วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

เด๊ดสะมอเร่






เทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยง เสนาลักษณ์ 2476 - 2545) พิธีกรโทรทัศน์และนักโฆษณายุคบุกเบิกตั้งแต่สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม ผู้เป็นต้นทางของคาแรคเตอร์ “ตุ้งติ้ง” ในทีวีไทย คือต้นตำรับคำแสลงสุดเหวี่ยงหลายๆ คำ เช่น "เริ่ดสะแมนแตน" (เลิศ!เลิศ!เลิศ!) "ส.บ.ม.ย.ห." (สบายมาก-อย่าห่วง)
“เด๊ดสะมอเร่” ก็คือหนึ่งในนั้น


หลายสิบปีก่อน คุณเทิ่งหยิบเอาชื่อและท่อนฮุคจาก That’s Amore (แปลได้ประมาณว่า นั่นแหละคือรัก!) เพลงฮิตยุคทศวรรษ 1950 ของดีน มาร์ติน มาแผลงเป็น “เด๊ดสะมอเร่” ในความหมายว่า ตายแล้วเรียบร้อย


มาถึงปีนี้ นพพันธ์ บุญใหญ่ หยิบเอาคำของเทิ่ง สติเฟื่อง (รวมทั้งเพลงของดีน มาร์ติน) มาพลิกความหมายกลับไปอีกด้านหนึ่ง โดยใช้เป็นชื่อละครเวทีของเขา


เมื่อดูจบ ผมรู้สึกว่านพพันธ์กำลังจะบอกคนดูว่า ละครของเขาคือเรื่อง “ความตายที่รัก” (Death’s Amore)


น่าเสียดายที่ (เท่าที่ผมเห็น) ไม่ได้มีการระบุที่มาของคำคำนี้ไว้ตรงไหนเลย ทั้งที่น่าจะต้องให้เครดิตแก่คุณเทิ่ง ผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง รวมทั้งยังจะเป็นการสืบต่อประวัติของคำไว้ให้ “เด็กๆ” ได้รู้กันด้วย


เมื่อเริ่มเรื่อง ชายเสื้อฟ้า (คานธี อนันตกาญจน์ - นักดนตรีและนักแสดงละครเวทีที่แสนจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในวงการ) ปรากฏตัวขึ้นในห้องแปลกๆ ที่มีเก้าอี้แค่สองตัว ชายชุดดำ (“งิ่ง” - รัชชัย รุจิวิพัฒน์ นักแสดงละครใบ้จากกลุ่ม babymime) คนที่นั่งข้างเขา ใส่เชิร์ตดำ สูทดำ รองเท้าดำ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ในมือถือถ้วยกาแฟร้อนยกขึ้นจิบ
ชายชุดดำเอ่ยปากขึ้นก่อนว่า “จะไปกันหรือยัง?”


เรื่องก็กลายเป็นแบบที่พอจะเดาๆ กันได้

ชายเสื้อฟ้า ตายแล้ว สิ้นชีพ ซี๊แหง๋ เท่งทึง และ “เด๊ดสะมอเร่” แต่เขายังไม่รู้ตัว
ชายชุดดำ เป็น “ใครบางคน” ที่มีหน้าที่ต้องมาพาชายเสื้อฟ้าไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง
ในห้องประหลาดนั้น เราค่อยๆ ปะติดปะต่อ “ชีวิต” ที่ชายเสื้อฟ้าทิ้งไว้เบื้องหลัง
อดีตวัยเยาว์ที่เขาชอบ “แต่งหญิง” และร้อง “เพลงสุดท้าย” ชีวิตวัยเรียนที่ไม่มีใครคบ งานผู้กำกับหนังโฆษณาที่เขากำลังทำอยู่ สาวคนรักของเขา รวมทั้ง “กิ๊ก” ที่นั่งมาในรถกับเขาขณะประสบอุบัติเหตุแท่งปูนกั้นทางด่วนถูกรถอีกคันหนึ่งชนจนหลุดตกมาทับรถ จนเสียชีวิตทั้งคู่


สิ่งที่เขาเคยอยากทำ เคยผัดผ่อนไว้ว่าค่อยทำวันหลัง คนที่เขาคิดว่าจะเจอเมื่อไหร่ก็ได้ จึงยังไม่ต้องไปเจอ ทุกอย่างกลายเป็นอดีตสัมบูรณ์ กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้


