วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

การกลับมาของ "ผ่าผิวน้ำ"



“เพียงแค่ถ้าตอนนั้น...”


หลายคนคงเคยแอบนึกว่า ถ้าเรากลับไปเปลี่ยนชีวิตบางช่วงบางตอน เปลี่ยนการตัดสินใจบางครั้ง (หรือหลายครั้ง!) ในอดีตได้ บางทีชีวิตของเราอาจไม่เป็นอยู่อย่างที่เป็นในขณะนี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตเราอาจจะดีขึ้นกว่านี้ เพียงแค่ถ้าตอนนั้น...

“ข้อแม้” ที่ว่า “ถ้าย้อนเวลาไปได้” นี้ ก็ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขตั้งต้นสำคัญในผลงานละครเวที ผ่าผิวน้ำ (Breaking the Surface) ของ New Theatre Society ที่ตั้งโจทย์ให้นายกันตชาติ (กฤษณะ พันธุ์เพ็ง) นักกีฬากระโดดน้ำทีมชาติ ระดับ “เจ้าเหรียญทอง” วัย 29 ปี สามารถหวนกลับไปแก้ไขชีวิตที่ผ่านมาของเขาอีกครั้ง เพื่อจะได้รอดพ้นช่วงเวลาหกปีแห่งความทุกข์ใจและเหตุหายนะในชีวิต อันเนื่องมาจาก “ท็อป” หรือนายนักรบ (ปราโมทย์ แสงศร) สามีคู่เกย์และผู้จัดการส่วนตัวของเขา

ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าของละคร จากการปะติดปะต่อความทรงจำ กันตชาติพยายามค้นหา “ขณะ” ที่เขาจะกลับไปเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่วัยเด็ก สู่วัยรุ่น ก่อนหน้าที่จะพบกับท็อป จนเมื่อมาตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน และทุกข์ทรมานกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ มาอีกหกปี เพียงเพื่อจะพบว่าเขาแทบไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย เว้นแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สลักสำคัญอันใด

ใคร (ที่เกิดทันและ) เคยชม อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ผลงานยุคต้นของคณะละคร 28 เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เมื่อมาดู ผ่าผิวน้ำ ก็คงรู้สึกคลับคล้ายคลับคลา นั่นก็เพราะละครทั้งสองเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากบทละครตะวันตกเรื่องเดียวกัน แต่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์หรือบริบทของสังคมไทยต่างยุค ใน อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ตัวละครเป็นชาย-หญิง ส่วนใน พ.ศ. นี้ ผ่าผิวน้ำ เลือกนำเสนอเป็นชีวิตของคู่เกย์แทน ผู้กำกับและผู้เขียนบท คือ คุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ สร้าง ผ่าผิวน้ำ ขึ้นอย่างเฉลียวฉลาด โดยเลือกดัดแปลงบทละครเดิม คือ Biography: A Game ของ Max Frisch ผสมเข้ากับเค้าโครงจาก Breaking the Surface หนังสืออัตชีวประวัติของเกร็ก ลูกานิส นักกีฬากระโดดน้ำแชมป์โอลิมปิกของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นเกย์ และติดเชื้อ HIV

ฝีมือของคุณดำเกิงในการแปลและ “แปลง” บทละครต้นฉบับในภาษาอื่นมาเป็นไทยนั้น ถือได้ว่าโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการ นางนากเดอะมิวเซียม ผลงานการเขียนบทและกำกับการแสดงของเขาซึ่งได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์อย่างถล่มทลายในปี 2552 ก็เป็นการดัดแปลงบทละครจากภาษาฝรั่งมาได้อย่างแนบเนียนยิ่ง ส่วนใน ผ่าผิวน้ำ ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่ากลมกลืนกับบริบทสังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างสมจริงมากกว่าเมื่อครั้งที่คณะละคร 28 นำมาสร้างเป็น อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ

แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยปัจจุบันที่กลืนกลายใกล้เคียงกับสังคมตะวันตกเข้าไปทุกทีก็ย่อมมีส่วนสำคัญในความได้เปรียบของ New Theatre Society ครั้งนี้

