วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

The 4 Sisters


“แท้” ใน “เทียม”


ในวันสุดท้ายของร้านมูนไลท์ ร้านที่เคยเป็นตำนานของวงการ “นางโชว์” (หรือโชวกระเทย) วันนั้นเหลือเพียง “Miss Monkey” หรือชื่อเดิม “หนุ่ม” สรศักดิ์ (สรร ถวัลย์วงศ์ศรี) นางโชว์ร่างยักษ์ผู้ไม่มีที่ไป กับ “แจ็ค” (เสฎพันธุ์ เสริญไธสง) เด็กใหม่ในฉายา “Miss Cow” ซึ่งกำลังสับสน ว่าจะหาทางประกาศตัวตนความเป็น “สาว” ของเขาได้หรือไม่ อย่างไรดี จู่ๆ ท่ามกลางความหดหู่กระอักกระอ่วนนั้นเอง “เจ๊มารายห์” (“Mariah”) ก็ปรากฏตัวขึ้นที่หน้าประตูร้าน

“เจ๊” (อภิรักษ์ ชัยปัญหา) คืออดีตดาวดังของร้านมูนไลท์ ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจนต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไประยะหนึ่ง เธอกลับมาอีกครั้งด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อร้านแห่งนี้ และผู้คนที่นี่

ต้นเหตุสำคัญของยุคเสื่อมที่ร้านมูนไลท์ ก็คือแนวนโยบายของ “หญิง” (ศศิธร พานิชนก) เจ้าของร้าน


เธอบังคับให้นางโชว์ทั้งหมด ซึ่งเคยแต่แต่งหน้าแต่งตัวแบบอลังการดาวล้านดวง ขยับปากทำเหมือนร้องเพลงตามเสียงร้องของคนอื่น อย่างที่เรียกกันว่า “ลิปซิงค์” (Lip sync ย่อมาจาก lip synchronization) ให้ต้องแต่งเพลงสดและร้องด้วยเสียงจริงของตัวเองบนเวที เพราะเธอยืนยันว่า ก็ในเมื่อนางโชว์ทั้งหลายที่เป็นผู้หญิง “ปลอม” ล้วนมีความฝันใฝ่ที่จะเป็น “ของจริง” จึงควรต้องทำอะไรที่ “จริง” เสียบ้าง

แต่การ “ด้นสด” นั้น ย่อมไม่ใช่ทักษะที่ใครๆ จะทำได้ นางโชว์ระดับแถวหน้าของร้านจึงค่อยๆ ทยอยย้ายไปร้านอื่น ลูกค้าก็พลอยหายหน้า พร้อมกับที่ร้านมูนไลท์ตกต่ำลงทุกที จนถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน และมีกำหนดต้องปิดร้านไปในคืนนั้น

การปะทะคารมระหว่างหญิงกับเจ๊มารายห์ หรือชื่อเดิม นายทานตะวัน ค่อยๆ เปิดเผยให้ผู้ชมได้เห็นอีกด้านของร้านมูนไลท์ และด้านหลังของชีวิตพวกเธอ

“พี่ใหญ่” และ “เจ๊จุ๋ม” พ่อแม่ของหญิง ล้วนเคยอุปการะเลี้ยงดูพวกนางโชว์แทบทุกคนมาเหมือนเป็นลูกของตัวเอง ไม่เว้นแต้แต่เจ๊มารายห์ ผู้ถูกพ่อแม่แท้ๆ ทิ้งขว้าง แต่แล้ววันหนึ่ง พี่ใหญ่กลับหนีตามผู้หญิงคนหนึ่งไปเฉยๆ พร้อมกับฉกฉวยเอาเงินทั้งหมดของร้านและของครอบครัวไปด้วย

หญิงต้องลาออกจากงานประจำที่เคยทำ มาบริหารกิจการของที่บ้าน ด้วยความขุ่นเคืองและเคียดแค้นพ่อ นโยบายห้ามลิปซิงค์ของเธอจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์แฝงคือการทำลายล้างร้านนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อรักมากที่สุดอย่างหนึ่ง หากแต่พร้อมกันนั้น ที่เธอกลบฝังไว้ใต้บุคลิกกร้าวแข็งก็คือความจริงที่ว่า เธอเองก็รักที่นี่เช่นเดียวกัน เพราะประวัติศาสตร์ 30 ปีของมูนไลท์ ก็คือชีวิตของหญิงเองด้วย เรื่องที่เหลือของ The 4 Sisters ย่อมไม่ยากเกินคาดเดา

