วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Water / Time เวลาของน้ำ เวลาของเรา


ถ้าถามผมว่าเสน่ห์ของละคร Water / Time อยู่ที่ไหน ?

นักแสดง ? แน่นอน มือระดับคุณฮีน ศศิธร พานิชนก ที่ทั้งเรียนมาด้านนี้ ทั้งผ่านงานภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีมามากมาย คงไม่ต้องสงสัยในฝีไม้ลายมือของเธอ

ผู้กำกับ ? ก็อีกนั่นแหละ ระดับ “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน ก็รับประกันได้อยู่แล้ว ว่าในฐานะ “ผู้ชมคนแรก” เธอย่อมต้องกลั่นกรอง เลือกสรร (หรือเค้นหา) สิ่งที่ “ใช่” ที่สุดในสายตามาเสนอแก่ผู้ชม

บทละคร ? ได้อ่านจากใบปลิวสูจิบัตร ว่าบทละครเรื่องนี้ โชโกะ ทานิกาวา (ซึ่งร่วมแสดงเอง) เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นก่อน แล้วจึงมาแปลกลับเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษทีหลัง แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความกระชับ ตรงไปตรงมา แต่ก็แยบคายอย่างมีชั้นเชิงของตัวบท

ฉาก ? ก็เก๋และแปลกๆ ดี ที่กลับเอาประตูทางเข้าโรงมาให้ทั้งคนดูและนักแสดงใช้ด้วยกัน คือคนดูก็ใช้ผ่านเข้ามานั่งที่ ส่วนนักแสดงก็ใช้เดินเข้าฉาก เข้ามาในห้องพักอพาร์ตเมนต์ที่ “รก” อย่างได้ใจ และสมจริง
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมคิดว่า เสน่ห์เฉพาะตัวของ Water / Time ไม่ได้ตกไปอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่งที่พรรณนามาแล้วข้างต้น หากแต่อยู่ที่ “ส่วนรวม” หรือ “ผลลัพธ์” ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อหวนระลึกขึ้นมา กลับเด่นชัดในใจเสียยิ่งกว่าส่วนประกอบต่างๆ นั้นเสียอีก
เสน่ห์นั้นก็คือความงามอย่างเรียบง่าย จริงใจ ชนิดที่ถ้าให้นึกเองก็อาจมีอคติคิดไปว่า เป็นสไตล์ “ญี่ปู๊น ญี่ปุ่น” คือคิดมามาก แต่ใช้สอยเพียงอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก”

ความงามในความง่ายนั้นก็คือละครที่พูดถึงเรื่องราวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะพบเจอได้ในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทิ้งประเด็นใหญ่หลวงน่าขบคิดใคร่ครวญไว้ให้ติดหัวคนดูกลับไปบ้านด้วย

ถ้าเล่าอย่างย่อๆ เรื่องของ Water / Time ว่าด้วย คู่ผัวตัวเมียหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวไทย เคนจิ (โชโกะ ทานิกาวา) สามีหัวดื้อ มุ่งมั่นจะเป็นคนเขียนบท ส่วน น้ำ (ศศิธร พานิชนก) ภรรยาคนไทย ก็มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละคร แต่หนทางไปสู่สิ่งที่พวกเขาวาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในนิวยอร์ก มหานครที่เปรียบประดุจศูนย์กลางจักรวาลของแวดวงละคร น้ำต้องไปทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ หารายได้มาหล่อเลี้ยงความฝันของทั้งเขาและเธอ ในสภาพกดดัน แปลกแยกเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ต้องสื่อสารข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรม (ไทย/อเมริกัน/ญี่ปุ่น) อาจดูเป็นเรื่องน่าขันสำหรับผู้ชม แต่สำหรับทั้งสองคน การที่ “คนรัก” พร้อมจะกลับกลายเป็น “คนเคยรัก” นั้น ย่อมไม่ตลกเลย

ในพล็อตเรื่องที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” เช่นนี้เอง ที่องค์ประกอบทุกภาคส่วน ทั้งนักแสดง บท ผู้กำกับ ฉาก (ตลอดจนส่วนงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนาม) กลับร่วมกันสร้างให้มี “อะไร” ขึ้นมา ตัวละครที่อยู่ต่อหน้าดูเป็น “คน” ที่มีชีวิต “จริง” จนเราสัมผัสได้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงง่ายๆ นั้นเอง ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างจังๆ ดังเช่นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โฆษณาตั้งแต่เมื่อละครออกแสดงใหม่ๆ ก็คือ “เวลาทะเลาะกับแฟน เราพูดภาษาอะไรกัน” ประโยคง่ายๆ แค่นี้ก็อาจชักนำให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อีกคนหนึ่งกำลังพูดภาษาอะไรอยู่ (ฟะ!) ทำไม่ไม่เข้าใจเหรอ ? ทำไมไม่พูดภาษาเดียวกัน (กับกรู) ล่ะ ? เหมือนกันกับที่น้ำและเคนจิ ต่างเหน็บแนม ประชดประชัน และ “ทำร้าย” กันและกันด้วยภาษาที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีวันเข้าใจ

