วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต





โลกใบเล็กของนายดอน ผู้ปิดทองหลังพระ



ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต เป็นละครหุ่นสายที่เขียนบท กำกับและควบคุมการแสดง โดยชายคนเดียวกัน คือนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร พ.ศ. 2550 ละครหุ่นเรื่องนี้จัดแสดงในโรงละครเล็กๆ ที่อบอุ่น ในสถานที่เดียวกับบ้านของผู้กำกับ

ก่อนหน้านี้ ละครหุ่นคณะสายเสมาของเขา เคยนำเรื่องที่ดัดแปลงจากสังข์ทอง ไปคว้ารางวัลจากการประกวดละครหุ่นระดับโลกที่สาธารณรัฐเชคมาแล้ว

มาคราวนี้ ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต ก็ดำเนินความตามท้องเรื่องของละครเพลง Man of La Mancha อย่างใกล้ชิดยิ่ง  “แมนออฟลามานช่า” นั้น เมื่อครั้งจัดแสดงที่โรงละครรัชดาลัยในปี พ.ศ. 2551 ใช้ชื่อว่า “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” กำกับการแสดงโดยยุทธนา มุกดาสนิท

จากต้นแบบที่ลามานช่าทางตอนกลางของประเทศสเปน หากแต่เมื่อผู้กำกับการแสดงได้ปรับแปลงเรื่องให้กลายเป็นไทย จากทุ่งกว้างร้อนแล้งของสเปน จึงกลายเป็นทุ่งนาเขียวๆ  

จากดอนกิโฮเต้ (Don Quixote) ชายชราผู้หลงเพ้อว่าตนคืออัศวินผู้ผดุงคุณธรรม มาเป็น ดอน ชาวนาไทยหลงยุค ผู้ออกผจญภัยบนหลังควายตัวอ้วนล่ำ คือเจ้ามะขวิด ซึ่งไม่มีโอกาสทำนาอีกต่อไป (เพราะใครๆ เขาก็หันไปใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกันหมดแล้ว)

ติดตามมาด้วย โก๊ะ เด็กเลี้ยงควายผู้มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นชาวนา จนถูกคุณครูและเพื่อนๆ รุมประณามในห้องเรียนว่า “ใฝ่ต่ำ” ทว่า แต่ในสายตาของดอน เขาคือหุ่นไล่กาบริวารชื่อ “ซังโง่” ล้อกับซานโช่ (Sancho) ชาวนาผู้ปวารณาตนเป็นผู้ติดตามของดอนกิโฮเต้

ส่วนตัวเอกฝ่ายหญิง จากที่ในมิวสิคัลต้นฉบับมีอัลดอนซา (Aldonza) โสเภณีประจำโรงเตี๊ยม ผู้ซึ่งดอนกิโฮเต้เทิดไว้เป็นนางฟ้าประจำใจในชื่อ “ดัลซิเนีย” ถูกจับแปลงโฉมเป็น อีซ่า สาวเสิร์ฟประจำเพิงขายกาแฟของอาโก เธอผู้นี้ก็คือแม่หญิง “เดือนแสงนวล” ของดอนฉบับละครหุ่น

การอ้างอิงกับต้นฉบับฝรั่งนี้ มิได้มีเฉพาะแต่เพียงชื่อของตัวละคร หากแต่ข้ามไปจนถึงระดับฉากต่อฉาก ชนิดที่เรียกได้ว่านี่คือการ “บูชาครู” (tribute) แก่ Man of La Mancha / สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ อย่างเต็มตัวเต็มฝีมือ

ใน Man of La Mancha ฉบับละครเพลงนั้น อุดมคติของดอนกิโฮเต้ชัดเจนยิ่ง เขาเล็งเห็นแล้วว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความชั่วร้ายเลวทราม ขณะที่ตนเองคืออัศวินผู้พิทักษ์คุณธรรม  กิโฮเต้จึงออกไปผจญภัยก็เพื่อหาโอกาสประกอบวีรกรรมทำดี ต่อสู้กับอสูรร้ายหรือแม่มดหมอผี ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยมีหญิงสูงศักดิ์เป็นขวัญและกำลังใจ เพียงเพื่อเผื่อว่าบางที โลกเราอาจจะดีขึ้นได้กว่านี้อีกสักหน่อยหนึ่ง หากมีใครสักคนที่ยอมตนจมดิ่งในทนทุกขเวทนาเช่นเขา

ทว่าในฉบับละครหุ่น กลับดูเหมือนจะไม่ชัดเจนนักว่าดอนชาวนาของเราออกจากบ้านไปขึ่ควายเพื่ออะไรกันแน่  “ภารกิจ” ของเขาคืออะไร หรือเขาจะกอบกู้โลกด้วยวิธีไหน หากแต่ด้วยความที่ “สาร” ดั้งเดิมของต้นฉบับนั้นทรงพลังอย่างยิ่ง แม้มีบางอย่างขาดหายไปบ้าง ทว่า “พลัง” จากเนื้อหาดั้งเดิมก็ยังแทรกซึมทะลุทลวงมาถึงผู้ชมได้