เจ๊มารายห์ขอโอกาสจากหญิงให้เธอได้กลับขึ้นเวที ร่วมในการโชว์รอบสุดท้ายของร้าน กับนางโชว์ที่เหลืออยู่ พวกเขา (หรือ “เธอ”) แกล้งทำเป็นไม่ใส่ใจกับคำสั่งของหญิง และร่วมกันลิปซิงค์เพลง Hero ว่าแท้ที่จริงแล้ว “ผู้กล้า” หรือ “วีรชน” นั้น ไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนดอก หากแต่สถิตอยู่ในใจของทุกผู้ทุกนามอยู่แล้ว รวมทั้งหญิงและพวกเธอเอง

ในที่สุด หญิงจึงตัดสินใจเปิดร้านต่อ เพราะเธอรู้แล้วว่า ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ “ครอบครัว” จริงๆ ของเธอ แต่เธอก็ยังมี “พี่น้อง” ที่รักเธอ และรักร้านมูนไลท์ไม่ต่างกันกับเธอ

และนั่นคงเป็นสาเหตุที่ละครเรื่องนี้เลือกใช้ชื่อว่า The 4 Sisters (สี่ดรุณีพี่น้อง)

ละครเรื่องนี้เป็นผลงานล่าสุดของ Life Theatre ซึ่งเคยสร้างผลงานอันน่าประทับใจแห่งปี 2552 อย่าง Water/Time มาแล้ว เขียนบทโดยโชโกะ ทานิกาวา และกำกับการแสดงโดย “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน เช่นเดียวกัน

แม้ว่าละครจะถูกตั้งเข็มไว้ให้เป็นละครมิวสิคัลตลก (ซึ่งก็ตลกจริง!) แต่พร้อมกันนั้น ก็ย่อมต้อง “ไว้ลาย” ของ Life Theatre ในอันที่จะนำเสนอประเด็นสำคัญบางอย่างไปพร้อมกัน สำหรับ The 4 Sisters ประเด็นนั้นก็คือการตั้งคำถามกับความเป็น “ของจริง-ของแท้” กับ “ของเทียม-ของปลอม” ที่ซ้อนเหลื่อม หรือเคลือบฉาบกันอยู่เป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล่ากระเทยที่เป็นผู้หญิงเทียม การลิปซิงค์ที่ไม่ใช่การร้องเพลงจริงๆ นายดี (โชโกะ ทานิกาวา) เด็กร้านชาวกะเหรี่ยง ที่ต้อง “ปลอม” เป็นไทย ด้วยการคอยร้องเพลงชาติไทยแบบกระท่อนกระแท่น หรือกระทั่งครอบครัว “ปลอมๆ” ของสี่ดรุณี หากแต่ลึกลงไปจากความเทียมหรือของเก๊ที่ว่า ก็ยังมีความจริงหรือของแท้อยู่


นั่นคือความเป็นมนุษย์ ที่หากมีความรัก ความผูกพันกันแล้ว ก็สามารถประกอบสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงขึ้นได้ในชีวิต เป็นต้น

แต่แล้ว ประเด็นว่าด้วย “ของแท้-ของเทียม” นี้ กลับย้อนศรหันหลังมาแว้งกัด The 4 Sisters เข้าให้ ทั้งที่ก็อดรู้สึกชื่นชมพลังและความสามารถของเหล่านางโชว์ในละครเรื่องนี้ไม่ได้ แต่แล้วกลับรู้สึกว่า เขา (หรือ “เธอ”) เพียง “แสดง” เป็นนางโชว์ แต่ไม่ได้ “เป็น” นางโชว์ โดยเฉพาะอาจารย์อภิรักษ์ ชัยปัญหา ซึ่งได้รับบทนำในละครเรื่องนี้ ทั้งที่เคยชื่นชมกับเขาใน Water/Time เป็นอย่างยิ่ง แต่ผู้เขียนก็ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่านี่คือนางโชว์ระดับ ตัวแม่ ทั้งในแง่ที่ไม่ค่อยรู้สึกได้ถึง “บารมี” รวมทั้งเทคนิคการลิปซิงค์ในฉากโชว์ฟินาเล่ครั้งสุดท้าย ซึ่งยังไม่ค่อย “ซิงค์” เท่าไหร่ คิดว่าน่าจะต้องทำได้ “เนียน” กว่านี้มากๆ

ไม่เช่นนั้นแล้ว “เจ๊มารายห์” ก็จะเป็นได้แค่นางโชว์ “ปลอมๆ”

