วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล



ความงามที่ไม่ง่าย



ในช่วงปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 เกิดปรากฏการณ์ “ดวลเพลง” ระดับ “ชนช้าง” ในวงการละครเวทีไทย ระหว่างละครเพลง “เดอะมิวสิคัล” สองเรื่องจากสองค่าย


หนึ่งคือ เร่ขายฝัน หรือที่มีชื่อเต็มยาวเหยียดว่า The Legend of เร่ขายฝัน เฉลียงเดอะมิวสิคัล ผลงานร่วมสร้างของโต๊ะกลมโทรทัศน์ใต้ชายคาของเวิร์คพอยท์ กับทรูแฟนเทเชีย ต้นสังกัดของเหล่า “นักล่าฝัน” นามสกุล “เอเอฟ”


อีกฝั่งคือวิกรัชดาลัย โดยบริษัทซีเนริโอ ซึ่งส่ง ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล ลงสนามประลอง




ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ทั้ง เร่ขายฝัน และ ลมหายใจ ล้วนเป็นละครเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มิได้มีบทประพันธ์เดิม หรือมีเค้าโครงเรื่องเก่า และทั้งสองต่างเป็นละครเพลงในสายสกุลที่ฝรั่งเรียกว่า jukebox musical (ละครเพลงแบบ “ตู้เพลง”) คือเลือกใช้เพลงของศิลปินคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อร้อยเรียงเพลงต่างๆ เข้าด้วยกัน โดย เร่ขายฝัน เลือกเพลงของวงดนตรี “เฉลียง” มาใช้เป็นจุดตั้งต้น ขณะที่ ลมหายใจ นำเพลงของบอย โกสิยพงษ์ จากค่ายเบเกอรี่มิวสิค (เดิม) มาเป็นแกนของเรื่อง


ในแง่นี้ เมื่อพิจารณาจากวัตถุดิบในมือ ก็ดูเหมือนว่าโปรดักชั่น ลมหายใจ อาจเสียเปรียบอยู่บ้าง เพราะเพลงของบอย แม้จะมีคำร้องที่สวยงาม แต่โดยรวม เนื้อหามักเป็นเพลงรัก “เชิงบวก” ที่กล่าวถึงแง่งามของความรักเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะใช้เพลงสื่อสร้างความหลากหลายในเนื้อเรื่องจึงอาจยากกว่า


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้


ตัวละครเอกใน ลมหายใจ มีเพียงห้าคน คือ พัด (“มอส” ปฏิภาณ ปถวีกานต์) ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ ที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความผิดหวัง ฝน (นิโคล เทริโอ) แฟนสาวผู้อ่อนโยนของพัด ต่อ (“อ๊อฟ” ปองศักดิ์ รัตนพงษ์) หนุ่มขี้โรครุ่นน้องที่หลงรักฝน โดยรู้ว่าไม่มีหวัง เจ๊ฉัน (“ต๊งเหน่ง” รัดเกล้า อามระดิษ) เพื่อนรุ่นพี่ที่ร่วมหุ้นเปิดผับกับพัด และแอบชอบพัดมานาน พาย (“แก้ม เดอะสตาร์” วิชญาณี เปียกลิ่น) น้องสาวของพัด ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นน้องเล็กอยู่ร่ำไป


ในเรื่องนี้ พัดพลาดโอกาสที่จะบอกรักฝนไปชั่วชีวิต เมื่อเครื่องบินที่เขาโดยสารมาประสบอุบัติเหตุ ชีวิตของทุกคนที่รักเขา ทั้งฝน เจ๊ฉัน หรือพาย ต่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทุกคนก็ยังรู้สึกติดข้องอยู่กับการจากไปอย่างกะทันหันของพัด ถึงขั้นที่ฝนกับต่อ แม้อาจจะมีใจให้แก่กัน ก็ไม่อาจร่วมทางชีวิตกันได้ แต่แล้วในที่สุด ด้วยเหตุผลที่อยู่เหนือเหตุผล พัดได้รับอนุญาตให้กลับมาจากโลกของวิญญาณ เพื่อมาชำระสะสางเรื่องที่ยังค้างคาของตน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนดำเนินชีวิตต่อไปได้
เรื่องเพียงเท่านี้อาจดูเหมือน “ไม่มีอะไร” คนดูจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าละครดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉี่อย ไม่มีไคลแมกซ์ และ “ไม่สนุก”


หากแต่ผู้เขียนรู้สึกว่า ในสิ่งที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” นั้น “มีอะไร” อยู่แน่ๆ


ผู้กำกับการแสดง คือเอกชัย เอื้อครองธรรม และทีมเขียนบท ค่อยๆ ลวงล่อผู้ชมไปด้วยมุกตลกที่ตั้งใจใส่เข้ามาเป็นระยะ แม้ว่าอาจดูคล้ายมุกตลกแบบที่เคยดูกันจนชินในละครซิทคอมของค่ายเอ็กแซ็คท์ หากแต่ในกรณีนี้ พวกมันถูกใช้อย่างมีจุดประสงค์อย่างน้อยที่สุดสองประการ


ประการแรก มุกตลกไม่น้อยถูกตั้งใจใส่เข้ามาในละคร เพื่อกระชากอารมณ์คนดู ในระดับที่เรียกได้ว่า “กระตุกขา” ไม่ยอมให้คล้อยตามจนจมดิ่งลงไปจน “อิน” ไม่ว่าจะเป็นความสุข เศร้า เหงา หรือรัก อันจะทำให้ละครแปรสภาพเป็นละครเร้าอารมณ์แบบ “เมโลดรามา”