แต่แล้ว ชายชุดดำก็ได้รับคำสั่งจาก “หัวหน้า” ให้ไปทำธุระอย่างอื่นก่อน จึงสั่งให้เขารออยู่กับที่
ก่อนที่จะมีหญิงสาวชุดขาวพองท่าทางแปลกๆ อีกคน (สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล) มาคาดคั้นให้เขาไปกับเธอแทน ก่อนจะถูก “หัวหน้า” เรียกไปอีกคน


ยังไม่นับรวมคนอื่นๆ ที่ผ่านมาพบเจอเขาในระหว่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นฮิปปี้สุดเซอร์ (สายฟ้า ตันธนา) ที่ท่าทางเหมือนคนขายของเร่แบกะดิน หรือนักพรตฮินดู (?) ผู้มากับผมมวย ชุดขาว และมาลัยดอกดาวเรืองคล้องคอ


หากแต่ปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของชายเสื้อฟ้า คือเขาต้องกรอกแบบฟอร์ม
แบบฟอร์มที่ให้ระบุความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิต เพื่อจะได้เก็บรักษาไว้กับตัวเขาในระหว่างที่ต้องรอคอยไปอีกแสนนาน
แต่แล้วเขากลับไม่สามารถนึกถึงอะไรได้เลยสักอย่างเดียว...
เขาไม่เคยมีความทรงจำดีๆ ใดๆ ในชีวิต !


ทั้งเจ้าหน้าที่ชุดดำและชุดขาวจึงช่วยคิดให้ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรที่เขาอยากมีอยากได้ แต่ยังไม่เคยมีเคยได้ และคำตอบจากชายเสื้อฟ้าคือ “รางวัลออสการ์”

ชายชุดดำและหญิงชุดขาวจึงช่วยกันจัดฉากงานแจกตุ๊กตาทองประจำปี 2011 เพื่อหวังจะให้อดีตผู้กำกับหนุ่มใช้เป็นความทรงจำนำติดตัวไปแทน


เด๊ดสะมอเร่ เป็นละครตลก ที่ตลกจริงอะไรจริง แต่พร้อมกันนั้น ก็เป็น “ตลกร้าย” (black comedy) ที่เล่นกับเรื่องอันเป็น “หลุมดำ” ของชีวิตอย่างเช่น “ความตาย”


ในโลกหลังความตายของ “เด๊ดสะมอเร่” ก็ดูจะไม่ต่างกับโลกของคนเป็นเท่าใดนัก มีบัตรคิวให้นั่งรอเรียก มีการปัดแข้งปัดขาระหว่างชายชุดดำและหญิงสาวชุดขาวที่ดูเหมือนจะทำงานแบบเดียวกัน แต่คนละแผนก


และที่ดูผิดแปลกไปจากสิ่งที่คนมักคาดคิดกันก็คือ ดูเหมือนว่า ชายชุดดำกำลังจะมารับเขาไปสถานที่บางแห่งที่ “คล้ายๆ สวรรค์” คือเต็มไปด้วยคนดี พระสงฆ์ ยายชี ผีบรรพบุรุษที่น่าเบื่อหน่าย ขณะที่สาวชุดขาวก็เชียร์ให้เขาไปกับเธอ ไปยังสถานที่อีกแห่ง ที่ซึ่งจะทำเรื่องหยาบช้าลามกกันได้ตลอดกาล


จะไปไหนอย่างไร หรือสุดท้ายแล้ว ความทรงจำ (หรือการลืมเลือน) ที่จะติดตัวเขาไปคืออะไร ล้วนเป็นการตัดสินใจของชายเสื้อฟ้าคนนั้น

เด๊ดสะมอเร่ นำเสนอในท่วงทีแบบละครแอบเสิร์ด (และแอบฮา) ทว่า พร้อมกันนั้น ละครเรื่องนี้ก็ “ตบหัว” คนดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยการตั้งคำถามเอากับการมีชีวิตอยู่

ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ชายเสื้อฟ้าได้บัตรคิวหมายเลข 555
เมื่อหยิบตั๋วละครเรื่องนี้ขึ้นมาดู ของแต่ละคนก็ล้วนเป็นบัตรคิวเช่นกัน อย่างตั๋วของผม และเท่าที่เหลือบดูของคนข้างๆ เห็นเป็นหมายเลขลำดับ 600 ขึ้นไป แล้ว...


