงค์)
LIFE Theatre
กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน
นักแสดง: โชโกะ ทานิกาวา, ศศิธร พานิชนก, อภิรักษ์ ชัยปัญหา
17 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม และ 11 – 13 และ 18 – 20 กันยายน 2552
พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 114 ปักษ์หลัง มีนาคม 2553

คาร์เมน เมื่อมหาอุปรากรสัญจรมาสู่โรงหนังตะลุง


จากมหาอุปรากรที่นับถือกันว่าเป็นสุดยอดศิลปะการแสดงของโลกตะวันตก เมื่อทดลองแปลงรูปโฉมใหม่ นำเสนอด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป ผลที่ได้รับย่อมต่างกัน หากแต่ควรต้องคงอารมณ์สะเทือนใจบางอย่างเอาไว้

เมื่อศตวรรษก่อน กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปลงเรื่องโจโจ้ซังสาวญี่ปุ่นจากมหาอุปรากร มาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ของปุชชินี (Giacomo Puccini) ให้กลายเป็นละครร้อง สาวเครือฟ้า จับอกจับใจแฟนละครชาวไทยมาเนิ่นนาน จนหลายคนพลอยนึกว่าเป็นเรื่องจริง

ไม่กี่ปีมานี้ หนัง U-Carmen eKhayelitsha (2005) จากแอฟริกาใต้ ก็นำเสนอโอเปร่าเรื่อง คาร์เมน (Carmen) ของบิเซต์ (Georges Bizet) ด้วยเหตุการณ์ ตัวละคร และสถานที่ที่แตกต่างอย่างข้ามโลกกับเรื่องเดิม โดยนำเพลงดนตรีของบิเซต์ที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ผสมผเสเข้ากับดนตรีแอฟริกัน แล้วคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ที่เบอร์ลินไปครอง

มาปีนี้ เป็นคิวที่เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวทีไทยมากว่า 20 ปี จะหยิบเอา คาร์เมน มานำเสนอในอีกรูปแบบที่แตกต่างบ้าง

เขานำเสนอละครเรื่องนี้แบบร่วมสมัย มีทั้งหนังตะลุง การเต้นรำ วิดีโออาร์ต พิณแก้ว นักร้องโอเปร่า รวมกันอยู่ในฉากที่มีเพียงผนังปูนเปลือยมอซอ และบันไดระเกะระกะ แลดูดิบเถื่อน เหมือนเป็นด้านหลังของตึกร้างที่ไหนสักแห่ง ซ้ำเขายังบิดความหมายของ opéra comique ซึ่งเดิมหมายถึงโอเปร่าที่มีบทพูด ให้กลายมาเป็น “ละครตลก” ในแบบของเขา

ในแง่ละคร คาร์เมน ฉบับนี้ ยังรักษาเรื่องราวรักสามเส้าเคล้ากิเลศตัณหา และตัวละครเอกชุดเดิมจากโอเปร่าเรื่องดังแห่งปลายศตวรรษที่ 19 ไว้ครบถ้วน ตั้งแต่คาร์เมน (เหมือนฝัน อำพันแสง/รพีพร ประทุมอานนท์) สาวโรงงานผู้เล่นสนุกกับเกมรัก ดอน โฮเซ (กฤตินท์ เกียรติเมธา) นายสิบหนุ่มอ่อนโลก ผู้หลงใหลคาร์เมนหัวปักหัวปำ มิคาเอลลา (ยูโกะ นากามูระ) สาวน้อยบ้านนาผู้แอบรักดอน โฮเซ รวมทั้งเอสกามิโญ (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) นักสู้วัวกระทิงระดับ “ดารา” หนุ่มใหญ่ในฝันของคาร์เมน แต่พร้อมกันนั้น ก็ยังมีตัวละครใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามา นั่นคือพี่ “เท่ง” (กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ) ตัวตลกหนังตะลุงผู้มาเล่าเรื่องคาร์เมน เป็นภาษาใต้ให้เราฟัง

