วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

นางนาก เดอะมิวเซียม


“ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา ก็เหมือนของเก่าในพิพิธภัณฑ์...”



ในปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา การ “ปลุกผี” แม่นาค/นางนาก ขึ้นมาในโลกปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ภายในเวลาปีเดียว มีถึงสามวิกที่ผลิตละครว่าด้วยปีศาจแห่งทุ่งพระโขนงออกมาในสามเวอร์ชั่น คือ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ของคุณหนูบอยแห่งซีนาริโอ แม่นาค เดอะมิวสิคัล จากฝั่งดรีมบอกซ์ และ นางนาก เดอะมิวเซียม โดย New Theatre Society
งานนี้คงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน "แม่นาควิทยา" อย่างคุณเอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าเรื่องเก่าคนสำคัญของเมืองไทยต้องรีบเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมกันชนิดมือเป็นระวิงทีเดียว



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณเอนกค้นคว้ารวบรวมเรื่องเล่าและเรื่องราวของแม่นาคพระโขนงไว้ในงานชิ้นสำคัญของเขา คือ“เปิดตำนานแม่นาคพระโขนง” ซึ่งได้กลายมาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญของโปรดักชั่นทั้งสามนั้นด้วย

แต่โปรดักชั่นที่ได้ใช้ประโยชน์จากงานคุณเอนกอย่างจริงจัง เห็นจะไม่มีใครเกินหน้า นางนาก เดอะมิวเซียม
ละครเรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อนายมานพ หรือมาร์ค (เกรียงไกร ฟูเกษม) วางแผนจะจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องผีขึ้นในพิพิธภัณฑ์ที่เขาเป็น ผอ. อยู่ จึงว่าจ้างป้ายิ่งลักษณ์ (สวนีย์ อุทุมมา) คนทรงสาวใหญ่ ผู้กำลังต่อ ป.โท ที่อักษรฯ จุฬา ด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ Trance Drama in Southeast Asia ให้มาประทับทรงนางนากพระโขนง โดยที่เธอไม่รู้ตัวว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มาร์คต้องการ คือแอบถ่ายคลิปวิดีโอนำไปใช้ประกอบนิทรรศการ

แม้ว่าทักษะในฐานะคนทรงของคุณป้าอาจน่าสงสัย แต่แล้ว ด้วยเหตุผลลึกลับบางอย่าง การเข้าทรงครั้งนั้น บังเอิญเชิญวิญญาณของนางนาก (อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์) ให้เดินทางข้ามกาลเวลามาสู่โลกยุคปัจจุบันได้จริงๆ

แต่แล้วนากกลับต้องเผชิญหน้าความจริงที่ว่า พี่มากสุดที่รักของเธอ กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นนายมาร์ค ผู้ซึ่งไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวกับอดีตรักนั้นอีกต่อไป ซ้ำร้าย ในชาตินี้ เขายังมีภรรยาอยู่แล้ว คือจีน่า (ปานรัตน กริชชาญชัย) ออร์กาไนเซอร์สาวใหญ่ร้ายลึก

ปฏิบัติการช่วงชิงหนึ่งชายระหว่างสองหญิงสองยุคจึงเริ่มต้นขึ้น และทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้...

ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าของ นางนาก เดอะมิวเซียม มะขามป้อมสตูดิโอที่สี่แยกสะพานควายแทบแตกด้วยเสียงหัวเราะของผู้ชมทุกๆ 3 นาที ชนิดที่อาจติดป้ายได้ว่า นี่คือสุดยอดละครตลกแห่งปี 2552 หากแต่ “ความตลก” ที่ ผู้กำกับการแสดง - ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ เลือกหยิบมาใช้ในระดับของตลกท่าทาง ตลกคำพูด หรือตลกหน้าตานั้น แท้จริงแล้ว คือความฉลาดในการอำพรางความรุนแรงของเนื้อหาไว้ข้างใต้ เพราะหากไม่แสดงให้เป็นละครตลก ด้วยพล็อตเดิมนี้ ก็ย่อมกลายรูปเป็นละครแนวสยองขวัญ หรือละครดราม่าหนักหน่วงได้ไม่ยาก