ด้วยความที่บทละครเรื่องนี้ใช้ทั้งสามภาษา คือไทย/อังกฤษ/ญี่ปุ่น ไปพร้อมๆ กัน จึงต้องฉายคำบรรยาย (subtitles) อีกสองภาษาไว้ที่ตอนบนของผนังตลอดเวลา แรกๆ ผมก็พยายามอ่านตาม แต่แล้วกลับพบว่า ทำให้เสียสมาธิกับละครไปมาก ก็เลยตัดสินใจเลิกอ่าน ในกรณีของผม - ผู้ชมชาวไทย ซึ่งพอรู้ภาษาฝรั่งนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น – นั่นก็คือการกระโดดลงไปอยู่ในละคร ก้าวเข้าไปสู่ประสบการณ์เดียวกันกับสาวน้ำแบบตรงๆ และปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลน่าสนใจดีทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเลิกอ่านคำบรรยายยังทำให้เรารับรู้พลังหรือ “สาร” ที่นักแสดงส่งออกมา ซึ่งอยู่พ้นไปจากอำนาจของถ้อยคำเสียด้วยซ้ำ

ชื่อเรื่อง Water / Time นั้น ในทางหนึ่ง ก็อาจจะหมายถึงบทละครที่เคนจิเขียน และน้ำเข้าใจว่าคงหมายถึง “เวลา(ของ)น้ำ” แต่พร้อมกันนั้น ละครก็ตั้งใจชักพาผู้ชมให้คิดไปถึงสำนวนที่มีทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ว่าเวลาและวารีย่อมไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยรั้งรอใคร สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ (เพราะชีวิตไม่มีปุ่ม undo เหมือนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ดังนั้น (ถ้าจะให้ฟังดูเป็นทางพระๆ หน่อย ก็คงต้องบอกว่า) จึงพึงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ใช้วันเวลา ณ ขณะนี้ให้เต็มเปี่ยม ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ถ้าเพียงแต่เรารู้เท่าทันว่า เวลากำลังใกล้จะหมดลงแล้ว...

ดูเหมือนว่า Water / Time จะบอกผมอย่างนั้น


Water / Time
Cresent Moon Space (สถาบันปรีดี พนมยงค์)
LIFE Theatre
กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน
นักแสดง: โชโกะ ทานิกาวา, ศศิธร พานิชนก, อภิรักษ์ ชัยปัญหา
17 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม และ 11 – 13 และ 18 – 20 กันยายน 2552
พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 114 ปักษ์หลัง มีนาคม 2553

คาร์เมน เมื่อมหาอุปรากรสัญจรมาสู่โรงหนังตะลุง


จากมหาอุปรากรที่นับถือกันว่าเป็นสุดยอดศิลปะการแสดงของโลกตะวันตก เมื่อทดลองแปลงรูปโฉมใหม่ นำเสนอด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป ผลที่ได้รับย่อมต่างกัน หากแต่ควรต้องคงอารมณ์สะเทือนใจบางอย่างเอาไว้

เมื่อศตวรรษก่อน กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปลงเรื่องโจโจ้ซังสาวญี่ปุ่นจากมหาอุปรากร มาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ของปุชชินี (Giacomo Puccini) ให้กลายเป็นละครร้อง สาวเครือฟ้า จับอกจับใจแฟนละครชาวไทยมาเนิ่นนาน จนหลายคนพลอยนึกว่าเป็นเรื่องจริง

ไม่กี่ปีมานี้ หนัง U-Carmen eKhayelitsha (2005) จากแอฟริกาใต้ ก็นำเสนอโอเปร่าเรื่อง คาร์เมน (Carmen) ของบิเซต์ (Georges Bizet) ด้วยเหตุการณ์ ตัวละคร และสถานที่ที่แตกต่างอย่างข้ามโลกกับเรื่องเดิม โดยนำเพลงดนตรีของบิเซต์ที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ผสมผเสเข้ากับดนตรีแอฟริกัน แล้วคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ที่เบอร์ลินไปครอง

มาปีนี้ เป็นคิวที่เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวทีไทยมากว่า 20 ปี จะหยิบเอา คาร์เมน มานำเสนอในอีกรูปแบบที่แตกต่างบ้าง