ผู้กำกับฯ ใช้กลวิธีแบบนี้อย่างไม่ยั้งมือ และใช้กลับไปกลับมาหลายครั้ง


เช่นเมื่อวันที่ฝนได้รับโปสการ์ดจากทิเบตของพัด ก็มีเสียงเขาแว่วมาพร้อมฉากคอมพิวเตอร์กราฟฟิก พรรณนาถึงทุ่งดอกไม้แสนงามที่ได้พบ โดยไม่ลืมหยอดท้ายแสนหวานว่า แต่เขาไม่เห็นว่ามีดอกไหนจะงามกว่าเธอ ฉับพลันนั้นเอง บรรยากาศกลับกลายเป็นฉากแฟนตาซีเหนือจริงแบบชวนหัวราวกับหนังแขก เมื่อมีนักเต้นดาหน้ากันออกมานับสิบ ในชุดดอกไม้ประหลาดล้ำ จับกลุ่มเต้นระบำไปรอบๆ ก่อนที่ฝนจะโดดเข้าไปร่วมวงด้วย และจบลงด้วยการที่เหลือเธอเต้นรำอยู่กับม็อบถูพื้นเพียงลำพัง


ก่อนที่ในอีกอึดใจเดียว ฝนจะได้รับโทรศัพท์จากพัด
เขาโทรมาหาเธอจากบนเครื่องบิน ขณะที่แน่ใจแล้วว่าคงไม่มีโอกาสรอดชีวิต...


ในชั้นที่ลึกลงไปกว่านั้น มุกตลกของละครเรื่องนี้จึงเป็นน้ำตาลไอซิ่งที่โรยประดับผิวหน้า เพื่อเคลือบฉาบแก่นสารของละคร อันว่าด้วยความขื่นขมของชีวิต ที่มีความจริงอยู่กับความผิดหวัง พลัดพราก และการหาหนทางประคับประคองตัวตนท่ามกลางโลกอันผันแปร


ลมหายใจ จึงว่าด้วยประเด็นธรรมดาๆ ที่เราๆ ท่านๆ ย่อมพบพานในชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง นี่คือประเด็นใหญ่ที่เป็นเหมือน “หลุมดำ” ทางความรู้สึก ที่ทุกคนย่อมต้องเคยพบ หรือไม่ก็ต้องพบเข้าสักวันไม่ช้าก็เร็ว เมื่อใครสักคนที่เป็นศูนย์รวมดวงใจ ไม่อยู่กับเราแล้ว และเมื่อทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป



อย่างไรก็ดี โดยบุคลิกของเพลง เพลงของบอย โกสิยพงษ์ ต้องถือว่าเป็นเพลงของ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่เพลง “วัยรุ่น” เนื้อหาและสไตล์น่าจะถูกใจคนวัยทำงาน หรืออายุ 25 ปีขึ้นไป เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบของละครเพลง จึงอาจทำให้ ลมหายใจ ไม่ใช่ละครเพลงสำหรับ “ทุกคน”


ยิ่งเมื่อเทียบกับ “เดอะมิวสิคัล” เรื่องก่อนๆ ของฝั่งซีนาริโอ ลมหายใจ ไม่ได้มีโปรดักชันอลังการ ฉากยิ่งใหญ่ หรือมีเทคนิคเหาะเหินเดินอากาศ น้ำป่าไหลทะลักกลางเวที แต่กลับเป็นละครเพลงที่ตั้งใจสมาทานตนในแนวทาง “มินิมัลลิสต์” (Minimalist) คือ “ทำน้อย ได้มาก” อย่างแท้จริง


ทว่า แนวทางนี้ก็อาจไม่ถูกจริตกับผู้ชมที่เป็นแฟนประจำของวิกรัชดาลัย ลมหายใจ จึงไม่มีโอกาสเพิ่มรอบมากมาย แม้เมื่อกลับคืนเวที “รีสเตจ” ช่วงกลางเดือนมกราคม 2553 ก็มีรอบการแสดงอีกเพียงหกรอบ ก่อนจะอำลาโรงไป


ท้ายที่สุดนี้ อยากขอแสดงความชื่นชมเป็นพิเศษกับเหล่านักแสดงนำฝ่ายหญิงของ ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล ไม่ว่าจะเป็น รัดเกล้า อามระดิษ ในบท “เจ๊ฉัน” ที่แสดงฝีมือด้านการร้องและการแสดงอย่างโดดเด่น สมกับที่ผู้กำกับฯ จะชื่นชมไว้ในสูจิบัตร ว่าเธอคือ “เมอริล สตรีพ เมืองไทย” นิโคล เทริโอล ซึ่งมากับน้ำเสียง “ใสกิ๊ง” และการแสดงที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้ง “แก้ม เดอะสตาร์” น้องใหม่บนเวที ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการ “แจ้งเกิด” ได้อย่างสวยงาม



ฉากที่ทั้งสามคนร้องด้วยกัน (trio) นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดสุดยอดของละครเรื่องนี้ทีเดียว






ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล
ซีเนริโอ
กำกับการแสดง: เอกชัย เอื้อครองธรรม
บทละคร: เอกชัย เอื้อครองธรรม,
เพลง: บอย โกสิยพงษ์
นักแสดง: รัดเกล้า อามระดิษ, นิโคล เทริโอ, ปฏิภาณ ปถวีกานต์, ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, วิชญาณี เปียกลิ่น
โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย

28 ตุลาคม - 22 พฤศจิกายน 2552 และ 14 - 17 มกราคม 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 6 ฉบับที่ 122 ปักษ์แรก สิงหาคม 2553



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น