ทั้งดอน มะขวิด และโก๊ะ คือคนหลงยุค ผิดที่ผิดทาง ทุกคน (อาจรวมทั้งคุณนิมิตรด้วยก็ได้) ต่างเห็นความโรแมนติกของ “การทำนา” จนดูๆ ไปก็เกือบจะออกอาการ “ฟูมฟาย” คล้ายกับรายการทีวีสารคดีกึ่งเรียลลิตี้ ฉันจะเป็นชาวนา ของดาราสาวท่านหนึ่ง

โชคดีที่ความน่ารักน่าเอ็นดูของหุ่นสาย (ละครหุ่นคณะนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ่นสาย คือชักเชิดด้วยสายโยงใยด้านบน) ก็ชักพาอารมณ์ของผู้ชมให้เคลิ้มไปได้ จนยอมมองข้ามความขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ดังว่า  ยิ่งกว่านั้น ทีเด็ดของละครหุ่นเรื่องนี้ คือการยังคงความเป็น “มิวสิคัล” หรือละครเพลงเอาไว้ได้อย่างบริบูรณ์  ด้วยฝีมือของคานธี อนันตกาญจน์ นักดนตรีและนักแสดงละครเวทีผู้มีความสามารถ เพลงไทยทั้งลูกกรุงสุนทราภรณ์ ลูกทุ่ง และโฟล์คซองคำเมืองถูกคัดสรรมาร้อยเรียงดนตรีใหม่อย่างน่าฟัง และช่างเข้ากันกับเนื้อเรื่องอย่างแนบเนียน ด้วยเพลงที่ “โดน” และช่วงเวลาที่ “ใช่”

เพลงของมิวสิคัลละครหุ่นเรื่องนี้ก็ได้แก่ ข้างขึ้นเดือนหงาย (แก้ว อัจฉริยกุล/เอื้อ สุนทรสนาน) กลิ่นโคลนสาบควาย (ไพบูลย์ บุตรขัน) เขมรไล่ควาย / ควายหาย (สุรพล สมบัติเจริญ) และ เดือนดวงเดียว (จรัล มโนเพ็ชร) ทั้งหมดนี้ ขับร้องอย่างงดงามโดย คุณรพีพร ประทุมอานนท์ (หนึ่งในนักแสดงของ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับรัชดาลัย) และคุณศุษณะ ทัศน์นิยม (แชมป์จากเวที KPN 2009) ซึ่งต่างก็สร้างสรรค์สไตล์เพลงขึ้นมาได้ใหม่อย่างน่าสนใจ โดยไม่ต้องยึดติดเป็น “เงาเสียง” แอบอิงกับการตีความของต้นฉบับเดิม

ความดีเด่นของเพลงและเสียงร้องนี้ โดดเด่นจนในบางฉากแทบจะ “ขโมยซีน” ไปจากบรรดาหุ่นสายตัวจ้อยๆ เสียด้วยซ้ำ

ทั้งหมดทั้งมวล ฉากที่น่าทึ่งที่สุดของละครหุ่นเรื่องนี้ ก็คือฉากที่เรียกกันในฉบับมิวสิคัลโรงใหญ่ว่าฉากการยืนยาม เมื่อดอนกิโฮเต้ตัดสินใจยืนยามข้ามคืนในลานปราสาท (โรงเตี๊ยม) ท่ามกลางฟ้าพร่างดาว เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าเข้มแข็งคู่ควรกับที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน ก่อนที่อัลดอนซ่าจะเดินผ่านมา แล้วออกปากถามว่า ทั้งที่ทุกคนหัวเราะเยาะ ทั้งที่สังขารแก่ชราขนาดนั้น  เขาทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไรกัน กิโฮเต้จึงพรรณนาให้ฟังเธอถึง “อุดมคติ” ของเขา ด้วยเพลงที่โด่งดังที่สุดในละครเพลงเรื่องนั้น คือ The Impossible Dream (To dream the impossible dream, to fight the unbeatable foes…)

ในฉบับละครหุ่นสายเสมา ฉากนี้ก็ยังอยู่ โดยมีดาวเต็มฟ้าเหมือนเดิม และมีดอนกับอีซ่าเช่นกัน หากแต่ในกระบวนการทำให้ “เป็นไทย” เมื่ออีซ่าถามด้วยคำถามเดียวกันนั้น ดอนชาวนาของเราจึงร้องตอบเป็นเพลง

แต่ถึงตรงนี้ นิมิตรเลือกใช้เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด (“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว...”) อันมีเนื้อเพลงที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ถอดความจากบทเพลง The Impossible Dream ออกมาเป็นกลอนแปด แล้วต่อมาภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทำนอง

ผู้กำกับการแสดงเลือกให้ดอนร้องเพลงนี้จบลงที่ท่อน “จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา...” เพื่อให้อีซ่าถามขัดจังหวะขึ้นมาว่า แล้วจะทำไปทำไม ปิดทองหลังพระแล้วใครเขาจะเห็น อันนับเป็นการ “ชงลูก” ให้ดอน “ตบ” ตอบว่า ไม่เป็นไรดอก

ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง...



ดอนและมะขวิด ผู้พิชิต

คณะหุ่นสายเสมา

บทและกำกับการแสดง: นิมิตร  พิพิธกุล

กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2554

โรงละครชุมชนมันตา Art Space (ซอยวิภาวดี 58)

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่ ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น