เขานำเสนอละครเรื่องนี้แบบร่วมสมัย มีทั้งหนังตะลุง การเต้นรำ วิดีโออาร์ต พิณแก้ว นักร้องโอเปร่า รวมกันอยู่ในฉากที่มีเพียงผนังปูนเปลือยมอซอ และบันไดระเกะระกะ แลดูดิบเถื่อน เหมือนเป็นด้านหลังของตึกร้างที่ไหนสักแห่ง ซ้ำเขายังบิดความหมายของ opéra comique ซึ่งเดิมหมายถึงโอเปร่าที่มีบทพูด ให้กลายมาเป็น “ละครตลก” ในแบบของเขา

ในแง่ละคร คาร์เมน ฉบับนี้ ยังรักษาเรื่องราวรักสามเส้าเคล้ากิเลศตัณหา และตัวละครเอกชุดเดิมจากโอเปร่าเรื่องดังแห่งปลายศตวรรษที่ 19 ไว้ครบถ้วน ตั้งแต่คาร์เมน (เหมือนฝัน อำพันแสง/รพีพร ประทุมอานนท์) สาวโรงงานผู้เล่นสนุกกับเกมรัก ดอน โฮเซ (กฤตินท์ เกียรติเมธา) นายสิบหนุ่มอ่อนโลก ผู้หลงใหลคาร์เมนหัวปักหัวปำ มิคาเอลลา (ยูโกะ นากามูระ) สาวน้อยบ้านนาผู้แอบรักดอน โฮเซ รวมทั้งเอสกามิโญ (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) นักสู้วัวกระทิงระดับ “ดารา” หนุ่มใหญ่ในฝันของคาร์เมน แต่พร้อมกันนั้น ก็ยังมีตัวละครใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามา นั่นคือพี่ “เท่ง” (กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ) ตัวตลกหนังตะลุงผู้มาเล่าเรื่องคาร์เมน เป็นภาษาใต้ให้เราฟัง

คาร์เมนฉบับนี้เน้นการเต้นรำสมัยใหม่เป็นหลัก นักแสดงแทบทั้งหมดจึงต้องเต้นกันอย่างจริงจัง ผลจากฝีมือเฉพาะตัว การฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง และการออกแบบท่าเต้นที่งดงามของจิตติ ชมพี ผสมผสานกันออกมาเป็นการแสดงที่น่าทึ่ง นักแสดงหลักทั้งหมดเต้นกันได้ราวกับว่าโลกนี้ไม่มีแรงโน้มถ่วง ร่างกายของเขาและเธอดูเหมือนไม่มีกระดูกและไม่มีน้ำหนัก (เต้นๆ ไปก็ไต่ขึ้นวิ่งบนฝาได้ !) แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะเน้นการเต้นสมัยใหม่ แต่การคัดเลือกนักแสดง (Casting) แต่ละบทบาทก็ทำได้ดีอย่างน่าชมเชย

เหมือนฝันรับบทคาร์เมนในภาคเต้นรำได้ดีเยี่ยม ฝีมือบัลเลต์ของเธอไม่ใช่ย่อย ซ้ำการแสดงออกของเธอก็ยังทำให้เราเชื่อว่า เธอคือคาร์เมน ยิปซีหญิงร้ายเจ้าเสน่ห์คนนั้น ส่วนคาร์เมนในภาคที่เป็นนักร้องโอเปร่า เสียงเมซโซ-โซปราโนของรพีพร ประทุมอานนท์นั้นดีจริง และมีพลังจริง ผู้ชมจึงมีโอกาสได้ฟังเพลงไพเราะที่มีชื่อเสียง อย่าง Habanera เป็นภาษาไทย โดยไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงใดๆ เสียแต่ว่าเมื่อต้องร้องเนื้อภาษาไทยไปกับทำนองที่ผกผันตลอดเวลาเช่นนั้น ก็ทำให้ติดตามฟังจับใจความได้ยากไม่ใช่น้อย

ส่วนดอน โฮเซ กฤตินท์นั้น แลดูเป็นเด็กหนุ่มร่างกำยำที่มีพลังแรงกายเต็มเปี่ยม แต่มีสีหน้าแววตาใสซื่อแบบเด็กๆ อย่างที่ผู้ชมรู้สึกว่าดอน โฮเซ น่าจะเป็นคนแบบนั้น เช่นเดียวกับบทมิคาเอลลาที่แสดงโดยคุณยูโกะ นักเต้นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเธอก็เต้นได้งาม มิหนำซ้ำ ผู้กำกับยังจงใจให้คาแรคเตอร์สาวใสซื่อนี้ “ล้อ” กับภาพลักษณ์สตรีญี่ปุ่นที่ดูสุภาพอ่อนโยน

กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ ในบท “เท่ง” ก็เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่น่าจับตามอง ในฐานะนักแสดงละครเวที เขาก็เล่นบท “เท่ง” ได้ตลกทะลึ่งตึงตังดี (ทราบภายหลังว่า เขาหัดพูดภาษาใต้มาหกเดือนจนคล่องปาก เพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ) ทว่า ยามเมื่อสวมบทนักเต้น กัมปนาทก็มีท่วงท่าที่ดูเป็นตะวันออกผสมตะวันตกอันสง่างาม

