วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล




น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล : น่าเสียดาย



ในบรรดานวนิยายทั้งหมดของ ว. วินิจฉัยกุล (คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) ศิลปินแห่งชาติ กล่าวกันว่า น้ำใสใจจริง มีจำนวนการพิมพ์สูงที่สุด  คุณหญิงเขียนเรื่องนี้ขึ้นจากประสบการณ์ช่วงหนึ่งในชีวิต เมื่อได้ไปเป็นอาจารย์ใหม่ ร่วมบุกเบิกก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาเขตต่างจังหวัดเมื่อ 40 ปีก่อน  



โดยลักษณะของ น้ำใสใจจริง ดูราวกับว่าตั้งใจเขียนเพื่อสร้างเป็นบทละครโทรทัศน์ เพราะประกอบขึ้นด้วยตัวละครจำนวนมาก ทั้งนักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และแต่ละบทเป็นเหตุการณ์ หรือเรื่องขำๆ ย่อยๆ มาร้อยเรียงกันไป  จึงไม่น่าแปลกใจว่า น้ำใสใจจริง เคยถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วสองรอบ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเวอร์ชั่นที่นำแสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์, แคทรียา อิงลิช, เต๋า สมชาย และนัท มีเรีย นั้น ยังติดตรึงอยู่ในใจของผู้ชมจำนวนมากตราบทุกวันนี้



แต่เมื่อทางดรีมบอกซ์ตัดสินใจนำ น้ำใสใจจริง มาแปลงรูปให้เป็นบทละครเวทีซึ่งมีเวลาจำกัด จึงกลายเป็นเครื่องแสดงฝีมือ หรือ “วัดกึ๋น” ของคนเขียนบทว่า จะเก็บเนื้อหาและแก่นแกนของบทประพันธ์ไว้ได้เพียงใด ซึ่งตรงจุดนี้ คุณดารกา วงศ์ศิริ ยังคงรักษาชื่อเสียงไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุที่เธอยังคงเรื่องเล่าเรื่องทั้งหมดไว้ในลักษณาการเดียวกันกับนิยาย ที่เน้นมิตรภาพและความจริงใจที่มีให้แก่กัน ทั้งในหมู่เพื่อนนักศึกษา อาจารย์ และความรักความเมตตาที่ครูมีต่อลูกศิษย์  รวมทั้งยังเก็บฉากสำคัญๆ ที่อยู่ในความทรงจำของผู้อ่านไว้ได้หมด



ดรีมบอกซ์นำเสนอ น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล เป็นละครเพลงตลก (Musical Comedy) โดยยึดต้นฉบับเดิม คือย้อนเวลาไปสู่ทศวรรษ 2510 ยุค “สายลมแสงแดด” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยไทย หนุ่มๆ สาวๆ ในเสื้อผ้าสีสันจัดจ้า ชีวิตสดใสวัยเรียน ชมรมวรรณศิลป์ งานรื่นเริง และอะไรทำนองนั้น



ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าโปรดักชั่นนี้ทำสำเร็จลุล่วงไปได้หมดทุกอย่างทุกประการ คือเป็นละครที่ตลกจริงอะไรจริง เสื้อผ้าหน้าผมส่วนใหญ่ย้อนยุคได้อย่างน่าเอ็นดู  ฉากมหาวิทยาลัยก็ใหญ่โตซับซ้อน มีมิติลวงตาให้ดูลึกเข้าไปได้มาก (จนรู้สึกขัดๆ กับประโยคที่ย้ำในเรื่องหลายหน ว่าเป็นมหา’ลัยบ้านนอกที่มีแค่ 2 ตึก!)



หลายๆ ฉากทำได้น่ารักมาก เช่นรถ บขส. สีส้มทั้งคันพร้อมผู้โดยสารที่วิ่งผ่านเวทีไปหน้าตาเฉย ฉากเครื่องบินที่ “สั่น” (และ “ฮา”) ทั้งลำโดยไม่ต้องใช้ไฮดรอลิก  รวมทั้งที่ “เจ็บปวด” มาก คือ “สัตว์ประหลาด” ประจำวิทยาเขต ที่ก่อนหน้านี้ไม่อาจจินตนาการได้เลย ว่าจะทำอย่างไรเมื่อจะนำมาอยู่บนเวทีโรงละคร



แต่เรื่องที่อยากจะชื่นชมเป็นพิเศษก็คือนักแสดง



น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ถือว่าเป็นการ “แจ้งเกิด” บทเวทีละครเพลงของหลายๆ คน นับตั้งแต่ “ตู่” ภพธร สุนทรญาณกิจ (รับบทโจม) มุรธา ปริญญาจารย์ (อ้อมพร) “คัตโตะ” อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล (ป๊อ) “มิวสิค AF4” รัชพล แย้มแสง (โหม่ง) “กู๊ด AF5” สาธิกา ศิริปุญโญทัย (หนิง) รวมถึงธนพรรษ ญาติเจริญ (แคน) แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้ อาจไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักแสดงมาก่อน  บางคนเป็นนักร้องอาชีพที่เพิ่งเปิดตัวบนเวทีละคร บ้างก็เพิ่งได้รับบทสำคัญเป็นครั้งแรก แต่ละครเรื่องนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของเขาและเธอ ว่าพร้อมสำหรับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการเป็นนักแสดงมิวสิคัลต่อไปได้อีกมาก  