ในขณะที่งานด้านฉากของ The 4 Sisters ก็ยังทำได้ดีและน่าสนใจ พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าของโรงละครถูกแบ่งครึ่งตามยาว ส่วนสำหรับการแสดงด้านซ้าย (ของผู้ชม) จัดฉากเป็นเคาน์เตอร์ร้าน ที่นั่งประจำของหญิง ส่วนนี้จะจมอยู่ในแสงทึบทึมตลอดเรื่อง (เหมือนกับตัวตนของหญิง) ขณะที่ครึ่งทางขวาจัดเป็นเวทีของร้าน ตกแต่งด้วยฉากและเลื่อมสีแดงสด ไฟสว่างจ้า แลดูอลังการอย่างปอนๆ (ไม่ผิดกับเหล่านางโชว์) ส่วนเทคนิคการใช้ประตูทางเข้าโรงเป็นประตูเข้าฉากของนักแสดงไปด้วย อย่างที่เคยใช้ได้ดีมาตั้งแต่ Water/Time ก็ยังคงใช้ได้ผลที่นี่เช่นกัน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ละครเรื่องนี้เป็นโปรดักชั่นอันดับถัดมาจาก Water/Time จึงอดไม่ได้ที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกัน และสำหรับผู้เขียนแล้ว ก็ยังคิดว่าชอบ Water/Time มากกว่าอยู่ดี...


The 4 Sisters

LIFE Theatre

กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน

นักแสดง: สรร ถวัลย์วงศ์ศรี, โชโกะ ทานิกาวา, เสฎพันธุ์ เสริญไธสง, อภิรักษ์ ชัยปัญหา, ศศิธร พานิชนก ออกแบบฉาก : ศรีมณฑา ธีระวัฒนชัย

19-21, 26-28 กุมภาพันธ์ และ 1-3 มีนาคม 2553

Blue Box Studio (ภายในอาคารโรงละคร M Theatre)


พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 134 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2554

การกลับมาของ "ผ่าผิวน้ำ"



“เพียงแค่ถ้าตอนนั้น...”


หลายคนคงเคยแอบนึกว่า ถ้าเรากลับไปเปลี่ยนชีวิตบางช่วงบางตอน เปลี่ยนการตัดสินใจบางครั้ง (หรือหลายครั้ง!) ในอดีตได้ บางทีชีวิตของเราอาจไม่เป็นอยู่อย่างที่เป็นในขณะนี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตเราอาจจะดีขึ้นกว่านี้ เพียงแค่ถ้าตอนนั้น...

“ข้อแม้” ที่ว่า “ถ้าย้อนเวลาไปได้” นี้ ก็ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขตั้งต้นสำคัญในผลงานละครเวที ผ่าผิวน้ำ (Breaking the Surface) ของ New Theatre Society ที่ตั้งโจทย์ให้นายกันตชาติ (กฤษณะ พันธุ์เพ็ง) นักกีฬากระโดดน้ำทีมชาติ ระดับ “เจ้าเหรียญทอง” วัย 29 ปี สามารถหวนกลับไปแก้ไขชีวิตที่ผ่านมาของเขาอีกครั้ง เพื่อจะได้รอดพ้นช่วงเวลาหกปีแห่งความทุกข์ใจและเหตุหายนะในชีวิต อันเนื่องมาจาก “ท็อป” หรือนายนักรบ (ปราโมทย์ แสงศร) สามีคู่เกย์และผู้จัดการส่วนตัวของเขา

ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าของละคร จากการปะติดปะต่อความทรงจำ กันตชาติพยายามค้นหา “ขณะ” ที่เขาจะกลับไปเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่วัยเด็ก สู่วัยรุ่น ก่อนหน้าที่จะพบกับท็อป จนเมื่อมาตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน และทุกข์ทรมานกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ มาอีกหกปี เพียงเพื่อจะพบว่าเขาแทบไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย เว้นแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สลักสำคัญอันใด

ใคร (ที่เกิดทันและ) เคยชม อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ผลงานยุคต้นของคณะละคร 28 เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เมื่อมาดู ผ่าผิวน้ำ ก็คงรู้สึกคลับคล้ายคลับคลา นั่นก็เพราะละครทั้งสองเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากบทละครตะวันตกเรื่องเดียวกัน แต่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์หรือบริบทของสังคมไทยต่างยุค ใน อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ตัวละครเป็นชาย-หญิง ส่วนใน พ.ศ. นี้ ผ่าผิวน้ำ เลือกนำเสนอเป็นชีวิตของคู่เกย์แทน ผู้กำกับและผู้เขียนบท คือ คุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ สร้าง ผ่าผิวน้ำ ขึ้นอย่างเฉลียวฉลาด โดยเลือกดัดแปลงบทละครเดิม คือ Biography: A Game ของ Max Frisch ผสมเข้ากับเค้าโครงจาก Breaking the Surface หนังสืออัตชีวประวัติของเกร็ก ลูกานิส นักกีฬากระโดดน้ำแชมป์โอลิมปิกของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นเกย์ และติดเชื้อ HIV