คาร์เมนฉบับนี้เน้นการเต้นรำสมัยใหม่เป็นหลัก นักแสดงแทบทั้งหมดจึงต้องเต้นกันอย่างจริงจัง ผลจากฝีมือเฉพาะตัว การฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง และการออกแบบท่าเต้นที่งดงามของจิตติ ชมพี ผสมผสานกันออกมาเป็นการแสดงที่น่าทึ่ง นักแสดงหลักทั้งหมดเต้นกันได้ราวกับว่าโลกนี้ไม่มีแรงโน้มถ่วง ร่างกายของเขาและเธอดูเหมือนไม่มีกระดูกและไม่มีน้ำหนัก (เต้นๆ ไปก็ไต่ขึ้นวิ่งบนฝาได้ !) แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะเน้นการเต้นสมัยใหม่ แต่การคัดเลือกนักแสดง (Casting) แต่ละบทบาทก็ทำได้ดีอย่างน่าชมเชย

เหมือนฝันรับบทคาร์เมนในภาคเต้นรำได้ดีเยี่ยม ฝีมือบัลเลต์ของเธอไม่ใช่ย่อย ซ้ำการแสดงออกของเธอก็ยังทำให้เราเชื่อว่า เธอคือคาร์เมน ยิปซีหญิงร้ายเจ้าเสน่ห์คนนั้น ส่วนคาร์เมนในภาคที่เป็นนักร้องโอเปร่า เสียงเมซโซ-โซปราโนของรพีพร ประทุมอานนท์นั้นดีจริง และมีพลังจริง ผู้ชมจึงมีโอกาสได้ฟังเพลงไพเราะที่มีชื่อเสียง อย่าง Habanera เป็นภาษาไทย โดยไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงใดๆ เสียแต่ว่าเมื่อต้องร้องเนื้อภาษาไทยไปกับทำนองที่ผกผันตลอดเวลาเช่นนั้น ก็ทำให้ติดตามฟังจับใจความได้ยากไม่ใช่น้อย

ส่วนดอน โฮเซ กฤตินท์นั้น แลดูเป็นเด็กหนุ่มร่างกำยำที่มีพลังแรงกายเต็มเปี่ยม แต่มีสีหน้าแววตาใสซื่อแบบเด็กๆ อย่างที่ผู้ชมรู้สึกว่าดอน โฮเซ น่าจะเป็นคนแบบนั้น เช่นเดียวกับบทมิคาเอลลาที่แสดงโดยคุณยูโกะ นักเต้นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเธอก็เต้นได้งาม มิหนำซ้ำ ผู้กำกับยังจงใจให้คาแรคเตอร์สาวใสซื่อนี้ “ล้อ” กับภาพลักษณ์สตรีญี่ปุ่นที่ดูสุภาพอ่อนโยน

กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ ในบท “เท่ง” ก็เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่น่าจับตามอง ในฐานะนักแสดงละครเวที เขาก็เล่นบท “เท่ง” ได้ตลกทะลึ่งตึงตังดี (ทราบภายหลังว่า เขาหัดพูดภาษาใต้มาหกเดือนจนคล่องปาก เพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ) ทว่า ยามเมื่อสวมบทนักเต้น กัมปนาทก็มีท่วงท่าที่ดูเป็นตะวันออกผสมตะวันตกอันสง่างาม

เสน่ห์ของละครเรื่องนี้ ก็คือสิ่งเดียวกับที่กัมปนาทนำเสนอ นั่นคือการผสมผสานโลกที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโอเปร่าโบราณกับวิดีโออาร์ต หรือหนังตะลุงกับบัลเลต์ เรียกได้ว่าข้ามพรมแดนหมดทั้งเวลาและสถานที่

เช่นที่ทำได้ดีก็คือ การที่ละครนำเสนอภาพของเอสกามิโญในฐานะ “พระเอกในฝัน” ของคาร์เมน ด้วยการที่ให้เขาปรากฏตัวเฉพาะในวิดีโอที่ฉายทาบบนผนัง และแทนที่เขาจะแต่งชุดหรูหราผ่าเผยแบบนักสู้วัวกระทิงอย่างที่เห็นในโอเปร่า เอสกามิโญในคาร์เมนฉบับนี้กลับอลังการด้วยชุดโนราเต็มยศพร้อมเทริด และมีท่าทีกรุ้มกริ่มแบบ “พระเอกละคร” ตลอดเวลา

