วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา


ประวัติศาสตร์ของ “เธอ” /ประวัติศาสตร์ของ “เรา”

ตามธรรมเนียมไทย การกล่าวถึงบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่สมควรพูดถึงด้านลบ หรือแง่ที่ “ไม่งาม” คำไว้อาลัยในหนังสืองานศพจึงมักเป็นข้อเขียนที่จืดชืด ด้วยว่าผู้ตายนั้นล้วนดีงามจนแทบจะเป็นพระอรหันต์ไปเสียทั้งสิ้น


การนำเสนอชีวประวัติของบุคคลชาวไทยในภาพยนตร์หรือละครก็เป็นเช่นเดียวกันนั้น คือมักมีแนวโน้มจะเป็นการสรรเสริญเยิรยอไปเสียหมด โดยเหตุนี้ ผู้เขียนบท (และผู้กำกับการแสดง) ของละครเรื่อง แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา จึงคงพยายามระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาทำนองนั้น สำหรับละครอันเป็นชีวประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (พ.ศ. 2455 – 2550) ภริยาคู่ชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ศ. 2443 – 2526)


ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง แถลงไว้ในสูจิบัตรใบจ้อยว่า

“เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น
ผมชอบฟังคนรุ่นคุณย่าคุณยายเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกท่าน
โดยเฉพาะเรื่องของผู้คนและเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.
2475 หลายเรื่องที่ได้ฟังนั้นเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เล่า
บางเรื่องก็เป็นคำซุบซิบนินทาที่เล่าลือสืบต่อกันมาปากต่อปาก
ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของผมนั้นจึงต่างจากการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เป็นเส้นตรงอย่างในแบบเรียนที่เราเรียนกัน
แต่ประวัติศาสตร์คือประสบการณ์อันหลากหลายของผู้เห็นเหตุการณ์ที่เหลื่อมซ้อนกัน
และโยงใยอยู่กับอารมณ์และความคิดของผู้เล่า...”


ผมพบว่าการแปลความ “ประวัติศาสตร์” ในแนวทางนี้ออกมาในรูปแบบ “ละครเวที” ของ แสงศรัทธาฯ น่าสนใจยิ่ง!

แสงศรัทธาฯ เวอร์ชั่นที่นำเสนอ ณ หอประชุมของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เลือกใช้วิธีจัดพื้นที่แสดงไว้กลางโถงที่นั่งคนดู พาดยาวจากบนเวทีไปจนถึงประตูทางออก โดยนัยนี้ ที่นั่งของผู้ชมจึงถูกแบ่งเป็นสองฟาก จัดหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางโถงปูพื้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปะติดปะต่อกันจนเต็ม พร้อมตั้งโต๊ะน้ำชาขนาดใหญ่ มีเก้าอี้จัดไว้รายรอบ


เมื่อละครเริ่มต้นขึ้น นักแสดงหญิงล้วน 12 คน กำลังอยู่ในบรรยากาศของงานเลี้ยงน้ำชายามบ่าย ตัวละครที่แสดงเป็นท่านผู้หญิงพูนศุขในวัยต่างๆ กันถึงสามคน ทั้ง น.ส.พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ (ศศินันท์ พัฒนะ) นางประดิษฐมนูธรรม ภริยาของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปอรรัชม์ ยอดเณร) และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัยผู้ใหญ่ (ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร) ผลัดกันเล่าถึงประวัติชีวิตของเธอ ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของตัวละครต่างๆ ที่จับกลุ่มกันพูดคุย สร้างฉากหลังทางประวัติศาสตร์การเมืองให้แก่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข จากแง่มุมของตน


แน่นอนว่า งานเลี้ยงน้ำชาครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เป็นเพียงฉากสมมติแบบเหนือจริง เพื่อสร้างกาละและเทศะให้แก่เรื่องราวของละคร ที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระหว่างทศวรรษ 2470 – ทศวรรษ 2490


สิ่งที่ แสงศรัทธาฯ พยายามกระทำ คือการนำเสนอละครอันจะมีเนื้อหาชนิดที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า Political Correctness (ความถูกต้องทางการเมือง) ด้วยการให้พื้นที่แก่ “น้ำเสียง” หรือ “เรื่องเล่า” ที่หลากหลาย ดังนั้น นับตั้งแต่การเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์จากแง่มุมของผู้หญิง ไปจนถึงการหยิบยกทัศนะต่างมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จากผู้หญิงต่างกลุ่มต่างฐานะในสังคม

ทว่า บ่อยครั้ง ความพยายามที่น่าประทับใจนั้น อาจเป็นคนละสิ่งกับผลสำเร็จ


ผมรู้สึกว่า นอกจากผู้ที่รับบทเป็นท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว นักแสดงคนอื่นๆ ล้วนแต่เป็น “ใบหน้าไร้นาม” ในสูจิบัตรก็เรียกขานแต่เพียง “ท่านหญิง” “ท่านผู้หญิง” “หม่อม” “ชาววังหลวง” “ชาววังสวนสุนันทา” และ “ท่านผู้หญิงของท่านจอมพล”

