วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สาวชาวนา

สาวชาวนา
เมื่อเอ็นจีโอปะทะนักวิชาการกลางเทศกาลละคร

ในระหว่างงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2552 จากการแสดงนับร้อยรอบของกลุ่มละครต่างๆ เรื่องเดียวที่ผมมีเวลาและมีโอกาสได้ดู คือ สาวชาวนา

แต่การเลือกดูของผม ก็มีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะละครเรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสำคัญสำหรับงานเทศกาล ถึงขนาดที่คุณ “ตั้ว” ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ ระบุไว้ในสูจิบัตรของเทศกาลทีเดียว ว่าเป็นละครหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับการ “สั่งซื้อ” จากศูนย์ศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo Metropolitan Art Space) เพื่อไปร่วมแสดงในเทศกาลแม่โขงที่ญี่ปุ่น (ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้ปี 2552/2009 เป็นปีของภูมิภาคแม่น้ำโขง)

ยิ่งไปกว่านั้น งานนี้ เรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมนักแสดงระดับ “แถวหน้า” ของกลุ่มละครเมืองไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีในวงการ ไม่ว่าจะเป็นสามสาวแห่งบีฟลอร์ (B-Floor) : อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์, จารุนันท์ พันธชาติ และดุจดาว วัฒนปกรณ์ / คานธี อนันตกาญจน์ จาก Democrazy Studio / ณัฐ นวลแพง แห่งกลุ่มละครเสาสูง / ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และปานรัตน กริชชาญชัย จาก New Theatre Society รวมทั้งณัฐพล คุ้มเมธา จากเบบี้ไมม์ (Babymime)

ท่านเหล่านี้ล้วนเป็น “หัวกะทิ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยไทยปัจจุบัน
แล้วจะมีเหตุผลใดที่จะไม่ดู สาวชาวนา เล่า ?

ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครญี่ปุ่นของฮิเดกิ โนดะ (Hideki Noda) นักการละครระดับแถวหน้าของวงการละครร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ของศูนย์ศิลปะโตเกียว
แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อแปลและแปลงแล้ว เนื้อหาหลายอย่างกลับสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนยิ่ง

สาวชาวนา เล่าเรื่องของ “มะลิ” (อรอนงค์ ศรีไทยวงศ์) เด็กสาวอายุ 15 จากครอบครัวชาวนาอำเภอตระการพืชผล ผู้ไม่อยากทำนา และหลงใหลในกรุงเทพฯ จนดั้นด้นเข้ามา เธอได้รับการอุปการะแบบ “เลี้ยงต้อย” จากอาจารย์ประวิทย์ (คานธี อนันตกาญจน์) นักพฤกษศาสตร์ผู้ศึกษาต้นไม้มีพิษ แต่ไม่เคยใยดีเธอจริงๆ มะลิจึงหันไปสนใจงานจิตอาสา กลายเป็นอาสาสมัครในทีมของนายสืบศักดิ์ (ณัฐ นวลแพง) เอ็นจีโอที่ผันตัวเองมาจากผู้กำกับหนังโป๊

มะลิทำงานอย่างจริงจังด้วยความรักที่ทุ่มเทให้แก่สืบศักดิ์ จนมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการปลูกข้าวปลอดสารพิษ เพียงเพื่อจะพบว่าสืบศักดิ์ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่งานอาสาสมัคร รวมทั้งไม่ได้สนใจเรื่องการเกษตรอะไรจริงจัง หากแต่เขาใช้มัน (และเธอ) เป็นทางผ่าน เข้าสู่ความสนใจของสาธารณชน เพื่อปูทางไปยังการก่อตั้งพรรคการเมือง

สุดท้าย มะลิจึงกลับบ้าน ตั้งหน้าตั้งตาปลูกข้าว มุ่งมั่นกระทำสิ่งที่เธอปฏิเสธมาแต่เยาว์วัย พร้อมกันนั้น เธอก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆ อีกต่อไป...