แต่บางอย่างที่ผู้กำกับนำเสนอก็คงต้องอาศัยการตีความของผู้ชมแต่ละคน เช่นที่คาร์เมนในภาคนักเต้น เปิดตัวออกมาในลักษณาการตะเกียกตะกายออกจากถุงดำ (ถุงขยะ ?) แล้วถุงดำปริศนานั้นก็หวนกลับมาอีกเป็นพักๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากสังวาสระหว่างดอนโฮเซ่กับคาร์เมน ที่พี่เท่งปรากฏตัวขึ้น แล้วคลี่ถุงดำครอบคนทั้งสองไว้ หรือฉากอัตกามด้วยดอกกุหลาบในถุงดำของดอนโฮเซ่ ไปจนถึงตอนจบของเรื่อง จากท้องเรื่องเดิม นอกสนามสู้วัวกระทิง คาร์เมนกำลังจะเข้าไปเชียร์เอสกามิโญ “พระเอก” คนใหม่ของเธอ แต่แล้วดอนโฮเซ่ผู้ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตนอกจากความรักอันแรงกล้า กลับมารอดักพบเธอและชวนให้เธอกลับไปกับเขา เมื่อกลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ดอนโฮเซ่เกิดบันดาลโทสะ จ้วงมีดกดจมลงไปในร่างคาร์เมนจนมิด ปิดฉากชีวิตของเธอ แต่ในฉบับนี้ คาร์เมนถูกดอนโฮเซ่จับยัดถุงดำ เธอตะเกียกตะกายดิ้นรนขัดขืนได้เพียงครู่ก่อนจะสิ้นใจ แล้วดอน โฮเซก็เดินลากถุงนั้นเข้าโรงไป

ละครทำท่าเหมือนจะจบ มีการฉายเครดิตท้ายเรื่อง (end credits) แบบภาพยนตร์ที่ผนังด้านหลัง ไล่ลำดับไปจนหมด จู่ๆ ไฟกลับสว่างอีกครั้ง แล้วเริ่มต้นบทส่งท้าย (epilogue) เมื่อนักแสดงทั้งหมดกลับออกมาร่ายรำ พร้อมทั้งนักร้องที่ครวญเพลงโหยหวนต่อเนื่องไปอีกพักหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ เงียบลง เมื่อทุกคนค่อยๆ สอดร่างกลับลงไปในถุงดำ ตั้งพิงฝากำแพงด้านหลัง เหมือนถุงขยะที่ตั้งเรียงกันรอรถขยะมาเก็บ...
เมื่อละครเลิก ผมเดินกางร่มฝ่าสายฝนที่ตกพรำออกมาจากโรงละคร พลางตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าคนที่ไม่เคยดู ไม่เคยรู้เรื่องคาร์เมนมาก่อนเลย จะดูละครเรื่องนี้รู้เรื่องหรือไม่ ?

มิตรน้อยร่วมทางก็ตอบข้อสงสัยนั้นจนแจ้งใจในทันทีว่า “อ่านเรื่องย่อในสูจิบัตรก็รู้แล้ว !”

อืมม์...จริงของเธอ




Carmen
หอประชุมสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร
12 นิ้วการละคร
กำกับการแสดง: เกรียงศักดิ์ “วิคเตอร์” ศิลากอง/จิตติ ชมพี
นักแสดง: เหมือนฝัน อำพันแสง, กฤตินท์ เกียรติเมธา, ยูโกะ นากามูระ, กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ, ระพีพร ประทุมอานนท์,
26-27 กันยายน และ 3-4 ตุลาคม 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 112 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2553

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ช่อมาลีรำลึก


คำประกาศอิสรภาพของ “แม่บ้าน”


ชื่อ ช่อมาลี แสงสุริยา

อายุ 42 ปี

สถานภาพ สมรส บุตร 2 คน


เธอก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงไทยมากมาย หรือจะว่าไป ก็คงคล้ายๆ กับผู้หญิงอีกหลายร้อยล้านคนบนโลกกลมๆ ใบนี้

เธอไม่ใช่คนเด่นคนดัง เป็นคนธรรมดาๆ บ้านๆ อะไรแบบนั้น
หรืออาจเรียกว่าเธอเป็น “เจ๊ข้างบ้าน” (“The Jeh” next door) ตัวจริงก็ย่อมได้

