วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ละครซ้อนละครซ้อนละครซ้อน























มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ละครเวที รัก (ทะ) ลวงตา มีตัวบทที่แยบคายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมารวมกับนักแสดงระดับ “ตัวพ่อตัวแม่” ของวงการละครเวที “นอกรัชดาลัย” (เลียนแบบ Off-Broadway) ทั้งดุจดาว วัฒนปกรณ์, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, ปานรัตน กริชชาญชัย รวมถึง “ครูป้อม” ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้กำกับการแสดงที่โดดลงไปร่วมแสดงเองด้วย ล้วนทำให้ละครเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ที่นักดูละครเวทีย่อมไม่ควรพลาด


แล้วผู้เขียนจะยอมพลาดได้อย่างไร ?

รัก (ทะ) ลวงตา แปลและดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง Private Eyes ของ Steven Dietz เคยนำออกแสดงมาแล้วในฐานะละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ได้รับคำสรรเสริญ และรางวัลสีสันอวอร์ดมาตั้งแต่ครั้งนั้น


เมื่อดูจบแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าของเขาดีจริง!


สิ่งที่คนดูได้เห็นใน รัก (ทะ) ลวงตา ไม่ใช่แค่ละครซ้อนละคร แต่เป็นการซ้อนเหลื่อมของเรื่องเล่ามากมาย เมื่อสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น ทุก “เม็ด” ของละครเรื่องนี้เปรียบเสมือนการลวงล่อผู้ชมไปตามเขาวงกต เพื่อให้ไปพบกับทางตันบ้าง ทางเดิมที่เดินผ่านมาแล้วบ้าง หรือไม่อีกทีก็เป็นทางสามแพร่งสี่แพร่ง เมื่อเรื่องที่เราเคยเข้าใจอย่างหนึ่ง ในอีกพริบตาเดียว อาจกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป


เขียนอย่างนี้ คนที่ไม่ได้ดูต้องงง ถ้าจะยกตัวอย่าง “หยาบๆ” ก็คงเป็นทำนองนี้
เมื่อละครเริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนเป็นการออดิชั่น (audition - คัดเลือกนักแสดง) ของละครเรื่อง รัก(ทะ) ลวงตา ผู้กำกับการแสดง (นพพันธ์ บุญใหญ่) ให้นักแสดงสาว (ดุจดาว วัฒนปกรณ์) ลองซ้อมบทให้ดู แต่แล้วจู่ๆ กลับมีผู้กำกับฯ อีกคน (ปวิตร มหาสารินันทน์) ลุกขึ้นจากแถวที่นั่งคนดูพร้อมกับสั่งหยุดพัก สิ่งที่เราเห็นมาแต่แรกจึงเป็นการซ้อมฉากออดิชั่นตอนต้นของละคร โดยนพพันธ์และดุจดาวซึ่งเป็นนักแสดงคู่สามีภรรยา เมื่อละครดำเนินต่อไป คนดูจึงค่อยๆ รู้ว่าการซ้อมละครเรื่องนี้ที่จริงแล้วเป็นเพียงหน้าฉากของเรื่องชู้สาวระหว่างผู้กำกับฯ ปวิตรกับดุจดาว ที่ต้องแอบหลบๆ ซ่อนๆ ท่ามกลางความหวาดระแวง แม้ว่าเขาจะทำทีเสมือนไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ หากแต่ที่จริงแล้ว นพพันธ์รู้ดีว่าเขากำลังถูกสวมเขา จึงวางแผนล้างแค้นด้วยการสมคบกับสาวเสิร์ฟท่าทางประหลาดๆ (ปานรัตน กริชชาญชัย) ที่เขาเองก็แอบมีสัมพันธ์สวาทอยู่ วางยาพิษปวิตรและดุจดาวจนทั้งสองคนตายคาโต๊ะอาหาร เหตุการณ์นี้ถูกขัดจังหวะโดยจิตแพทย์ (ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช) ซึ่งลุกขึ้นโวยกับนพพันธ์ว่า เรื่องที่เขาเล่ามาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็นแต่ความคิดของนพพันธ์ ก่อนที่จะกลับตาลปัตรไปอีกครั้ง เมื่อจิตแพทย์ที่เห็นนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นแค่นักแสดงอีกคนที่มาออดิชั่นกับผู้กำกับนพพันธ์ แล้วต้องเดินคอตกออกจากห้องไปเมื่อไม่ได้รับคัดเลือก…

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น...