ท่วงทีของละครเรื่องนี้ เป็นละครร่วมสมัย ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยการตัดสลับฉากในแนวทางของภาพยนตร์ ด้วยบรรยากาศแบบ “เหนือจริง” อันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เช่นที่ตัวละครสำคัญมักจะมี “เงา” หรือ “เสียงของจิตใต้สำนึก” ซึ่งแสดงโดยนักแสดงอีกคน คอยพันแข้งพันขาพูดจาสอดแทรกส่อเสียดอยู่ตลอดเวลา

หรือฉากรถไฟดำมะเมื่อมที่แล่นอย่างช้าๆ เหมือนลอยเลื่อนเข้าสู่สถานีรถไฟชนบทรกร้างนั้น ก็ดูจะมีนัยทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง!

และในเมื่อเป็นสัญลักษณ์ ก็เหมือนกับสัญลักษณ์อื่นๆ ในโลก คือย่อมเอื้อต่อการตีความได้ต่างๆ นานาสารพัด

ในเวอร์ชั่นตามความเข้าใจของผม (ซึ่งแน่นอนว่าอาจต่างหรือเหมือน กับผู้ชมคนอื่นๆ รวมทั้งผู้กำกับ และนักแสดง) มะลิ ตัวแทนของชุมชนเกษตรไทย ในอุปมาของสตรี ถูกยื้อยุดแย่งชิงระหว่างนักวิชาการ (อย่างอาจารย์ประวิทย์ ผู้สนใจศึกษาแต่เรื่องไร้ประโยชน์ เช่นต้นไม้มีพิษ) และเอ็นจีโอ (เช่นนายสืบศักดิ์ ผู้มีอดีตคลุมเครือ และมี “วาระซ่อนเร้น”)

ทั้งสอง ในอุปมาของบุรุษ มุ่งมาดปรารถนาที่จะครอบครองมะลิ (ผ่านเซ็กส์)

ทั้งคู่ล้วนอยากให้มะลิเป็น “อะไรบางอย่าง” ตามที่ใจตนเองต้องการ

ต่างแย่งชิงกันเป็น “ปากเสียง” ของเธอ

โดยไม่มีผู้ใดสนใจจะ “ฟัง” ว่าจริงๆ แล้วเธอต้องการอะไร หรือเธออยากพูดอะไร

เรื่องจึงลงเอยด้วยการที่มะลิไม่ได้ยินเสียงของใครอีกต่อไป
หูของเธอดับสนิท
ในเมื่อไม่มีใคร “ฟัง” เธอ เธอจึงไม่ต้องการ “ฟัง” ใครเช่นเดียวกัน

แต่พร้อมกันนั้น หากจะเลือกมองโลกในแง่ร้ายดูบ้าง สาวชาวนา ก็อาจเสียดเย้ยตัวเองไปด้วยในที เพราะว่าให้ถึงที่สุด ละครเรื่องนี้ทั้งหมดก็เป็นได้เพียงการ “พยายาม” “ทำเหมือน” “เข้าใจ” “สาวชาวนา” จากมุมมองแบบชนชั้นกลางในเมือง อย่างที่นักการละครส่วนใหญ่สังกัดอยู่

ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความปรารถนาดี บวกกับฝีไม้ลายมือระดับชั้นครู ด้วยความตั้งใจอย่างแข็งขัน ทว่าก็ล้วนเป็นการ “คิดแทน” ในแบบ “พูดเองเออเอง”

เรียกอีกอย่างก็คือ ผู้ชมอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ความเข้าใจเรื่องชาวนาของ สาวชาวนา ก็อาจผิดเพี้ยน ไม่ต่างจากภาษาอีสานสำเนียงประหลาดๆ และแปลกแปร่ง อย่างที่ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องพูดจากัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมใด ระดับไหน เรียกแบบภาษาวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่า “สาร” ของละครเรื่องนี้ “แวรงงงงงงงงง” จริงๆ จ้ะ!



สาวชาวนา
บทละคร ฮิเดกิ โนดะ
แปลบท ผุสดี นาวาวิจิตร
ดัดแปลงบท ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, นิกร แซ่ตั้ง, สินีนาฏ เกษประไพ, ณัฐ นวลแพง, จารุนันท์ พันธชาติ
กำกับการแสดง นิกร แซ่ตั้ง
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอประชุมเล็ก)
3-4 พฤศจิกายน 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 116 ปักษ์แรก พฤษภาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น