ส่วน “ฝ้าย AF4” ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล นั้น  หลังจากบทดราม่าหนักหน่วงใน แม่นาค เดอะมิวสิคัล มาแล้ว บทคุณหนูโลกสีชมพูอย่าง “ครีม” ย่อมไม่ใช่ปัญหา  เมื่อได้ฟังน้ำเสียงใสไพเราะของเธออีกครั้ง ก็ยิ่งตอกย้ำสิ่งที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ตอนรีวิว แม่นาค ว่า เธอควรหันมาเอาดีทางนี้อย่างจริงจังได้แล้ว!
 
แต่ที่น่าเสียดายก็คือ “บอย AF3” สิทธิชัย ผาบชมพู ผู้รับบท “ทัดภูมิ” ซึ่งว่าที่จริง ทั้งในนิยายและในละครเวอร์ชั่นนี้รับบทโดดเด่นที่สุด เพราะเรื่องทั้งหมดเล่าโดยผ่าน “น้ำเสียง” และ “มุมมอง” ของเขา  แต่ทั้งที่บอยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมามากกว่าคนอื่นๆ ทั้งภาพยนตร์โรงใหญ่และละครทีวีหลายเรื่อง แต่เขากลับ “เล่น” ละครเพียงแบบ “ผ่านๆ”  มิหนำซ้ำ บอยต้องเล่นประกบกับ “อ้อมพร” มุรธา ซึ่งแม้จะหน้าใหม่ แต่เธอทั้งเล่นใหญ่เล่นเต็ม และใช้ความไตร่ตรองกับจังหวะที่คิดคำนวณล่วงหน้ามาแล้วเป็นอย่างดีเสมอ  ตัวละครทัดภูมิก็เลยดู “ดร็อป” ไปอย่างน่าเสียดาย         



เมื่อพระเอกไม่ยอมเป็น “พระเอก” น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ก็ยังเหลือพระเอกตัวจริงอีกหนึ่ง นั่นคือบทเพลงกว่า 30 เพลง ซึ่งมี “ครูไก่” สุธี แสงเสรีชน Commentator ของคอนเสิร์ต AF เป็นผู้แต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีใหม่ทั้งหมด  ด้วยคำร้องของโดยคุณดารกา วงศ์ศิริ เช่นกัน 



สำเนียงดนตรีของน้ำใสใจจริง คือเพลงการของเมืองไทยยุคทศวรรษ 2510 หรือปลายยุค 60’s ต่อต้นยุค 70’s อันมีทั้งลิเก เพลงลูกทุ่ง สุนทราภรณ์ เพลงมาร์ช โฟล์คซอง ร็อค R&B และดิสโก้  หรือเรียกได้ว่าตั้งแต่เพลิน พรหมแดน ไปจนถึงคาร์ลอส ซานตาน่า ล้วนถูกจับมารวมกันไว้ได้อย่างสุดเท่และน่าทึ่งในมิวสิคัลเรื่องนี้



หลายเพลงที่มีท่อนฮุกย้ำๆ ซ้ำๆ ก็ติดหูผู้ชมผู้ฟังกลับบ้านไปด้วย เช่น “บ๊อย...บอย” ของนายโหม่งกับหมาบอยคู่ใจ หรือ “เรื่องด่วนธรรมดา เรื่องด่วนมาก เรื่องด่วนจี๋” ซึ่งเป็นเพลงประจำกลุ่มคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย อันประกอบไปด้วยคาแรกเตอร์โดดเด่นระดับ “เอ๋” นรินทร ณ บางช้าง, “ตุ๊ยตุ่ย” พุทธชาด  พงษ์สุชาติ  และ “ไก่ สะมะ” สมพล  ปิยะพงศ์ศิริ  ที่ยังทำให้ยิ้มได้เมื่อนึกถึง



แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ ละครที่ตั้งใจทำกันถึงขนาดนี้ กลับมีคนดูบางตา กวาดตามองดูใน M Theatre แล้วเรียกได้ว่าแทบไม่ถึงครึ่งโรงด้วยซ้ำ ลองถามๆ ดู เพื่อนหลายคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีมิวสิคัลเรื่องนี้อยู่ในโลก 



บอกได้คำเดียวครับ ว่าน่าเสียดาย

ทั้งสำหรับทางดรีมบอกซ์เอง และน่าเสียดายสำหรับผู้ชม



น้ำใสใจจริง เดอะ มิวสิคัล

บทละคร และคำร้องดารกา  วงศ์ศิริ
กำกับการแสดง:  สุวรรณดี จักราวรวุธ
กำกับและประพันธ์ดนตรี:  สุธี  แสงเสรีชน

M Theatre
20-22 , 27-29 สิงหาคม และ 3-5 กันยายน 2553


เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น