วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ฟังฉันบ้าง


รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก 


หนึ่งในผลงานนิสิตที่ลือลั่นที่สุดใน “ก่อนจบ สองห้า53” เทศกาลละครวิทยานิพนธ์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา หวนคืนสู่เวทีอีกครั้งอย่าง “มืออาชีพ” กับนักแสดงคนเดิม – พัชรกมล จันทร์ตรี

รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก แปลและแปลงบทมาจาก Details Cannot Body Wants ผลงานของกวี/นักแสดง/นักการละครสตรี เชื้อสายจีน “ชิน วูน ปิง” (Chin Woon Ping) ละครเรื่องนี้เป็นการแสดงเดี่ยวสี่เรื่องติดต่อกันตามชื่อคือ รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก โดยมีบทพูด (monologue) ความยาวรวมกันเกือบหนึ่งชั่วโมง

เว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (http://infopedia.nl.sg) ให้ข้อมูลว่า การแสดงเดี่ยวเรื่องนี้ถูกหน่วยงานเซ็นเซอร์ของทางการจับติดเรท R ชนิด ฉ18+ เป็นเรื่องแรกของประเทศ ตั้งแต่ผู้เขียนนำออกแสดงครั้งแรกในสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2535/ค.ศ. 1992 ด้วยเหตุว่ามีถ้อยคำและอากัปกิริยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งมากเกินไป

เมื่อการแสดงเริ่มต้น ไฟที่สว่างขึ้นสาดให้เราเห็นพื้นเวทีที่ปูผืนผ้ายับย่นฉีกขาดเต็มไปด้วยรอยคราบเปื้อนเปรอะสีแดงคล้ำทั่วทั้งผืน เสียงของยามเช้าแว่วมาให้ได้ยิน ก่อนจะดังขึ้นเรื่อยๆ ร่างที่นอนขดอยู่บิดตัวอย่างทรมาน ก่อนจะรวบรวมกำลังลุกขึ้น แล้วค่อยๆ เข้าไปลากข้าวของต่างๆ ออกมากอง ทั้งหม้อไหกระทะที่ผูกร้อยกันไว้ กล่องรองเท้านับสิบใบ หนังสือเล่มหนาหนักหนึ่งหอบใหญ่ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา และอีกสารพัดอย่าง

พัชรกมลเริ่มต้น “เล่าเรื่อง” ของเธอให้เราฟังในชุดรัดรูปสีเนื้อทั้งตัว บ่งบอกว่าเป็นร่างเปล่าเปลือย 
“เรื่องเล่า” ของเธอคือเรื่องว่าด้วย “ความเป็นหญิง” ในแง่มุมแบบ “เฟมินิสต์” ที่ว่าในสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น ความเป็นหญิงไม่ใช่สิ่งที่มีมาตามธรรมชาติ  มนุษย์ไม่ได้เกิดมา “เป็น” หญิง หากแต่ถูก “ประกอบสร้าง” ให้เป็นหญิงต่างหาก

มีค่านิยม ทัศนคติ มายาคติมากมายเพียงใดที่ถูกบีบอัดเข้าไปในความเป็นหญิง !

สิ่งที่บทละครเรื่องนี้สื่อสารกับคนดูก็คือการ “รื้อ” ความเป็นหญิงที่แปลกแยกนั้นออกมา แล้วนำเสนอเป็นภาพปะติดปะต่อ ที่บ่อยครั้งก็จะเท้าความกลับไปสู่การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวแต่เยาว์วัย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าการเป็นหญิงนั้น มี “รายละเอียด” มากมายเพียงไรที่สังคมเรียกร้องต้องการให้เธอต้องทำ  มีคำสั่งห้าม “ไม่ได้”ๆๆๆๆๆ กี่ร้อยกี่พันอย่าง ที่กำหนดกฎเกณฑ์และชะตาชีวิตของลูกผู้หญิง  แม้แต่ “ร่างกาย” ของเธอก็กลายเป็นพื้นที่ (หรือ “วัตถุ”) ทางสังคมที่ถูกใช้งานสารพัด นับแต่การรองรับอารมณ์ใคร่ ความรุนแรง และการทารุณกรรมนานัปการ ไปจนถึงการตอบสนองความคาดหวังของสังคม ว่าผู้หญิงควรมีหน้าอก เอว หรือริมฝีปากแบบไหนขนาดเท่าไร  กระทั่งความ “อยาก” ของผู้หญิง ทั้งในแง่จิตใจ (เช่นความต้องการเป็นที่รัก) และความต้องการครอบครองวัตถุก็ยากที่จะบอกว่าเป็นความต้องการของเธอจริงๆ หรือไม่ และเมื่อใดมันจะจบสิ้นหรือเพียงพอ

