วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

The 4 Sisters


“แท้” ใน “เทียม”


ในวันสุดท้ายของร้านมูนไลท์ ร้านที่เคยเป็นตำนานของวงการ “นางโชว์” (หรือโชวกระเทย) วันนั้นเหลือเพียง “Miss Monkey” หรือชื่อเดิม “หนุ่ม” สรศักดิ์ (สรร ถวัลย์วงศ์ศรี) นางโชว์ร่างยักษ์ผู้ไม่มีที่ไป กับ “แจ็ค” (เสฎพันธุ์ เสริญไธสง) เด็กใหม่ในฉายา “Miss Cow” ซึ่งกำลังสับสน ว่าจะหาทางประกาศตัวตนความเป็น “สาว” ของเขาได้หรือไม่ อย่างไรดี จู่ๆ ท่ามกลางความหดหู่กระอักกระอ่วนนั้นเอง “เจ๊มารายห์” (“Mariah”) ก็ปรากฏตัวขึ้นที่หน้าประตูร้าน

“เจ๊” (อภิรักษ์ ชัยปัญหา) คืออดีตดาวดังของร้านมูนไลท์ ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจนต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไประยะหนึ่ง เธอกลับมาอีกครั้งด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อร้านแห่งนี้ และผู้คนที่นี่

ต้นเหตุสำคัญของยุคเสื่อมที่ร้านมูนไลท์ ก็คือแนวนโยบายของ “หญิง” (ศศิธร พานิชนก) เจ้าของร้าน


เธอบังคับให้นางโชว์ทั้งหมด ซึ่งเคยแต่แต่งหน้าแต่งตัวแบบอลังการดาวล้านดวง ขยับปากทำเหมือนร้องเพลงตามเสียงร้องของคนอื่น อย่างที่เรียกกันว่า “ลิปซิงค์” (Lip sync ย่อมาจาก lip synchronization) ให้ต้องแต่งเพลงสดและร้องด้วยเสียงจริงของตัวเองบนเวที เพราะเธอยืนยันว่า ก็ในเมื่อนางโชว์ทั้งหลายที่เป็นผู้หญิง “ปลอม” ล้วนมีความฝันใฝ่ที่จะเป็น “ของจริง” จึงควรต้องทำอะไรที่ “จริง” เสียบ้าง

แต่การ “ด้นสด” นั้น ย่อมไม่ใช่ทักษะที่ใครๆ จะทำได้ นางโชว์ระดับแถวหน้าของร้านจึงค่อยๆ ทยอยย้ายไปร้านอื่น ลูกค้าก็พลอยหายหน้า พร้อมกับที่ร้านมูนไลท์ตกต่ำลงทุกที จนถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน และมีกำหนดต้องปิดร้านไปในคืนนั้น

การปะทะคารมระหว่างหญิงกับเจ๊มารายห์ หรือชื่อเดิม นายทานตะวัน ค่อยๆ เปิดเผยให้ผู้ชมได้เห็นอีกด้านของร้านมูนไลท์ และด้านหลังของชีวิตพวกเธอ

“พี่ใหญ่” และ “เจ๊จุ๋ม” พ่อแม่ของหญิง ล้วนเคยอุปการะเลี้ยงดูพวกนางโชว์แทบทุกคนมาเหมือนเป็นลูกของตัวเอง ไม่เว้นแต้แต่เจ๊มารายห์ ผู้ถูกพ่อแม่แท้ๆ ทิ้งขว้าง แต่แล้ววันหนึ่ง พี่ใหญ่กลับหนีตามผู้หญิงคนหนึ่งไปเฉยๆ พร้อมกับฉกฉวยเอาเงินทั้งหมดของร้านและของครอบครัวไปด้วย

หญิงต้องลาออกจากงานประจำที่เคยทำ มาบริหารกิจการของที่บ้าน ด้วยความขุ่นเคืองและเคียดแค้นพ่อ นโยบายห้ามลิปซิงค์ของเธอจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์แฝงคือการทำลายล้างร้านนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อรักมากที่สุดอย่างหนึ่ง หากแต่พร้อมกันนั้น ที่เธอกลบฝังไว้ใต้บุคลิกกร้าวแข็งก็คือความจริงที่ว่า เธอเองก็รักที่นี่เช่นเดียวกัน เพราะประวัติศาสตร์ 30 ปีของมูนไลท์ ก็คือชีวิตของหญิงเองด้วย เรื่องที่เหลือของ The 4 Sisters ย่อมไม่ยากเกินคาดเดา

เจ๊มารายห์ขอโอกาสจากหญิงให้เธอได้กลับขึ้นเวที ร่วมในการโชว์รอบสุดท้ายของร้าน กับนางโชว์ที่เหลืออยู่ พวกเขา (หรือ “เธอ”) แกล้งทำเป็นไม่ใส่ใจกับคำสั่งของหญิง และร่วมกันลิปซิงค์เพลง Hero ว่าแท้ที่จริงแล้ว “ผู้กล้า” หรือ “วีรชน” นั้น ไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนดอก หากแต่สถิตอยู่ในใจของทุกผู้ทุกนามอยู่แล้ว รวมทั้งหญิงและพวกเธอเอง

ในที่สุด หญิงจึงตัดสินใจเปิดร้านต่อ เพราะเธอรู้แล้วว่า ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ “ครอบครัว” จริงๆ ของเธอ แต่เธอก็ยังมี “พี่น้อง” ที่รักเธอ และรักร้านมูนไลท์ไม่ต่างกันกับเธอ