ตัวอย่างเล็กๆ อันหนึ่งก็คือ ผู้เขียนยังจำได้ว่า ในปี 2529 นั้น นักวิจารณ์อาวุโสท่านหนึ่ง “เย้า” บทสนทนาใน อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ ที่พูดถึงการโทรศัพท์ไปเรียกรถแท็กซี่ว่า เมืองไทยเรามีด้วยหรือ ? แต่เมื่อมาถึง ผ่าผิวน้ำ บทสนทนาเดิมก็ยังอยู่ และผ่านหูไปโดยไม่สะดุดอะไรแล้ว

นอกจากตัวบทแล้ว ความโดดเด่นอีกประการของ ผ่าผิวน้ำ ก็คือการคัดเลือกนักแสดง ทั้งกฤษณะ พันธุ์เพ็ง และปราโมทย์ แสงศร นั้น ทำให้ผู้ชมเชื่อได้โดยดุษณี ว่าเขาคือกันตชาติ เกย์หนุ่มนักกีฬา กับท็อป คู่ขาเพลย์บอย จริงๆ เห็นในสูจิบัตรว่ากฤษณะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านละครอยู่ที่อังกฤษ ก็หวังใจว่าเขาคงกลับมาเป็นกำลังสำคัญของวงการในเร็วๆ นี้ ส่วนปราโมทย์นั้น เขาเข้าวงการบันเทิงมาไล่เลี่ยกับ “เต๋า” สมชาย เข็มกลัด และ “มอส” ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ในระยะหลัง เขาผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ แต่ในฐานะนักแสดง ก็ต้องยอมรับว่าผลงานของเขาใน ผ่าผิวน้ำ นั้น คือฝีไม้ลายมือจริงๆ

รวมทั้งคุณกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ที่รับบทเป็น “ผู้กำกับ” ดูแลการ “รีรัน” ชีวิตของกันตชาติ ก็ยังคงรักษาฟอร์มของ “รุ่นใหญ่” ในวงการละครเวทีโรงเล็กไว้ได้ไม่มีตก

ผ่าผิวน้ำ ลงท้ายว่า หลังจากปล่อยให้กันตชาติเลือกแล้ว เลือกอีก ย้อนกลับไปกลับมาเหมือนดูหนังฉากซ้ำๆ เพียงเพื่อจะพบว่าเขาทำอะไรไม่ได้มากนัก ผู้กำกับจึงหันไปหาท็อปบ้าง พร้อมกับให้สิทธินั้นกับเขา

ท็อปกลับตัดสินใจได้เด็ดขาดกว่า โดยเลือกเดินหันหลังออกไปจากชีวิตของกันตชาติตั้งแต่คืนแรกที่พบกันนั้นเอง บางที คนส่วนใหญ่ก็อาจไม่ต่างกับกันตชาติ ที่ไม่ว่าเราจะเลือกสักกี่ครั้ง แต่ในเมื่อผู้เลือกยังเป็นคนเดิม มีพื้นฐานความคิด ประสบการณ์ชีวิต นิสัย สติปัญญามาแบบหนึ่ง เมื่อจะตัดสินใจ ก็ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของตัว ดังนั้น สิ่งที่เลือกมาได้ก็ย่อมไม่ต่างจากเดิมนัก

แม้แต่ผู้เขียนเอง ซื้อเสื้อซื้อกางเกงใหม่ทีไร กลับมาบ้านก็พบว่าหน้าตาสีสันไม่ต่างจากตัวที่แขวนบนราวผ้าที่บ้านอยู่แล้วทุกที...



ผ่าผิวน้ำ

New Theatre Society

บทละคร ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

ดัดแปลงจาก Biography: A Game ของ Max Frisch

และหนังสือ Breaking the Surface อัตชีวประวัติของ Greg Louganis

กำกับการแสดง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

นักแสดง กฤษณะ พันธุ์เพ็ง ปราโมทย์ แสงศร วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เกรียงไกร ฟูเกษม


Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ 3-7 ธันวาคม 2551

เดโมเครซีสตูดิโอ 27 เมษายน-8 พฤษภาคม 2553


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 132 ปักษ์หลัง มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น