วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นางฟ้านิรนาม


นิทานของ “นางฟ้า”


นางฟ้านิรนาม สร้างบทละครขึ้นจากอัตชีวประวัติของ “เภสัชกรยิปซี” ภญ.ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซปีล่าสุด เธอผู้นี้คือเภสัชกรไทยผู้คิดค้นยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่เป็นต้นเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ “เอดส์” ในแบบ “ค็อกเทล” คือรวมยาหลายขนานเข้าในเม็ดเดียวกัน และผลิตออกจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น

ตัวบทดั้งเดิม เป็นละครภาษาอังกฤษ ชื่อ Cocktail (ค็อกเทล) โดย วินซ์ ลิคาต้า และ ปิง ชอง แต่แปลและปรับเป็นพากย์ไทยเพื่อการแสดงของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้โดยเฉพาะ

และในเมื่อละครเรื่องนี้เป็นละครประจำปีของภาควิชาศิลปการละคร นักแสดงจึงขนกันมาอย่างคับคั่งเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่คุณครูรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ลงไปจนถึงคุณลูกศิษย์ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งต่างก็แสดงกันได้เต็มที่สมกับเป็น “ละครอักษรฯ” จริงๆ

เนื้อเรื่องของ นางฟ้านิรนาม เล่าย้อนไปในชีวิตของ ดร.กฤษณา ตั้งแต่วัยเยาว์บนเกาะสมุย ที่เธอได้รับการอบรมมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ให้เห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยากเสมอ จากนั้น เรื่องก็ตัดมาที่การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย ที่เริ่มอย่างเงียบๆ แต่แล้วกลับลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยแทบไม่ได้รับความสนใจใดๆ จากรัฐบาล ดร.กฤษณา ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม จึงหันเหความสนใจมาสู่การผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีขึ้นเองภายในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพายาราคาแพงจากต่างประเทศ

ในการนี้ เธอต้องต่อสู้ ฟาดฟัน ทั้งกับผู้บริหารขององค์กร นักการเมืองระดับชาติ และบริษัทยาข้ามชาติ จนในที่สุด ดร.กฤษณาก็สามารถผลิตยาแบบ “ค็อกเทล” ที่รวมตัวยาต้านไวรัสเอดส์หลายชนิดไว้ในเม็ดเดียวกันได้เป็นผลสำเร็จ และองค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม จนช่วยยกระดับผู้ติดเชื้อหลายแสนคนในประเทศให้มีชีวิตที่ปกติสุขขึ้นได้

แต่งานของเธอยังไม่จบแค่นั้น หลังจากที่ ดร.กฤษณา พบว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขของไทยไม่ยอมรักษาสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาคมนานาชาติ ในอันที่จะเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ราคาถูกให้แก่แอฟริกา เธอจึงลาออกจากองค์การเภสัชกรรม เดินทางไปแอฟริกา ท่ามกลางยุคเข็ญของสงครามกลางเมือง โรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยาก เพื่อทำหน้าที่ของเธอต่อไป...

สิ่งที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับละครเรื่องนี้ ก็คือการใช้พื้นที่อันจำกัดของสตูดิโอ 4 ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ย่านสี่แยกปทุมวัน ได้อย่างเฉลียวฉลาด

เทคนิคการใช้ฉากแบบประตูบานเลื่อนของญี่ปุ่น ตั้งขนานกันสามแนว เลื่อนเข้าเลื่อนออก ในลักษณะหลากหลาย ทั้งเปิดเผย ปิดบัง และโปร่งแสง สร้างมิติให้กับเวทีได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการฉายวิดีโอจากโพรเจ็คเตอร์ทาบทับไปบนฉาก

ผมพบว่าเวทีลักษณะนี้เอื้อต่อการเล่าเรื่องหลายๆ เรื่องให้ดำเนินไปพร้อมๆ กันได้อย่างวิเศษยิ่ง !

แต่หากจะมีสิ่งที่ทำให้อึดอัดขัดใจอยู่บ้าง ก็คือบทละครเรื่องนี้

ในวงการละครไทย หากไม่นับบรรดาละครเฉลิมพระเกียรติหรือการแสดงแสงสีเสียงตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว การแสดงละครเวทีที่เป็นชีวประวัติของบุคคลค่อนข้างจะหาได้ยาก เท่าที่นึกออกในขณะนี้ ก็มีเพียง คือผู้อภิวัฒน์ ที่เป็นชีวประวัติของท่านปรีดี พนมยงค์ โดยครูคำรณ คุณะดิลก แห่งพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งก็คงแสดงกันหนสุดท้ายไปตั้งแต่เมื่อสักสองทศวรรษก่อน