จากเด็กผู้หญิง “ทั่วไป” ที่ไม่ได้หน้าตาสะสวย หรือเรียนเก่งอะไร จนเมื่อเธอมีคำตอบให้แก่ครูภูมิศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แล้วครูกลับไม่เชื่อว่าเธอตอบได้ด้วยตัวเอง ช่อมาลีจึงผันตัวเองไปเป็น “เด็กหลังห้อง” ใส่ชุดนักเรียนคับติ้ว ปากเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ และก่อวีรกรรมสารพัด เช่นการกระโดดลงจากหลังคา แล้วเธอก็เติบโตขึ้นมา ดำเนินชีวิตต่อไปตามอย่างที่คนปกติ “เขาเป็นกัน” คือมีคนรัก แต่งงาน สร้างบ้าน มีลูก เลี้ยงลูก ดูแลผัว ฯลฯ

เมื่อเธอรู้ตัวอีกที หนุ่มสาวคู่นั้นที่เคยรักกันสวีทหวาน ร่วมกันสร้าง “วิมานสีชมพู” ก็พลันหายตัวไประหว่างทาง ทิ้งไว้แต่คนคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งต้องบังเอิญมาใช้ชีวิตในพื้นที่เดียวกันเป็นบางเวลา มีให้กันก็แต่ความเงียบ หรือไม่ก็วาจาเชือดเฉือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ช่อมาลีใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตแม่บ้านไปกับการพูดคุยกับฝาบ้าน

จนมาวันหนึ่ง ตุ๊กติ๊ก เพื่อนสาวโสดรุ่นน้องที่สนิทสนมกันมานาน ก็ทะลวงทลายชีวิตเปล่าดายของช่อมาลีลง ด้วยการชักชวนเธอให้ “หนี” ไปกรีซด้วยกัน 2 อาทิตย์ โดยตุ๊กติ๊กจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เพื่อที่จะได้ไป “ในที่แปลกๆ ที่พูดภาษาของแ _่งไม่ได้...” (ตามคำของตุ๊กติ๊ก)

โลกที่ช่อมาลี แม่บ้านวัยกลางคน คุ้นเคย จำเจ และเบื่อหน่าย จึงถึงแก่กาลอวสานลง...

ช่อมาลีรำลึก สร้างตัวละคร ช่อมาลี แสงสุริยา (เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์) ขึ้นมา อย่างที่ทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจ ว่าเธอเป็น “เจ๊” คนนั้นจริงๆ ทั้งด้วยคาแร็คเตอร์ การแต่งเนื้อแต่งตัว (รวมถึงการพูดไม่ชัดในบางคำ) และการแสดงที่ดูเหมือนไม่ได้แสดง เยาวลักษณ์ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคย และคลับคล้ายคลับคลา ว่าเราเองก็รู้จักคนแบบนี้ตัวเป็นๆ อยู่ด้วย

ตรงกันข้ามกับปานรัตน กริชชาญชัย ที่รับบท “ตุ๊กติ๊ก” เธอมีวิธีการแสดงอีกแบบหนึ่ง ที่ดูลอยๆ เหนือจริง และมักพรั่งพรูคำพูดเชือดเฉือนออกมาหน้าตาเฉย นอกจากนั้นแล้ว ปานรัตนยังทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งกำกับการแสดง เขียนบท และรับบทเป็นตัวละครอื่นๆ ในเรื่องด้วย ตั้งแต่คุณครูวิชาภูมิศาสตร์ ภาวิณี เพื่อนแสนสวยแสนเก่งจากวัยเยาว์ ที่ผันตัวไปเป็นกะหรี่ข้ามชาติ เจ๊เกียว เพื่อนบ้านแบรนด์เนมจอมจุ้น และเก๋ ลูกสาววัยรุ่นของช่อมาลี