ใครจะเป็นรายต่อไป


เด๊ดสะมอเร่ (รีสเตจ)บทละครและกำกับการแสดง นพพันธ์ บุญใหญ่
นักแสดง คานธี อนนันตกาญจน์ / รัชชัย รุจิวิพัฒน์ / สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล / สายฟ้า ตันธนา
Cresent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
ตุลาคม 2553


เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ มีนาคม 2555

ละครซ้อนละครซ้อนละครซ้อน























มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ละครเวที รัก (ทะ) ลวงตา มีตัวบทที่แยบคายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมารวมกับนักแสดงระดับ “ตัวพ่อตัวแม่” ของวงการละครเวที “นอกรัชดาลัย” (เลียนแบบ Off-Broadway) ทั้งดุจดาว วัฒนปกรณ์, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, ปานรัตน กริชชาญชัย รวมถึง “ครูป้อม” ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้กำกับการแสดงที่โดดลงไปร่วมแสดงเองด้วย ล้วนทำให้ละครเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ที่นักดูละครเวทีย่อมไม่ควรพลาด


แล้วผู้เขียนจะยอมพลาดได้อย่างไร ?

รัก (ทะ) ลวงตา แปลและดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง Private Eyes ของ Steven Dietz เคยนำออกแสดงมาแล้วในฐานะละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ได้รับคำสรรเสริญ และรางวัลสีสันอวอร์ดมาตั้งแต่ครั้งนั้น


เมื่อดูจบแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าของเขาดีจริง!


สิ่งที่คนดูได้เห็นใน รัก (ทะ) ลวงตา ไม่ใช่แค่ละครซ้อนละคร แต่เป็นการซ้อนเหลื่อมของเรื่องเล่ามากมาย เมื่อสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น ทุก “เม็ด” ของละครเรื่องนี้เปรียบเสมือนการลวงล่อผู้ชมไปตามเขาวงกต เพื่อให้ไปพบกับทางตันบ้าง ทางเดิมที่เดินผ่านมาแล้วบ้าง หรือไม่อีกทีก็เป็นทางสามแพร่งสี่แพร่ง เมื่อเรื่องที่เราเคยเข้าใจอย่างหนึ่ง ในอีกพริบตาเดียว อาจกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป


เขียนอย่างนี้ คนที่ไม่ได้ดูต้องงง ถ้าจะยกตัวอย่าง “หยาบๆ” ก็คงเป็นทำนองนี้
เมื่อละครเริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนเป็นการออดิชั่น (audition - คัดเลือกนักแสดง) ของละครเรื่อง รัก(ทะ) ลวงตา ผู้กำกับการแสดง (นพพันธ์ บุญใหญ่) ให้นักแสดงสาว (ดุจดาว วัฒนปกรณ์) ลองซ้อมบทให้ดู แต่แล้วจู่ๆ กลับมีผู้กำกับฯ อีกคน (ปวิตร มหาสารินันทน์) ลุกขึ้นจากแถวที่นั่งคนดูพร้อมกับสั่งหยุดพัก สิ่งที่เราเห็นมาแต่แรกจึงเป็นการซ้อมฉากออดิชั่นตอนต้นของละคร โดยนพพันธ์และดุจดาวซึ่งเป็นนักแสดงคู่สามีภรรยา เมื่อละครดำเนินต่อไป คนดูจึงค่อยๆ รู้ว่าการซ้อมละครเรื่องนี้ที่จริงแล้วเป็นเพียงหน้าฉากของเรื่องชู้สาวระหว่างผู้กำกับฯ ปวิตรกับดุจดาว ที่ต้องแอบหลบๆ ซ่อนๆ ท่ามกลางความหวาดระแวง แม้ว่าเขาจะทำทีเสมือนไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ หากแต่ที่จริงแล้ว นพพันธ์รู้ดีว่าเขากำลังถูกสวมเขา จึงวางแผนล้างแค้นด้วยการสมคบกับสาวเสิร์ฟท่าทางประหลาดๆ (ปานรัตน กริชชาญชัย) ที่เขาเองก็แอบมีสัมพันธ์สวาทอยู่ วางยาพิษปวิตรและดุจดาวจนทั้งสองคนตายคาโต๊ะอาหาร เหตุการณ์นี้ถูกขัดจังหวะโดยจิตแพทย์ (ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช) ซึ่งลุกขึ้นโวยกับนพพันธ์ว่า เรื่องที่เขาเล่ามาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็นแต่ความคิดของนพพันธ์ ก่อนที่จะกลับตาลปัตรไปอีกครั้ง เมื่อจิตแพทย์ที่เห็นนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นแค่นักแสดงอีกคนที่มาออดิชั่นกับผู้กำกับนพพันธ์ แล้วต้องเดินคอตกออกจากห้องไปเมื่อไม่ได้รับคัดเลือก…

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น...