จนมาถึงละครเรื่องนี้

คงไม่ต้องตั้งแง่ว่านี่คือบทละครจากชีวประวัติของคนไทย ที่มีฝรั่งเป็นคนเขียน แล้วคนไทยต้องไปขอลิขสิทธิ์แปลกลับมาแสดงกันอีกต่อหนึ่ง ผมรู้สึกว่า การเลือก นางฟ้านิรนาม มาแสดงในฐานะละครประจำปีของภาควิชาศิลปการละคร ก็สะท้อนคาแร็กเตอร์ของภาควิชาอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะดูเหมือนว่า ละครของสำนักนี้ค่อนข้างชื่นชอบกับการนำเสนอเรื่องของ “ผู้หญิง” ผู้ขมขื่น ผู้ถูกกระทำ หรือออกแนวแบบ “เฟมินิสม์” หน่อยๆ อยู่เสมอ

โดยส่วนตัว ผมเชื่อมั่นว่า สิ่งต่างๆ ที่ ดร.กฤษณา (ตัวเป็นๆ) ทำนั้น เธอกระทำไปด้วยความปรารถนาดี ด้วยความมุ่งมั่นสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่มีใครมีข้อกังขา

อย่างไรก็ดี เมื่อนำเสนอในฐานะบทละคร นางฟ้านิรนาม เล่าผ่านมุมมองของ ดร.กฤษณา (ในละคร รับบทโดย อ. พันพัสสา ธูปเทียน ) ดังนั้น ทำไปทำมา เธอจึงดูเหมือนจะเป็น “นางฟ้า” จริงๆ

สารที่นำเสนอในละครเรื่องนี้ ชี้ให้ผู้ชมเห็นว่ามีเพียงคนที่เห็นด้วยกับเธอ เช่นคุณอัจฉรา เลขาฯ สาว (นริศรา ศรีสันต์) หรือ ดร. ทิโด้ แพทย์ไร้พรมแดนชาวเยอรมัน (คานธี อนันตกาญจน์) เท่านั้นที่เป็น “พวกเรา” และเป็น “มนุษย์”

ในขณะที่ตัวละครซึ่งถูก “อุปโลกน์” ให้เป็น “คนอื่น” ในละครเรื่องนี้ ถ้าไม่ถูกทำให้กลายเป็น “อมนุษย์” ไปเสีย เช่น หมีแพนด้า (บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตสารเคมีและผงชูรส) หรือฝูงหุ่นยนต์ครึ่งสุนัขในชุดดำ (บริษัทยาข้ามชาติ) ก็ดูเป็น "มนุษย์ประหลาดชาติไทย" ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารเลือดเย็น (ผอ. องค์การเภสัช ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเธอ) หรือคุณหญิงไฮโซจอมเพ้อเจ้อ (รัฐมนตรีสาธารณสุขที่ไม่ทำตามสัญญากับเธอ) ฯลฯ

แม้ในละครปกติทั่วไป ที่เป็น “เรื่องสมมติ” (fictional) การสร้างตัวละครแบบนี้ คือมีฝ่ายหนึ่งที่เป็น “นางเอ๊กนางเอก” อยู่ตรงข้ามกับ “เหล่าร้าย” ที่ช่างชั่วร้ายเหลือทน ก็มักจะถูกประณามว่าเป็นคาแร็กเตอร์ตัวละครที่ “แบน” สนิท แต่นี่ เมื่อ นางฟ้านิรนาม เป็นละครที่สร้างอิงกับชีวประวัติของบุคคลจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ (การสร้าง “ความจริง” นี้มากเสียจนทำให้ช่วงแรกของละครกลายเป็นละคร “สารคดี” เสียด้วยซ้ำ) ก็น่าคิดว่า เป็นความยุติธรรมสำหรับคนอื่นๆ ซึ่งมีตัวตนจริง ร่วมลมหายใจเดียวกันในสังคม ที่จะมาปรากฏตัวในนิทานของ “นางเอกนางฟ้า” แบบนี้ หรือไม่?

การ “ตีตรา” สร้าง “ความเป็นอื่น” ยัดเยียดให้ “ฝ่ายตรงข้าม” เป็นยักษ์เป็นมาร ยังมีไม่พออีกหรือในสังคมไทยปัจจุบัน ?



นางฟ้านิรนาม
จาก Cocktail ของ วินซ์ ลิคาต้า Vince LiCata และปิง ชอง Ping Chong
แปลบทเป็นภาษาไทยโดย เพ็ญณี อรรถจินดา
ปรับบทและกำกับการแสดงโดย
ดังกมล ณ ป้อมเพชร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
20 – 23, 25 – 30 สิงหาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 108 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น