เมื่อเรื่องดำเนินต่อไป นางนากถึงกับวางแผนฆ่าพี่มาร์คหรือพี่มาก ตั้งแต่แกล้งเลื่อยขาบันไดที่เขาปีนเก็บผลไม้ แกล้งผลักให้เขาพลัดตกบันไดในพิพิธภัณฑ์ จนถึงแอบตัดสายเบรครถยนต์ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังครอบครองเขาแต่เพียงผู้เดียวไปชั่วนิรันดร์ แต่แล้ว เรื่องกลับตาลปัตร เมื่อคนที่ขับรถออกไปจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกลับกลายเป็นจีน่า

มิหนำซ้ำ เมื่อป้ายิ่งลักษณ์ถูกเรียกมาทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหวังจะขับไล่นางนากไปกลับไปยังภพภูมิของเธอ นั่นกลายเป็นการไปเรียกวิญญาณจีน่ากลับมาจากปรโลกอีกคน

ศึกครั้งนี้จึงยิ่งหาข้อยุติได้ยากขึ้นไปอีก...

พล็อตที่เล่าย่อๆ ให้ฟังข้างต้นนี้ ถูกเล่าสลับกลับไปกลับมากับการเล่า “ตำนาน” ของแม่นากพระโขนงอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้เล่าเรื่อง (ศรายุทธ เพชรสัมฤทธิ์/วรรณศักดิ์ ศิริหล้า และนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ) ซึ่งก็คงย่อความมาจากงานชิ้นประวัติศาสตร์ของคุณเอนก นาวิกมูล ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ในเมื่อเป็น นางนาก เดอะมิวเซียม เรื่องราวของเธอจึงไปไกลกว่านั้นอีก ด้วยการที่ละครกลับค่อยๆ เผยเบื้องลึก ไปจนถึงเรื่องที่ไม่เคยมีบันทึกในตำนานฉบับใด เช่นความเลวร้ายทารุณของพี่มากในอดีตชาติ การทอดทิ้งนางนากให้อยู่ตามยถากรรม จนต้องกลายเป็นผีตายทั้งกลม ไปจนถึงเกร็ดการประดิษฐ์อุปกรณ์สอยผลไม้ของเธอ ที่ทำให้เรื่อง “ผีมือยาว” กลายเป็นที่โจษจันกันไปทั้งบาง

ละครเรื่องนี้จึงเปิดโปงให้เราเห็นทั้งด้านมืดของอดีต เมื่อตำนานที่เล่าๆ กันมานั้น ถูกตัดตอนมาเล่าอย่างบิดเบือนและไม่ครบถ้วน รวมทั้งยังเผยให้เห็นด้านมืดของปัจจุบัน เมื่อพี่มาร์ค/พี่มาก ที่ใครๆ ก็รุมรักนั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียงผู้ชายธรรมดาๆ (หรือเรียกได้ว่า “ผู้ชายเลวๆ”) ที่เห็นแก่ตัว และไม่เคยจริงจังกับใครมาตลอดทุกภพทุกชาติ

คำถามซ้ำๆ ซากๆ ที่ผู้หญิงอยากรู้และคาดคั้นจากผู้ชาย ก็คือคำถามประเภท “เธอยังรักเขาอยู่หรือเปล่า ?” “เขาสวยกว่าฉันใช่ไหม ?” “ถ้าฉันตาย อีกนานไหมกว่าเธอจะมีคนใหม่ ?”

ตรงกันข้าม คำถามเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ในหัวของผู้ชาย

ซ้ำร้าย เขาไม่แม้แต่จะมีคำตอบสำหรับคำถามพรรค์นั้น

พี่มาร์คจึงบอกเราก่อนที่เขาจะหนีจากพิพิธภัณฑ์และปีศาจทั้งสองนางไปในตอนจบ ว่า
“ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา ก็เหมือนของเก่าในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของหรอก (โว้ย!)”


นางนาก เดอะมิวเซียม
New Theatre Society
บทละคร นราพร สังข์ชัย และพลฤทธิ์ สมุทรกลิน
ดัดแปลงจาก พิษสวาทปีศาจเมียหลวง ของดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ด้วยแรงบันดาลใจจาก Blithe Spirit ของ Noel Coward
กำกับการแสดง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
มะขามป้อมสตูดิโอ
19-30 มิถุนายน และ 4-20 ธันวาคม 2552








ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 120 ปักษ์แรก กรกฎาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น