ในบทละครของ ช่อมาลีรำลึก กล่าวซ้ำๆ เรื่องการเดินทางที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นบทพูดยาวเหยียด ว่าด้วยซิกมันด์ ฟรอยด์ และความสุขสมในชีวิตทางเพศของผู้หญิง ที่ไม่เคยได้รับจากผู้ชาย เปรียบเทียบกับการนั่งรถเมล์สาย 8 (สะพานพุทธ – แฮปปี้แลนด์) จะไปดอยช้างม่อย ซึ่งไม่มีวันไปถึง คำบอกเล่าของช่อมาลี ถึงละครวันคริสต์มาสที่โรงเรียนของลูก เมื่อไก๋ ลูกชายของเธอ ตัดสินใจเปลี่ยนบทพูดของยอแซฟ จนทำให้ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ไปไม่ถึงนครเบธเลเฮม จนมาสรุปลงที่การเดินทางไปกรีซ ที่ทำท่าว่าจะล่มไปเสียก่อน เพราะช่อมาลีไม่กล้าพอที่จะลุกขึ้นหนีไปจากชีวิตเดิมๆ ของเธอ แต่แล้ว การตัดสินใจไปกรีซ ก็ทำให้เธอได้ค้นพบตัวตนอีกครั้งหนึ่ง หลุดไปจากบทบาทแม่หรือเมีย ตลอดจนปมต่างๆ ในชีวิตที่ถูกกดทับเอาไว้ กลายเป็นปัจเจกชนที่เป็นไท เป็นอิสระ อีกครั้งหนึ่ง

น่าสนใจว่า ตลอดทั้งเรื่อง ช่อมาลีจะเป็นฝ่ายพูดคนเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่บ้าน เธอก็พูดคุยกับข้างฝา แม้เมื่อเธออยู่ร่วมฉากกับตุ๊กติ๊ก ก็ดูเหมือนว่าต่างคนต่างพูด และไม่ใช่บทสนทนา (dialogue) ทว่าเป็นบทพูดคนเดียว (monologue) ของเธอเสียมากกว่า จนทำให้เราอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า จริงๆ แล้ว “ตุ๊กติ๊ก” (ตุกติก ?) มีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงภาพในใจของเจ๊ช่อ เป็นสิ่งที่เธอเองอยากเป็นอยากมีเสมอมา แต่ไม่เคยกล้าพอที่จะเลือก

อย่างที่จะเห็นว่า ขณะที่ช่อมาลีถูกเรียกขานด้วยชื่อจริง พร้อมนามสกุล ตลอดเวลา แต่ตุ๊กติ๊กกลับมีชื่อเรียกอยู่เพียงแค่นั้นตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งกว่านั้น เมื่อเจ๊แกตัดสินใจขึ้นเครื่องบินไปกรีซ ตุ๊กติ๊กที่ไปด้วยกันก็ขอแยกตัวไปกับหนุ่มที่รู้จักกันบนเครื่องบิน ก่อนจะกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อช่อมาลีกำลังลังเลใจว่าเธอจะทำอย่างไรกับชีวิตดี สุดท้าย เมื่อถึงวันกลับ ที่สนามบิน ตุ๊กติ๊กเองกลับเป็นฝ่ายแยกจากเธอไป เมื่อเจ๊ช่อไม่ยอมกลับเมืองไทย แต่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตใหม่ของเธอที่นั่น นั่นก็คือ ตุ๊กติ๊กก็คือตัวตนอีกภาคหนึ่งของช่อมาลี ดังนั้น เมื่อเธอได้ประกาศอิสรภาพให้ตัวเองเรียบร้อยแล้ว ตุ๊กติ๊กจึงไม่จำเป็นสำหรับชีวิตของเธออีกต่อไป

ถ้าทั้งหมดนี้ จะทำให้ฟังดูเหมือนว่า ช่อมาลีรำลึก เป็นละครเฟมินิสม์จ๋า พาเครียดหดหู่ ก็ต้องปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่จริงเล้ยยย... ละครเรื่องนี้ “ตลกมาก” (ขอบอก) และ “แร็งงง” อย่างฮา แฟนละครประเภทที่ชอบบทเสียดสี ขบกัด เย้ยหยันอย่างร้ายลึก น่าจะรักละครเรื่องนี้ได้โดยง่าย

ช่อมาลีรำลึก
New Theatre Society
ได้รับแรงบันดาลใจจากบทละคร Shirley Valentine ของ Willy Russell (บทดั้งเดิมได้รับรางวัล Best Comedy ของ Laurence OIivier Awards 1998) และกลอนชื่อ Waiting ของ Faith Wilding
นักแสดง เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ / ปานรัตน กริชชาญชัย
กำกับการแสดง/เขียนบท ปานรัตน กริชชาญชัย

Cresentmoon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
26 – 30 สิงหาคม, 2 – 6 กันยายน 2552
(มีข่าวว่าจะหวนคืนเวทีใหม่ ช่วงกลางปี 2553)
เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสาร Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 110 ปักษ์หลัง มกราคม 2553