และนั่นคงเป็นสาเหตุที่ละครเรื่องนี้เลือกใช้ชื่อว่า The 4 Sisters (สี่ดรุณีพี่น้อง)

ละครเรื่องนี้เป็นผลงานล่าสุดของ Life Theatre ซึ่งเคยสร้างผลงานอันน่าประทับใจแห่งปี 2552 อย่าง Water/Time มาแล้ว เขียนบทโดยโชโกะ ทานิกาวา และกำกับการแสดงโดย “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน เช่นเดียวกัน

แม้ว่าละครจะถูกตั้งเข็มไว้ให้เป็นละครมิวสิคัลตลก (ซึ่งก็ตลกจริง!) แต่พร้อมกันนั้น ก็ย่อมต้อง “ไว้ลาย” ของ Life Theatre ในอันที่จะนำเสนอประเด็นสำคัญบางอย่างไปพร้อมกัน สำหรับ The 4 Sisters ประเด็นนั้นก็คือการตั้งคำถามกับความเป็น “ของจริง-ของแท้” กับ “ของเทียม-ของปลอม” ที่ซ้อนเหลื่อม หรือเคลือบฉาบกันอยู่เป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล่ากระเทยที่เป็นผู้หญิงเทียม การลิปซิงค์ที่ไม่ใช่การร้องเพลงจริงๆ นายดี (โชโกะ ทานิกาวา) เด็กร้านชาวกะเหรี่ยง ที่ต้อง “ปลอม” เป็นไทย ด้วยการคอยร้องเพลงชาติไทยแบบกระท่อนกระแท่น หรือกระทั่งครอบครัว “ปลอมๆ” ของสี่ดรุณี หากแต่ลึกลงไปจากความเทียมหรือของเก๊ที่ว่า ก็ยังมีความจริงหรือของแท้อยู่


นั่นคือความเป็นมนุษย์ ที่หากมีความรัก ความผูกพันกันแล้ว ก็สามารถประกอบสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงขึ้นได้ในชีวิต เป็นต้น

แต่แล้ว ประเด็นว่าด้วย “ของแท้-ของเทียม” นี้ กลับย้อนศรหันหลังมาแว้งกัด The 4 Sisters เข้าให้ ทั้งที่ก็อดรู้สึกชื่นชมพลังและความสามารถของเหล่านางโชว์ในละครเรื่องนี้ไม่ได้ แต่แล้วกลับรู้สึกว่า เขา (หรือ “เธอ”) เพียง “แสดง” เป็นนางโชว์ แต่ไม่ได้ “เป็น” นางโชว์ โดยเฉพาะอาจารย์อภิรักษ์ ชัยปัญหา ซึ่งได้รับบทนำในละครเรื่องนี้ ทั้งที่เคยชื่นชมกับเขาใน Water/Time เป็นอย่างยิ่ง แต่ผู้เขียนก็ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่านี่คือนางโชว์ระดับ ตัวแม่ ทั้งในแง่ที่ไม่ค่อยรู้สึกได้ถึง “บารมี” รวมทั้งเทคนิคการลิปซิงค์ในฉากโชว์ฟินาเล่ครั้งสุดท้าย ซึ่งยังไม่ค่อย “ซิงค์” เท่าไหร่ คิดว่าน่าจะต้องทำได้ “เนียน” กว่านี้มากๆ

ไม่เช่นนั้นแล้ว “เจ๊มารายห์” ก็จะเป็นได้แค่นางโชว์ “ปลอมๆ”

ในขณะที่งานด้านฉากของ The 4 Sisters ก็ยังทำได้ดีและน่าสนใจ พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าของโรงละครถูกแบ่งครึ่งตามยาว ส่วนสำหรับการแสดงด้านซ้าย (ของผู้ชม) จัดฉากเป็นเคาน์เตอร์ร้าน ที่นั่งประจำของหญิง ส่วนนี้จะจมอยู่ในแสงทึบทึมตลอดเรื่อง (เหมือนกับตัวตนของหญิง) ขณะที่ครึ่งทางขวาจัดเป็นเวทีของร้าน ตกแต่งด้วยฉากและเลื่อมสีแดงสด ไฟสว่างจ้า แลดูอลังการอย่างปอนๆ (ไม่ผิดกับเหล่านางโชว์) ส่วนเทคนิคการใช้ประตูทางเข้าโรงเป็นประตูเข้าฉากของนักแสดงไปด้วย อย่างที่เคยใช้ได้ดีมาตั้งแต่ Water/Time ก็ยังคงใช้ได้ผลที่นี่เช่นกัน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ละครเรื่องนี้เป็นโปรดักชั่นอันดับถัดมาจาก Water/Time จึงอดไม่ได้ที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกัน และสำหรับผู้เขียนแล้ว ก็ยังคิดว่าชอบ Water/Time มากกว่าอยู่ดี...


The 4 Sisters

LIFE Theatre

กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน

นักแสดง: สรร ถวัลย์วงศ์ศรี, โชโกะ ทานิกาวา, เสฎพันธุ์ เสริญไธสง, อภิรักษ์ ชัยปัญหา, ศศิธร พานิชนก ออกแบบฉาก : ศรีมณฑา ธีระวัฒนชัย

19-21, 26-28 กุมภาพันธ์ และ 1-3 มีนาคม 2553

Blue Box Studio (ภายในอาคารโรงละคร M Theatre)


พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 134 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น