เสน่ห์ของละครเรื่องนี้ ก็คือสิ่งเดียวกับที่กัมปนาทนำเสนอ นั่นคือการผสมผสานโลกที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโอเปร่าโบราณกับวิดีโออาร์ต หรือหนังตะลุงกับบัลเลต์ เรียกได้ว่าข้ามพรมแดนหมดทั้งเวลาและสถานที่

เช่นที่ทำได้ดีก็คือ การที่ละครนำเสนอภาพของเอสกามิโญในฐานะ “พระเอกในฝัน” ของคาร์เมน ด้วยการที่ให้เขาปรากฏตัวเฉพาะในวิดีโอที่ฉายทาบบนผนัง และแทนที่เขาจะแต่งชุดหรูหราผ่าเผยแบบนักสู้วัวกระทิงอย่างที่เห็นในโอเปร่า เอสกามิโญในคาร์เมนฉบับนี้กลับอลังการด้วยชุดโนราเต็มยศพร้อมเทริด และมีท่าทีกรุ้มกริ่มแบบ “พระเอกละคร” ตลอดเวลา

แต่บางอย่างที่ผู้กำกับนำเสนอก็คงต้องอาศัยการตีความของผู้ชมแต่ละคน เช่นที่คาร์เมนในภาคนักเต้น เปิดตัวออกมาในลักษณาการตะเกียกตะกายออกจากถุงดำ (ถุงขยะ ?) แล้วถุงดำปริศนานั้นก็หวนกลับมาอีกเป็นพักๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากสังวาสระหว่างดอนโฮเซ่กับคาร์เมน ที่พี่เท่งปรากฏตัวขึ้น แล้วคลี่ถุงดำครอบคนทั้งสองไว้ หรือฉากอัตกามด้วยดอกกุหลาบในถุงดำของดอนโฮเซ่ ไปจนถึงตอนจบของเรื่อง จากท้องเรื่องเดิม นอกสนามสู้วัวกระทิง คาร์เมนกำลังจะเข้าไปเชียร์เอสกามิโญ “พระเอก” คนใหม่ของเธอ แต่แล้วดอนโฮเซ่ผู้ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตนอกจากความรักอันแรงกล้า กลับมารอดักพบเธอและชวนให้เธอกลับไปกับเขา เมื่อกลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ดอนโฮเซ่เกิดบันดาลโทสะ จ้วงมีดกดจมลงไปในร่างคาร์เมนจนมิด ปิดฉากชีวิตของเธอ แต่ในฉบับนี้ คาร์เมนถูกดอนโฮเซ่จับยัดถุงดำ เธอตะเกียกตะกายดิ้นรนขัดขืนได้เพียงครู่ก่อนจะสิ้นใจ แล้วดอน โฮเซก็เดินลากถุงนั้นเข้าโรงไป

ละครทำท่าเหมือนจะจบ มีการฉายเครดิตท้ายเรื่อง (end credits) แบบภาพยนตร์ที่ผนังด้านหลัง ไล่ลำดับไปจนหมด จู่ๆ ไฟกลับสว่างอีกครั้ง แล้วเริ่มต้นบทส่งท้าย (epilogue) เมื่อนักแสดงทั้งหมดกลับออกมาร่ายรำ พร้อมทั้งนักร้องที่ครวญเพลงโหยหวนต่อเนื่องไปอีกพักหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ เงียบลง เมื่อทุกคนค่อยๆ สอดร่างกลับลงไปในถุงดำ ตั้งพิงฝากำแพงด้านหลัง เหมือนถุงขยะที่ตั้งเรียงกันรอรถขยะมาเก็บ...
เมื่อละครเลิก ผมเดินกางร่มฝ่าสายฝนที่ตกพรำออกมาจากโรงละคร พลางตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าคนที่ไม่เคยดู ไม่เคยรู้เรื่องคาร์เมนมาก่อนเลย จะดูละครเรื่องนี้รู้เรื่องหรือไม่ ?

มิตรน้อยร่วมทางก็ตอบข้อสงสัยนั้นจนแจ้งใจในทันทีว่า “อ่านเรื่องย่อในสูจิบัตรก็รู้แล้ว !”

อืมม์...จริงของเธอ




Carmen
หอประชุมสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร
12 นิ้วการละคร
กำกับการแสดง: เกรียงศักดิ์ “วิคเตอร์” ศิลากอง/จิตติ ชมพี
นักแสดง: เหมือนฝัน อำพันแสง, กฤตินท์ เกียรติเมธา, ยูโกะ นากามูระ, กัมปนาท เรืองกิตติวิลาศ, ระพีพร ประทุมอานนท์,
26-27 กันยายน และ 3-4 ตุลาคม 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 112 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2553