สิ่งนี้ อาจเป็นผลมาจากธรรมเนียมไทยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่จะออกพระนามเจ้านาย หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจเพื่อ Play Safe ป้องกันตัวจากข้อครหาใดๆ อันพึงมีได้ง่ายดายในสังคมไทยปัจจุบัน


ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หากเป็นผู้ชมที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีความสนใจในเอกสารประวัติศาสตร์จำพวกบันทึกความทรงจำอยู่บ้าง ก็อาจพอนึกออก หรือ “เดาๆ” ได้ว่า นักแสดงท่านนั้น กำลังรับบทเป็นใคร หรือเป็น “พระองค์” ใด ยิ่งถ้าเป็นผู้ชมประเภท “หนอนหนังสือ” ก็แทบจะระบุได้ด้วยซ้ำ ว่าบทพูดนั้นยกมาจากหนังสือเล่มไหน

แต่สำหรับผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ชมรุ่นเยาว์ ที่ไม่มีข้อมูลภูมิหลังมาก่อน ก็น่าหนักใจแทนไม่น้อย


ซ้ำร้าย เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ “ปากคำ” ของท่านผู้หญิง ล้วนมาจากฝั่งของ “ฝ่ายเจ้า” ที่บทละครจับขั้วให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ “คณะราษฎร” / นายปรีดี พนมยงค์ / ท่านผู้หญิงพูนศุข เหมือนกับจะประกาศว่า นี่แหละ! คือ “ความถูกต้องทางการเมือง” เพราะได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่าย “พูด” แล้ว ขณะที่ผมเอง กลับรู้สึกว่า เมื่อผู้ชมไม่รู้ว่าเป็นเสียงของ “ใคร” สิ่งที่ได้ยินก็ย่อมไม่ใช่ “น้ำเสียง” (voice) แต่กลับเป็นเพียง “เสียงหึ่งๆ” (noise) มิหนำซ้ำ เรื่องเล่าเหล่านั้น ก็มามีบทบาทเพียงช่วยชูเชิดฉายโชนตัวละครเอกฝ่ายหญิง “ของเรา” ให้เฉียบแหลมสูงเด่นขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น อะไรสักอย่างที่ดูคล้ายจะเป็น Political Correctness จึงไปไม่ถึงไหน...


ท่านผู้หญิงพูนศุขในละครเรื่องนี้ จึงยังคงเป็น “นางเอ๊กนางเอก” ผู้ยึดมั่นในธรรม สูงส่ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว และกลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่ “แบน” อย่างยิ่ง ไม่ผิดอะไรกับคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพ ทั้งที่บางที ในละคร ผู้ชมอาจอยากเห็นด้านที่เป็นมนุษย์ แง่มุมที่อ่อนไหว และแม้แต่อ่อนแอ ของตัวละครซึ่งเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานบ้าง




จากที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มีช่วงขณะเช่นนั้นอยู่ ดังที่บุตรีของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่เราจะเห็นท่านผู้หญิงเดินอย่างองอาจผ่าเผยในวันที่ถูกจับ โดยมีตำรวจล้อมรอบนั้น ในมือซ้ายของท่านถือ “อะไรบางอย่าง” แนบตัวอยู่ บางคนอาจนึกว่าเป็นหนังสือ แต่ท่านผู้หญิงเล่าให้ลูกฟังในภายหลังว่า นั่นคือกล่องกระดาษทิชชู เอาไว้คอยซับน้ำตา ไม่ให้ใครเห็น...


แต่แล้ว สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ ผมพบว่าการนำเสนอที่ “คมคาย” อย่างยิ่งยวดใน แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา กลับเป็นหญิงชาวบ้านพื้นๆ สองคน คนหนึ่งเป็นสตรีมุสลิมสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) อีกคนก็ดูเหมือนชาวบ้านหรือแม่ค้าไทยธรรมดาๆ พวกเธอปรากฏตัวอยู่ในงานเลี้ยงน้ำชาบ่ายวันนั้นด้วย แต่แทบไม่มีบทบาทใดๆ (นอกจากในฉากยุค “มาลานำไทย” เมื่อทุกคนพากันสวมหมวก และยกมือขวาขึ้นแสดงความเคารพแบบนาซีกัน ทว่าหญิงมุสลิมในฮิญาบนั้นเป็นคนเดียวที่ไม่สวมหมวก ทุกสายตาจึงพากันจ้องมองเธออย่างแปลกแยก)

ดูเหมือนว่าเธอทั้งสองไม่มีแม้แต่บทพูด


ทว่า ความเงียบนั้นเอง กลับส่ง “สาร” และเป็น “เสียง” ที่ดังที่สุดของละครเรื่องนี้ ว่าทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร จะประกาศตั้งแต่มาตราแรกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่ในความเป็นจริง ประเทศนี้ไม่เคยเป็นของสามัญชน พวกเธอ/เขาจึงไม่เคยมีที่ทางหรือมี “เสียง” ของตัวเองเลย


ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ฉบับใด!





แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา
ชีวิตและความทรงจำบนสายธารประชาธิปไตยไทย ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

จัดโดยสาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบัน ปรีดีพนมยงค์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร
เขียนบทและกำกับการแสดง จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์


18-20 ธันวาคม 2552 ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
22-24 มกราคม 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น