พัชรกมลนำเสนอการแสดงชุดนี้ด้วยการแสดงเดี่ยวที่มีพลัง (แน่นอนว่าย่อมต้องใช้ “พลัง” กับ “สมาธิ” อย่างยิ่งยวด) ซึ่งเรื่องนี้ผู้ชมย่อมไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ และทำให้เราท่านต้องตั้งตาคอยผลงานอันดับต่อๆ ไปของเธอให้ดี

หากแต่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าจะมีคำถามหรือข้อสงสัยก็คือ การรักษาไว้ซึ่งตัวบทดั้งเดิมเกือบทั้งหมด (มีโปรเจ็คเตอร์ฉายบทภาษาอังกฤษที่ด้านบนฝาหลังโรงละครกำกับตลอดการแสดง) มีทั้งบทเพลงร้องหลากสไตล์ ตั้งแต่ I Get a Kick Out of You เพลงแสตนดาร์ดอเมริกันของโคล พอร์เตอร์ (Cole Porter)  เพลง Non, Je Ne Regrette Rien  ของเอดิธ เพียฟ (Edith Piaf)  เพลง ด่วนพิศวาส (“เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย...”) จากคุณป้าผ่องศรี วรนุช (ที่ถูกเสริมเข้าไปแทนที่เพลงของนักร้องหญิงจีนรุ่นเก๋าตามบทละครดั้งเดิม) ไปจนถึงเพลงแร็พ บทกวีอินโดนีเซียน รวมทั้งประโยคภาษาจีนกลางสลับไปมา  หลายประเด็นหลายถ้อยคำฟังแปลกแปร่งและไม่อาจสื่อสารกับผู้ชมชาวไทยได้ เพราะผู้เขียนบทดั้งเดิมเขียนด้วยภูมิหลังแบบสตรีเชื้อสายจีนในมลายู (อย่างที่เรียกกันว่า Peranakan) หลังยุคอาณานิคม ซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่คนในวัฒนธรรมแบบนั้นย่อมเข้าใจกันเองได้ซึมซาบ   ผู้ชมชาวไทยบางคนอาจถึงกับตั้งแง่ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว สู้แปลงให้ รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก กลายเป็น “ไทย” หรือเปลี่ยนเป็นบริบทแบบ “จีนสยาม” พูดแต้จิ๋วเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ เพราะอาจจะสื่อสารกับคนดูได้ง่ายกว่า ตรงตัวกว่า  แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ที่จริงแล้ว การแปลและนำเสนอในรูปแบบดั้งเดิมเช่นนี้ก็ยังมีข้อดีในตัวของมันเอง เพราะทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้เรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม  ได้สัมผัสกับแง่มุมทางสังคมต่างๆ ซึ่งในหลายกรณี ความเป็นหญิงในสังคมจีน-มลายู กับความเป็นหญิงจีน-สยาม หรือความเป็นผู้หญิง “ตะวันออก” ก็ย่อมมีความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย หรืออาจเรียกได้ว่า ใน “ความต่าง” ของสตรีอุษาคเนย์ ก็ยังมี “ความเหมือน” ที่บางทีใกล้เคียงกันจนน่าขนลุ

 

เพียงเมื่อไม่กี่วันก่อน เพิ่งมีหนุ่มรุ่นน้องเชื้อสายจีนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนที่แม่ตั้งท้องเขาอยู่นั้น พ่อถึงกับประกาศไว้เลย ว่าถ้าออกมาเป็นลูกสาว พ่อก็จะไม่เลี้ยงทั้งแม่ทั้งลูก ช่วงตั้งแต่ที่แม่รู้ว่าตั้งท้องจนถึงก่อนคลอดจึงเป็นเวลาแห่งความกระวนกระวายใจ ความกลัดกลุ้ม ความน้อยเนื้อต่ำใจ  แม่เล่าให้เขาฟังว่าระหว่างนั้นต้องตระเวนไปไหว้พระไหว้เจ้า บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกหนทุกแห่ง เพื่ออธิษฐานให้ได้ลูกชาย  แน่นอนว่า คุณแม่ (และคุณพ่อ) ของเขาสมปรารถนา
หากแต่เชื่อได้ว่านี่ย่อมไม่ใช่กรณีพิเศษ และย่อมต้องมีผู้ที่ไม่สมปรารถนาอีกมากกว่ามาก

บางเรื่องนั้น หากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวก็ย่อมเป็นอยู่เช่นนั้น จนกว่าเราจะลองคิดอีกที...





รายละเอียด/ไม่ได้/ร่างกาย/อยาก
กลุ่มละคร 4 DARUMA
บทดั้งเดิม Details Cannot Body Wants ของ Chin Woon Ping
นักแสดง พัชรกมล จันทร์ตรี
บลูบอกซ์สตูดิโอ (ชั้น 2 M Theatre)

ตุลาคม 2553

เผยแพร่ครั้งแรก ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น