สิ่งที่ได้เห็นในละครเรื่องนี้ ก็คือการสร้าง “ความลวง” ขึ้นมา โดยเล่นกับความเป็น “สมมติ” ของละครเวทีได้อย่างเต็มเหนี่ยว ชนิดที่ภาพยนตร์ก็คงทำไม่ได้ เนื่องจากละครเวทีนั้น คนดูต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้นบางประการว่าทั้งหมดที่เห็นนั้น เป็นเพียงการสมมติขึ้นมา เวที ฉาก นักแสดง บทบาท อุปกรณ์ประกอบฉาก ทุกอย่างวางอยู่บนเงื่อนไขที่ว่านี้ ต่อให้เป็นนักแสดงชั้นเซียน ทว่าคนดูก็ยังต้องช่วยประกอบสร้าง “ความสมจริง” ขึ้นเองในใจไม่น้อยกว่าครึ่งค่อน


แต่แล้ว บทละครกลับหักหลังคนดูซ้ำแล้วซ้ำอีก เรื่องเล่าทั้งหมดทับซ้อนกันหลายชั้น ไปๆ มาๆ แล้ว แม้ว่าจะดูคล้ายเป็นเรื่องเล่าของนพพันธ์ แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเรื่องเล่าของใครกันแน่ มิหนำซ้ำ เรื่องทั้งหมดก็ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นที่ตรงไหน หรือจะจบเมื่อไร เมื่อใดคือการซ้อม เมื่อใดคือการออดิชั่น ส่วนไหนคือบทละคร ส่วนไหนคือเรื่องเล่าของตัวละคร การสร้างความลวงนี้ ดำเนินไปถึงระดับที่ให้นักแสดงใช้ชื่อจริงของตัวเป็นชื่อในบทละครทุกคน เหมือนกับว่าทุกคน “เล่นเป็นตัวเอง” ซ้อนไปอีกชั้น ยิ่งทวีความ “งงงวย” (ระคนกับความมันส์ในอารมณ์...) ให้แก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้นไปอีก ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ต่อหน้านี้ มี “เรื่องจริง” หรือ “ความจริง” อยู่ตรงไหนบ้าง


นั่นอาจเป็นเหตุผลที่บทละครในภาษาอังกฤษเดิมจึงมีชื่อเรื่องว่า นักสืบเอกชน หรือ Private Eyes เพราะผู้ชมจะค่อยๆ กลายร่างเป็นนักสืบ คอยสังเกต ระแวดระวัง และเฟ้นหา “ความจริง” ไปโดยปริยาย
ชื่อ รัก(ทะ)ลวงตา จึงให้ความหมายยอกย้อนแย้ง อ่านได้หลายแบบ จะอ่านว่า “รักลวงตา” หรือ “รักทะลวงตา” ก็ได้ นับว่าเป็นการตั้งชื่อที่ฉลาด เล่นกับภาษาได้คมคาย ว่านี่คือละครว่าด้วยรักที่ทั้ง “ลวงตา” (คือทำให้ไม่เห็น หรือเห็นเป็นอย่างอื่น) ขณะเดียวกันก็ “ทะลวงตา” (คือทำให้เห็นชีวิตในฐานะเรื่องเล่า) ไปพร้อมกัน


ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กำกับยังเลือกจัดเวทีแบบสนามกีฬา ทำนองเดียวกับเวทีมวยหรือบ่อนไก่ คือมีที่นั่งคนดูรอบทิศทาง ดังนั้น ผู้ชมแต่ละด้านย่อมได้ชมละครเรื่องนี้จากมุมที่แตกต่างกัน และย่อมได้รับ “ข้อมูล” ที่ไม่ครบถ้วน ไม่ “รอบด้าน” เช่นเดียวกับที่ตัวละครก็เลือกเล่าเรื่องผ่าน “มุมมอง” ของตนเช่นกัน


ทว่า บทละครที่ฉลาดขนาดนี้ และนักแสดงชั้นแนวหน้าของประเทศที่ประชันบทเชือดเฉือนกันจนแทบไม่มีเวลาหายใจแบบนี้ ก็อาจมีข้อด้อยอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ชมที่ไม่ฉลาดเฉลียวนัก (เช่นผู้เขียนเป็นต้น) เวลาเจอไดอาล็อกยาวๆ ซับซ้อนๆ แล้วคิดตามไม่ทัน บางครั้ง (ขอย้ำว่าแค่บางครั้ง) เลยถอดใจ จนเกือบจะถอยจิตสู่ภวังค์นิทรา...
รัก (ทะ) ลวงตาดัดแปลงบท/กำกับการแสดง ปวิตร มหาสารินันทน์
นักแสดง ปวิตร มหาสารินันทน์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, ปานรัตน กริชชาญชัย
หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
14 – 25 กันยายน 2553

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 151 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2554