ฝีมือของคุณดำเกิงในการแปลและ “แปลง” บทละครต้นฉบับในภาษาอื่นมาเป็นไทยนั้น ถือได้ว่าโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการ นางนากเดอะมิวเซียม ผลงานการเขียนบทและกำกับการแสดงของเขาซึ่งได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์อย่างถล่มทลายในปี 2552 ก็เป็นการดัดแปลงบทละครจากภาษาฝรั่งมาได้อย่างแนบเนียนยิ่ง ส่วนใน ผ่าผิวน้ำ ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่ากลมกลืนกับบริบทสังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างสมจริงมากกว่าเมื่อครั้งที่คณะละคร 28 นำมาสร้างเป็น อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ

แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยปัจจุบันที่กลืนกลายใกล้เคียงกับสังคมตะวันตกเข้าไปทุกทีก็ย่อมมีส่วนสำคัญในความได้เปรียบของ New Theatre Society ครั้งนี้

ตัวอย่างเล็กๆ อันหนึ่งก็คือ ผู้เขียนยังจำได้ว่า ในปี 2529 นั้น นักวิจารณ์อาวุโสท่านหนึ่ง “เย้า” บทสนทนาใน อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ที่พูดถึงการโทรศัพท์ไปเรียกรถแท็กซี่ว่า เมืองไทยเรามีด้วยหรือ ? แต่เมื่อมาถึง ผ่าผิวน้ำ บทสนทนาเดิมก็ยังอยู่ และผ่านหูไปโดยไม่สะดุดอะไรแล้ว

นอกจากตัวบทแล้ว ความโดดเด่นอีกประการของ ผ่าผิวน้ำ ก็คือการคัดเลือกนักแสดง ทั้งกฤษณะ พันธุ์เพ็ง และปราโมทย์ แสงศร นั้น ทำให้ผู้ชมเชื่อได้โดยดุษณี ว่าเขาคือกันตชาติ เกย์หนุ่มนักกีฬา กับท็อป คู่ขาเพลย์บอย จริงๆ เห็นในสูจิบัตรว่ากฤษณะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านละครอยู่ที่อังกฤษ ก็หวังใจว่าเขาคงกลับมาเป็นกำลังสำคัญของวงการในเร็วๆ นี้ ส่วนปราโมทย์นั้น เขาเข้าวงการบันเทิงมาไล่เลี่ยกับ “เต๋า” สมชาย เข็มกลัด และ “มอส” ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ในระยะหลัง เขาผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ แต่ในฐานะนักแสดง ก็ต้องยอมรับว่าผลงานของเขาใน ผ่าผิวน้ำ นั้น คือฝีไม้ลายมือจริงๆ

รวมทั้งคุณกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ที่รับบทเป็น “ผู้กำกับ” ดูแลการ “รีรัน” ชีวิตของกันตชาติ ก็ยังคงรักษาฟอร์มของ “รุ่นใหญ่” ในวงการละครเวทีโรงเล็กไว้ได้ไม่มีตก

ผ่าผิวน้ำ ลงท้ายว่า หลังจากปล่อยให้กันตชาติเลือกแล้ว เลือกอีก ย้อนกลับไปกลับมาเหมือนดูหนังฉากซ้ำๆ เพียงเพื่อจะพบว่าเขาทำอะไรไม่ได้มากนัก ผู้กำกับจึงหันไปหาท็อปบ้าง พร้อมกับให้สิทธินั้นกับเขา

ท็อปกลับตัดสินใจได้เด็ดขาดกว่า โดยเลือกเดินหันหลังออกไปจากชีวิตของกันตชาติตั้งแต่คืนแรกที่พบกันนั้นเอง บางที คนส่วนใหญ่ก็อาจไม่ต่างกับกันตชาติ ที่ไม่ว่าเราจะเลือกสักกี่ครั้ง แต่ในเมื่อผู้เลือกยังเป็นคนเดิม มีพื้นฐานความคิด ประสบการณ์ชีวิต นิสัย สติปัญญามาแบบหนึ่ง เมื่อจะตัดสินใจ ก็ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของตัว ดังนั้น สิ่งที่เลือกมาได้ก็ย่อมไม่ต่างจากเดิมนัก

แม้แต่ผู้เขียนเอง ซื้อเสื้อซื้อกางเกงใหม่ทีไร กลับมาบ้านก็พบว่าหน้าตาสีสันไม่ต่างจากตัวที่แขวนบนราวผ้าที่บ้านอยู่แล้วทุกที...



ผ่าผิวน้ำ

New Theatre Society

บทละคร ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

ดัดแปลงจาก Biography: A Game ของ Max Frisch

และหนังสือ Breaking the Surface อัตชีวประวัติของ Greg Louganis

กำกับการแสดง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

นักแสดง กฤษณะ พันธุ์เพ็ง ปราโมทย์ แสงศร วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เกรียงไกร ฟูเกษม


Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ 3-7 ธันวาคม 2551

เดโมเครซีสตูดิโอ 27 เมษายน-8 พฤษภาคม 2553


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 132 ปักษ์หลัง มกราคม 2554