สิ่งที่ได้เห็นในละครเรื่องนี้ ก็คือการสร้าง “ความลวง” ขึ้นมา โดยเล่นกับความเป็น “สมมติ” ของละครเวทีได้อย่างเต็มเหนี่ยว ชนิดที่ภาพยนตร์ก็คงทำไม่ได้ เนื่องจากละครเวทีนั้น คนดูต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้นบางประการว่าทั้งหมดที่เห็นนั้น เป็นเพียงการสมมติขึ้นมา เวที ฉาก นักแสดง บทบาท อุปกรณ์ประกอบฉาก ทุกอย่างวางอยู่บนเงื่อนไขที่ว่านี้ ต่อให้เป็นนักแสดงชั้นเซียน ทว่าคนดูก็ยังต้องช่วยประกอบสร้าง “ความสมจริง” ขึ้นเองในใจไม่น้อยกว่าครึ่งค่อน


แต่แล้ว บทละครกลับหักหลังคนดูซ้ำแล้วซ้ำอีก เรื่องเล่าทั้งหมดทับซ้อนกันหลายชั้น ไปๆ มาๆ แล้ว แม้ว่าจะดูคล้ายเป็นเรื่องเล่าของนพพันธ์ แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเรื่องเล่าของใครกันแน่ มิหนำซ้ำ เรื่องทั้งหมดก็ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นที่ตรงไหน หรือจะจบเมื่อไร เมื่อใดคือการซ้อม เมื่อใดคือการออดิชั่น ส่วนไหนคือบทละคร ส่วนไหนคือเรื่องเล่าของตัวละคร การสร้างความลวงนี้ ดำเนินไปถึงระดับที่ให้นักแสดงใช้ชื่อจริงของตัวเป็นชื่อในบทละครทุกคน เหมือนกับว่าทุกคน “เล่นเป็นตัวเอง” ซ้อนไปอีกชั้น ยิ่งทวีความ “งงงวย” (ระคนกับความมันส์ในอารมณ์...) ให้แก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้นไปอีก ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ต่อหน้านี้ มี “เรื่องจริง” หรือ “ความจริง” อยู่ตรงไหนบ้าง


นั่นอาจเป็นเหตุผลที่บทละครในภาษาอังกฤษเดิมจึงมีชื่อเรื่องว่า นักสืบเอกชน หรือ Private Eyes เพราะผู้ชมจะค่อยๆ กลายร่างเป็นนักสืบ คอยสังเกต ระแวดระวัง และเฟ้นหา “ความจริง” ไปโดยปริยาย
ชื่อ รัก(ทะ)ลวงตา จึงให้ความหมายยอกย้อนแย้ง อ่านได้หลายแบบ จะอ่านว่า “รักลวงตา” หรือ “รักทะลวงตา” ก็ได้ นับว่าเป็นการตั้งชื่อที่ฉลาด เล่นกับภาษาได้คมคาย ว่านี่คือละครว่าด้วยรักที่ทั้ง “ลวงตา” (คือทำให้ไม่เห็น หรือเห็นเป็นอย่างอื่น) ขณะเดียวกันก็ “ทะลวงตา” (คือทำให้เห็นชีวิตในฐานะเรื่องเล่า) ไปพร้อมกัน


ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กำกับยังเลือกจัดเวทีแบบสนามกีฬา ทำนองเดียวกับเวทีมวยหรือบ่อนไก่ คือมีที่นั่งคนดูรอบทิศทาง ดังนั้น ผู้ชมแต่ละด้านย่อมได้ชมละครเรื่องนี้จากมุมที่แตกต่างกัน และย่อมได้รับ “ข้อมูล” ที่ไม่ครบถ้วน ไม่ “รอบด้าน” เช่นเดียวกับที่ตัวละครก็เลือกเล่าเรื่องผ่าน “มุมมอง” ของตนเช่นกัน


ทว่า บทละครที่ฉลาดขนาดนี้ และนักแสดงชั้นแนวหน้าของประเทศที่ประชันบทเชือดเฉือนกันจนแทบไม่มีเวลาหายใจแบบนี้ ก็อาจมีข้อด้อยอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ชมที่ไม่ฉลาดเฉลียวนัก (เช่นผู้เขียนเป็นต้น) เวลาเจอไดอาล็อกยาวๆ ซับซ้อนๆ แล้วคิดตามไม่ทัน บางครั้ง (ขอย้ำว่าแค่บางครั้ง) เลยถอดใจ จนเกือบจะถอยจิตสู่ภวังค์นิทรา...
รัก (ทะ) ลวงตาดัดแปลงบท/กำกับการแสดง ปวิตร มหาสารินันทน์
นักแสดง ปวิตร มหาสารินันทน์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช, ปานรัตน กริชชาญชัย
หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
14 – 25 กันยายน 2553

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Vote ปีที่ 7 ฉบับที่ 151 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น